๖๕๒..หัวใจ..นักปราชญ์


นักเรียนของผม..ฟังคำอธิบายของผมแล้วคิดตาม..พอไม่เข้าใจก็ถาม..ถามว่า..ต้องระบายสีหรือไม่? จากนั้นก็เขียนเป็นแผนภูมิโยงใย..บันทึกข้อมูลในกระดาษที่ผมแจกให้..แล้วก็ส่งให้ผมดู..

        ผมสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับ"หัวใจนักปราชญ์" อยากให้เด็กมีความรู้ความเข้าใจ แล้วนำไปใช้ ผมหาหนังสือเพื่อการค้นคว้าก่อนสอน พอหาไม่เจอ ผมก็เลยเปิดกูเกิล จากนั้นก็ถ่ายเอกสารแจกให้นักเรียนศึกษาเป็นรายบุคคล..

        ข้อความหรือเนื้อหา ที่เป็นหัวใจนักปราชญ์..มีรายละเอียดไม่ยาวมากนัก..สรุปได้ดังนี้...

        เมื่อเอ่ยคำว่า “ หัวใจนักปราชญ์ ” หลายๆท่านจะนึกถึงคำว่า สุจิปุลิ สุ ย่อมาจาก สุตต คือ การฟัง จิ ย่อมาจาก จินตน คือ การคิด ปุ ย่อมาจาก ปุจฉา คือ การถาม  ลิ ย่อมาจาก ลิขิต  คือ การเขียน..

         สุ-สุตตหรือการฟัง จะทำให้เราได้รับความรู้ ข้อมูล แง่มุม ความคิดต่างๆที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง บุคคลที่เป็นนักปราชญ์ มักจะเป็นคนที่ฟังมาก อ่านมาก แต่เนื่องจากยุคปัจจุบันเป็นยุคแห่งข้อมูลข่าวสาร ข้อมูลจึงมีมากมาย ฉะนั้น บุคคลที่ได้ชื่อว่านักปราชญ์มักจะเป็นคนที่มีการคัดเลือกข้อมูล ข่าวสาร ที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคมส่วนรวมมาฟัง มาอ่าน มาศึกษาค้นคว้าเพื่อเพิ่มพูนความรู้ในตนเอง

        จิ-จินตนหรือการคิด การคิดมีความสำคัญมาก เมื่อได้รับข้อมูล จากการฟังและการอ่านแล้ว แต่คนๆนั้นไม่สามารถมีความคิดเป็นของตนเองได้ ได้แต่นำความคิดของบุคคลอื่นมาใช้ก็เปล่าประโยชน์ คนที่คิดไม่เป็นมักเป็นคนเชื่อคนง่าย ถูกหลอกได้ง่ายกว่าคนที่มีความคิดเป็นของตนเอง

          ปุ-ปุจฉาหรือการถาม เมื่อเกิดความสงสัย เมื่อเกิดความไม่เข้าใจ จึงต้องถาม แต่สังคมไทยมีปัญหาในเรื่องนี้อยู่มาก เด็กและผู้ใหญ่จำนวนมากมักไม่กล้าถาม อาจเป็นเพราะ อายเพื่อน กลัวครู อาจารย์ ความไม่กล้า ฯลฯ แต่แท้ที่จริงแล้ว การถามจะทำให้เราได้รับความรู้ในสิ่งที่เราไม่รู้เพิ่มขึ้นอีกมาก

          ลิ-ลิขิตหรือการเขียน การเขียนมีประโยชน์หลายอย่าง การเขียนช่วยให้การคิดเป็นระบบขึ้น เพราะก่อนที่เราจะเขียนสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบทความ เรียงความ จดหมาย สารคดี นิยาย ฯลฯ เราจะต้องมีการคิดขึ้นมาก่อน ฉะนั้นการเขียนจึงเป็นสิ่งที่ช่วยพัฒนาความคิดต่างๆของคนเราได้มาก อีกทั้งการเขียนยังช่วยพัฒนาความจำของคนเราด้วย “ จำดีกว่าจด แต่ถ้าจำไม่หมด ให้จดแล้วค่อยจำ” เป็นคำพูดที่เป็นความจริงมากทีเดียว เช่น ตอนเราเรียนหนังสือ หากว่าครู สอนที่หน้าชั้นในห้องเรียน หากเราไม่ยอมจดหรือเขียน จะใช้วิธีจำอย่างเดียว ก็อาจจะจำไม่ได้ทั้งหมด แต่คนที่มีหัวใจนักปราชญ์ เขาจะจดแล้วนำมาทบทวนอีกครั้ง เขาถึงสอบได้คะแนนมากกว่าคนที่ไม่ยอมจดหรือเขียน

         พอได้เนื้อหา..สุจิปุลิ..ครบถ้วน ผมก็ให้นักเรียนชั้น ป.๕ ศึกษาและวิเคราะห์ทันที โดยให้ประยุกต์และเชื่อมโยง เพื่อการนำไปใช้..ให้นักเรียนอธิบายถึงแนวปฏิบัติของนักเรียนเอง ที่จะนำไปสู่การเป็นนักปราชญ์หรือ..ผู้รุ้..

        ผมบอกนักเรียนว่า..ไม่ต้องลอกคำอธิบายของครูทั้งหมด แต่นักเรียนต้องคิดเอง..เริ่มตั้งแต่การฟัง ฟังแบบไหน ถึงจะได้ความรู้..นักเรียนจะปฏิบัติตนอย่างไรเกี่ยวกับ..การฟัง..

        การคิด..ก็เช่นเดียวกัน..คิดอย่างไรที่เรียกว่า..คิดเป็น..นักเรียนจะคิดแบบไหน..?บันทึกแล้วนำเสนอ

        การถาม..เป็นเรื่องที่นักเรียนใช้บ่อย และนักเรียนควรจะถามเวลาใด ?และใช้คำถามอย่างไร?

        การเขียน..เป็นทักษะที่ช่วยพัฒนาความรู้ความสามารถ นักเรียนจะพัฒนาการเขียนอย่างไรบ้าง?

        ผมให้นักเรียน..เขียนแผนผังความคิด อย่างอิสระ คิดวิเคราะห์วิธีปฏิบัติที่จะช่วยพัฒนาตนเองไปสู่..ความเป็นนักปราชญ์..โดยทำความเข้าใจให้ลึกซึ้งถึงคำว่า..หัวใจ..อันเป็นทักษะหลัก..ในการเรียนรู้..ในชีวิตประจำวัน

        ผมสังเกต..พบว่า..นักเรียนของผม..ฟังคำอธิบายของผมแล้วคิดตาม..พอไม่เข้าใจก็ถาม..ถามว่า..ต้องระบายสีหรือไม่? จากนั้นก็เขียนเป็นแผนภูมิโยงใย..บันทึกข้อมูลในกระดาษที่ผมแจกให้..แล้วก็ส่งให้ผมดู..

        ผมนำ..หัวใจนักปราชญ์ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักเรียน ผลที่สุด..ผมก็เชื่อมั่นว่า  หากใครสามารถปฏิบัติได้ทั้ง 4 ข้อ คือ สุจิปุลิ ท่านสามารถปฏิบัติได้ไม่ยาก ถึงแม้ท่านจะไม่ใช่นักปราชญ์ แต่ผมเชื่อว่าชีวิตของท่านจะมีการพัฒนาไปได้เป็นอันมาก จงใช้เวลาในการฝึกฝนเรียนรู้และพัฒนา แล้วไม่แน่ในอนาคต ท่านอาจจะได้ชื่อว่าเป็น นักปราชญ์...ที่มีผู้คนยกย่องคนหนึ่งก็ได้ 

        ฟังให้มาก คิดให้เป็น หมั่นสอบถามและฝึกการเขียน จึงเป็นหัวใจของนักปราชญ์อย่างแท้จริง

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๓  มกราคม  ๒๕๖๑

คำสำคัญ (Tags): #หัวใจนักปราชญ์
หมายเลขบันทึก: 643759เขียนเมื่อ 3 มกราคม 2018 21:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มกราคม 2018 21:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ดีมากเลยครับ เขียนเป็น Mind Map
หัวใจนักปราชญ์อันยอดเยี่ยมนี้ นอกจากจะสอนหัวข้อการเป็นผู้รู้แล้ว ยังสอนเทคนิคการจำด้วยคำย่อด้วย ผมเองก็ได้ใช้การจำแบบนี้ เมื่อเจอเรื่องที่มีข้อมูลมากๆ  ก็จัดเป็นหัวข้อและท่องคำย่อ  เป็นเทคนิคที่ดีสุดยอดมากทำให้จำไม่ลืมเลย  จำได้จนคนแปลกใจว่าเยอะแบบนี้จำได้ยังไงเลยล่ะครับ

-สวัสดีปีใหม่นะครับท่าน ผอ.

-อ่านบันทึกนี้่แล้วได้แนวคิดที่จะต่อยอดมากมายเลยครับ

-ขอบคุณครับ

จะต่อยอด ตอนกิ่ง ทาบกิ่ง  หรือติดตา..ก็ได้นะครับ คุณเพชร..อิอิอิ ขอบคุณนะครับ

ให้นักเรียนเขียน mind mapping

ออกมาดีมากเลยครับ

ผมคงต้องพัฒนาในแนวนี้ต่อไป..เพื่อฝึกให้เด็กคิดเป็นครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท