เรียนรู้มหาวิทยาลัยหุ้นส่วนสังคมที่สหราชอาณาจักร ๒. เรียนรู้ปฏิบัติการหุ้นส่วนสังคมจาก เว็บไซต์



ก่อนเดินทาง ๒ สัปดาห์ผมเข้าเว็บไซต์ของ NCCPE เข้าไปดูที่หัวข้อ Engaged Practice Learning 2017 (EPLE)  (https://www.publicengagement.a... )    สะดุดตาที่คำว่า “public engagement professionals”    และเกิดความเข้าใจว่า หากจะให้มหาวิทยาลัยเข้าไปใกล้ชิดสังคม ต้องมีคนที่เป็นนักวิชาชีพด้านนี้   

การประชุม สามชั่วโมงครึ่งตอนเย็นวันที่ ๖ ธันวาคม มีเป้าหมายเพื่อการ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ของ “นักวิชาชีพมหาวิทยาลัยหุ้นส่วนสังคม” เพื่อสร้างนวัตกรรมในการทำหน้าที่นี้   เป้าหมายของการประชุมสั้นๆ ช่วงนี้มีเป้าหมาย ๓ ประการ คือ (๑) แลกเปลี่ยนประสบการณ์  (๒) พัฒนาวิธีปฏิบัติ หรือวิธีทำงานของนักเชื่อมโยงหุ้นส่วนสังคม  และ (๓) สร้างเครือข่ายของนักวิชาชีพนี้

นี่คือเวทีของ นักเชื่อมโยงหุ้นส่วนสังคม

เมื่อ ๗ ปีที่แล้ว ผมเริ่มเขียนบันทึกชุด วิชาการเพื่อรับใช้สังคมไทย (https://www.gotoknow.org/posts/tags/วิชาการสายรับใช้สังคมไทย)      และเขียนเรื่อยมาจำนวนกว่า ๕๐ บันทึก    บันทึกที่น่าจะถือได้ว่าเกี่ยวข้องกับ นักเชื่อมโยงหุ้นส่วนสังคม คือบันทึกชื่อ เจ้าหน้าที่สายสนับสนุนของมหาวิทยาลัย ทำอะไร (https://www.gotoknow.org/posts... )   ผมเขียนเสนอภารกิจของนักเชื่อมโยงหุ้นส่วนสังคมไว้ ๗ ข้อ    หนึ่งในนั้นคือ “พัฒนาขีดความสามารถ ของตนเองและเพื่อนร่วมงาน”    คือในประเทศไทยเราต้องการเวทีคล้ายๆ EPLE สำหรับพัฒนานักเชื่อมโยงหุ้นส่วนสังคม ของเรา

หลังจากเข้าประชุม Engage 2017 แล้ว    ผมสรุปกับตนเองว่า คนที่เข้าร่วมประชุม ๓๐๐ คน ส่วนใหญ่เป็น นักวิชาชีพเชื่อมโยงหุ้นส่วนสังคม ที่ทำงานในมหาวิทยาลัย    และยังมีนักวิชาชีพเชื่อมโยงหุ้นส่วนสังคม ที่ทำงานในชุมชน หรือในองค์กรสาธารณะแบบอื่น เช่นพิพิธภัณฑ์ ด้วย

 

หลากหลายกิจกรรมหุ้นส่วนสังคม

เว็บไซต์ของ NCCPE ระบุกิจกรรมในช่วงที่ผ่านมา  ซึ่งจัดบ่อยมาก เกือบทุกเดือน บางเดือนจัดถึง ๖ ครั้ง    พอจะเดาได้ว่า NCCPE ทำหน้าที่ประสานงานให้เกิดความร่วมมือ และให้เกิดการเรียนรู้จากการปฏิบัติ     หยิบเอา ภารกิจที่มหาวิทยาลัยมีคุณค่าในการเป็นหุ้นส่วนสังคม มาจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหมู่นักปฏิบัติ เพื่อร่วมกัน หาทางยกระดับขึ้นไปอีก  

ตัวอย่างของกิจกรรมหุ้นส่วนสังคมที่เขาหยิบมาจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้แก่

กิจกรรมพิพิธภัณฑ์    ในสหราชอาณาจักร และอีกหลายประเทศที่เจริญแล้ว พิพิธภัณฑ์คือสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และเรียนรู้ของผู้คนในสังคมและในพื้นที่    ทุกเมืองจะมีพิพิธภัณฑ์ บางเมืองแม้จะเล็กๆ มีพิพิธภัณฑ์หลายแห่ง เน้นต่างสาขาของการเรียนรู้ (ดังที่ผมเล่าไว้ตอนไปเที่ยวประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่เมือง เนอชาเตล เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๐ นี้เอง  (https://www.gotoknow.org/posts... ))    จึงมีการสนับสนุนให้มีโครงการหุ้นส่วนพิพิธภัณฑ์-มหาวิทยาลัย (Museum - University Partnership Initiative - MUPI) (https://www.publicengagement.a... ) ที่จัดการโดย NCCPE    ได้รับทุนสนับสนุนจาก Arts Council England  

ข้อเรียนรู้สำคัญสำหรับผมคือ ต้องมีทุนสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยทำกิจกรรมหุ้นส่วนสังคม    ในสหราชอาณาจักร ทุนสนับสนุนกิจกรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะ มีแหล่งที่มาหลากหลาย กระจายไป ตามภาคส่วนต่างๆ    ไม่กระจุกอำนาจอยู่ในส่วนกลางอย่างประเทศเรา     การกระจายแหล่งทรัพยากร สำหรับสนับสนุนกิจกรรมริเริ่มสร้างสรรค์เพื่อประโยชน์สาธารณะ เป็นโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม อย่างหนึ่ง ที่เอื้อต่อการทำงาน engagement ของมหาวิทยาลัย    โครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว คือความแข็งแรงของ “ภาคที่สาม”  (Third Sector) คือภาคการกุศล (philanthropy) และภาคประชาสังคม      น่าเสียดายที่รัฐบาลทหารในปัจจุบันของประเทศไทยมีความหวาดระแวงภาคประชาสังคม และหาทางทำให้อ่อนแอ 

พิพิธภัณฑ์ นอกจากเป็นแหล่งเรียนรู้แล้ว     ยังเป็นแหล่งริเริ่มสร้างสรรค์ ที่คนมหาวิทยาลัย ตั้งแต่นักศึกษา เจ้าหน้าที่ และอาจารย์ สามารถเข้าไปใช้ทำงานจัดนิทรรศการสร้างสรรค์ เพื่อการเรียนรู้ใหม่ๆ ของผู้คนในสังคม    โดยยึดหลักการว่า สามารถใช้นิทรรศการในพิพิธภัณฑ์เป็น เครื่องมือท้าทายความคิดของผู้คน     ให้เปลี่ยนจากความคิดหรือกระบวนทัศน์เดิมๆ ไปสู่กระบวนทัศน์ใหม่ (https://www.gotoknow.org/posts... )

ดูจากเว็บไซต์แล้ว กิจกรรม MUPI กว้างขวางกว่าที่ผมคิด    ที่สำคัญคือเขามีการจัดเวทีจับคู่ภาคี  ระหว่างพิพิธภัณฑ์-มหาวิทยาลัย กับแหล่งทุน

หุ้นส่วนโรงเรียน - มหาวิทยาลัย (School – University Partnerships Initiative (SUPI)) (https://www.publicengagement.a... )  ได้รับทุนสนับสนุนจากสภาวิจัยแห่งสหราชอาณาจักร (Research Councils UK)    สนับสนุน ๑๒ มหาวิทยาลัยให้ทำงานร่วมกับโรงเรียนในละแวกใกล้เคียง     ให้เกิดความใกล้ชิดระหว่างนักวิจัย กับนักเรียน    ให้นักเรียนมีโอกาสได้ทำวิจัย เพื่อสร้างแรงบันดาลใจแก่นักเรียน    โดย NCCPE ทำหน้าที่ประสานงานกับ ๑๒ โครงการนี้

ดู YouTube เรื่องราวของโครงการ SUPI ของมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ที่  ( )  และของ Queen’s University Belfast ที่ ( )  ดูแล้วเข้าใจว่าเป็นโครงการนำนักเรียนทั้งชั้นไปดูงาน ทำความเข้าใจงานวิจัย ในมหาวิทยาลัย    ไม่ใช่ให้นักเรียนบางคนไปร่วมทำวิจัยจริงๆ

อ่านรายงานการประเมินโครงการ SUPI ในช่วง ๓ ปีแรก ที่ (https://www.publicengagement.a... )  ผมอ่านแล้วจับสถานการณ์ใน สหราชอาณาจักรได้ว่า เขาพยายามทำให้โรงเรียนกับมหาวิทยาลัย เข้ามาใกล้ชิดกัน  และร่วมมือกัน    ซึ่งน่าจะมากกว่าด้านการวิจัย    เขาเอ่ยว่าในประเทศฟินแลนด์ โรงเรียนกับมหาวิทยาลัยทำงาน ใกล้ชิดกันมาก    ผมติดใจแนวคิดการสร้าง ‘third space’ เพื่อให้สถาบันสองประเภทที่มีวัฒนธรรม ต่างกัน ได้เข้าไปทำงานร่วมกัน    เขาสรุปว่าโครงการ ที่ผ่านมาไม่มีผลกระทบที่ชัดเจน    หากดำเนินการใน phase 2 ต้องมีการปรับปรุงมาก    ที่ผมติดใจคือ มีคนติติงว่าโครงการนี้ มหาวิทยาลัยเป็นฝ่ายรุก โรงเรียนเป็นฝ่ายรับ    ทำให้ผมนึกในใจว่าเป็นการ ดำเนินการที่ผิดหลัก engagement คือหลักหุ้นส่วน    ในบันทึกตอน หุ้นส่วนโรงเรียน จะเล่าเรื่องกิจกรรมของ SUPI ที่นำเสนอในการปรระชุม Engage 2017 ที่น่าตื่นตาตื่นใจมาก เรื่อง IRIS : Bringing the cutting edge to the classroom ที่นักเรียนได้ฝึกเป็นนักวิจัย

Catalyst Seed Fund (https://www.publicengagement.a... )  เป็นโครงการทดลองปีเดียว    สนับสนุนทุนโดย RCUK เช่นเดียวกัน    มีเป้าหมายเพื่อ ให้มหาวิทยาลัยสร้างวัฒนธรรมหุ้นส่วนสังคมด้านวิจัย   

Genome Editing Public Engagement Synergy (GEPES) (https://www.publicengagement.a... )   สนับสนุนโดย Wellcome Genome Campus   มีเป้าหมายเพื่อดึงสาธารณชนเข้ามีส่วนร่วมในการวิจัยเรื่องการเปลี่ยนแปลงลำดับของดีเอ็นเอ ในจีโนม     เพื่อให้เกิด ความเข้าใจจุดแข็งจุดอ่อน และข้อพึงระวังในกิจกรรมไฮเทคนี้    ผมเดาว่าหากไม่มีการส่งเสริม สาธารณชนอาจได้รับข้อมูลข่าวสารผิดๆ    ทำให้มีการหวาดระแวง หรือต่อต้านผิดๆ    หรืออาจถูกล่อลวงง่าย    

อ่านรายละเอียดในเว็บไซต์แล้ว พบว่าเป็นโครงการที่เพิ่งเริ่ม    เขามีเป้าหมาย ๕ ประการในเรื่องหุ้นส่วนสังคมในด้าน genome editing   คือ (๑) mapping ว่ามีการดำเนินการที่ไหนบ้าง  (๒) หารูปแบบที่เหมาะสม  (๓) คำแนะนำแนวทางดำเนินการรูปแบบต่างๆ  (๔) ทรัพยากร สำหรับใช้ดำเนินการ  และ (๕) การฝึกอบรมให้นักวิจัย และนักจัดการหุ้นส่วนสังคม ดำเนินการพัฒนาหุ้นส่วนสังคมด้าน genome editing ได้อย่างดี

National Forum for Public Engagement in STEM (https://www.publicengagement.a... )   เริ่มปี 2014 มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาการ ด้านการศึกษา ในหมวด STEM    โดยมีสาธารณชนเข้าร่วม    สนับสนุนโดย Wellcome Trust และกระทรวง BIS (Department of Business, Innovation and Skills)    หุ้นส่วนเป้าหมายหลักคือ informal sector    ที่มีส่วนทำให้มีการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์อย่างไม่เป็นทางการ    ที่ผมสงสัยว่าน่าจะจัดอยู่ในพื้นที่เรียนรู้ 2/3 ของเยาวชน (https://www.gotoknow.org/posts/641220 )

จะเห็นว่าเป้าหมายกลุ่มคนที่ต้องการระดมหุ้นส่วนในเรื่อง public engagement มี ๒ แนว  (๑) กลุ่มจำเพาะ เช่นโรงเรียน  พิพิธภัณฑ์    ที่น่าสนใจคือ บริษัทธุรกิจเอกชนไม่อยู่ในเป้าหมายนี้    เข้าใจว่าเขามีอีกโปรแกรมหนึ่งต่างหาก  (๒) กลุ่มประชาชน หรือสาธารณชนทั่วไป   



วิจารณ์ พานิช

๒๐ พ.ย. ๖๐  เพิ่มเติม ๑๓ และ ๑๗ ธ.ค. ๖๐


หมายเลขบันทึก: 643586เขียนเมื่อ 26 ธันวาคม 2017 09:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มีนาคม 2018 06:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท