วิชาการสายรับใช้สังคมไทย : ๖. เจ้าหน้าที่สายสนับสนุนของมหาวิทยาลัยทำอะไร


 

ตอนที่ ๑

ตอนที่ ๒

ตอนที่ ๓

ตอนที่ ๔

ตอนที่ ๕  

          ในการ transform มหาวิทยาลัย ให้ทำงานวิชาการแนบแน่นอยู่กับภาคส่วนต่างๆ ที่เป็นชีวิตจริงของสังคม   มหาวิทยาลัยจะต้องสร้างโครงสร้างด้านการจัดการขึ้นมารองรับ ดังได้กล่าวแล้วในตอนที่ ๔   ซึ่งหมายความว่า มหาวิทยาลัยจะต้องเสาะหาและพัฒนาเจ้าหน้าที่สายสนับสนุนขึ้นมาทำงานด้านนี้   ที่เป็นคนที่รักและเห็นคุณค่าของงานด้านนี้    มีทักษะในการทำงาน และเพิ่มพูนทักษะจากการทำงาน

          ผมจะลองเสนอจินตนาการ ว่าเจ้าหน้าที่สายสนับสนุนงานรับใช้สังคม ของมหาวิทยาลัยควรทำอะไรได้บ้าง

•    การพัฒนาฐานข้อมูล ที่อาจเรียกว่า Need Database หรือ Opportunity Database ของมหาวิทยาลัยของตน และคอยปรับให้ทันสมัยอยู่เสมอ   โดยอาจร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอื่น   หรือร่วมมือกับฐานข้อมูลกลางของ สกอ.   ฐานข้อมูลนี้จะช่วยให้มหาวิทยาลัยเห็นโอกาสใหม่ๆ ที่ทรงคุณค่า สำหรับทำงานรับใช้สังคม

•   การทำงานสื่อสารเชื่อมโยงกับภาคีฝ่ายที่ต้องการให้มหาวิทยาลัยเข้าไปร่วมมือทำงานวิชาการ    ในลักษณะที่เป็นการทำงานเชิงรุก (proactive) ไม่ใช่รอให้เขามาขอใช้บริการ (reactive)   หากพูดในภาษาธุรกิจ หมายถึงการทำงานด้านการตลาด

•   การจัดการงานวิจัย หรืองานบริการวิชาการ ในมุมของมหาวิทยาลัย   เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักวิจัย/นักวิชาการ    และอำนวยความสะดวกแก่หน่วยงานฝ่ายที่เป็นภาคีร่วมมือ   งานส่วนนี้จะมีรายละเอียดมากมาย ทั้งด้านติดต่อสื่อสาร  การติดตามงาน  การเงิน  การเขียนรายงาน  เป็นต้น

•   การอำนวยความสะดวกในการเขียนและส่งต้นฉบับไปตีพิมพ์ ใน PLoT   รวมทั้งการติดตามสร้าง visibility อย่างเหมาะสมให้แก่ผลงานของหน่วยงานที่ตีพิมพ์ใน PLoT   และการติดตามข้อมูลผลกระทบของผลงานต่างๆ ของหน่วยงาน ที่ตีพิมพ์ใน PLoT  และที่ได้รับการยกย่องในโอกาสต่างๆ    นำมาเสนอต่อผู้บริหารและสื่อสารให้รับรู้กันอย่างกว้างขวางทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย   โดยขอย้ำว่าต้องรู้จักวิธีการดำเนินการอย่างเหมาะสม ไม่มากไม่น้อยเกินไป   ไม่เป็นการโอ้อวดเกินจริง หรือเป็นการโฆษณาอย่างไร้จริยธรรม

•    พัฒนาขีดความสามารถของตนเองและเพื่อนร่วมงาน ในการทำความเข้าใจสาระของกิจกรรมบริการวิชาการ/วิจัย ที่มหาวิทยาลัยทำร่วมกับภาคี   และพัฒนาขีดความสามารถในการสื่อสารสาระหรือเนื้อหาสำคัญออกไปทางข้อเขียน หรือในทางติดต่อกับสื่อมวลชนให้เขามาจัดทำ สกู๊ป หรือรายการพิเศษ   เจ้าหน้าที่ที่มีความสามารถในระดับนี้ถือว่าเป็นบุคคลที่มีค่ายิ่ง    เป็นทักษะหรือขีดความสามารถระดับสูง

•   รวบรวมผลงานเด่นประจำปี  และประสานงานให้มีการสรุปภาพรวม   และสรุปแต่ละผลงานเด่น สำหรับลงตีพิมพ์ในรายงานประจำปีของหน่วยงาน/องค์กร   และนำไปเผยแพร่ในโอกาสหรือรูปแบบอื่นๆ เช่นใน เว็บไซต์

•   เสนอแนะลู่ทาง หรือโอกาสใหม่ๆ ในการทำงานรับใช้สังคมให้แก่ผู้บริหารและแก่นักวิชาการสายนี้ ในโอกาสอันควร

 

          ตามที่เสนอมานี้ เจ้าหน้าที่สายสนับสนุนไม่ใช่เพียงผู้ทำงานตามสั่ง    แต่เป็นผู้ร่วมใช้ความคิดสร้างสรรค์   เป็น Knowledge Worker       

 

 

วิจารณ์ พานิช
๑๘ ก.ค. ๕๓
         
          
          
         

หมายเลขบันทึก: 386479เขียนเมื่อ 20 สิงหาคม 2010 09:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 03:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เรียนท่านอาจารย์หมอที่เคารพ

  กระผมรู้สึกอิ่มเอมใจมากครับผม การที่เชื่อมโยงวิชาการกับชีวิตค่อยๆก่อร่างสร้างขึ้น มีสุขมากครับผม แค่ฝัน จินตนาการก็ยังรู้สึกดีครับผม รู้สึกว่ามีสุนทรียภาพในจิต ในระดับลึกมาก เหมือนฟังเพลง "น้ำตาแสงไต้" ที่ลิงค์ข้างล่างนี้ครับผม ในสภาวะที่จิตโน้มเอียงสู่ความสงบในบรรยากาศแสงจันทร์ แสงดาว สาดส่อง ในบรรยากาศที่โรแมนติก ที่มีท้องฟ้าแจ่ม ช่วงปลายฝนต้นหนาว และสัมผัสความงาม ความอ่อนโยน ความละเมียดละไมของศิลปะในระดับที่ลึกซึ้งอิ่มเอมใจเหลือประมาณครับผม ในชีวิตกระผมปลุกแรงใจหลายทาง เพลงที่งดงามกระผมก็ใช้ขจัดความขุ่นมั่วในใจได้ เพราะสร้างความอ่อนโยนในจิตในสภาวะขุ่นใจครับผม

ด้วยความเคารพครับผม

นิสิต

 

http://www.youtube.com/watch?v=rw-dYSrnS10&feature=related

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท