ศาสตร์และศิลป์ของการสอน : ๖. ประเมินแบบไม่เป็นทางการต่อชั้นเรียน



บันทึกชุด ศาสตร์และศิลป์ว่าด้วยการสอน นี้ตีความจากหนังสือ The New Art and Science of Teaching เขียนโดย Robert J. Marzano ซึ่งเพิ่งออกวางจำหน่ายในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ นี้เอง


ภาค ๒ ใช้การประเมิน

ภาค ๒ นี้ มี ๒ ตอน ตีความจากหนังสือ The New Art and Science of Teaching บทที่ ๒ Using Assessment บันทึกที่ ๖ ประเมินแบบไม่เป็นทางการ ต่อนักเรียนทั้งชั้น นี้ เป็นตอนแรก ตีความจาก Element 4 : Using Informal Assessments of the Whole Class


ต้องไม่ลืมว่า การประเมินคือกลไกการให้ข้อมูลป้อนกลับ แก่นักเรียนและแก่ครู นักเรียนใช้ข้อมูลนี้ในการปรับปรุงพัฒนาการเรียนรู้ของตน ครูใช้ข้อมูลนี้ช่วยในการทำหน้าที่เอื้ออำนวยให้ศิษย์บรรลุเป้าหมายการเรียนรู้


สิ่งที่ครูต้องทำคือ สร้างบรรยากาศหรือสภาพแวดล้อม ให้เกิดสภาพจิตใจในตัวศิษย์ ที่เห็นว่าการประเมินนั้นเป็นกลไกช่วยเหลือหรือเอื้อต่อเป้าหมายการเรียนรู้ของตน


หัวใจสำคัญคือ ต้องทำให้มีความสัมพันธ์ที่โปร่งใสและชัดเจนระหว่างผลคะแนน กับความก้าวหน้าในการเรียนตามตารางคะแนนความเข้าใจ


คำถามเพื่อการออกแบบ (design question) ที่ครูจะต้องถามก่อนออกแบบการประเมินคือ “ฉันจะออกแบบและดำเนินการประเมินเพื่อช่วยส่งเสริมให้ศิษย์เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างคะแนนที่ได้กับสถานะและ ความก้าวหน้าในการเรียนรู้ในหัวข้อนั้นๆ ตามที่กำหนดไว้ ได้อย่างไร”


เขาบอกว่าวิธีการที่เสนอในหนังสือเล่มนี้เรียกว่า measurement approach คือใช้วิธีวัดคะแนนที่สอดคล้องกับผลการวัดระดับความเข้าใจ/สมรรถนะ ในความรู้นั้นๆ โดยที่ในรูปแบบเดิมๆ ครูมักใช้การสอบความรู้หรือสมรรถนะในเรื่องนั้นๆ ของนักเรียนเป็นระยะๆ แยกกัน ไม่ได้ดำเนินเป็นกิจกรรมต่อเนื่อง และไม่เชื่อมโยงกับการคิดอย่างเป็นระบบว่านักเรียนรู้หรือไม่รู้อะไรบ้าง ที่เรียกว่า assessment perspective ข้อเสนอในหนังสือเล่มนี้จึงถือเป็นการจัดการการเปลี่ยนแปลงในวงการศึกษาทีเดียว


ก่อนดำเนินการออกแบบการประเมิน ครูต้องร่วมกันสร้างตารางสเกลความเข้าใจ (proficienct scale) ในเรื่องที่จะประเมิน เสียก่อน ดูตัวอย่างได้ที่ ตอนที่ ๒ เครื่องมือวัดการเรียนรู้ ช่วยให้เรียนอย่างมีเป้าหมาย


การประเมินแบบไม่เป็นทางการต่อชั้นเรียน มีเป้าหมายเพื่อดูความก้าวหน้าของทั้งชั้น ตามสเกลความเข้าใจที่กำหนดไว้ ไม่เกี่ยวข้องกับคะแนนของนักเรียนเป็นรายคน การประเมินแบบนี้มีได้หลากหลายแนวทาง ดังแสดงในตาราง




ผลดำเนินการที่ครูใช้ประเมินความก้าวหน้าของชั้นเรียนอย่างไม่เป็นทางการโดยหลากหลายวิธีข้างต้น ครูจะเปรียบเทียบกับสเกลความเข้าใจที่กำหนดไว้ล่วงหน้า แล้วบันทึกผลว่า ได้คำแนนเท่าไร เช่นในวันหนึ่งให้คะแนน 2.0 อีกสองสามวันต่อมา ครูชวนนักเรียนอภิปรายเพื่อทดสอบความเข้าใจระดับ 3.0 พบว่ายังมีความเข้าใจผิดอยู่บ้าง จึงให้คะแนน 2.5 สัปดาห์ต่อมา ครูทดสอบความเข้าใจระดับ 3.0 อีก และพบว่าไม่มีความเข้าใจผิดพลาดหลักๆ อีกแล้ว จึงให้คะแนน 3.0 ย้ำว่าคะแนนดังกล่าวเป็นของชั้นเรียนทั้งชั้น ไม่ใช่ของนักเรียนคนหนึ่งคนใด


หากแนวทาง/ยุทธศาสตร์ ตามที่เสนอให้ผล จะสังเกตเห็นพฤติกรรมต่อไปนี้ในนักเรียน


  • นักเรียนเข้าร่วมในกิจกรรมประเมินทั้งชั้นเรียนอย่างคึกคัก
  • นักเรียนสามารถบอกได้ว่าในขณะนั้นชั้นเรียนบรรลุการเรียนรู้ในระดับใด และมีความก้าวหน้าอย่างไร
  • นักเรียนแสดงความสนใจต่อความก้าวหน้าในการเรียนรู้ของชั้นเรียน
  • นักเรียนแสดงความยินดี ที่ได้เห็นความก้าวหน้าของการเรียนของทั้งชั้น


วิจารณ์ พานิช

๑ เม.ย. ๖๐

หมายเลขบันทึก: 628505เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2017 00:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2017 00:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท