PLC คืออะไร


Professional Learning Community หรือ PLC ด้านการศึกษา

ช่วงนี้พบว่า สพฐ ให้คุณครูและผู้บริหารเรียนรู้เรื่อง Professional Learning Community หรือ PLC ผู้เขียนคิดว่าบันทึกนี้จะเป็นประโยชน์แก่ครูอาจารย์และผู้สนใจ ในการทำ Professional Learning Community หรือ PLC จากประสบการณ์ตรงที่เน้นการปฏิบัติ ลองมาอ่านกันเลยดีกว่า

1.PLC คืออะไร PLC ย่อมาจากภาษาอังกฤษว่า Professional Learning Community ภาษาไทยเรียกว่า ชุมชนแห่งการเรียนรู้

วิจารณ์ พานิช (2556) กล่าวว่า PLC ของครู คือการรวมตัวกันจัดการความรู้ของครู คือเป็น KM ครูนั่นเอง เป็นกลไกช่วยสนับสนุนให้ครูสร้างความรู้ขึ้นใช้ทำหน้าที่ครู และนำความรู้ไปใช้ทำหน้าที่ครู เพื่อให้ศิษย์เกิดการเรียนรู้ชนิด “รู้จริง” (mastery)

ในทาง KM การรวมตัวกันจัดการความรู้ของคนที่ทำงานเดียวกันหรือคล้ายๆ กัน เรียกว่า CoP (Community of Practice) เรียกในชื่อไทยว่า ชุมชนแนวปฏิบัติ ชุมชนแนวปฏิบัติของครู ก็คือ PLC ครูนั่นเอง การจัดการ PLC ครูจึงใช้หลักการและวิธีการของ CoP

ทีมงาน coaching and mentoring (2555)กล่าวว่า ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพหรือ PLC คือ การรวมตัว รวมใจ รวมพลัง ร่วมมือกันของครู ผู้บริหาร และนักการศึกษา ในโรงเรียน เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นสำคัญ


ขอบคุณข้อมูลภาพนี้จาก www.google.com

ท่านอาจารย์ ประเวศ วะสี เสนอแนวคิด INN คือ

I = Individual หรือปัจเจกบุคคล คือ ความรู้ ความสามารถ และสิ่งที่เป็นตัวตนของเราที่มีจิตสำนึกใหม่ว่าเรามีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีคุณค่า มีศักยภาพที่จะทำอะไรดี ๆ และร่วมกันทำอะไรที่ดีได้ จิตสำนึกใหม่นี้จะปลดปล่อยผู้คนไปสู่ศักยภาพ อิสรภาพ และความสุขอันมหาศาล

N = Node คือกลุ่มคนที่เป็นแกนหลักในการดำเนินการนั้นๆ ซึ่งเป็นกลุ่มคนขนาดไม่ใหญ่ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เป็นกลุ่มคนที่มีความสนใจร่วมกันและถูกจริตกัน รวมตัวร่วมกันทำเป็นกลุ่มๆอย่างหลากหลายกลุ่มเหล่านี้มีความสุขและสร้างสรรค์ เพราะเป็นความสัมพันธ์ทางราบด้วยความเสมอภาค

N = Network คือเครือข่าย มีความเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายทั้งระหว่างบุคคลและระหว่างกลุ่ม โดยทั้งคนในหน่วยงาน กลุ่มคนในหน่วยงาน และหน่วยงานต่าง ๆ ที่ร่วมโครงการนี้จะมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายหลายชั้น (Multilevel Networking) สามารถทำงานร่วมกัน หนุนเสริมซึ่งกันและกัน ทั้งภายในหน่วยงานและระหว่างหน่วยงาน ตลอดจนเชื่อมต่อไปยังองค์กรต่าง ๆ ได้อย่างเข้มแข็ง


ผู้เขียนสรุปว่า Professional Learning Community ของครู หรือ PLC ของครูคือ การที่ครู อาจารย์ ผู้บริหาร ผู้ปกครอง รวมไปถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย(stakeholder)ทั้งหมด ได้รวมตัวกันระดมความคิด ประสานงานร่วมมือกัน เพื่อพัฒนาการศึกษา พัฒนาการเรียนการสอนและพัฒนาผู้เรียนให้เกิดศักยภาพมากที่สุด

2.จุดประสงค์ของ Professional Learning Community (PLC )

1. เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้(show and share)ให้เกิดประสิทธิภาพ

2. เพื่อให้เกิดการร่วมมือกันของทุกๆฝ่ายด้านการศึกษาเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนให้เกิดศักยภาพสูงสุดแก่ผู้เรียน

3. เพื่อให้เกิดการพัฒนาวิชาชีพครู (Teacher professional)ด้วยการพัฒนาผู้เรียน



3.ขั้นตอนของProfessional Learning Community (PLC ) มีดังต่อไปนี้


1. กลุ่มครูที่จะทำProfessional Learning Community (PLC ) โดยอาจรวมกลุ่มกันคือ ครูที่สอนวิชาเดียวกัน หรือครูที่อยู่ในกลุ่มสาระเดียวกัน เช่นภาษาอังกฤษ ภาษาไทย หรือ อยู่ในระดับเดียวกัน หรือช่วงชั้นเดียวกันเป็นต้น นอกจากนี้ยังแบ่งกลุ่มตามลักษณะงานเช่นกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน หรืองานอื่นๆเป็นต้น รวมไปถึงการรวมกลุ่มในเครือข่ายต่างโรงเรียนด้วย

2. กลุ่มครู Professional Learning Community (PLC ) กำหนดปัญหา พยายามหาปัญหาที่สำคัญที่สุดที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน ควรช่วยกันค้นหาปัญหา และไม่ผลักภาระปัญหาออกจากตัว จะทำให้ไม่ได้ปัญหาที่แท้จริง

3. กลุ่มครู Professional Learning Community (PLC ) หาสาเหตุและแนวทางแก้ไข

4. กลุ่มครู Professional Learning Community (PLC ) กำหนดเป็น Project based learning (PBL)สำหรับหัวข้อนั้นๆ โดยกำหนดว่าจะทำอะไร ที่ไหน เมื่อไรและอย่างไรให้ชัดเจน

5. กลุ่มครู Professional Learning Community (PLC ) นำสิ่งที่เป็น Project based learning (PBL) มาปรับปรุง แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับทีมงาน ปรับใช้และทำเป็น นวัตกรรมเพื่อเผยแพร่ต่อไป


4.เครื่องมือช่วยสำหรับ Professional Learning Community (PLC)

1. ทักษะการฟัง ใช้การฟังแบบลุ่มลึก(deep listening) ฟังแบบไม่ตัดสินใจอะไรไปก่อน

2. เรื่องเล่าเร้าพลัง โดยเล่าเรื่องที่เป้นแนวปฏิบัติที่ดี(Best practice) ของการเรียนการสอนหรือการทำงานนั้นๆ

3.การวิเคราะห์ปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหา

4. Before Action Review ( BAR) การตั้งความหวังว่าจะได้เรียนรู้อะไร ได้แก้ไขปัญหาอะไร และ After Action Review (AAR) คือเมื่อตั้งความหลังเอาไว้หลังแก้ไขปัญหาแล้วได้ตามหวังหรือไม่อะไรเป็นปัญหา มีแนวทางแก้ไขต่อไปอย่างไรในอนาคต

5.ระดับการพัฒนาระดับของนักเรียน ว่านักเรียนพัฒนาไปอย่างไร

6. ICT โดยอาจใช้เป้นนวัตกรรมหรือใช้เผยแพร่หรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับสมาชิก ผู้เขียนแนะนำ www.gotoknow.org สมาชิกบางท่านอาจใช้ line หรือ facebook


5.สรุป

Professional Learning Community (PLC) ภาษาไทยเรียกว่า ชุมชนแห่งการเรียนรู้ นั้น ผู้เขียนอยากเน้นว่าไม่ใช่วิธีสอนแต่เป็นเครื่องมือในการพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนให้กลุ่มวิชาชีพครูได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในการแก้ไขปัญหาของนักเรียน การมีกลุ่ม Professional Learning Community (PLC) จะช่วยให้ครูไม่โดดเดี่ยว มีการพัฒนาการเรียนการสอน ได้ช่วยแก้ไขและแนะนำการแก้ปัญหาของกลุ่มครู หรือผู้ที่สนใจในหัวข้อปัญหาเดียวกัน จะส่งผลต่อการแก้ไขให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และพัฒนาตนเอง อย่างเต็มตามศักยภาพของตนเอง นอกจากนี้ครูยังได้พัฒนาตนเองตามวิชาชีพอีกด้วย...

อ่านต่อได้ที่: วิจารณ์ พานิช (2556) https://www.gotoknow.org/posts/519546

ประวัติ PLC https://www.gotoknow.org/posts/451458

ทีมงาน coaching and mentoring (2555) https://candmbsri.wordpress.com/


ปล. 1 เขียนบันทึกนี้เนื่องจากได้แรงจูงใจที่ สพฐ ให้ครูทำ Professional Learning Community (PLC) แต่ใน www.gotoknow.org มีกลุ่ม PLC มานานมากแล้ว ลองไปดูในนี้นะครับ

https://www.gotoknow.org/user/khajitfoythong/profi...

ยังมีชุมชนเบาหวาน ชุมชนบำบัด ชุมชนโรคกระดูกพรุน ของสมาชิกท่านอื่นๆด้วย...

ปล.2 ขออนุญาตนำรูปคุณครูที่เคยอบรมร่วมกันมาใส่ไว้ในนี้ด้วยครับ...


หมายเลขบันทึก: 628028เขียนเมื่อ 28 เมษายน 2017 13:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 เมษายน 2017 16:35 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

สุดยอดไปเลยค่ะ ชุมชนแห่งการเรียนรู้ของครูสำคัญอย่างยิ่งค่ะ

ขอบคุณอาจารย์ดร.จันทวรรณ มากครับ

ตอนนี้ สพฐ ให้ครูทำเรื่องนี้ครับ

แต่ผมอยากเห็นมันออกมาแบบยั่งยืนครับ

สรุปความให้ผู้อ่านได้กระชับชัดเจนค่ะ ขอบคุณมากนะคะ ชอบค่ะ ถ้าเพิ่มประเด็นวิเคราะห์ความแตกต่างระหว่าง เทคนิคที่คล้าย ๆ กัน ในตระกูลเดียวกันจะดีมากเลยค่

ขอบคุณจิรวรรณ มากครับ

อยากเพิ่มประเด็นเหมือนกัน

แต่กลัวผู้อ่านงง เทคนิคต่างๆไม่ยากแต่ต้องใช้ประสบการณ์และการฝึกฝนครับ

ดีใจมากครับที่ช่วยเพิ่มประเด็นให้

ที่อื่น ๆ คงใช้ได้ดี

ยกเว้นโรงเรียนของพี่นะ

ขอบคุณพี่ครูมะเดื่อ

ผมน่าจะยุพี่ไปเป็นผู้บริหารตั้งนานแล้ว

555

ชัดเจนครับพี่แอ็ด รบกวนประเด็นการใช้กระบวนการ PLC ในกระบวนการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน จะเป็นพระคุณมากครับพี่

ชัดเจนครับพี่แอ็ด รบกวนประเด็นการใช้กระบวนการ PLC ในกระบวนการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน จะเป็นพระคุณมากครับพี่

เป็นงานเขียนที่่่ีี และเป็นประโยชน์ค่ะ ขอบคุณำผู้จัดทำค่ะ ถือเป็นข้อมูลที่ควรขยายลยา/นำไปใข้จริงต่อไปค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท