ชีวิตที่พอเพียง : 2860. เพ่งพิศนิเวศ ศาลายา



มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ตั้งอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำ ผมแปลกใจที่ในส่วนของสวนสิรีรุกขชาติมีต้นจากออกทะลายเต็ม แถมยังมีต้นโกงกางด้วย ถามได้ความว่าเป็นต้นไม้ที่มีอยู่เดิม ตอนนี้พื้นที่โดนถมแต่เขาก็ยังอยู่ได้


เช้าวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๐ ท่านอธิการบดี ศ. นพ. อุดม คชินทร นัด รศ. ดร. สมโภชน์ ศรีโกสามาตร และผม ไปร่วมชมธรรมชาติส่วนที่มองไม่เห็นด้วยตา ที่หากเอาใจใส่และสร้างเรื่องราว จะเกิดคุณค่ายิ่ง ของมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา โดยมี อาจารย์ ดร. ภานุพงษ์ พงษ์ชีวิน แห่งคณะเภสัชศาสตร์ และทีม ผู้ดูแลสวนสิรีรุกขชาติ และผู้อำนวยการกองกายภาพ และทีมประชาสัมพันธ์ ร่วมกันต้อนรับและเรียนรู้


เราไปชวนท่านเหล่านี้ชมพื้นที่นี้ด้วย “ตาหนอน” ทุกคนตื่นตาตื่นใจมาก เพราะผ่านไปผ่านมาแต่ไม่เห็นสิ่งที่ ดร. สมโภชน์ชี้แนะ คราวนี้เห็นกับตา(หนอน)


ผมเคยลงบันทึกการเสวนากับ ดร. สมโภชน์ เรื่องนี้ไว้หลายบันทึก ที่นี่


เช้าวันนี้เป็นฤกษ์งาม อากาศเย็นสบาย ตอนแปดโมงเศษ เราไปยืนที่บริเวณหลังอาคารใบไม้ ชมต้นไม้เก่าที่บางกิ่งผุ เอื้อโอกาสให้นกโพระดกมาเจาะโพรงทำรัง ระหว่างนั้นได้ยินเสียงนกโพระดก นกตีทอง นกเขา และนกอื่นๆ ร้องเซ็งแซ่ มองไปทางหนองน้ำ ฝูงยกเป็ดแดงบินฉวัดเฉวียนไปมาก


เราไม่เห็นนกโพระดกมาเกาะที่โพรง อย่างที่นักศึกษาของ ดร. สมโภชน์เห็นและถ่ายรูปไว้ แต่เราก็เห็นนกโพระดกหลายชนิดบินไปมาตามยอดไม้ เห็นรังนกกระจาบอันสวยงามอยู่ไกลลิบๆ แต่กล้อง Nikon Coolpix P 900 ตัวใหม่ของผมก็ซูมถ่ายภาพมาได้ ที่ยากคือถ่ายนก เพราะเขาไม่อยู่นิ่ง แต่ก็ได้ภาพนกจาบคา (bee eater) ปากแหลมเปี๊ยบมาอวด


ดร. สมโภชน์อธิบายสภาพของระบบนิเวศ ที่ต้องการต้นไม้ ๔ ระดับ จึงจะถือว่าสมบูรณ์ และไม่เฉพาะส่วนของต้นไม้ที่มีชีวิตเท่านั้นที่มีส่วนทำให้ระบบนิเวศสมบูรณ์ กิ่งหรือต้นที่ตายก็มีส่วนเติมเต็มด้วย ดังที่เห็นรูโพรงรังนกโพระดกที่กิ่งไม่ส่วนที่ตาย


กาฝาก ไม่ได้เป็นเพียงเกาะกินเบียดเบียนต้นไม้อื่นเท่านั้น เขายังทำบทบาทให้กิ่งนั้นตาย ทำหน้าที่กิ่งตายให้แก่ระบบนิเวศด้วย


ก่อนหน้านั้น เราไปแวะชมบึงน้ำใหญ่ภายในสวนสิรีรุกขชาติ ที่คนที่ไปเยือนมหาวิทยาลัยมหิดลศาลายาจะไม่นึกว่ามีพื้นที่นี้อยู่ มันเงียบสงบและเป็นธรรมชาติอย่างยิ่ง และมีนกน้ำได้แก่นกยางกรอด และนกพริกกำลังหากินกันอยู่ ดร. สมโภชน์บอกว่าสมัยก่อนมีนกเป็ดผีด้วย แต่ตอนนี้หายไป


ดร. สมโภชน์อธิบายระบบนิเวศที่ต้นไม้บางชนิดจะแสดงพฤติกรรมรุกราน หากปล่อยไว้ไม่ดำเนินการจัดการอย่างเป็นระบบและอย่างมีวิชาการ ความสวยงามของหนองน้ำอย่างที่เห็นจะไม่เหลือ โดยเฉพาะต้นธูปฤาษีจะขยายพันธุ์รุกต้นไม้อื่น ท่านอธิการบดีและท่านรองฯ กิติกร จามรดุสิต แสดงความของบคุณในคำแนะนำตามหลักวิชานี้ ผมจึงรู้สึกมีปิติสุข ที่ได้มีส่วนเล็กๆ ให้ท่านอธิการบดีและทีมบริหารได้รู้จัก รศ. ดร. สมโภชน์ และนำความรู้ของท่านมาใช้สร้างทั้งความงามและความมีคุณค่าของพื้นที่ ๑๗๐ ไร่นี้


วิจารณ์ พานิช

๓๑ ม.ค. ๖๐

ห้อง ๔๔๑๔ โรงแรมเซนทาราแกรนด์ แอท เซนทรัลเวิร์ล



1 รูปนกโพระดกที่นักศึกษาถ่าย


2 นกตีทอง


3 นกจาบคา



4 กิ่งตายเป็นประโยชน์ต่อนกตระกูลหัวขวาน เจาะทำรัง


5 ดร. สมโภชน์อธิบายระบบนิเวศ



6 ท่านอธิการบดีและทีมนั่งฟัง



7 ทางเดินชมหนองน้ำ ที่เป็นพื้นที่ชุมน่ำในวิทยาเขต



8 บรรยากาศหนองน้ำ



9 นกยางกรอกกำลังหากิน



10 นกพริก



11 นกยางกรอก



12 รังนกกระจาบ



13 นกอีโก้ง



14 คณะผู้ไปร่วมชม



15 อาคารใบไม้



16



หมายเลขบันทึก: 624345เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2017 23:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2017 00:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อาจารย์มีกล้องถ่ายรูปตัวเก่งเลยนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท