ประเด็นการสัมมนาท้องถิ่นในระยะเปลี่ยนผ่าน พ.ศ. 2560 (ต่อ)


ประเด็นการสัมมนาท้องถิ่นในระยะเปลี่ยนผ่าน พ.ศ. 2560 (ต่อ)

23 กุมภาพันธ์ 2560

ทีมวิชาการ สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]

ประเด็นหัวข้อการสัมมนาที่น่าสนใจ

จากประเด็นทิศทางการปฏิรูปประเทศไทย และจากสภาพปัญหาต่าง ๆ ของท้องถิ่นที่หมักหมมมานาน จึงเกิด “การสัมมนาวิชาการ” โดยสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย เรื่อง “ยุทธศาสตร์ชาติและทิศทางการขับเคลื่อนการปฏิรูปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ขึ้นในระหว่างวันที่ 21-24 มีนาคม 2560 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น หลักสี่ กรุงเทพฯ มีบรรดานักวิชาการและนักปฏิบัติแวดวงการปฏิรูปท้องถิ่นมากหน้าหลายตาอย่างครบถ้วนกว่าการจัดการสัมมนาในครั้งใด ประกอบด้วยหัวข้อน่าสนใจ ดังนี้ [2]

วันแรก วันอังคารที่ 21 มีนาคม 2560

ท่านสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานคนที่ 1 บรรยายพิเศษ เรื่อง “แนวทางขับเคลื่อนการปฏิรูปกฎหมายท้องถิ่น โดย แม่น้ำ 3 สาย”

ท่านวัลลภ พริ้งพงษ์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ บรรยายพิเศษ เรื่อง “ร่าง พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ... / ร่าง พ.ร.บ.ประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และร่าง พ.ร.บ. ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น”

วันที่สอง วันพุธที่ 22 มีนาคม 2560

ท่านศาสตราจารย์พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ประธานพิธีเปิด และปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “มุมมอง : ทัศนะบทบาทฝ่ายนิติบัญญัติต่อการปฏิรูปกฎหมายภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน”

ท่านมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “บทบาทของรัฐธรรมนูญในการคลี่คลายวิกฤตการณ์ ทางการเมืองไทย”

ท่านศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ราชบัณฑิตยสถาน ประธานคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การปฏิรูปในความรับผิดชอบของรัฐบาลต่อกฎหมายที่จะต้องทำภายหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ”

ท่านประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) บรรยายพิเศษ เรื่อง “บทบาทคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ คตช. และการใช้ ม.44 ต่อการทุจริตภาครัฐ”

ท่านพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน บรรยายพิเศษ เรื่อง “การทุจริต/ความโปร่งใส/การตรวจสอบของ สตง. ต่อ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น”

วันที่สาม วันพฤหัสบดีที่ 23 มีนาคม 2560

ท่านอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ (สปท.) คนที่ 1 ปาฐกถาพิเศษ “ภารกิจการขับเคลื่อนปฏิรูป 11 ด้านต่อคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศและเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี “

ท่านจรินทร์ จักกะพาก อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น บรรยายพิเศษ เรื่อง “บทบาทกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ต่อแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

ท่านดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี/เลขานุการคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “วิสัยทัศน์ยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศไทยสู่อนาคต 4.0 (พ.ศ. 2575)”

ท่านพงศ์โพยม วาศภูติ ประธานคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (ก.ถ.) อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และ อดีตประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปด้านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บรรยายพิเศษ เรื่อง “กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับข้าราชการส่วนท้องถิ่น”

วันที่ที่ วันศุกร์ที่ 24 มีนาคม 2560

ท่านณรงค์ เชื้อบุญช่วย ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บรรยายพิเศษ เรื่อง “การจัดทำแผนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฉบับที่ 3”

ท่านศิริวัฒน์ บุปผาเจริญ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการบริหารงานบุคคลท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น บรรยายพิเศษ เรื่อง “ความก้าวหน้าข้าราชการส่วนท้องถิ่นของระบบแท่ง , การปรับปรุงสายงาน , การเทียบตำแหน่ง , การประเมินผลการปฏิบัติงานของ พนักงานจ้าง , ค่าตอบแทนผู้ปฏิบัติในสายอาชีพต่าง ๆ , องค์กรพิทักษ์ระบบ คุณธรรม”

เห็นหัวข้อการอภิปรายแล้วคุ้มค่ามาก เพราะเป็นเสียงการปฏิรูปท้องถิ่นจากผู้เกี่ยวข้องที่เป็น “ตัวจริงเสียงจริง”

กฎหมายท้องถิ่นหลัก 3 ฉบับ

ได้แก่ (1) ร่างประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวม ร่าง พรบ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (2) ร่าง พรบ. ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น และ (3) ร่าง พรบ. การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (สถ.ผถ.) ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับนายก อปท. ได้แก่ กฎหมายการเลือกตั้ง สถ. ผถ. และกฎหมายว่าด้วย อปท. โดยเฉพาะเรื่องการ การควบรวม อปท. สำหรับกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับข้าราชการส่วนท้องถิ่น ก็ได้แก่ กฎหมายบุคคลส่วนท้องถิ่น ทำให้กฎหมาย 3 ฉบับนี้มีความสำคัญยิ่ง นอกจากนี้มีกระแสว่า “การเลือกตั้งท้องถิ่น” ขอให้มีการเลือกตั้ง “ก่อนการเลือกตั้งใหญ่ สส.” ด้วย [3] เพื่อป้องกันการเมืองใหญ่แทรกแซง เข้ามากดดันหรือแทรกแซงการเมืองท้องถิ่น

แม้ว่าร่างพรบ. ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น ซึ่ง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้มีมติผ่านร่างแล้วเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 [4] และร่างประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2559 [5] และตอกย้ำด้วยคณะกรรมการประสานงาน 3 ฝ่าย คือ คณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้เห็นชอบรายงานร่างกฎหมายเกี่ยวกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รูปแบบทั่วไป 2 ฉบับแล้ว เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2559 [6] แต่ก็ยังไร้วี่แวววันที่กำหนดการที่แน่นอนของการตราเป็นกฎหมายประกาศบังคับใช้

“การควบรวม อปท.” ท่ามกลางข้อมูลที่สับสนขัดแย้ง

แม้จะมีความเห็นร่วมในการปฏิรูปท้องถิ่นก็ตาม แต่ตัวชูโรงของการปฏิรูปในครั้งนี้ก็คือ “การควบรวม” (Amalgamation or Merging Local Government Units) แม้จะมีการชี้แจงให้เห็นถึงผลดีของ “การควบรวม อปท.” ก็ตาม แต่เนื่องจากในบริบทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นั้น มี “ผู้มีส่วนได้เสีย” (Stake holders) ที่มากมายหลายฝ่ายหลายกลุ่ม ฉะนั้น ท่ามกลางความสับสนขัดแย้งในหลาย ๆ ประการ จึงแน่นอนว่าต้องมีเสียงตอบรับ “ในเชิงลบ” หรือ “การคัดค้าน” เกิดขึ้นเป็นละลอกต่อเนื่องไม่ขาดสาย แม้ในสถานการณ์ปัจจุบันก็ต้องทำความเข้าใจและเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้โต้แย้งสนับสนุน เพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมเป็นที่ตั้ง

ข่าวล่าสุดเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2560 สมาคม อปท. 3 สมาคม (อบต. เทศบาล และ อบจ.) ได้ยื่นหนังสือถึงประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อคัดค้านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ให้ใช้ประมวลกฎหมาย อปท.และร่างประมวลกฎหมาย อปท.ที่ผ่านความเห็นชอบของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) โดยเห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวน่าจะขัดกับเจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่เป็นไปตามหลักในการกระจายอำนาจ จึงขอให้ สนช.พิจารณาอย่างรอบคอบ [7]

ฉะนั้น การสัมมนาครั้งนี้จึงอาจตอบโจทย์การปฏิรูปท้องถิ่นในหลาย ๆ เรื่องที่ค่อนข้างสับสนเหล่านี้

ข้อเสนอปฏิรูป อปท.ที่หลากหลาย

ลองมาดูตัวอย่างข้อเสนอจากผู้เกี่ยวข้อง อาทิเช่น ควรเสนอให้ยกเลิกหรือยกฐานะ อบต. เป็นเทศบาล ทั้งหมดโดยเร็ว, ส่วนการมีการควบรวมหรือไม่อย่างไรนั้น เป็นเรื่องของ “ประชาคมท้องถิ่น”, ควรยกเลิก อบจ. เพราะ ว่า มีการทำงานที่ซ้ำซ้อน ไม่มีพื้นที่ และ อบจ.ยังเป็นฐานการเมืองระดับชาติที่ชัดเจน, อปท.ควรยกเลิกหรือออกจากสังกัดกระทรวงมหาดไทย ให้ไปอยู่ในการกำกับของหน่วยงานที่เป็นส่วนกลาง หรืออยู่ในรูปของ “คณะกรรมการท้องถิ่นแห่งชาติ”, ควรยกเลิกการบริหารงานบุคคลท้องถิ่นทั้งหมดแล้วให้นำหลักการ ของข้าราชการพลเรือน (กพ.) มาใช้บังคับ, ควรเสนอให้ ออก พรบ. ว่าด้วยสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลของ ข้าราชการส่วนท้องถิ่น, ควรเสนอให้แก้ไข พรบ.จัดตั้ง (เทศบาล) โดยระบุอำนาจหน้าที่ให้ชัดเจน ที่ไม่ต้องตีความให้หน่วยงานตรวจสอบได้ทักท้วงเอาผิด, แก้ไขบริบทใหม่ว่า อปท.มิใช่องค์กรปกครองแต่ให้เปลี่ยนเป็น “องค์กรพัฒนาท้องถิ่น” ฯลฯ ... เป็นต้น

ยังครับ ยังมีประเด็นคำถามต่าง ๆ อีกมากมาย หลากหลายไม่รู้จบ เจอกันในวันสัมมนา 21 – 24 มีนาคม 2560 นี้ที่ รร.มิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น หลักสี่ กทม. คุ้มค่าจริง ๆ สามวันเต็ม ๆ ค่าลงทะเบียนเบิกได้ 2400 บาทเท่านั้น



[1] Phachern Thammasarangkoon, Municipality Officer ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560 ปีที่ 67 ฉบับที่ 23313 หน้า 10, การเมืองท้องถิ่น : บทความพิเศษ & หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 64 ฉบับที่ 24 วันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ – วันพฤหัสบดีที่ 2 มีนาคม 2560, หน้า 66

[2] เอกสารดาวน์โหลดการประชุมสัมมนาเชิงวิชาการ ยุทธศาสตร์ชาติและทิศทางการขับเคลื่อนการปฏิรูปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ระหว่างวันที่ 21-24 มีนาคม 2560 ณ ห้องแกรนด์บอลลูม โรงแรมมิราเคิล ฯ หลักสี่ กรุงเทพฯ รายละเอียดตาม เวบไซต์สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, http://www.xn--82c0aec0cgbk4ar5kwb8j.com/s2560/pro... & http://associationtessaban.blogspot.com/

[3] อปท. เห็นควรเปิดสนามเลือกตั้ง “ท้องถิ่น” ก่อน ป้องกันการเมืองใหญ่แทรกแซง, 9 กุมภาพันธ์ 2560, http://www.topicza.com/news32654.html

[4] สปท.มีมติ 163 เสียง เห็นชอบรายงาน กมธ.ด้านการปกครองท้องถิ่น เสนอปรับปรุงกฎหมาย ยกระดับการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น, 10 พฤษภาคม 2559, http://www.radioparliament.net/parliament/viewNews...

[5] สภาขับเคลื่อนฯ เห็นชอบแผนปรับโครงสร้างท้องถิ่นยุบรวม อบต. เป็นเทศบาลตำบล, 23 สิงหาคม 2559, http://prachatai.com/journal/2016/08/67585

[6] 12 ต.ค.นี้ ประชุมร่วม 3 ฝ่าย ‘ครม.-สนช.-สปท.’ ประเด็นปฏิรูปประเทศด้านการปกครองท้องถิ่น, 12 ตุลาคม 2559, http://www.topicza.com/news17848.html & ดีเดย์ม.ค.61‘ยุบอบต.’ วางไทม์ไลน์เลือกตั้งเทศบาลหลังได้ส.ส., ฐานเศรษฐกิจ, 11 พฤศจิกายน 2559, http://www.thansettakij.com/2016/11/11/112301

[7] เสียงจาก “ท้องถิ่น-นักการเมืองระดับชาติ” ค้านยุบรวมท้องถิ่น, ทีมข่าวผู้นำท้องถิ่น, 19 มกราคม 2560, http://www.topicza.com/news29881.html & กกถ.เดินหน้าเสนอแนะ ครม. ไม่เห็นพ้อง “ควบรวม อปท.” ตามแนวทางของ สปท.18 มกราคม 2560, www.topicza.com/news29738.html

เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2560 ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ กรุงเทพฯ สมาคม อบต.แห่งประเทศไทย ประชุมขับเคลื่อนแผนการดำเนินงานของสมาคมฯ โดยมีตัวแทน 76 จังหวัด เข้าร่วม ที่ประชุมมีมติให้ อบต.ทั่วประเทศทั้ง 5,334 แห่ง จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชนระดับพื้นที่ ในประเด็นการควบรวม อปท. เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลถึงผลดีและผลเสียของการปฏิรูปโครงสร้าง อปท. พร้อมกับเสนอให้ประชาชนในแต่ละพื้นที่ที่ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมาย อปท. และร่างประมวลกฎหมาย อปท.ฉบับที่ผ่านความเห็นชอบของ สปท.

กกถ.เดินหน้าเสนอแนะครม.ไม่เห็นพ้องด้วยกับการ “ควบรวมอปท.” ตามแนวทางของสปท., สมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย ในการประชุมคณะอนุกรรมการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ ในคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กกถ.) เมื่อ 16 มกราคม 2560 โดย ศ.ดร.ชาติชาย ณ เชียงใหม่ เป็นประธาน

หมายเลขบันทึก: 624340เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2017 22:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มีนาคม 2017 20:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท