14 กุมภาพันธ์ : ให้เลือด ให้ชีวิต ให้โลหิตให้ความรัก (องค์การนิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม)


องค์การนิสิต ใช้สโลแกนว่า “ให้เลือด ให้ชีวิต ให้โลหิตให้ความรัก : ให้โลหิตต่อชีวิตอีกครั้ง” ซึ่งก็ถือว่าเป็นวาทกรรมที่สัมพันธ์กับวาระหรือกระแสหลักของสังคมในเดือนแห่งความรักที่ยึดโยงถึงการแบ่งปัน หรือการเป็นผู้ให้อย่างสร้างสรรค์ในอีกมิติของชีวิต และเป็นมิติที่ร้อยรัดอยู่กับสถานะของการ “ต่อชีวิตให้กับอีกชีวิต”


กิจกรรมการบริจาคโลหิตที่จัดโดยองค์การนิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2560 เป็นกิจกรรมสร้างสรรค์อันเรียบง่ายและมีพลังอีกกิจกรรมหนึ่งที่มีขึ้นในวันอันเป็นกระแสหลักของสังคมไทยและสังคมโลกที่ว่าด้วย “วันแห่งความรัก”

จะว่าไปแล้วในรอบ 10 ปี นี่อาจหมายถึงองค์การนิสิตชุดแรกที่ลุกขึ้นมาทำเรื่องการบริจาคโลหิตอย่างจริงจัง หลังจากก่อนหน้าที่สภานิสิตได้ดำเนินการมาแล้ว 2-3 ปี

คำว่า “จริงจัง” ในที่นี้ผมหมายถึงมีการบรรจุเข้าเป็นแผนประจำในการบริหารงาน โดยก่อนนี้ในช่วงปลายเดือนมกราคม 2560 ก็จัดไปแล้วครั้งหนึ่ง เป็นการจัดถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยผูกโยงเรื่องราวต่อเนื่องมาจากมหกรรมเชิงรุกของโครงการ “รอยพ่อ แผ่นดิน 9”

นั่นยังไม่นับการบริจาคโลหิตในช่วงภาคเรียนต้นที่เคยจัดกึ่งทางการไปแล้วรอบหนึ่งในครรลอง “น้องใหม่ใส่ใจสังคม”




ในทำนองเดียวกันหากมองย้อนกลับไปยังข้อเขียนผมในรอบสามถึงสี่ปีเกี่ยวกับเรื่องการบริจาคโลหิต ผมก็ยืนยันชัดเจนมาตลอดว่าผมปรารถนาให้องค์กรนิสิตได้ช่วยกันจัดกิจกรรมในทำนองนี้เรื่อยๆ เพราะเป็นกิจกรรม “ง่ายงาม” ไม่ต้องตระเตรียมอะไรให้ใหญ่โตมากมายเกินจำเป็น เป็นกิจกรรมบริการสังคมแบบเรียบง่ายแต่เต็มไปด้วยความหมายและคุณค่า แถมยังมีโอกาสได้พบปะกับเครือข่ายในระดับจังหวัด รวมถึงการพบปะกับมวลชนอันเป็นนิสิตของตัวเองเป็นระยะๆ

เช่นเดียวกับการมองว่ากิจกรรมการบริจาคโลหิต เป็นกิจกรรมที่อาจไม่จำเป็นต้องทุ่มงบประมาณก้อนโตหรือประชาสัมพันธ์อันใดให้มากความนัก ขอเพียงสื่อสารให้ชัดว่าจะมีขึ้นในวันไหน ที่ไหน เวลาใด อย่างไรเสียผู้คนอันเป็นมวลนิสิตก็ทะลักมาร่วมอย่างล้มหลามอยู่ดี หรือแม้แต่ข้อมูลที่เคยจัดจะคาบเกี่ยวกับช่วงการสอบ ถึงกระนั้นก็ยังพบว่านิสิตยังคงให้ความสำคัญกับกิจกรรมนี้อยู่วันยังค่ำ





และจวบจนบัดนี้ ถึงแม้จะสามารถผลักดันเป็นนโยบายร่วมโดยมอบหมายให้ทุกคณะเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมบริจาคโลหิตอย่างน้อยคณะละ 1 ครั้งต่อปีแล้วก็เถอะ แต่ก็คงดีไม่ใช่ย่อยหากสภานิสิต หรือองค์การนิสิต จะเป็นเจ้าภาพจัดปีการศึกษาละ 1-2 ครั้งโดยผูกโยงการเรียนรู้ไว้กับกระแสหลักของสังคมเป็นวาระๆ ไป พร้อมๆ กับการออกแบบกิจกรรม หรือบูรณาการข้อมูลของวาระนั้นๆ ให้มีตัวตนในเวทีของการบริจาคโลหิต ซึ่งในทางการบริหารจัดการองค์กรอาจใช้เวทีเล็กๆ ตรงนี้ให้เหล่าบรรดาสมาชิกมือใหม่หัดขับ หรือกลุ่มอนุกรรมการได้ฝึกวิทยายุทธในการบริหารจัดการโครงการไปในตัวฯ


การบริจาคโลหิตเนื่องในวันแห่งความรักของปีนี้ องค์การนิสิต ใช้สโลแกนว่า “ให้เลือด ให้ชีวิต ให้โลหิตให้ความรัก : ให้โลหิตต่อชีวิตอีกครั้ง” ซึ่งก็ถือว่าเป็นวาทกรรมที่สัมพันธ์กับวาระหรือกระแสหลักของสังคมในเดือนแห่งความรักที่ยึดโยงถึงการแบ่งปัน หรือการเป็นผู้ให้อย่างสร้างสรรค์ในอีกมิติของชีวิต และเป็นมิติที่ร้อยรัดอยู่กับสถานะของการ “ต่อชีวิตให้กับอีกชีวิต”




ในทางกลยุทธของกิจกรรมครั้งนี้ องค์การนิสิต ได้สร้างสัญลักษณ์โดยการจัดทำเสื้อยึดมาส่งมอบให้กับ 100 คนแรกที่มาบริจาคโลหิต เป็นเสื้อยึดที่บ่งชัดว่า “คนมางานนี้-มาบริจาคโลหิตเท่านั้นที่จะได้” ไม่ใช่ทำขึ้นมาแล้วแจกเกลื่อนท้องถนน ดังนั้นเสื้อยึดเพียงหนึ่งตัวที่ว่านี้จึงมีสถานะที่หลากสถานะ เป็นทั้งของที่ระลึกของการมาร่วมกิจกรรม หรือกระทั่งเป็นจดหมายเหตุชีวิตของผู้จัดและผู้เข้าร่วมในถนนสายกิจกรรม

ยิ่งมองเห็นการออกแบบโทนสีของเสื้อและฉากยิ่งทำให้เห็นความลุ่มลึกของคนออกแบบที่ใช้โทนสีอันสัมพันธ์และหว่างเลือดกับความรัก -

ส่วนกิจกรรมการแจกถุงยางอนามัยผ่านการบริจาคโลหิตเนื่องในวันแห่งความรักครั้งนี้ เบื้องต้นผมขออนุญาตข้ามไป- เพราะไม่ใช่ประเด็นหลักที่องค์การนิสิตมุ่งที่จะสื่อสารเท่าใดนัก เข้าใจว่าเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ผูกโยงมาจากเครือข่ายและวาระของวันแห่งความรักนั่นแหละ หรือแม้กระทั่งการจะไม่กล่าวถึงเรื่องจิตอาสา หรือจิตสาธารณะ หรือความเป็นอัตลักษณ์นิสิต (ช่วยเหลือสังคมและชุมชน) ที่แทรกไว้ในกิจกรรมนี้

แต่ที่แน่ๆ ครั้งนี้มียอดการบริจาคโลหิต 220 คน (88,000 มิลลิลิต : ซีซี)




ที่สุดแล้ว ผมก็ยังยืนยันว่านี่คือกิจกรรมอันง่ายงามที่ยังอยากให้มีขึ้นอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ซึ่งปีนี้- ปีการศึกษา 2559 องค์การนิสิต ที่บริหารงานโดย “พรรคพลังสังคม” ได้ปักหมุดขับเคลื่อนต่อเนื่องอย่างน้อยสองครั้งก็ถือเป็นอีกหนึ่งประวัติศาสตร์ของคนทำกิจกรรมที่ต้องร่วมบันทึกไว้ หลังจากก่อนหน้านี้สภานิสิตก็ได้นำร่องไปก่อนแล้ว ขึ้นอยู่กับว่าองค์การนิสิตชุดใหม่ (ปีการศึกษา 2560) จะให้ความสำคัญดำเนินการต่อเนื่องอีกหรือไม่

หรือกระทั่งมองเป็นความท้าทายว่าบางทีในอนาคตอันใกล้ “ชมรมอาสายุวกาชาด” นี่แหละที่จะลุกขึ้นมารับช่วงเป็นเจ้าภาพหลักของกิจกรรมนี้ในนามขององค์กรนิสิต ...

แต่ที่แน่ๆ ปีนี้ ในวันแห่งความรัก การที่ใครสักคนได้มอบเลือดให้กับเพื่อนมนุษย์ก็ดูดีมีเสน่ห์ชวนจดจำไม่แพ้การมอบดอกกุหลาบช่อใหญ่ๆ ให้กับใครสักคน !






การรับบริจาคโลหิตกับมหาวิทยาลัยมหาสารคามถือเป็นความร่วมมือระดับจังหวัดที่ผู้บริหารแต่ละรุ่นได้สร้างวัฒนธรรมที่ดีส่งต่อกันมาเป็นระยะๆ ทำให้จังหวัดมหาสารคามได้เปรียบกว่าจังหวัดอื่นที่อยู่ใกล้เคียง สามารถจัดทำแผนได้ตลอดทั้งปี มีโลหิตเพียงพอ

ขณะเดียวกันการบริจาคโลหิตก็ช่วยให้นิสิตได้ตรวจสุขภาพไปในตัว รู้จักการช่วยเหลือผู้อื่น และเป็นตัวอย่างที่ดีต่อเยาวชนในการทำความดี


นายณรงค์ ภูนาขาว : หัวหน้าคลังเลือดโรงพยาบาลมหาสารคาม






แต่ละส่วนของเลือดมีหน้าที่แตกต่างกันไป เช่น เม็ดเลือดแดงมีหน้าที่ขนออกซิเจนไปเลี้ยงเนื้อเยื่อ เม็ดเลือดขาวต่อสู่และกินเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย เกล็ดเลือดทำให้เลือดหยุดง่าย ส่วนน้ำเลือดทำหน้าที่ขนส่งอาหารไปเนื้อเยื่อของร่างกายรวมถึงยาที่ใช้รักษาโรค

ดังนั้นการบริจาคเลือดจึงเป็นกุศลอันยิ่งใหญ่ เพราะเป็นการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนต้องการองค์ประกอบของเลือดชนิดใด

รศ.ดร.อุไร จำปาวะดี : รองคณบดีฝ่ายพัฒนานิสิตคณะพยาบาลศาสตร์




หมายเลขบันทึก: 623402เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2017 23:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2017 23:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท