ปรัชญาตะวันออก : ปรัชญาอินเดีย (Indian Philosophy)


ปรัชญาตะวันออก : ปรัชญาอินเดีย (Indian Philosophy)

26 มกราคม 2560 [1]

ผู้เขียนตั้งใจว่าจะเรียบเรียงนำเสนอเรื่อง “ปรัชญา” (Philosophy) ให้ผู้ที่ไม่ได้เรียนรู้เรื่องปรัชญามาก่อน ได้เข้าใจไปที่ละเล็กละน้อย แต่เอาเข้าจริง ๆ เป็นเรื่องยากมาก ๆ ที่จะเรียบเรียงแนวคิดเรื่องปรัชญาให้ปะติดปะต่อกัน เป็นเรื่องเป็นราว แม้เมื่อปี พ.ศ. 2554 ผู้เขียนได้ศึกษาวิชา “นิติปรัชญา” หรือ “ปรัชญากฎหมาย” (Legal Philosophy) ซึ่งเป็น “ปรัชญาประยุกต์” (applied philosophy) โดยผู้เขียนได้เขียนเรื่อง “ปัญหาและข้อจำกัดของหลักนิติธรรมในสังคมไทย : วิพากษ์แนวสิทธิมนุษยชน” [2] ซึ่งมีขอบข่ายการนำเสนอที่ออกจากยุ่งยากบ้าง ด้วยเป็นขอบข่ายที่กว้างมาก แต่อย่างไรก็ตามผู้เขียนก็ได้พยายามโยงเข้ามา “ปรัชญาตะวันออก” คือ ปรัชญาไทย (ผูกติดปรัชญาอินเดีย) และ ปรัชญาจีน

มาตอนนี้ จึงอยากมาทบทวนความรู้เดิม เก่า ๆ นับตั้งแต่การเรียน วิชาอารยธรรมตะวันตก (Western Civilization) และ วิชาอารยธรรมตะวันนอก (Eastern Civilization) ในชั้นเรียนปริญญาตรี ที่ออกจะยากในการนำเสนอบ้าง ตามประสาผู้ที่มิได้ศึกษาเรียนวิชา ปรัชญามาโดยตรง ซึ่งผู้เขียนได้เริ่มนำเสนอมาได้สามตอนแล้ว คือ (ตอนที่ 1) ว่าด้วยวิชาปรัชญา (Philosophy) : ปรัชญาตะวันตก (ตอนที่ 2) ปรัชญาตะวันออก (Eastern Philosophy) : ขอบข่ายการศึกษา (ตอนที่ 3) ปรัชญาจีน (Chinese Philosophy)

ช่วงอายุ (Period)

ปรัชญาอินเดีย (Indian Philosophy) ยอมรับว่าลึกซึ้งมาก ๆ เพราะ ปรัชญาอินเดียเริ่มมาจากศาสนา (Religion) ซึ่งปรัชญาอินเดียจะผูกติดกับศาสนามาแต่โบราณกาล ช่วงอายุการสืบสาวราวเรื่องปรัชญาอินเดียนับว่ายาวนานมาก ซึ่งนานมากถึง 1500 - 700 ปีก่อนคริสตกาล (B.C.) เป็นช่วงเวลาที่ชาวอารยันผู้ใช้ภาษาสันสกฤต (the Vedic Sanskrit texts) [3] ขึ้นมามีอำนาจและบทบาทในดินแดนแถบที่ราบลุ่มแม่น้ำสินธุ (Indus) โดยนำมาด้วย “คัมภีร์พระเวท” (Vedas) มาด้วย

หันมาดูปรัชญาจีน ที่แก่ก็คือปรัชญาของขงจื๊อ, ขงจื้อ, ขงจื่อ, ขงฟู่จื่อ, ข่งชิว(Confucius) (B.C.551 - 479) และปรัชญาของเล่าจื๊อ,เหลาจื้อ, เหลาจื่อ (Lao tzu; also Lao Tse, Laotze, Lao Zi) ซึ่งเป็นคนรุ่นราวคราวเดียวกับขงจื่อ

และเมื่อเทียบกับปรัชญาตะวันตก ยุคกรีกยุคโบราณในราว 600 – 500 B.C. ซึ่งอายุไล่เลี่ยกับปรัชญาจีน จะเห็นได้ว่าปรัชญาอินเดียเก่าแก่มาก ๆ กล่าวคือ เก่าแก่กว่าปรัชญาจีน และ ปรัชญาตะวันตก (กรีกโบราณ) ถึงประมาณ 1000 ปี

แยกศึกษาปรัชญาอินเดียได้เป็น 2 ช่วงได้แก่ [4] ปรัชญาอินเดียโบราณ (ancient Indian philosophy) คือปรัชญาอินเดียในช่วงสมัยอารยันซึ่งมีพื้นฐานอยู่ที่ศาสนา และ ช่วงเวลาตั้งแต่คริสต์ศักราชที่ 1800 เป็นต้นมา เรียก “ปรัชญาอินเดียร่วมสมัย” (contemporary Indian philosophy) คือปรัชญาอินเดียในช่วงรอยต่อของสมัยมุสลิมกับสมัยอาณานิคมซึ่งมีแรงจูงใจอยู่ที่สภาพสังคมและการเมืองของอินเดียในขณะนั้น โดยศึกษาได้จากทั้งคัมภีร์ทางศาสนาเช่น พระเวท พระไตรปิฎก จากสูตรต่างๆ เช่น โยคะสูตร จากมหากาพย์สำคัญเช่น มหาภารตะ จากงานวรรณกรรมสำคัญเช่น ธรรมศาสตร์ อรรถศาสตร์ กามสูตร อีกทั้งงานเขียนของนักปรัชญาอินเดียร่วมสมัย เช่น คีตาญชลี ของท่านรพินทรนาถ ฐากูร

ลักษณะทั่วไปของปรัชญาอินเดีย [5]

“ปรัชญาอินเดีย” ก็คือ หมายถึงปรัชญาทุกสำนักหรือทุกระบบที่เกิดขึ้นในอินเดีย หรือที่คิดสร้างสรรค์ขึ้นไว้โดยศาสดาและนักคิดที่เคยมีชีวิตอยู่หรือกำลังมีชีวิตอยู่ในอินเดีย

การทำความเข้าใจปรัชญาอินเดีย ให้ตั้งต้นจาก “คัมภีร์พระเวท” มี 4 เล่ม (the four Vedas) ได้แก่ ฤคเวท สามเวท ยชุรเวท และอาถรรพเวท ในแต่ละพระเวทนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ส่วน คือ (1) “สัมหิตา” หรือ “มันตระ” (Mantra) เป็นบทสวดร้อยกรองใช้สำหรับสวดสรรเสริญเทพเจ้า (2) “พราหมณะ” (Brahmanas) เป็นบทร้อยแก้วที่ว่าด้วยระเบียบวิธีในการนำบทสวดที่กล่าวไว้ใน “สัมหิตา” มาใช้ประกอบพิธีกรรม (3) “อารัณยกะ” (Aranyakas) เป็นคู่มือทางศาสนาสำหรับผู้ครองชีวิตอยู่ในป่าโดยตรง และ (4) “อุปนิษัท” (Upanishads) เป็นประมวลแนวความคิดทางปรัชญาที่มีอยู่ในคัมภีร์พระเวทไว้ทั้งหมด ซึ่งเรียกรวม ๆ ว่าเป็น “ศรุติ” (shruti) [6] แปลว่า สิ่งที่ได้ยินมา หมายถึงได้ยินมาจากพระเจ้า โดยผ่านสื่อกลางคือ ฤาษีมุนี (sage) และความเชื่อในอินเดียสมัยต่อมา ในทางปรัชญาถือว่าคัมภีร์พระเวทในส่วนอุปนิษัทมีความสำคัญที่สุด เพราะมีการตอบปัญหาสำคัญอันเกี่ยวเนื่องกับความหมายของชีวิต กล่าวคือ อุปนิษัทกล่าวไว้ว่าแก่นแท้หรือตัวตนของมนุษย์ (อาตมัน) นั้นเป็นหนึ่งเดียวกับความจริงแท้สูงสุด (พรหมมัน)

ปรัชญาหลักของอินเดีย 2 สาย อาสติกะ และ นาสติกะ [7]

สำนักปรัชญาหลักของอินเดียมีทั้งหมด 2 สาย 9 ระบบ (สำนัก) เป็น (1) สายอาสติกะ (orthodox systems) 6 ระบบ และ (2) สายนาสติกะ (unorthodox systems) 3 ระบบ แต่ละสำนักนั้นมีแนวความคิดเรื่องความจริง โลกและชีวิตแตกต่างกันออกไป

ปรัชญาอินเดียทุกระบบล้วนแต่ได้รับอิทธิพลจากคัมภีร์พระเวททั้งสิ้น ได้รับอิทธิพลจากพระเวทโดยตรง ที่เชื่อถือในความขลังและความศักดิ์สิทธิ์ของพระเวท คือ “สายอาสติกะ” มีระบบทั้ง 6 แห่งปรัชญาอินเดียได้แก่ (1) นยายะ Nyaya (2) ไวเศษิกะ Vaisheshika (3) สางขยะ Samkhya (4) โยคะ Yoga (5) มีมามสา Mimamsa (6) เวทานตะ Vedanta การที่ปรัชญาทั้ง 6 ระบบนี้ได้ชื่อว่าสายอาสติกะนั้น มิใช่เพราะว่าระบบทั้ง 6 นี้มีความเชื่อถือในความมีอยู่ของพระผู้เป็นเจ้าสูงสุด แต่เพราะระบบเหล่านี้ยอมรับนับถือความขลัง ความถูกต้องสมบูรณ์และความศักดิ์สิทธิ์ของพระเวท

ได้รับอิทธิพลจากพระเวทโดยอ้อม ที่คัดค้านหรือไม่ยอมเชื่อในความขลังและความศักดิ์สิทธิ์ของพระเวท คือ “สายนาสติกะ” มีระบบปรัชญาที่สำคัญอยู่ 3 ระบบ คือ (1) ปรัชญาจารวาก (Cárváka) หรือโลกายัต (Lokáyata) ซึ่งเป็น “ปรัชญาวัตถุนิยม” (Indian Materialism) (2) พุทธปรัชญา และ (3) ปรัชญาแห่งศาสนาเชน

ซึ่งสำนักปรัชญาอินเดียเหล่านี้มีร่วมกันใน 3 ประเด็น ได้แก่

(1) ความสำคัญของภาคปฏิบัติ (practical necessity) เพื่อค้นหาว่าชีวิตควรดำเนินไปอย่างไรไม่ใช่เพียงหาความรู้เพื่อความพึงพอใจ นำไปสู่จุดมุ่งหมายที่สูงสุดของชีวิต (ปุรุษารถะ)

(2) ทรรศนะที่มองโลกในแง่ร้าย หรือทุนิยม (pessimism) เป็นการมองโลกตามความเป็นจริง โดยความจริงแล้วถึงแม้ทรรศนะในปรัชญาอินเดียจะมองโลกและชีวิตเริ่มต้นที่ความทุกข์ แต่ไม่ได้กล่าวว่าชีวิตนั้นจะต้องจบลงด้วยความทุกข์ หรือจะต้องจมอยู่กับความทุกข์นั้นตลอดไป นักปรัชญาอินเดียพยายามที่จะแสวงหาทางออกจากความทุกข์โศกเหล่านี้

(3) ความเชื่อเรื่องสังสารวัฏ และกฎแห่งกรรม เชื่อว่าสังสารวัฏและชีวะหรืออาตมัน (Atman) [8] ไม่มีจุดเริ่มต้น (ทฤษฎีอนาทิตวะ) ไม่มีพระเจ้า (อิศวร) ที่เป็นจุดเริ่มต้น (ab initio) ของเอกภพหรือสังสารวัฏ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าปรัชญาอินเดียไม่มีความเชื่อเรื่องพระเจ้า บทบาทหน้าที่ของพระเจ้าก็ยังคงมีอยู่ในปรัชญาอินเดียหลายสำนัก

แนวคิดเกี่ยวกับ “พระผู้เป็นเจ้าหนึ่งเดียว” (God)

ซึ่งมีอิทธิพลต่อแนวคิดปรัชญาอินเดียมาก คือหลักคำสอนเรื่อง “ปรมาตมัน” (Paramatman) หรือ “พรหมัน” (Bhroman) และ “ชีวาตมัน” (Jeevatman) หรือ “อัตมัน” (Atman) ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู (Brahman in Hinduism) [9] เชื่อว่า ปรมาตมัน บางครั้งเรียกว่า พรหมัน ปรมาตมันกับพรหมจึงเป็นสิ่งเดียวกัน มีฐานะเป็นวิญญาณดั้งเดิมหรือความจริงสูงสุดของโลกและสรรพสิ่ง ในโลก เพราะสรรพสิ่งมาจากปรมาตมันหรือพรหมัน ดำรงอยู่ และในที่สุดก็จะกลับคืนสู่ ความเป็นหนึ่งเดียวกับปรมาตมันหรือพรหมัน

ปรมาตมัน หรือ พรหมัน เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเอง ไม่มีรูปร่างปรากฏ มีอยู่ในสิ่งทั้งหลายทั้งปวง เป็นศูนย์รวมแห่งวิญญาณทั้งปวง เป็นความจริงแท้ หรือสัจธรรมเพียงสิ่งเดียว ส่วนโลก และสรรพสิ่งล้วนเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง เป็นเพียงมายาหรือภาพลวงตาที่มีอยู่เพียงชั่วครั้งคราวเท่านั้น

ส่วนชีวาตมันหรือบางครั้งเรียกว่าอาตมัน เป็นตัวตนย่อย หรือวิญญาณที่มีอยู่ในสิ่งมีชีวิตไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์ วิญญาณของมนุษย์ และสรรพสัตว์ย่อมเกิดมาจาก วิญญาณสากล คือ ปรมาตมัน หรือ พรหมัน เมื่อวิญญาณที่ออกมาจากปรมาตมัน หรือ พรหมันแล้วต้องเข้าไปสิงสถิตอยู่ในรูปแบบต่าง ๆ ของสิ่งมีชีวิตนับชาติไม่ถ้วน และต้องมีลักษณะสภาวะที่ไม่เหมือนกัน จนกว่าจะเข้าถึงความหลุดพ้น กระบวนการนี้เรียกว่า การเวียนว่ายตายเกิดหรือสังสารวัฏ ดังนั้น การที่อาตมัน หรือชีวาตมันย่อยนี้เข้าไปรวมกับปรมาตมันหรือพรหมัน จึงจะเรียกว่า การพ้นจากทุกข์ ไม่มีการเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป

ทรรศนะที่สำคัญของปรัชญาอินเดีย [10]

รวม 3 ทรรศนะ ได้แก่ (1) ทรรศนะเรื่องปุรุษารถะ (ว่าด้วยเป้าหมายของชีวิต) (2) ทรรศนะเรื่องปฐมเหตุ (3) ทรรศนะเกี่ยวกับที่มาของความรู้

(1) ทรรศนะเรื่องปุรุษารถะ หมายถึงเป้าหมายชีวิตของมนุษย์ เป็นบางสิ่งที่มนุษย์พยายามที่จะปฏิบัติ แสวงหาเพื่อให้ได้มาหรือพยายามที่จะบรรลุถึง เป็นคุณค่าที่มนุษย์ยึดมั่น สามารถกล่าวได้ว่าทฤษฎีเรื่องปุรุษารถะนี้เป็นทฤษฎีคุณค่าในปรัชญาอินเดีย ปุรุษารถะที่กล่าวถึงในปรัชญาอินเดียมี 4 ประการได้แก่ อรรถะ (Wealth ความร่ำรวย) กามะ (Pleasure หรือ desire ความปรารถนา) ธรรมะ (Norm การถึงพร้อมด้วยคุณธรรม ความดี) และโมกษะ (Liberation การหลุดพ้นจากความทุกข์ หรือ วัฏสงสารโดยสิ้นเชิง) ทฤษฎีปุรุษารถะในอินเดียมีอยู่หลายทฤษฎีด้วยกันดังที่กล่าวไปแล้ว คือ บ้างยอมรับเพียงหนึ่ง บ้างก็ยอมรับสอง สามหรือสี่ และทฤษฎีที่ยอมรับปุรุษารถะแบบเดียวกัน ก็ยังให้ความสำคัญกับแต่ละปุรุษารถะแตกต่างกันไป

(2) ทรรศนะเรื่องปฐมเหตุ เมื่อมนุษย์พยายามแสวงหาหนทางเพื่อความหลุดพ้นไปจากสังสารวัฏ มนุษย์จำเป็นต้องรู้ว่าอะไรที่เป็นสาเหตุทำให้มนุษย์ติดข้องอยู่ในสังสารวัฏหรือเอกภพแห่งนี้ เพื่อที่มนุษย์จะสามารถจัดการกับต้นเหตุและบรรลุผลตามที่ตนต้องการ ปัญหาเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดในปรัชญาอินเดียจึงโยงเข้ากับแนวคิดเรื่องการเกิดขึ้นของสรรพสิ่งหรือเอกภพ ทุกสำนักของปรัชญาอินเดียคิดว่าน่าจะมีอะไรบางอย่างที่เป็นสาเหตุแห่งการเกิดขึ้นของเอกภพและสังสารวัฏ สรุปเป็น 4 กลุ่ม คือ (1) สรรพสิ่งเกิดจากปฐมเหตุเพียงอย่างเดียว (2) สรรพสิ่งเกิดจากปฐมเหตุหลายอย่าง (3) สรรพสิ่งเกิดจากปฐมเหตุเพียงอย่างเดียว และหลายอย่าง (4) สรรพสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้มีปฐมเหตุ

(3) ทรรศนะเกี่ยวกับที่มาของความรู้ ปรัชญาอินเดียหลายสำนักเช่น นยายะ กล่าวว่าความรู้ที่ถูกต้องเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการบรรลุโมกษะซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุด (summum bonum) ของมนุษย์ อีกทั้งประกอบกับท่าทีสงสัยที่นักปรัชญากลุ่มนาสติกะโดยเฉพาะพุทธปรัชญามีต่อพระเวท เป็นแรงผลักดันให้นักปรัชญาอินเดียสำนักต่างๆต้องพัฒนาทฤษฎีทางญาณวิทยาของตนขึ้นมาจนเกิดทฤษฎีที่เรียกว่า “ประมาณะวาทะ” ซึ่งว่าด้วยเครื่องมือแห่งการรับรู้ที่ถูกต้อง เนื้อหาส่วนใหญ่ในทฤษฎีนี้กล่าวถึงความรู้ที่ถูกต้องว่าสามารถได้มาได้อย่างไร ความรู้ที่ถูกต้อง(ประมา)ที่กล่าวถึงในปรัชญาอินเดียมีทั้งหมด 6 ประเภทได้แก่ (1) ประจักษ์ (perception) หมายถึง ความรู้ที่เกิดจากการกระทบกันระหว่างวัตถุกับประสาทสัมผัสหรืออายตนะอย่างใดอย่างหนึ่ง อาจรวมถึงความรู้โดยตรงที่ไม่ต้องอาศัยประสาทสัมผัส เช่น ความรู้จากทิพยจักษุ (2) อนุมาน (inference) หมายถึง ความรู้ภายหลัง คือความรู้ที่ตามมาจากความรู้อื่น (3) ศัพทะ (testimony) หมายถึง ความรู้จากตำราหรือคำบอกเล่าจากแหล่งที่มีความน่าเชื่อถือ (4) อุปมาน (comparison) หมายถึง การเปรียบเทียบ เป็นความรู้ที่เกิดจากการรับรู้ความคล้ายคลึงกันระหว่างสิ่งสองสิ่ง (5) อรรถาปัตติ (postulation) หมายถึง ความรู้ที่เกิดขึ้นเมื่อข้อเท็จจริง (X) ชุดหนึ่งจะไม่สามารถเป็นไปได้หากปราศจากข้อเท็จจริงหรือคำอธิบาย (Y) อีกชุดหนึ่ง เราจึงต้องสร้างข้อเท็จจริงหรือคำอธิบาย (Y) ขึ้นมาเพื่อรองรับข้อเท็จจริง (X) ชุดแรกนั้น (6) อนุปลัพธิ (non-perception) หมายถึง ความรู้เกี่ยวกับการไม่ปรากฏของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่ไม่ปรากฏ



[1] สารานุกรมปรัชญาออนไลน์: ปรัชญาอินเดีย, ปกรณ์ ศิวะพรประเสริฐ (ผู้เรียบเรียง)

, http://www.parst.or.th/philospedia/IndianPhilosoph... & ผจญ คำชูสังข์, ปรัชญาตะวันออก (Eastern Philosophy), 7 กันยายน 2557, https://dhrammada.wordpress.com/2014/09/07/ปรัชญาต... & ผจญ คำชูสังข์, ปรัชญาตะวันออก, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, http://pirun.ku.ac.th/~fhumpjk/ma388512/east_philo...

[2] “ปัญหาและข้อจำกัดของหลักนิติธรรมในสังคมไทย : วิพากษ์แนวสิทธิมนุษยชน”, 12 กันยายน 2554, https://www.gotoknow.org/posts/460308

[3] Sanskrit, Wikipedia, https://en.wikipedia.org/wiki/Sanskrit

[4] สารานุกรมปรัชญาออนไลน์: ปรัชญาอินเดีย, http://www.parst.or.th/philospedia/IndianPhilosoph... & ปรัชญาอินเดียร่วมสมัย, https://dhrammada.wordpress.com/eastern-philosophy...

[5] สารานุกรมปรัชญาออนไลน์: ปรัชญาอินเดีย, อ้างแล้ว

[6] พีรพล อิศรภักดี, “คัมภีร์พระเวท หรือ วรรณคดีพระเวท”, บทความจาก www.human.cmu.ac.th, http://www.siamganesh.com/india02.html

& ภควัทคีตา (Bhagavad Cita) ปรัชญาสำหรับผู้ไม่พอใจในสวรรค์, www.human.cmu.ac.th/courseonline/course/004233/pdf...

ศรุติ (Shruti) ซึ่งแปลว่าที่ได้ฟังมาถือว่าเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด

[7] สารานุกรมปรัชญาออนไลน์: ปรัชญาอินเดีย, อ้างแล้ว

[8] Sucinand Saensirimongol, ความหมายของพรหมัน และ อาตมัน/อัตตา, 12 กันยายน 2555, https://www.gotoknow.org/posts/502432 & หลักปฏิบัติว่าด้วย - ภาพนำทาง 8 ประการ, http://www.siamganesh.com/guidetobrahman.html & ปรมาตมัน (Paramatman), https://en.wikipedia.org/wiki/Paramatman

[9] ปรมาตมัน หรือ พรหมัน และ ชีวาตมัน, ใน PANTIP.COM, 9 ธันวาคม 2555, http://2g.pantip.com/cafe/religious/topic/Y13042771/Y13042771.html & Sucinand Saensirimongol, ความหมายของพรหมัน และ อาตมัน/อัตตา, 16 กันยายน 2555, https://www.gotoknow.org/posts/502432 & God in Religious Perspective, http://www.crs.mahidol.ac.th/crsblog/wp-content/uploads/2012/07/God-in-Religious-Perspective.ppt & Paramatman, Wikipedia, https://en.wikipedia.org/wiki/Paramatman & Ātman (Hinduism), Wikipedia, https://en.wikipedia.org/wiki/Ātman_(Hinduism)

[10] สารานุกรมปรัชญาออนไลน์: ปรัชญาอินเดีย, อ้างแล้ว

หมายเลขบันทึก: 622174เขียนเมื่อ 26 มกราคม 2017 22:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กรกฎาคม 2017 08:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท