ความหมายของพรหมัน และ อาตมัน/อัตตา


ความหมายของพรหมันและอาตมัน

             การที่จะศึกษาเรื่องสวภาวะอาตมัน  เราควรที่จะต้องทราบความหมายของอาตมันและพรหมันเสียก่อน  เพื่อนำไปช่วยเพิ่มทรรศนะความเข้าใจของเราให้ประจักษ์ชัดแจ้งในสิ่งทั้ง  ๒  นี้ยิ่งขึ้น

             พรหมัน  หมายถึงสิ่งแท้จริงสูงสุด  หรืออันติมสัจจะ  เมื่อมองจากทรรศนะวัตถุวิสัย  หรือในฐานะเป็นสิ่งที่ถูกรู้  ความหมายของพรหมัน  มีดังต่อไปนี้

              คำว่า  พรหมัน  หมายถึงสิ่งแท้จริงสูงสุด  สร้างขึ้นมาจากธาตุ  พฺฤหฺ  (พริ-หะ) ซึ่งแปลว่า  “เพิ่มขนาด ,  แผ่ขยายใหญ่ขึ้น ,  เจริญขึ้น  , ทำให้ใหญ่โตหรือแข็งแรงยิ่งขึ้น” 

             ใช้เรียกจิตวิญญาณสูงสุด  หรือพระเจ้าผู้มีพลังอำนาจในการเพิ่มขยายสิ่งซึ่งมีสภาพไม่ปรากฏ  เนื่องจากมีความละเอียดยิ่งกว่าละอองอณู  ให้กลายเป็นสิ่งต่าง ๆ  ที่ประกอบกันเป็นจักรวาล 

                ในคัมภีร์ฤคเวท  พรหมัน  หมายถึง  ความรู้อันศักดิ์สิทธิ์  บทสวดหรือเวทมนต์อันเป็นสิ่งวิเศษ

                คัมภีร์อุปนิษัท  กล่าวว่า  พรหมัน  มาจาก  พฺฤหฺ  ธาตุ  แปลว่า  ยิ่ง  เกิน  มากกว่า  และอติศยนะ (อะติศะนะยะ)   หมายถึง  ความบริสุทธิ์  ความเป็นสิ่งไม่สิ้นสุด  ความเป็นอมตะ

                  มัธวะ  แห่งเวทานตะ  ได้ให้ความหมายว่า  พรหมัน  คือ  บุคคลที่มีคุณสมบัติเต็มบริบูรณ์  (พฤหันโต  หะยัสมิน  คุณะ)

                  ฉานโทคยะอุปนิษัท  ได้กล่าวถึงพรหมันไว้ด้วยคำว่า  ตัชชะลาน  (ตชฺชลานฺ)    มีความหมายว่า  สิ่งนั้น  (ตัต)  เป็นที่เกิดของโลก  (ชะ)  เป็นที่กลับคืนสู่แห่งโลก  (ละ)  เป็นที่อิงอาศัยและดำรงอยู่ของโลก  (อัน)

                   ไตตติรียะอุปนิษัท  กล่าวถึงพรหมันไว้ว่า  สิ่งซึ่งเป็นที่เกิดของสรรพสิ่ง  เป็นที่อิงอาศัยแห่งสรรพสิ่ง  และเป็นที่กลับคืนสู่แห่งสรรพสิ่ง 

                  ความหมายในระยะต่อมา  คำว่า  พรหมัน  ใช้ในความหมายว่า  สิ่งแท้จริงสูงสุด  หรืออันติมสัจจะ  ซึ่งได้วิวัฒน์มาเป็นโลกและสรรพสิ่งในโลก  กล่าวคือ  สิ่งซึ่งเป็นมูลกรณะของสรรพสิ่ง

                   คำว่า  พรหมัน  ที่ใช้อยู่ในคัมภีร์อุปนิษัท  หมายถึง  สิ่งซึ่งเป็นปฐมเหตุของจักรวาล    มี  ๒  รูป  คือ

                   รูปที่  ๑  เป็นรูปนามศัพท์  ปุลลิงค์  (คำนามเพศชาย)เวลาอ่านออกเสียงจะเน้นหนักที่พยางค์ท้าย   (พฺรหฺมนฺ́)  และหมายถึง  สคุณพรหมัน  เป็นบุคลิกพรหมัน  กล่าวคือ  เป็นพระเจ้าผู้มีคุณสมบัติประเสริฐล้ำเลิศ  เป็นที่พึ่ง  ที่เคารพบูชาของมวลมนุษย์  มีลักษณะปรากฏเป็น  ๓  องค์  ใหญ่ ๆ    ที่เรียกว่า  ตรีมูรติ  คือ  พรหม  ผู้เป็นพระผู้สร้าง  พระวิษณุ  ผู้เป็นผู้คุ้มครองรักษา  และพระศิวะ     ผู้ทำลายล้าง  และสคุณพรหมันมีสถานภาพเป็นพระพรหมันระดับรอง  โดยเรียกว่า  อปรพรหมัน  หรือ อีศวระ  เป็นภาคปุคคลาธิษฐานของสิ่งสมบูรณ์  เป็นพระเจ้าที่มีตัวตนเป็นตัวบุคคล  (Personal God)  การอธิบายถึงพรหมันในลักษณะนี้เป็นการกล่าวพรหมันในแง่โลกียะ  (Cosmic)

                     ข้อความที่แสดงถึงคุณลักษณะของสคุณพรหมันนั้น  ได้แก่  มาณฑูกยะอุปนิษัท  โศลกที่  ๖  ซึ่งกล่าวว่า  พรหมันเป็นเทพเจ้าแห่งสรรพสิ่ง  เป็นผู้รู้ทุกสิ่ง  เป็นผู้คุ้มครองทุกสิ่งจากภายใน  และเป็นที่สิ้นสุดแห่งสรรพสิ่งทั้งปวง  ฉานโทคยะอุปนิษัท  ก็กล่าวไว้ด้วยคำว่า  ตัชชลาน  ซึ่งหมายถึงสิ่งนั้น  เป็นที่เกิดของโลก  เป็นที่กลับคืนไปสู่แห่งโลก  เป็นที่อิงอาศัยและดำรงอยู่  ไตตติรียะอุปนิษัท  ก็กล่าวไว้ในลักษณะเดียวกันว่าสิ่งซึ่งเป็นที่เกิดของสรรพสิ่ง  เป็นที่อิงอาศัยแห่งสรรพสิ่ง  และเป็นที่กลับคืนสู่แห่งสรรพสิ่ง   ข้อความที่ยกมาจากอุปนิษัทข้างต้นนั้น        เป็นการแสดงให้เห็นถึงลักษณะของพรหมันในลักษณะที่เป็นสคุณพรหมัน ซึ่งมีคุณสมบัติในการสร้างโลก  การรักษาโลก  และการทำลายโลก

                     รูปที่  ๒  เป็นรูปนามศัพท์  นะปุลสะกะลิงค์ (คำนามที่ไม่บ่งเพศชายหรือหญิง) เวลาอ่านจะออกเสียงเน้นหนักพยางค์ต้น  (พฺร́หฺมนฺ)  หมายถึง  นิรคุณพรหมัน  เป็นอบุคลิกพรหมัน  กล่าวคือ  เป็นพระพรหมันผู้ไม่มีรู้เป็นอจินไตร  ไม่อาจนิยามด้วยคุณสมบัติใด ๆ  ได้  เพียงแต่รู้ว่า  มีอยู่เป็นความจริงอันติมะ  เป็นจิตบริสุทธิ์  ไม่มีขอบเขตจำกัดด้วยกาลาวกาศ  มีธรรมชาติเป็นความบรมสุข  นิรคุณพรหมัน    มีสถานภาพเป็นพรหมันระดับสูงสุด  เรียกว่า  ปรพรหมัน  ในคัมถีร์อุปนิษัท  พระปรพรหมันถือเป็นจุดหมายสูงสุดของมนุษย์ที่ต้องพยายามไปให้ถึงในชาตินี้  เพื่อความหลุดพ้นเป็นอิสระจาก  อวิทยาและทุกข์ภัยในวัฏสงสารตลอดไป   ปรพรหมัน  เป็นภาคธรรมาธิษฐานของสิ่งสมบูรณ์  นิรคุณพรหมันแท้นั้นมีลักษณะเป็น  สัต  จิต  อานันทะ  กล่าวคือ  สัต  คือ  ความมีอยู่จริง  จิต  คือ  ความรู้  และอานันทะ  คือ  ความสุขสูงสุด  ทั้งหมดนั้นเป็นสิ่งหาที่สุดมิได้  หาขอบเขตมิได้     การอธิบายถึงพรหมันในลักษณะนี้เป็นการอธิบายถึงพรหมันในแง่โลกุตระ  (Acosmic)

                     ข้อความที่แสดงถึงลักษณะของนิรคุณพรหมันนั้น  ได้แก่  ข้อความที่กล่าวไว้ใน     พฤหทารัณยกะอุปนิษัท  ว่า  สิ่งซึ่งไม่มีการเสื่อมสลายที่ผู้ฉลาดเคารพบูชาอยู่นี้  เป็นสิ่งไม่หยาบ  (อสถูลมฺ)  ไม่ละเอียด  (อนูณัม)  ไม่สั้น  (อัหระสะวัม)  ไม่ยาว  (อะทีรฆัม)  ไม่ใช่เงา  (อัจฉายัม)  ไม่ใช่ความมืด  (อะตะมัส)  ไม่ใช่อากาศ  (อะนากาศัม)  เป็นต้น  ข้อความดังกล่าวข้างต้นเป็นการแสดงให้เห็นถึงพรหมันในลักษณะที่เป็นนิรคุณพรหมัน

                     จากข้อความที่ยกมาทั้งหมดข้างต้นนั้น  เป็นการแสดงลักษณะที่แท้จริงของพรหมันในลักษณะต่าง  ๆ  ที่เป็นทั้งสคุณพรหมันและนิรคุณพรหมัน 

                   อย่างไรก็ตาม  ทั้ง  ๒  ก็เป็นสิ่งที่แยกออกจากกันไม่ได้  เพราะเป็นสวภาวะของสิ่งที่แท้จริงสูงสุดอันเดียวกันแต่มองคนละด้าน       

                  ศังกราจารย์  ได้กล่าวว่า  สคุณพรหมันและนิรคุณพรหมันนั้นไม่ต่างกัน  สคุณพรหมันเป็นพรหมันองค์เทียมของนิรคุณพรหมัน  สคุณพรหมันเป็นความจริงขั้นสมมติ  เป็นโลกบัญญัติ    เป็นความเชื่อของสามัญชน   ส่วนนิรคุณพรหมันเป็นความจริงขั้นปรมัตถ์

                   

                     ส่วนคำว่า  อาตมัน  (อาตฺมนฺ)  สันนิษฐานว่า  สร้างขึ้นมาจากธาตุ  อนฺ (อัน)  ที่แปลว่า  “หายใจ”  ใช้เรียกส่วนเสี้ยวของพรหมัน  ซึ่งเป็นจิตบริสุทธิ์  (ชีวาตมัน)  ของสิ่งมีชีวิตทั้งหมด  และใช้เรียกสิ่งที่เป็นแก่นสารที่แท้จริงของทุกสิ่งในจักรวาล

                     คำว่า  อาตมัน  แปลว่า  ตัวตน  (สิ่งที่เป็นอมตะ   นิรันดร)  มาจาก  อนฺ ธาตุ  แปลว่า  หายใจ  ซึ่งเป็นลมหายใจของชีวิต  ความหมายของอาตมันแผ่กว้างออกไปตามลำดับ  จนมีความหมายครอบคลุมถึงชีวิต  วิญญาณหรือตัวตน

                     ที่มาของคำว่า  อาตมัน  ยังมีสันนิษฐานอื่นอีก  กล่าวคือ  อาจมาจากธาตุ  อตฺ  (อัต) ที่แปลว่า   “ไปเรื่อย , เดินไป”  หรืออาจมาจากธาตุ  อวฺ  ที่แปลว่า “ขับเคลื่อน”  หรืออาจมาจากรากศัพท์  อะ  ที่พบในคำว่า  อะหัม  (อหมฺ)   ที่แปลว่า  “ข้าพเจ้า”  รวมกับคำว่า  ตทฺ  ที่แปลว่า  “สิ่งนั้น”   (พรหมัน)  เป็นอาตมัน  (อาตฺมนฺ)  แปลว่า  “ข้าพเจ้า  คือ  สิ่งนั้น”   หมายถึง  ชีวาตมันของข้าพเจ้า  คือพระพรหมัน

 

                     ด้วยเหตุที่คำว่า  ปราณ  (ปฺราณ)  ซึ่งแปลว่า  “ลมหายใจ   ชีวิต  สิ่งที่เป็นหลักของชีวิต”  ก็มีการสร้างคำขึ้นมาจากธาตุ  อนฺ  เช่นเดียวกับคำว่า  อาตมัน  ดังนั้นในคัมภีร์อุปนิษัท  จึงปรากฏมีคำสอนเกี่ยวกับการใช้  ปราณ  เป็นสัญลักษณ์เพื่อการเพ่งจิตถึงอาตมันของตน  และมีการใช้คำว่า  ปราณ  แทนคำว่า  อาตมัน  ในหลายแห่ง   อาทิ  ในกฐะอุปนิษัท  มีข้อความกล่าวไว้ว่าดังนี้

               ด้วยเหตุที่สกลจักรวาลซึ่งกำลังดำเนินไปอยู่นี้  ได้ถือกำเนิดขึ้นมา  (และ)  เคลื่อนไหวอยู่ในปราณ (อาตมัน)

 

                 ราธากฤษณัน  กล่าวว่า  อาตมันเป็นแก่นแท้ของชีวิตมนุษย์  เป็นวิญญาณซึ่งแผ่ซ่านไปทั่วถึงความเป็นอยู่ของมนุษย์  เป็นลมหายใจ  (ปราณ)  เป็นความรู้สึกบริสุทธ์ปราศจากกิเลส  และอยู่เหนือสิ่งเหล่านั้น  อาตมันเป็นสิ่งที่คงอยู่  เมื่อทุกสิ่งไม่ใช่ตัวตนถูกทำลาย ดังนั้น  อาตมันจึงเป็นส่วนที่เหลืออยู่หลังจากส่วนประกอบทางร่างกายและจิตของมนุษย์ของแต่ละคนถูกแยกกระจายออก  ดังฉานโทคยะอุปนิษัทกล่าวไว้ว่า  อาตมันอยู่เหนือกายหยาบและอาตมันที่ถูกรับรู้ในขณะตื่นและขณะหลับฝัน

                  สิ่งเหล่านี้  ล้วนมีธรรมชาติอย่างเดียวกัน  คือ  เป็นสรรพัญญู  สรรพาภิภู  สรรพเดชา  เป็นอมตะ  คือ  ไม่เกิด  ไม่ตาย  และเที่ยงแท้นิรันดร  แต่เรามองไม่เห็นจึงไม่รู้ว่า  อาตมันมีลักษณะหรือสวภาวะเป็นอย่างนี้  อาตมันซ่อนอยู่ในเครื่องห่อ  คือ  โกศะ  ที่ปิดบังตาเราไว้ไม่ให้เห็น  และทำให้เราเข้าใจผิดไปว่ามันคือร่างกายบ้าง  อินทรีย์บ้าง  มนัสบ้าง  ฉะนั้น  ถ้าจะให้เห็นตัวอาตมันจะต้องเปิดเครื่องปกปิดที่เรียกว่า  โกศะ  ๕  อย่างออก  แต่ละอย่างมีดังนี้ 

                     ๑)   อันนมัยโกศะ  เครื่องปกปิด  คือ  ข้าวและน้ำ  ได้แก่  ส่วนของร่างกาย  มีกระดูก  เนื้อหนังมังสา  ที่เจริญเติบโตขึ้นมาจากข้าวและน้ำนี้เอง  นี้เป็นเครื่องปกปิดอาตมันชั้นแรก  ถ้าไม่เปิดออก  เราก็เข้าใจผิดว่า  อาตมันคือร่างกาย  แต่ที่จริงร่างกายไม่ใช่อาตมัน  แต่มีขึ้นเพื่ออาตมันและโดยอาตมัน

                     ๒)  ปราณมัยโกศะ  เครื่องปกปิด  คือ  ลมหายใจ  ได้แก่  ชีวิต  แม้ว่าชีวิตจะทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวได้  ทำอะไรได้ก็จริง  แต่ความมีชีวิตอาจตั้งอยู่ชั่วระยะหนึ่งแล้วดับไป  ฉะนั้น  ชีวิตจึงไม่ใช่อาตมัน  เพราะอาตมันเป็นอมตภาวะ  เราต้องเปิดเครื่องปกปิดคือชีวิตอีกชั้นหนึ่ง  และก้าวต่อไปเพื่อดูตัวอาตมัน

                     ๓)     มโนมัยโกศะ  เครื่องปกปิด  คือ  มโนหรือมนัส  ซึ่งทำหน้าที่รู้สึกต่ออารมณ์  มนัสเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทางความคิดหรือกระบวนการให้มีการรับรู้อารมณ์  เป็นเพียงเครื่องมือของอาตมันชนิดหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้อาตมันมากเข้าไปแล้ว  แต่เป็นเครื่องมือขั้นต่ำที่สามัญสำหรับคนและสัตว์  ขอให้เปิดเครื่องปกปิดนี้ออก แล้วมองข้ามไปอีกชั้นหนึ่ง

                     ๔) วิญญาณมัยโกศะ  เครื่องปกปิด  คือ  วิญญาณ  ได้แก่  ความรู้สึกนึกคิด                 ที่ประกอบด้วยเหตุผล  เป็นความคิดชั้นสูง  มีเฉพาะในคนที่เจริญแล้ว  เครื่องปกปิดชั้นนี้อยู่ใกล้อาตมันมากเข้าไปอีก  แต่เป็นเพียงเหตุผล  ไม่ใช่ตัวอาตมันแท้  ฉะนั้น  จึงขอให้เปิดเครื่องปกปิดนี้ทิ้งไปแล้วก้าวต่อไปอีกชั้นหนึ่ง

                     ๕)   อานันทมัยโกศะ  เครื่องปกปิด  คือ  ความสุข  หมายความว่า  ถ้าผู้ใดเปิดเครื่องปกปิดมาแต่ละชั้น ๆ และมองเห็นตามความเป็นจริงมาแต่ละชั้น ๆ ก็จะมาถึงชั้นสุดท้าย  คือความสุข  แล้วจะพบตัวอาตมันนอนอยู่ที่นั้น  แต่มิได้หมยความว่า  อาตมันอยู่เฉพาะในส่วนนี้เท่านั้น  แท้จริง  อยู่ทั่วไปทุกชั้น แพร่อยู่ทั่วไป  แต่เรามองไม่เห็น  กลับมองเห็นอย่างอื่นไป

                     จากที่ได้แสดงมาทั้งหมด  จะเห็นได้ว่า  สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงการบอกให้เราได้รู้ถึงอาตมันหรือพรหมันในด้านความหมายและลักษณะของอาตมันหรือพรหมันเท่านั้น  เมื่อสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราไม่รู้มาก่อน  ดังนั้น  เราถึงจะต้องรู้และทำความเข้าใจในสิ่งที่จะกล่าวต่อไปอีกข้างหน้า

 

บรรณานุกรม

วรลักษณ์  พับบรรจง,  คัมภีร์กำเนิดจักรวาลศาสตร์แห่งชีวิต (ม.ป.พ.: ๒๕๔๕)

S.Radhakritshnan , The  Principal  Upanisads

อดิศักดิ์  ทองบุญ,  ปรัชญาอินเดีย  (กรุงเทพมหานคร: ราชบัณฑิตตยสถาน,๒๕๔๖)

Paul Deussen,  “Atman”  in  Encyclopaedia of Religion and Ethics, ed. James Hastings, 2ndDelhi : Oriental Book Reprint, 1905)

                  

 

หมายเลขบันทึก: 502432เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2012 14:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 16:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

...ขอบพระคุณอย่างสูง..กับ..ความรู้ที่แบ่งปัน..เจ้าค่ะ..ยายธี

ช่วยเสริมให้อีกแรงหนึ่งครับ นอกจาก 'พรหมมัน' จะหมายถึงสิ่งจริงแท้สูงสุดแล้ว สิ่งจริงแท้สูงสุดในทรรศนะอื่นๆก็มีอยู่หลายทรรศนะและหลายหลักเกณฑ์มากพอสมควร ตัวอย่างเช่น 'แรง' เป็นสิ่งจริงแท้สูงสุดที่ใช้อธิบายปรากฏการณ์ต่างๆในทางฟิสิกส์ 'จุด' กับพื้นที่ระนาบมิติเดียว เป็นสิ่งจริงแท้สูงสุดของภาพทัศนศิลป์ที่จัดองค์ประกอบภาพด้วยเส้น 'พระผู้เป็นเจ้า' เป็นสิ่งจริงแท้สูงสุดในศาสนาที่มีพระเจ้า อย่างนี้เป็นต้น

ดังนั้น ความหมายในความเป็นสิ่งจริงแท้สูงสุดของพรหมมัน จึงเป็นความหมายจำเพาะทรรศนะต่อสิ่งจริงแท้สูงสุดในชุดโลกทรรศน์ของฮินดู ซึ่งในกลุ่มโลกทรรศน์ที่เชื่อต่อสิ่งจริงแท้สูงสุดนี้ จัดอยู่ในกลุ่ม 'เอกสัจจนิยม' หรือระบบคิดที่เชื่อว่าความจริงแท้มีอยู่เพียงหนึ่งเดียว แต่กลุ่มวิธีคิดที่นอกเหนือจากนี้ก็มีอีกหลายชุด เช่น หยิน-หยาง เป็นวิธีคิดแบบ 'ทวิลักษณ์นิยม' อย่างนี้เป็นต้น ในส่วนของพุทธธรรมนั้น ไม่ได้มุ่งไปที่เรื่องสิ่งจริงแท้สูงสุด แต่มุ่งเรื่อง 'ภาวะความเป็นและไม่เป็นไปตามชุดเหตุปัจจัยของสิ่งนั้นๆ' ซึ่งเป็นกระบวนการทางปัญญาหรือเป็นปัญญานิยมมากกว่าจะอยู่ที่ความเชื่อต่อสิ่งจริงแท้สูงสุด

ใน เต๋า และ เซน นั้น ดูเหมือนจะผสมผสานหลักทั้งสองอย่างนี้เข้าด้วยกัน โดยมีทรรศนะต่อภาวะความจริงสูงสุดด้วยเหมือนกัน แต่ไม่สรุปและไม่นิยามให้เจาะจงว่าคืออะไร เพราะไม่สามารถเข้าถึงได้ด้วยระบบเหตุผลและประสบการณ์เชิงสัมผัสของมนุษย์ ปัญญาของมนุษย์จะพากันเข้าถึงได้เพียงปรากฏการณ์และสถานการณ์เงื่อนไขเท่านั้น ส่วนความเป็นจริงพ้นไปจากนั้นจะเป็นอย่างไรก็เรียกกันกว้างๆว่าเต๋า ซึ่งก็แล้วแต่เหตุปัจจัยของผู้เข้าถึงและสถานการณ์เงื่อนไขนั้นๆ อาจจะไม่คงที่ตายตัว

นอกจากนี้ วิธีคิดและการจัดระบบอธิบายลักษณะความจริงกับความสัมพันธ์กับความจริงกับพรหมมันในโลกทรรศน์ฮินดูนั้น มีลักษณะเฉพาะอีกอย่างหนึ่งคือมีลำดับชั้นของความสัมพันธ์เชิงอำนาจและลำดับชั้นสูงต่ำหรือ Heirachical Structure ซึ่งมีความหมายต่อการจำแนกลำดับความสูงต่ำของความจริง และในลำดับต่างๆนั้น ก็มีการจำแนกในลำดับระนาบเดียวกันให้มีชุดความจริงแยกย่อยไปอีก อีกด้วย เช่นในระนาบเดียวกันของการลดหลั่นจากพรหมมัน สู่อัตมัน จากนั้นอธิบายไตรลักษณ์ของความจริงในสรรพสิ่งผ่านการอวตารออกเป็นสามอันได้แก่ตรีมูรติ และต่อๆไปอีก ดังนี้เป็นต้น

ขอชื่นชมอาจารย์มากครับ ความรู้อย่างนี้จะหาคนเอาใจใส่เขียนและนำมาถ่ายทอดให้คนทั่วไปได้ศึกษาไม่ค่อยได้ครับ อาจารย์นอกจากมีกำลังในการศึกษาค้นคว้าได้ลึกซึ้งมากแล้ว ก็มีกำลังในการเขียนถ่ายทอดให้ผู้สนใจทั่วไปได้ศึกษา เป็นประโยชน์และมีคุณค่ามากอย่างยิ่งครับ

ขอขอบคุณ คุณยายธี คุณวิรัตน์ คุณชยพร คุณธ.วัชชัย ทุกท่านนะครับ

ที่ได้ให้ดอกไม้และ Comment ดี ๆ เสริม ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท