เพลินเดินตามรอยพระยุคลบาท : ในหลวงให้อะไรกับหนู (๑)


ปีการศึกษานี้แตกต่างจากปีการศึกษาก่อนๆ เพราะพวกเขาได้เรียนรู้ว่าในหลวงรัชกาลที่ ๙ คือ "พระเวสสันดร​" ที่ทรงอุบัติมาเพื่อเป็นตัวอย่างของการให้ที่ยิ่งใหญ่ ดังที่ได้ทรงบำเพ็ญให้เห็นมาตลอดพระชนม์ชีพ

นับตั้งแต่วันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ เป็นต้นมา


กลุ่มคุณครูแกนนำขับเคลื่อนช่วงชั้นที่ ๑ - ๒ ได้มาช่วยกันวางแผนอย่างจริงจังว่าจะมีวิธีไหนบ้างที่จะช่วยให้เด็กๆ ที่อยู่ในวัยประถมได้เรียนรู้เรื่องราวของพระองค์ ได้ซาบซึ้งว่าพระองค์ทรงทำอะไรเพื่อพวกเราบ้าง

โจทย์ที่ยิ่งใหญ่ของพวกเราคือ เรื่องราวที่มีคุณค่าเหล่านี้จะบรรจุเอาไว้อย่างเป็นระบบในหลักสูตรแต่ละระดับของโรงเรียนเพลินพัฒนาประถมได้อย่างไร เพื่อให้ชนรุ่นหลังได้เรียนรู้และมีวิธีที่จะเดินตามรอยพระยุคลบาทอย่างมีปัญญา หยั่งรู้รู้คุณค่า และตระหนักในความมุ่งหมายที่พระองค์ท่านได้ทรงฝากไว้ให้กับพวกเราจริงๆ


วันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๙

เปิดภาคเรียนจิตตะ


ตลอด ๒ สัปดาห์แรกในช่วงเช้าก่อนเข้าเรียน หลังจากที่ร้องเพลงชาติ เพลงพระราชนิพนธ์* และเพลงอื่นๆ ที่มีผู้แต่งขึ้นเพื่อถวายพระเกียรติของพระองค์ท่านจบลงแล้ว ทางช่วงชั้นที่ ๑ และช่วงชั้นที่ ๒ ได้จัดฉายสื่อที่ค่อยๆ เรียบเรียงมาอย่างเป็นลำดับวันละ ๒๐ นาที พร้อมทั้งการพูดคุยให้นักเรียนได้เห็นถึงความมุ่งมั่นของพระองค์ท่านในการครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม ตลอดจนการครองพระองค์อย่างเรียบง่ายและพอเพียง โดยยกตัวอย่างเรื่องของดินสอที่พระองค์ใช้ทรงงานจนกระทั่งสั้นกุดด้วยภาพและเรื่องเล่า เช่นเดียวกันกับเรื่องของหลอดยาสีฟัน ที่ทรงรีดใช้จนหมดเกลี้ยง และเรื่องของฉลองพระบาท ที่ทรงโปรดให้มหาดเล็กนำไปซ่อมแล้วซ่อมอีก เป็นต้น


* เรื่องการร้องเพลงพระราชนิพนธ์ในช่วงพิธีกรรมยามเช้านี้ โรงเรียนเพลินพัฒนาถือเป็นประเพณีปฏิบัติมาตั้งแต่เปิดปีการศึกษาแรก ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๖ ด้วยตระหนักว่าเป็นบทเพลงเหล่านี้มีความไพเราะทั้งท่วงทำนองและเนื้อหา ที่ให้กำลังใจ และสร้างให้ใจบทเพลงที่เลือกมาขับร้องกันเป็นประจำ ได้แก่ เพลงพระราชนิพนธ์ใกล้รุ่ง เพลงพระราชนิพนธ์สายฝน เพลงพระราชนิพนธ์ชะตาชีวิต ที่มีลีลาของเพลงแตกต่างกันไป ทั้งยังให้คติสอนใจ ให้ความเบิกบาน และสร้างกำลังใจในยามท้อแท้ได้เป็นอย่างดี

ยิ่งในยามนี้...เพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ให้แก่พวกเราก็ยิ่งทวีความหมาย เพราะโน้ตทุกเสียงที่เราได้ยินนั้นคือเสียงปลุกปลอบให้พวกเราก้าวเดินตามรอยพระยุคลบาทต่อไปอย่างไม่ระย่อท้อถอย


.............................................................


นับตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๕๓ เป็นต้นมา คุณครูบรรจุเนื้อหาเรื่องทศชาติชาดก ให้เป็นวรรณกรรมหลักที่นักเรียนชั้น ๓ จะต้องเรียนรู้ เพื่อสร้างเสริมอุดมคติของความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ให้เข้มแข็ง เพื่อให้พวกเขาได้เรียนรู้ว่าการเกิดเป็นมนุษย์นั้นยากเพียงไร แต่ถึงกระนั้นการบำเพ็ญตนเป็นคนดีนั้นก็ยังยากเย็นยิ่งกว่า และในการบำเพ็ญตนให้เป็นพระโพธิสัตว์นั้นย่อมต้องผ่านเส้นทางของการบ่มเพาะมาอย่างยาวนาน


พระเวสสันดรชาดก เป็นเรื่องราวการบำเพ็ญทานบารมีในพระชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ ก่อนจะทรงอุบัติเป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่นักเรียนจะได้เรียนรู้กันในภาคเรียนสุดท้ายด้วยเช่นกัน


ปีการศึกษานี้แตกต่างจากปีการศึกษาก่อนๆ เพราะพวกเขาได้เรียนรู้ว่าในหลวงรัชกาลที่ ๙ คือ "พระเวสสันดร" ที่ทรงอุบัติมาเพื่อเป็นตัวอย่างของการให้ที่ยิ่งใหญ่ ดังที่ได้ทรงบำเพ็ญให้เห็นมาตลอดพระชนม์ชีพ


วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๙

๘.๓๐-๑๐.๐๐ น. เรียนรู้พระราชประวัติ

๑๐.๓๐-๑๒.๐๐ น. รู้จักแผนที่โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา

๑๓.๐๐-๑๖.๓๐ น. เรียนรู้กิจกรรมตามฐานต่างๆ

  • ฐาน ๑ กีฬาของพ่อ
  • ฐาน ๒ เกษตรบนดอยตามรอยพ่อ
  • ฐาน ๓ ฝนหลวงเพื่อปวงประชา
  • ฐาน ๔ จิตรกรรม น้อมนำธรรม คำพ่อสอน
  • ฐาน ๕ เห็นงานพ่อผ่านภาพถ่าย
  • ฐาน ๖ ตามรอยพ่อ ร้องบรรเลง เพลงพระราชา


วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๕๙

คุณครูชั้น ๓ พานักเรียนชั้น ๓ ไปเรียนรู้ภาคสนามที่โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา เพื่อ "สืบสานปณิธานพ่อหลวง"

การเรียนรู้ภาคสนามครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ

  • ให้นักเรียนได้ไปศึกษาต้นแบบของโครงงานในพระราชดำริ ผ่านการศึกษาโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ซึ่งเป็นพื้นที่ทดลองและเรียนรู้ของพระองค์
  • ให้นักเรียนได้ศึกษาและเรียนรู้คุณค่าสูงสุดของชีวิตจากตัวอย่างโครงงานที่พระองค์ทรงทำ เพื่อให้นักเรียนมีความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น
  • ฝึกให้นักเรียนเข้าถึงข้อมูลชั้นต้น และสามารถเลือกสรรข้อมูลที่สนใจจากการกิจกรรมการเรียนรู้ที่จัดให้

กลับจากภาคสนาม นักเรียนต้องกลับมาค้นคว้าหาข้อมูลในรายละเอียดของเรื่องที่แต่ละคนมีความสนใจ เพื่อนำเสนอในรูปแบบของเรียงความ



ผลงาน ด.ญ.ณัชชา ศุภวรเศรษฐ์ (ข้าวปั้น)

ในตอนท้ายเรียงความบทนี้ข้าวปั้นได้แต่งคำกลอนทิ้งท้ายเอาไว้ว่า


ท่านทรงตั้งใจ ใฝ่หาหนทาง

ลู่ทางต่างๆ หาห่างความเชื่อ







ผลงาน ด.ญ. ชญานันท์ ซึ้งสุนทร (ยาหยี)


หมายเลขบันทึก: 621799เขียนเมื่อ 19 มกราคม 2017 17:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ธันวาคม 2017 18:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท