พักผ่อนวันหยุด : มหาสารคาม



วันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม 2560 ถือเป็นวันพักผ่อนกับครอบครัว ตอนเช้าช่วยกันทำอาหารเพื่อเป็นถวายภัตตาหารเพลแด่ พระราชธรรมนุวัตร พระสงฆ์ และสามเณร ที่วัดเหนือ เสร็จแล้วเดินทางต่อไปยังอำเภอแกดำ จังหวัดมหาสารคาม เพื่อดูสะพานไม้อันเก่าแก่ของอำเภอแกดำ จังหวัดมหาสารคาม

1. สะพานไม้แกดำ



สะพานไม้แกดำ เป็นสะพานไม้เก่าแก่ยาวประมาณ 1 กิโลเมตร เชื่อมระหว่างบ้านแกดำกับบ้านหัวขัว ทอดข้ามหนองน้ำแกดำท่ามกลางกอบัวและพืชน้ำสีเขียวตลอดเส้นทาง ปัจจุบันชุมชนได้ช่วยกันซ่อมแซมสะพานเพื่ออนุรักษ์ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ใช้ประโยชน์ และเป็นสถานที่ที่ได้รับความนิยมจากนักถ่ายภาพเป็นอย่างมาก สำหรับประวัติของสะพานไม้แกดำโดยสังเขป มีดังนี้ พ.ศ. 2496 กรมชลประทานสร้างอ่างเก็บน้ำหนองแกดำในเนื้อที่ 832 ไร่ เพื่อแก้ปัญหาความแห้งแล้งและการใช้ประโยชน์ในการอุปโภค บริโภค และการเกษตรของชาวบ้าน พ.ศ. 2503 ได้มีการสร้างสะพานไม้แกดำ หรือที่ชาวบ้านเรียกในสมัยก่อนว่า ขัวหนองแกดำ เพื่อให้ชาวบ้านได้ใช้สัญจรไปมาหาสู่กันระหว่างบ้านหัวขัวกับบ้านแกดำ และบุคคลทั่วไป รวมทั้งยังใช้เป็นเส้สทางขนส่งผลิตผลทางการเกษตรของชาวบ้านด้วย ส่วนไม้ที่นำมาใช้ทำสะพานนั้นได้มาจากการบริจาคของชาวบ้านทั้งสองฝั่ง และร่วมแรงร่วมใจในการสร้างสะพานขึ้นจากภูมิปัญญาชาวบ้าน นอกจากนี้ยังมีร่องรอยของการบูรณะซ่อมแซมโดยผู้ใช้ประโยชน์สะพานดังกล่าวร่วมกัน



2. วัดหนองหูลิง


วัดหนองหูลิง ตั้งอยู่ที่หมู่ 7 ตำบลมิตรภาพ อำเภอแกดำ จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2476 มีสิ่งสำคัญในวัด ได้แก่ "อุโบสถรูปทรงเรืออนันตนาคราช" เป็นอุโบสถที่มีรูปทรงแตกต่างไปจากอุโบสถ วัดอื่นในมหาสารคาม ออกแบบโดยพระครูบวรธรรมปคุณ (นิวัฒน์ จักกวโร) เจ้าคณะตำบลมิตรภาพ เขต 1 ดำรงตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดหนองหูลิง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2536 เพื่อเป็นกุศโลบายให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวที่สัญจรผ่านมาเข้ามาชมอุโบสถ ทรงแปลกตา รูปเรืออนันตนาคราช โดยทุกส่วนของอุโบสถจะแฝงไว้ด้วยปริศนาธรรม อาทิ


1. ทางขึ้นลงอุโบสถมี 4 ทิศ หมายถึง อริยสัจ 4 คือ ความจริงอันประเสริฐ ประกอบด้วย ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

2. กำแพงแก้วด้านข้างทั้ง 4 ทิศรอบอุโบสถ เป็นรูปพระยานาคราช ที่แผ่พังพาน 5 เศียร หมายถึงศีล 5 เตือนใจให้พุทธศาสนิกชนประพฤติปฏิบัติอยู่ในศีล 5 ข้อ

3. รูปปั้นที่เป็นหงส์บริเวณส่วนท้ายเรือ เปรียบเสมือนการประคับประคองให้เรือ ลำนี้ไปตลอดรอดฝั่ง สู่สรวงสวรรค์ และนิพพาน

4. มุมอุโบสถทั้ง 4 ทิศ ก็มีรูปปั้นท้าวจตุโลกบาล ยืนรักษาการคุ้มครองป้องกันภยันตรายสิ่งที่ไม่ดีไม่สามารถกล้ำกรายเข้าไปภายในเขตพระอุโบสถได้



5. ทางเข้าอุโบสถเรียกว่าประตูความดี ประตูถูกออกแบบให้ทุกคนที่เข้าไปต้องก้มต่ำเป็นการแสดงความนอบน้อมต่อพระพุทธรูปประธานที่ประดิษฐานภายในพระอุโบสถ ทางเข้านอกจากจะมีรูปปั้นพระยานาคราชแล้วยังมีราหู ที่จะคอยกลืนกินกิเลสมนุษย์ ก่อนเข้าไปกราบรูปเคารพองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นการเชิญชวนให้พุทธศาสนิกชน เข้าวัดปฏิบัติธรรม

6. พระพุทธรูปประธานที่ประดิษฐานภายในพระอุโบสถ เป็นปางปฐมเทศนา สร้างจากเนื้อนวโลหะ เหตุที่เลือกปางนี้เพื่อให้พุทธศาสนิกชนที่เข้ามาภายในอุโบสถ เปรียบเสมือนว่าได้เข้ามารับฟังพระธรรมคำสั่งสอนจากพระพุทธองค์



ปัจจุบัน วัดหนองหูลิง ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าวัด ทำบุญ เนื่องในวันสำคัญทางศาสนา และมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในฐานะ เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมอีกแห่งหนึ่งของมหาสารคาม แต่ละวันจึงมีพุทธศาสนิกชนจากทุกสารทิศเดินทางมาเยี่ยมชมเป็นจำนวนมาก(ขอขอบคุณ http://e-service.dra.go.th/go/5236) สำหรับวัดดังกล่าวนั้นกำลังอยู่ในช่วงของการก่อสร้างเสนาสนะขึ้นภายในวัด จึงขอเชิญพุทธศาสนิกชนที่ไปกราบพระและดูอุโบสถได้ร่วมกันบริจาคทรัพย์ด้วย.

......<<<<ภาพถ่ายทั้งหมด>>>>.......

หมายเลขบันทึก: 621796เขียนเมื่อ 19 มกราคม 2017 15:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มกราคม 2017 15:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท