​พบโรงเรียนดีในชนบท



ในการประชุมเวทีนำเสนอแผนพัฒนาโรงเรียน โครงการประชารัฐการศึกษา ธนาคารไทยพาณิชย์ เมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๙ มีการนำเสนอของ ๖ โรงเรียน เราพบเพชรเม็ดงามในชนบทห่างไกล คือโรงเรียนวัดไผ่เกาะโพธิ์งาม อำเภอเมือง สุพรรณบุรี สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุพรรณบุรี เขต ๑ ที่ผลการศึกษาส่วนที่วัดโดย O-Net ของนักเรียนชั้น ป. ๓ และ ป. ๖ ในปี ๒๕๕๖, ๒๕๕๗, และ ๒๕๕๘ คะแนนเฉลี่ยของนักเรียนโรงเรียนนี้สูงกว่าคะแนนเฉลี่ยของทั้งประเทศ ถึงระหว่างร้อยละ ๒๑ - ๔๖ สำหรับชั้น ป. ๖ และระหว่างร้อยละ ๑๖ - ๕๖ สำหรับชั้น ป. ๓ โดยคะแนนของชั้น ป. ๓ ในปี ๒๕๕๘ สูงมากทุกวิชา สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศระหว่างร้อยละ ๔๕ - ๕๖


คณะผู้ทรงคุณวุฒิเห็นคะแนนก็ตาลุก สอบถามกันใหญ่ว่าผลสอบแบบนี้เกิดขึ้นอย่างไร ผู้อำนวยการโรงเรียนบริหารอย่างไร คำตอบคือผู้อำนวยการท่านนี้เพิ่งย้ายมาเมื่อปีครึ่งนี่เอง ผลการเรียนของนักเรียนโรงเรียนวัดไผ่เกาะโพธิ์งามเป็นอย่างนี้มานับสิบปี โดยในสิบปีมีผู้อำนวยการโรงเรียนสามคน ข้อสรุปคือดีเพราะครูดี มีสามัคคีร่วมกันจัดการเรียนรู้ที่ดี แต่ก็มีความเสี่ยงที่เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาครูเกษียณไป ๔ คน เวลานี้มีนักเรียน (ป. ๑ - ๖) ๑๕๐ คน ครูประจำการ ๖ คน ครูอัตราจ้าง ๓ คน เป็นความท้าทายต่อผู้อำนวยการว่าจะรักษาคุณภาพในอดีตในสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงใหญ่อย่างไร ฟังแล้วผมคิดถึง KM แต่จะยังไม่เขียนโยงไปเรื่อง KM จะขอโยงไปยังระบบการบริหารการศึกษาของประเทศ ว่าเมื่อมีโรงเรียนแบบนี้เขาใช้ประโยชน์เป็นคานงัดเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนอื่นอย่างไร ผมไม่เคยได้ยินยุทธศาสตร์นี้เลย ได้ยินแต่นโยบายเหมาโหล ออกมาเป็นระยะๆ อย่าง “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ที่ไม่ควรเอาไปยุ่งกับโรงเรียนวัดไผ่เกาะโพธิ์งามเลย เพราะเขาดีอยู่แล้ว ในเรื่องผลสัมฤทธิ์ด้านการเรียนวิชา


สิ่งที่โรงเรียนนี้ควรทำในสายตาของผมมี ๒ อย่าง อย่างแรกคือรักษาวิธีการดูแลนักเรียนในเรื่องการเรียนวิชาแบบเก่าไว้ให้ได้ โดยน่าจะลดการติวเพื่อสอบลงไป หันไปเน้นการสร้างแรงบันดาลใจต่ออนาคตของตัวเองให้แก่เด็ก ซึ่งครูเล่าว่า มีศิษย์เก่าคนหนึ่งสอบเข้าแพทย์ขอนแก่นได้ ตื่นเต้นกันไปทั้งโรงเรียน ครูน่าจะเชิญศิษย์เก่าที่ประสบความสำเร็จในชีวิตแบบต่างๆ มาเล่าเรื่องราวชีวิตฟันฝ่าการเรียนและหลีกเลี่ยงอบายมุขให้นักเรียนฟัง เพื่อสร้างความคาดหวังสูงในตัวเองให้แก่เด็ก ตามหลักการ High expectation, High support


อย่างที่สอง หันไปเอาใจใส่การสร้างคุณลักษณะหรือความเป็นคนดี กับการจัดการเรียนรู้แบบ active learning, team learning เพื่อให้เด็กได้พัฒนา 21st Century Skills อย่างครบด้าน ซึ่งหมายความว่า ควรเน้นพัฒนาครู เพื่อให้มีทักษะจัดการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑


สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้น คือสิ่งที่ สพฐ. และเขตพื้นที่การศึกษาสุพรรณบุรีเขต ๑ ควรทำ คือถอดความรู้ ทำความเข้าใจว่าสภาพวิธีทำงานของครูโรงเรียนวัดไผ่เกาะโพธิ์งามที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเกิดขึ้นอย่างไร แล้วเผยแพร่เพื่อให้โรงเรียนอื่นๆ นำไปเป็นบทเรียน เพื่อพัฒนาโรงเรียนของตน



วิจารณ์ พานิช

๑๓ ธ.ค. ๕๙


หมายเลขบันทึก: 621221เขียนเมื่อ 8 มกราคม 2017 22:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 กรกฎาคม 2017 11:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

Congratulations to all teachers and supporters of โรงเรียนวัดไผ่เกาะโพธิ์งาม อำเภอเมือง สุพรรณบุรี for the job better done and the hope they give that excellence result can be achieved under Thailand Ministry of Education's condition.

Thank you Professor for sharing this good news.


เมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๖๐ ในการประชุมทีมแกนนำ ของการจัดการประชุมเวทีการศึกษากับการพัฒนาประเทศ ที่มูลนิธิสดศรีฯ ผมได้ข้อมูลใหม่จากคุณเปา ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล ว่าจากการลงพื้นที่ของทีมมูลนิธิสยามกัมมาจล เพื่อเก็บข้อมูลเพิ่มเติม ได้ข้อมูลว่า ต้นตอของคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนวัดไผ่เกาะโพธิ์งาม คืออดีตผู้อำนวยการโรงเรียนที่หากนับผู้อำนวยการท่านปัจจุบันเป็นท่านที่ ๑ และนับย้อนไปสู่อดีต ผู้อำนวยการผู้สร้างสรรค์คุณภาพของโรงเรียนนี้จะเป็นท่านที่ ๓ เสียดายที่ไม่ทราบชื่อ เล่าว่าท่านเป็นผู้อำนวยการอยู่นานถึง ๓๐ ปี และเป็นนักชุมชนสัมพันธ์ ทำให้โรงเรียนใกล้ชิดกับชุมชน และครูเอาใจใส่นักเรียน และมีความสามัคคีช่วยเหลือกัน

ผอ คนปัจจุบันชื่อ นายสมัค ชินบุตร กำลังหาคนแรกเหมือนกันครับ

คนแรกคือ ผอ สุเทพ ชมสุวรรณ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท