​ปรัชญาตะวันออก (Eastern Philosophy) : ขอบข่ายการศึกษา


​ปรัชญาตะวันออก (Eastern Philosophy) : ขอบข่ายการศึกษา

8 มกราคม 2560

การศึกษาปรัชญานั้น มีการศึกษาสองแนวทาง คือ แนวปรัชญาตะวันตก (Western Philosophy) และ แนวปรัชญาตะวันออก (Eastern Philosophy) ซึ่งมีความหมายกว้างๆ ครอบคลุมถึงแนวคิดทางปรัชญาของ “ตะวันออก” กล่าวคือ ทางเอเชีย ที่รวมถึงจีน อินเดีย ญี่ปุ่น และพื้นที่ทั่วไป ยกเว้นแนวคิดที่เป็นศาสนายิว คริสต์ และอิสลาม

รากฐานของ ปรัชญาตะวันออก รากฐานของ พุทธศาสนา, ศาสนาตะวันออกอื่น ๆ ก็คือ อยู่ร่วมกับธรรมชาติ ตรงกันข้ามกับรากฐานเบื้องต้นของ ปรัชญาตะวันตก ที่มุ่งหมาย ดัดแปลงธรรมชาติ, เอาชนะธรรมชาติ ที่สุดท้ายแล้ว ไม่ชนะ [1]


ขอบข่ายการศึกษาปรัชญาตะวันออก

ในการศึกษาของนักศึกษาไทย สายปรัชญาตะวันออก เรียนรวมทั้งปรัชญาจีน และ ปรัชญาอินเดีย แบ่งออกเป็น ภาคทฤษฏีและภาคปฏิบัติ

ภาคปฏิบัติ ปรัชญาอินเดียเรียนโยคะ หายเมื่อยได้

ภาคปฏิบัติ ปรัชญาจีนเรียนรำมวยไทเก๊ก ซึ่งสามารถเอาไปประยุกต์เป็นศิลปะป้องกันตัวได้ และมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง เช่น การยืนขาเดียวกัน เป็นต้น

ซึ่งวิชาปรัชญาตะวันออกทั้งสองนี้ ผู้เรียนจำเป็นต้องมีจินตนาการสูงส่งอยู่ระดับหนึ่ง เพราะมันเป็นวิชาที่ว่าด้วยศาสตร์อันล้ำลึก ต้นแบบของปรัชญาตะวันออกทั้งปวง [2]


นอกจากนี้ยังมีการศึกษาด้านศาสนาด้วย ศาสนาตะวันออก ศึกษากันตั้งแต่ศาสนายุคโบราณ แบ่งเป็น ศาสนาพุทธ ซึ่งมีวิชาแตกย่อยเป็น วิชาการทำสมาธิอีกต่างหาก มีวิชาพระไตรปิฎกศึกษา และ ศาสนาพราหมณ์และฮินดู


ปรัชญาอินเดีย

ไม่ได้หมายถึงปรัชญาที่ก่อกำเนิดในประเทศอินเดียเท่านั้น หากยังหมายถึงปรัชญาที่เกิดขึ้นในดินแดนรอบๆ อันได้แก่ ปากีสถาน บังคลาเทศ ภูฏาน สิกขิม อัฟกานิสถาน เนปาลและศรีลังกาอีกด้วย และปรัชญาอินเดียไม่ได้หมายถึงเฉพาะแต่ปรัชญาพราหมณ์ฮินดู แต่หมายรวมถึงปรัชญาอื่นที่ไม่ใช่ปรัชญาฮินดูด้วย เช่น พุทธปรัชญา ปรัชญาเชน เป็นต้น

เรียนเรื่องแนวคิดพื้นฐานความเชื่อของชาวอินเดีย ปรัชญาอินเดียเป็นวิชาที่น่าสนใจมาก สามารถนำความรู้มาต่อยอดแต่งงานเขียนได้มากมาย ทั้งเรื่องของความเชื่อด้านวิญญาณ ด้านตัวตนที่แท้ของทุกสิ่ง ความคิดที่มีต่อความดีและสังคม ทำให้ได้เข้าใจว่า ทำไมชาวอินเดียถึงยึดติดกับเรื่องวรรณะกันมาก ทำไมชาวอินเดีย(บางเผ่าพันธุ์) ถึงดุร้ายและโหดเหี้ยมกับเพื่อนมนุษย์ได้ ปรัชญาอินเดียทุกระบบเป็นปรัชญาชีวิต เพราะแนวความคิดทางปรัชญาที่ค้นคิดขึ้นได้นั้น ได้นำมาใช้ปฏิบัติในชีวิตประจำวันด้วย โดยลักษณะดังกล่าวนี้ปรัชญากับศาสนาของอินเดียมักไปด้วยกันเสมอ

ภาษาสันสกฤตพระเวท (Vedic Sanskrit) ในลัทธิฮินดู (Hinduism) เป็นภาษาอินเดียโบราณ ในคัมภีร์ฮินดูโบราณ “ศรุติ” (shruti) เป็นรูปแบบโบราณของภาษาสันสกฤต ที่สืบทอดแรกมาจาก Proto-Indo-Iranian (กลุ่มดั้งเดิมอินเดีย-อิหร่าน) ในช่วงราว ๆ 1700 BCE (early Rigveda) and 600 BCE (sutras period) (BCE =ก่อนคริสตศักราช) ที่มีการแบ่งชัดกันในภาษา Avestan and Vedic Sanskrit เมื่อราว 1800 BCE ซึ่งภาษาอเวสตะ (Avestan) เป็นภาษาที่เก่าแก่ที่สุดของชาวอิหร่านโบราณ มีอายุไล่เลี่ยกับภาษาพระเวท (Vedas or Vedic Sanskrit) หรือ ภาษาไวทิกะ ซึ่งเป็นภาษาบันทึกคัมภีร์พระเวทของฝ่ายอินเดีย

ปรัชญาอินเดียแบ่งออกเป็นระบบหรือสายใหญ่ๆ 2 สาย 2 พวก คือ สายที่เรียกว่า อาสติกะ (Orthodox) สายหนึ่ง และที่เรียกว่า นาสติกะ (Heterodox) สายหนึ่ง

สายอาสติกะมีระบบปรัชญาที่สำคัญที่เรียกว่าระบบทั้งหกแห่งปรัชญาอินเดียได้แก่ (1) นยายะ (2) ไวเศษิกะ (3) สางขยะ (4) โยคะ (5) มีมามสา (6) เวทานตะ การที่ปรัชญาทั้งหกระบบนี้ได้ชื่อว่าสายอาสติกะนั้น มิใช่เพราะว่าระบบทั้งหกนี้มีความเชื่อถือในความมีอยู่ของพระผู้เป็นเจ้าสูงสุด แต่เพราะระบบเหล่านี้ยอมรับนับถือความขลัง ความถูกต้องสมบูรณ์และความศักดิ์สิทธิ์ของพระเวท

แยกศึกษาเป็นปรัชญาที่เชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของคัมภีร์พระเวท ได้แก่ (1) ปรัชญานยายะ (2) ปรัชญาไวเศษิกะ (3) ปรัชญาสางขยะ (4) ปรัชญาโยคะ (5) ปรัชญามีมางสา (6) ปรัชญาเวทานตะ (7) ปรัชญาอไทฺวตะ เวทานตะ (8) ปรัชญาวิศิษฏาไทฺวตะ เวทานตะ

สายนาสติกะมีระบบปรัชญาที่สำคัญอยู่ 3 ระบบ คือ (1) ปรัชญาจารวาก (2) พุทธปรัชญา และ (3) ปรัชญาแห่งศาสนาเชน

แยกศึกษาเป็นปรัชญาที่ไม่เชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของคัมภีร์พระเวท ได้แก่ (1) ปรัชญาจารวาก (2) ปรัชญาเชน (3) พุทธปรัชญา (4) พุทธปรัชญาสำนักไวภาษิกะ (5) พุทธปรัชญาสำนักเสาตรานติกะ (6) พุทธปรัชญาสำนักโยคาจาร (7) พุทธปรัชญาสำนักมัธยมกะ

ปรัชญาอินเดียทุกระบบล้วนแต่ได้รับอิทธิพลจากคัมภีร์พระเวททั้งสิ้น จะต่างกันก็แต่ว่าได้รับอิทธิพลจากพระเวทโดยตรงหรือโดยอ้อมเท่านั้น [3]

คัมภีร์ทางศาสนาของอินเดียที่ประกอบกันขึ้นเป็นพระเวท (Vedas) นั้น ประกอบด้วยงานเขียน 4 ประเภท คือ (1) มันตระ mantras (ภาษิต, บทเพลง, มนตร์) ประกอบด้วยคัมภีร์พระเวท 4 เล่ม (เวท) คือ ฤคเวท สามเวท ยัชุรเวท (ยชุรเวท) อาถรรพเวท (อถรรพเวท) (2) พราหมณะ Brahmanas (เน้นการกระทำสังเวยแก่เทพยดา) (3) อารัณยกะ Aranyakas (หนังสือคำสอนสำหรับใช้ในป่า) (4) อุปนิษัท Upanishads (คำสอนของอนาคาริกหรือ ของเรียกง่าย ๆ ในที่นี้ว่าฤษีเหล่านี้รวมเรียกว่าอุปนิษัท)

คัมภีร์ทั้ง 4 ประเภทที่กล่าวนี้เรียกว่า ศรุติ (Shruti) [4] คือได้ยินได้ฟังมาโดยนิมิตจากเทพเจ้า จึงมีความศักดิ์สิทธิ์ที่สุด ยังมีคัมภีร์อีกประเภทหนึ่งซึ่งส่วนใหญ่แต่งขึ้นในภายหลังจากยุคพระเวท แต่ถือเป็นส่วนต่อของพระเวทจึงเรียกว่า เวทางค์ (คือส่วนแห่งเวทะ)


ปรัชญาจีน

เรียนเรื่องนักปรัชญาจีน ซึ่งคัดแนวคิดมาเรียน ได้แก่ ขงจื้อ (ตัวหลักของปรัชญาจีน) เล่าจื้อ และคนอื่น

ปรัชญาจีนมีความละเมียดละไมในแนวคิด ที่ชาวตะวันออกมีต่างจากชาวตะวันตก ปรัชญาตะวันออก จะเน้นการอยู่กับโลกและธรรมชาติ ในขณะที่ปรัชญาตะวันตก เป็นไปในลักษณะที่แข็งกระด้างกว่า ต้องการจะควบคุมโลกและธรรมชาติมากกว่า มีการศึกษา Zen กับ เต๋า (Tao) ที่ควรจัดว่าเป็นปรัชญาหรือศาสนา ซึ่งมันกึ่ง ๆ ระหว่าง ปรัชญาและ ศาสนา

ซึ่งปรัชญาจีนในยุคจิ๋นซีฮ่องเต้ หรือ จักรพรรดิฉินสื่อฮวางตี้ [5] มีการจัดระเบียบประเพณีอันหลากหลายเป็นเหตุให้ทรงเผาตำราขงจื้อทิ้งไปเยอะ ฝังบัณฑิตเป็นจำนวนมาก

ชาวจีนเชื่อว่าตามธรรมชาติต่างๆล้วนแต่มีเทพเจ้าสิ่งสถิตอยู่ ถ้ามนุษย์ทำให้เทพพอใจ ก็จะทรงประทานสิ่งที่ดีงามให้ แต่ถ้าไม่ทรงโปรดก็จะทรงบัลดาลให้มีภัยพิบัติต่างๆ จีนเป็นหนึ่งในชนชาติที่มีประวัติแนวคิดเรื่องปรัชญามายาวนาน โดยมีความรุ่งเรืองสูงสุดครั้งแรกในยุคชุนชิวจ้านกว๋อ ที่เรียกว่า “ร้อยสำนักความคิด” โดยมีนักปรัชญาเก่าแก่ที่สำคัญ ๆ ได้แก่ เล่าจื๊อ และจวงจื่อ แห่งลัทธิเต๋า ขงจื๊อ แห่งลัทธิขงจื๊อ ซางยางและหายเฟยแห่งลัทธิกฎหมาย และ ม่อจื่อ

ปรัชญาจีนมีมากมายอย่างที่เรียกว่าปรัชญา 100 สำนัก แต่เมื่อแบ่งเป็นสำนักใหญ่ๆแล้วก็มี 6 สำนัก คือ (1) สำนักปรัชญาเต๋า (Tao chia) (2) สำนักปรัชญาขงจื้อ (Ju chia) (3) สำนักปรัชญาม่อจื้อ (Mo chia) (4) สำนักปรัชญานิตินิยม (Fa chia) (5) สำนักปรัชญาหยิน – หยาง (Yin – Yang chia) และ (6) สำนักปรัชญาหมิง (Ming chia) ในบรรดา 6 สำนักนี้ 4 สำนักแรกที่ยังมีผลงานตกทอดมาถึงปัจจุบัน และมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของคนจีนมาก

ในช่วงเวลา 550 ปีของยุคชุนชิวจั้นกั๋ว 770 - 221 ปีก่อน ค.ศ. สังคมจีนตกอยู่ในยุคระส่ำระสาย ประชาชนเดือดร้อนเนื่องจากสงครามแย่งชิงดินแดนระหว่างแว่นแคว้นต่างๆ เกิดขึ้นถี่มากและกว้างขวาง ในสภาพเช่นนี้ ทำให้สถาบันและกฎกติกาเดิมถูกละเมิดและถูกทำลายลง เปิดทางให้บรรดานักปราชญ์ราชบัณฑิตทั้งหลายได้นำเสนอแนวคิดและหลักการใหม่ๆเพื่อแก้ไขปัญหาของสังคม ในบรรดาสำนักที่โดดเด่นในยุคนั้นและมีอิทธิพลต่อเนื่องมาถึงยุคปัจจุบันมี 5 สำนักด้วยกัน ได้แก่ (1) สำนักหยู หรือ สำนักขงจื่อ (หยู แปลว่า คนเรียนหนังสือ หรือ นักวิชาการ) (2) สำนักม่อ (3) สำนักเต๋า (4) สำนักการทหาร (5) สำนักกฎหมาย สำนักหยู เป็นแนวคิดที่ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่นักวิชาการ [6]


อย่างไรก็ตามหลิวซิน (B.C 46-23) นักประวัติศาสตร์ แบ่งสำนักปรัชญาจีนโบราณเป็น 10 สำนัก โดยประกอบด้วย 6 สำนัก ได้แก่ (1) สำนักอินหยาง หรือ หยิน-หยาง (yin-yang) ที่เกี่ยวพันกับ สำนักเต๋า สำนักนี้กล่าวถึงจักรวาลโดยแยกสรรพสิ่งเป็น 2 ขั้ว สัมพันธ์กันและมีปฏิกิริยาต่อกัน ทั้งในลักษณะร่วมมือกันและต่อต้านกัน และก่อเกิดผลเป็นปรากฏการณ์อย่างที่เห็น อิน แทนหญิง หยาง แทนชาย (2) สำนักหยู (3) สำนักม่อ (4) สำนักหมิงหรือนามอภิปรายแยกแยะชื่อ ความสัมพันธ์ระหว่างชื่อ และความเป็นจริง (5) สำนักกฎหมาย (6) สำนักคุณธรรมหรือเต๋า และเพิ่มอีก 4 สำนักได้แก่ (7) สำนักแนวดิ่งแนวขวาง มีขอบเขตความสนใจอยู่ในเรื่องการต่างประเทศ (8) สำนักผสมผสานหลายแนวคิด (9) สำนักการเกษตรและ (10) สำนักเล่านิทาน แต่มี 5 สำนักข้างต้นซึ่งเป็นสำนักคิดที่แพร่หลายและเป็นกระแสหลักของปรัชญาจีนโบราณที่ยังคงมีอิทธิพลในปัจจุบัน


นักปรัชญาอินเดียคนสำคัญ

พระนาคารชุน (Nagarjuna : C. 150 – C. 250 CE, A.D. 700 - 800)

นักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนา ผู้ก่อตั้งสำนักมัธยมกะ (Madhyamaka = ทางสายกลาง) ในนิกายมหายาน (Mahayana Buddhism) ที่มีผลงานโดดเด่นในด้านปรัชญาและตรรกวิทยา ผลงานสำคัญของท่านคือ มาธยมิกการิกา (มาธยมิกศาสตร์) อันเป็นพื้นฐานสำคัญของแนวคิดศูนยวาท ประกอบด้วยการิกา 400 การิกา ใน 27 ปริเฉท หรือ Mulamadhyamaka-karika (Fundamental Verses of the Middle Way) [7]


ศังกราจารย์, อาทิ ศังกระ (ศังกระ ภควัตปาทจารย์, อาทิศังกราจารย์, ศังกราจารย์) A.D. 788-820 (B.E. 1331 - 1363)

เป็นปราชญ์ชาวอินเดียใต้ของศาสนาฮินดู นับถือกันว่าเป็นองค์อวตารของพระศิวะ ศังกราจารย์เป็นผู้ประพันธ์คัมภีร์ปุราณะและคัมภีร์เวทานตะ อรรถกถาอธิบายลัทธิเวทานตะ และเป็นผู้ตั้งลัทธิอไทวตะเวทานตะ


รามานุชะ (Ramanuja; รามานุชาจารย) เป็นนักปรัชญาชาวอินเดีย B.E.1560 - 1680

เกิดที่ภาคใต้ของอินเดีย ในวัยเยาว์ท่านได้ศึกษาปรัชญาเวทานตะกับอาจารย์ยาทวประกาศแต่ตีความต่างกับอาจารย์จนถูกขับออกจากสำนัก จากนั้นได้ไปยังสำนักของท่านปุราณะและยามุนาจารย์ ภายหลังได้ออกบวชเป็นสันยาสี และได้แต่งคัมภีร์ต่างๆเป็นจำนวนมาก ได้แก่ ศรีภาษยะ คีตาภาษยะ เวทานตสาระ เวทานตทีปะ เป็นต้น รามานุชะได้เทศนาชักจูงให้ประชาชนหันมานับถือไวษณพนิกายได้เป็นจำนวนมาก ปรัชญาที่สำคัญของท่านคือวิศิษฏาไทวตะ เวทานตะหรือเวทานตะที่ไม่เป็นสองแบบพิเศษ ความจริงแท้มีหนึ่งเท่านั้นคือพระเจ้า พระองค์ประกอบด้วยสสารและชีวาตมัน แต่สสารและชีวาตมันต้องขึ้นกับพระเจ้า

หลังจากที่ท่านถึงแก่กรรมไปแล้ว 200 ปี สาวกของท่านได้แยกเป็นสองนิกาย คือ นิกายฝ่ายเหนือหรือวัฑคไล ใช้ภาษาสันสกฤต รักษาคำสอนเดิมไว้ไม่เปลี่ยนแปลง และนิกายฝ่ายใต้หรือเตงคไล ใช้ภาษาทมิฬ ถือว่าเนื้อหาเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม


เกศพจันทระ เสน (Keshub Chandra Sen; Keshob Chôndro Shen) B.E. 2381 – 2407

เป็นนักปรัชญาฮินดูและนักปฏิรูปสังคมชาวเบงกอลในสมัยที่อินเดียเป็นอาณานิคมของอังกฤษ


เทเพนทรนาถ ฐากุร (Debendranath Tagore; Debendronath Thakur) B.E.2360 – 2447

เป็นนักปรัชญาฮินดูและนักปฏิรูปศาสนา เป็นผู้ก่อตั้งพราหโมสมาช ที่มีเป้าหมายเพื่อปฏิรูปศาสนาฮินดูและเขายังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งลัทธิพรหมนิยม (Brahmoism) ใน พ.ศ. 2391 บุตรชายของเขาคนหนึ่งคือรพินทรนาถ ฐากูร เป็นกวีที่มีชื่อเสียง


มหาริชี มเหช โยคี (Maharishi Mahesh Yogi) (A.D. 1911 - 2008)

เป็นนามของนักการศึกษาที่ยิ่งใหญ่ ในอดีตดั่งเช่นนามของ มหาฤาษีวิศวามิตร ครูผู้มอบศิลปะวิชาความรู้ต่างๆแก่ เจ้าชายสิทธัตถะ เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ [8]

“การเข้าสมาธิเพื่อปลดปล่อยแมลงด้วงเต่าทอง” เป็นแนวเพลงเสียดสีเกี่ยวกับมหาริชี มเหช โยคี ซึ่งถึงแก่กรรมในวันอังคาร แต่งโดย John Lennon เมื่อปี 1968 (“Meditation on the man who saved the Beatles”, That was the opening line of a sarcastic song about Maharishi Mahesh Yogi, who died on Tuesday, that John Lennon wrote in 1968.)


นักปรัชญาจีนคนสำคัญ


ปรัชญาจีนที่สำคัญมี 8 คน ได้แก่ (1) ขงจื้อ (Confucius) (2) เม่งจื้อ (Meng Tzu) (3) ซุ่นจื้อ (Hsün Tzu) (4) หยางจื้อ (Yang Tzu) (5) ม่อจื้อ (Mo Tzu) (6) เหลาจื้อ (Lao tzu) (7) จวงจื้อ (Zhuangzi) (8) ฮั่น เฟ่ย จื้อ (Han Fei Tzu)



[1] ปรัชญา, จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, https://th.wikipedia.org/wiki/ปรัชญา & ผจญ คำชูสังข์, ปรัชญาตะวันออก (Eastern Philosophy), by dhrammada, 7 กันยายน 2557, https://dhrammada.wordpress.com/2014/09/07/ปรัชญาต...& ปรัชญาตะวันออก/EASTERN PHILOSOPHY, 14 กุมภาพันธ์ 2552, http://www.visitsurin.com/articles/70021/ปรัชญาตะว... & http://www.visitsurin.com/index.php?mo=2&c_art=178...

[2] ปรัชญาและศาสนา เรียนอะไร เรียนไปเพื่ออะไร, 23 ตุลาคม 2552, http://www.unigang.com/Article/628 & http://www.unigang.com/Article/628#JHiedtRU3A2eKi a8.99

[3] พระเวท, จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, https://th.wikipedia.org/wiki/พระเวท & “คัมภีร์พระเวท หรือ วรรณคดีพระเวท”, บทความจาก www.human.cmu.ac.th บรรยายโดย อาจารย์พีรพล อิศรภักดี, http://www.siamganesh.com/india02.html

เวท แปลจาก Vedic เป็นคำคุณศัพท์ของ Veda ซึ่งเป็นภาษาสันสกฤตหมายถึง “ความรู้ทั้งมวล”

[4] ศรุติ (Shruti) ซึ่งแปลว่าที่ได้ฟังมาถือว่าเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด ภควัทคีตา (Bhagavad Cita) ปรัชญาสำหรับผู้ไม่พอใจในสวรรค์, www.human.cmu.ac.th/courseonline/course/004233/pdf/doc08.pdf

[5] Qin Dynasty, Zhèng : B.C. 247 – 220 : จิ๋นซีฮ่องเต้, วิกิพีเดีย, https://th.wikipedia.org/wiki/จิ๋นซีฮ่องเต้

[6] นิยม รัฐอมฤต, สำรวจการเมืองการปกครองจีน (Explorations of Chinese Philosophy), ผู้อำนวยการวิทยาลัยการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า, วารสารสถาบันพระปกเกล้า ปีที่ 11 ฉบับที่ 3, กันยายน - ธันวาคม 2556, http://kpi.ac.th/media/pdf/M7_256.pdf & http://www.pbic.tu.ac.th/main/sites/default/files/Explore%20Chinese%20Political%20Philosophy.pdf

[7] นาคารชุนะ, จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, Nagarjuna, From Wikipedia, the free encyclopedia, https://th.wikipedia.org/wiki/นาคารชุนะ & http://dict.longdo.com/popthai-url.php?service=&url=http%3A%2F%2Fen.wikipedia.org%2Fwiki%2FNagarjuna

[8] มหาริชี มเหช โยคี, http://www.maharishifoundationformonk.org/index.php?lay=show&ac=article&Id=539092025

หมายเลขบันทึก: 621216เขียนเมื่อ 8 มกราคม 2017 19:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กรกฎาคม 2017 08:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท