วัยรุ่นชาวเขา : เท่าทันสื่อและภัยสังคม


หลายปีมานี้ ผมจะได้รับเชิญให้ไปเป็นวิทยากรอบรมเรื่องการป้องกันและจัดการปัญหาภัยทางเพศทุกปี ปีละ 2-3 ครั้ง แต่ละครั้งแต่ละรอบ ก็ได้ประสบการณ์แตกต่างกันออกไป ปี 2559 นี่ถือว่าเป็นอีกปีที่ต่างจากปีอื่นๆ คือ เมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2559 ทาง ศูนย์พัฒนาชาวเขา เชิญไปเป็นวิทยากร รู้สึกจะเป็นครั้งแรกเลยที่ศูนย์พัฒนาชาวเขา แม่ฮ่องสอน จัดกิจกรรมนี้

จริงๆ ผมก็ไม่รู้จักมักจี่อะไรกับทางศูนย์นี้นะครับ อาศัยว่ามีเพื่อนอาจารย์ที่รู้จัก เขาติดต่อแนะนำงานมาให้ ผมก็เลยพาลูกศิษย์อีกคน คือ อาจารย์โจ ผจก.โรงแรมพานอรามา แม่ฮ่องสอน ไปช่วยเป็นวิทยากรร่วมกัน

กิจกรรมนี้ เป็นหนึ่งในกิจกรรมภายใต้โครงการขยายผลตามพระราชดำริสู่ชุมชนจังหวัดแม่ฮ่องสอน ประจำปี 2559 โดยจังหวัดแม่ฮ่องสอนร่วมกับศูนย์พัฒนาชาวเขา ร่วมกันจัดขึ้น เนื่องจากเป็นโครงการขยายผลตามพระราชดำริ จึงทำให้ผมนึกภูมิใจลึกๆ ที่ได้มีโอกาสรับใช้พระองค์ท่านใกล้ชิดมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ห่างไกล


บ้านหัวปอน ตำบลแม่ยวมน้อย อำเภอขุนยวม เป็นหมู่บ้านที่ผมได้ไปจัดกิจกรรมครั้งนี้ครับ ที่นี่เป็นชุมชนชาวเขากลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ แวดล้อมไปด้วยป่าเขาร่มรื่นน่าอยู่ทีเดียว นึกดีใจที่ทางเจ้าภาพเห็นความสำคัญของกิจกรรมนี้ แสดงว่า มีวิสัยทัศน์ มองเห็นภัยคุกคามที่จะมาสู่ลูกหลานชาวเขา โดยเฉพาะภัยจากการล่อลวงทางสื่อสมัยใหม่ เช่น มือถือ เฟซบุ๊ค ไลน์ รวมถึงภัยทางเพศ ภัยค้ามนุษย์ ซึ่งชุมชนชาวเขาเช่นนี้ วิสัยเขาจะเป็นคนซื่อๆ หากไม่สร้างการเรียนรู้เท่าทันเรื่องภัยสังคมเหล่านี้ เมื่อเกิดปัญหา ก็ยากที่จะรับมือ และหลายพื้นที่ก็เกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้นแล้ว จึงถือว่าเป็นโอกาสที่ดีมากๆในครั้งนี้ ที่หน่วยงานภาครัฐเห็นความจำเป็นและริเริ่มกิจกรรมอย่างนี้ขึ้นมา

อย่างที่บอกครับ ถึงผมจะเป็นวิทยากรอบรมเรื่องภัยทางเพศมาหลายครั้ง หากแต่ละครั้งนั้น ไม่มีครั้งไหนที่เหมือนกันเด๊ะๆเลย ครั้งนี้ก็เจออีกแบบ คือ มาจัดในหมู่บ้านเลย แน่นอนว่าผมกับอาจารย์โจเตรียมแผนกิจกรรมมาก่อน แต่ทุกครั้ง เวลาเจอพื้นที่จริง เจอกลุ่มเป้าหมาย ก็ต้องพลิ้ว และปรับให้เข้ากับบริบทและกลุ่มเป้าหมายทุกครั้ง ครั้งนี้ก็เช่นกัน

เด็กๆ ที่มาร่วมกิจกรรม รอบนี้มีประมาณ 25 คน เป็นเด็กโต วัยรุ่นตอนต้น ตอนปลาย คละๆกัน รอบเช้าเราเริ่มจริงๆก็สิบโมงกว่าๆ ก็ให้ดูคลิป ดูสไลค์ ให้ความรู้แบบบอกเล่าไปก่อน ก็พยายามชวนพูดคุยเรื่องการใช้สื่อของพวกเขานะครับ อย่าง เฟซบุ๊ค ไลน์ นี่ มันเกี่ยวกับความเสี่ยงที่จะถูกล่อลวงยังไง มีตัวอย่างไหม ก็เปิดให้เขาดูกัน และย้ำว่า อย่าคิดว่าเราเก่ง เพราะขนาดเด็กที่เขาอยู่กับเทคโนโลยี พ่อแม่อบรมเข้มงวด ก็ยังถูกหลอกได้เหมือนกัน เรื่องรู้เท่าทันภัยสังคมอย่างนี้จึงต้องศึกษาให้มากๆ เพราะพวกเขาถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาชญากรสนใจ ยิ่งไม่มีบัตรประชาชนไทยนี่ คนร้ายยิ่งสนใจจะก่อเหตุเพราะคิดว่าเราเอาเรื่องไม่ได้ ดังนั้น การป้องกันตัวเองไว้ก่อนจึงสำคัญที่สุด อย่ามองโลกสวยไปหมดนะ ยุคนี้ภัยมีรอบด้าน ยิ่งเราเป็นกลุ่มเสี่ยงเท่าไร เรายิ่งต้องไม่ประมาทมากขึ้น




จากภาคเช้า ก็มาต่อภาคบ่าย คราวนี้ ได้ยืดเส้นยืดสายกันล่ะ เพราะเป็นภาคของการฝึกปฏิบัติเพราะมีหลายกรณีที่ถึงแม้เราจะรู้แล้ว พยายามพูดด้วยดีแล้ว แต่งตัวอะไรก็มิชิดแล้ว แต่คนร้ายมันก็พยายามจะก่อเหตุไม่ดีกับเรา จึงต้องเรียนรู้วิธีป้องกันตัวเอาไว้บ้าง โดยเฉพาะการจัดการกับจุดอ่อน ข้อต่อส่วนต่างๆของคนร้าย ใช้แรงจากคนร้ายสะท้อนกลับออกไปจัดการตัวเขาเอง อันนี้ผมได้อานิสงส์จากวิชาไอคิโดมาสร้างการเรียนรู้กับเด็กๆชาวเขาแบบเต็มๆ


ช่วงการฝึกปฏิบัตินี่ ความยุ่งยากมีบ้างก็ตรงที่ความเขินอายของเด็กๆชาวเขานี่แหละครับ วิทยากรต้องใจเย็น พูดเกลี้ยกล่อมให้จับคู่ฝึก สลับคู่ฝึกกันบ้าง ก็จะมีการเหนียมอายกันระหว่างหญิงชาย ทำให้การจับคู่ฝึกยังมีปัญหาอยู่บ้าง (ยิ่งฝึกในหมู่บ้าน แล้วมีผู้ใหญ่ในชุมชนเฝ้ามองอยู่ ด้านหนึ่งก็เป็นกำลังใจ แต่อีกด้าน เด็กๆก็อาจจะเขินอายในการแสดงออก เรื่องความเขินอายนี่ไม่ใช่แต่กับเด็กครับ ผู้ใหญ่ก็ยังเป็น แต่เด็กชาวเขานี่มักจะอายมากกว่าเด็กพื้นราบมาก)





เผลอแป๊บเดียวสี่โมงเย็น ก็ถึงเวลาต้องอำลา ก็ไม่รู้ว่าจะได้เจอเด็กๆเหล่านี้อีกไหม ในยุคสังคมที่ "คนกินคน" สตรีชาวเขาย่อมเป็นเป้าของการถูกข่มเหงรังแกมากขึ้น เพียงแต่จะเห็นเป็นข่าวหรือไม่ ก็เท่านั้น ไม่อยากให้กิจกรรมหยุดแต่เพียงแค่นี้ เพราะการจะเรียนรู้ให้เกิดผลดี จะให้ดีต้องมีการทบทวน มีการฝึกซ้ำ จนเป็นทักษะ มีการวัดผล ต้องมีพี่เลี้ยง พัฒนาเป็นกลุ่มฝึกร่วมกัน เรียนรู้ด้วยกันเป็นเครือข่ายจึงจะเกิดกำลังใจ ต้องทำจริงจัง เพราะนี่เป็นภัยถึงชีวิต อาจไม่ใช่แค่ป้องกันภัย แต่รวมไปถึงการเยียวยาผู้เสียหาย การเห็นคุณค่าของกันและกัน ทำอย่างไรจะทำให้กิจกรรมเหล่านี้ ถูกยกระดับขึ้นมาจากงานอีเวนท์ เป็นกลไก เป็นเครือข่าย เป็นนโยบายที่จะช่วยให้เกิดความยั่งยืนมากกว่า

คำถามในหัวระคนกับความห่วงใยในใจที่มีต่อชาวเขาวัยใสเหล่านี้ ยังคงค้างคา....



หมายเลขบันทึก: 620927เขียนเมื่อ 1 มกราคม 2017 18:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มกราคม 2017 18:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท