วันที่ 43 การอบรม "การจัดการเรียนการสอนแบบสืบเสาะตามทักษะในศตวรรษที่ 21" (26 ธันวาคม 2559)


เอ๊ะ...ทำไม

แล้วอย่างอื่นล่ะ...

คำถามก่อนการเริ่มต้นในวันนี้กับการอบรมในหัวข้อ “การจัดการเรียนเรียนการสอนแบบสืบเสาะตามทักษะในศตวรรษที่ 21” จาก รศ.ยุทธนา สมิตะสิริ ที่เรารู้จักกัน โดยการอบรมในภาคเช้านั้นเป็นการอบรมเนื้อหาสาระเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะ หรือการจัดการเรียนการสอนแบบ Inquiry ซึ่งเป็นการสอนที่ครูในศตวรรษที่ 21 ควรทราบว่า ควรทำและไม่ควรทำ จาก ศาสตราจารย์ นพ.วิจารณ์ พานิช ก็คือ

1. ไม่ควรสอนแบบถ่ายทอดความรู้ ต้องให้ศิษย์เรียนรู้แบบ PBL โดยครูทำหน้าที่เป็นเพียง “โค้ชและชวนคิดไตร่ตรอง

2. เน้นการตั้งความถามมากกว่าการตอบคำถาม

3. ไม่ต้องอายที่จะบอกว่า “ครูไม่รู้” ลองไปค้น...ดูสิ

4. สร้างแรงบันดาลใจ

5. ให้คำแนะนำป้อนกลับ (Feedback) แก่ศิษย์

6. เป็นนักเรียนร่วมสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ (PLC)


ในการจัดการสอนแบบสืบเสาะ (Inquiry) นั้นสิ่งที่ควรจะต้องคำนึงถึงและควรฝึกฝนให้ผู้เรียนก็คือ

- เนื้อหาสาระที่นักเรียนคุ้นเคยนั้นยังมีความสำคัญ

- เพิ่มเทคนิควิธีการสอนแบบ Inquiry โดยการสอดแทรกลงในบทเรียน

- ใช้คำถามกระตุ้นนักเรียนให้เกิดความสงสัย อยากที่จะค้นหาคำตอบเพื่อนำไปสู่การสร้างเป็นโครงงานในสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ

- คำนึงถึงสิ่งที่นักเรียนเรียนอะไรผ่านมาแล้วบ้าง แล้วนำสิ่งที่นักเรียนมาสรรสร้างเป็นคำถามให้นักเรียน

- ติดตามและคอยป้อนคำถามใหม่ ๆ ให้นักเรียนอยู่เสมอ เพื่อให้นักเรียนนำไปสืบเสาะและพัฒนาโครงงานต่อไป


ในการอบรมในช่วงเช้าจึงเต็มไปด้วยเนื้อหาสาระแห่งความรู้ ซึ่งส่วนใหม่จะเป็นการที่จะใช้กระบวนการในการตั้งคำถามกับนักเรียน เพื่อนำไปสู่การสร้างเป็นโครงงานในสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่เริ่มต้นจากความไม่รู้ของนักเรียน เป็นเรื่องที่นักเรียนสนใจ ใกล้ตัวของนักเรียน ให้นักเรียนได้ลองค้นหาคำตอบ สืบค้นและเมื่อนักเรียนได้คำตอบแล้วก็ใช้คำถามกระตุ้นนักเรียนต่ออีกได้เลยว่า... “แล้วอย่างอื่นล่ะ” ให้นักเรียนลองกลับไปค้นหาคำตอบอีกครั้ง ถือได้ว่าเป็นการฝึกทักษะต่าง ๆ ให้นักเรียนไปในตัวอีกด้วย

สำหรับการอบรมในช่วงภาคบ่ายเป็นการทำ Workshop เล็ก ๆ กับการตั้งคำถามและนำไปสู่การเรียนรู้แบบ Inquiry ที่ได้แบ่งออกเป็นตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ ซึ่งตัวครูโต้งก็ได้อยู่ในกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ มีกันแค่ 3 คน งานนี้เริ่มต้นด้วยเรื่อง่าย ๆ กับการสอนเรื่องเรขาคณิต เพราะในทุกระดับชั้นจะได้เรียนรู้ในเรื่องนี้ โดยที่ได้ว่างแผนไว้คร่าว ๆ ดังนี้

1. ให้นักเรียนสำรวจรูปเรขาคณิตที่มีอยู่ในโรงเรียนโยแบ่งออกเป็นรูปเรขาคณิตที่จากสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น ใบไม้ ก้อนหิน กลีบดอกไม้ หญ้า และรูปเรขาคณิตจากสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น ล้อรถ ธงชาติ กระดานดำ กรวยจราจร นาฬิกา

2. ให้นักเรียนนำรูปเรขาคณิตที่ได้มาจำแนกประเภทต่อว่าเป็นรูปเรขาคณิตชนิดใด ซึ่งอาจจำแนกได้เป็นรูปสี่เหลี่ยม รูปสามเหลี่ยม รุปวงกลม และรูปวงรี โดยอาจอาศัยความคล้ายของรูปเป็นตัวจำแนกพร้อมทั้งการนำมาเรียงลำดับเปรียบเทียบขนาดความใหญ่ความเล็กไปตามลำดับ

3. นำรูปเรขาคณิตแต่ละชนิดมาจัดทำเป็นสถิติ เพื่อหาค่าร้อยละ % สัดส่วน แล้วนำเสนอข้อมูลในรูปแบบแผนภูมิวงกลม แผนภูมิแท่ง แผนภูมิเปรียบเทียบ

4. สำรวจความชอบรูปเรขาคณิตของนักเรียนแล้วนำมาจัดเรียงเป็นความถี่ เพื่อนำไปสู่การนำรูปเรขาคณิตมาประกอบกัน สร้างเป็นงานศิลปะตามแต่จิตนาการ

ซึ่งในการจัดการเรียนรู้ที่ว่านี้เกิดจากการตั้งคำถามต่อยอดให้กับนักเรียนทั้งสิ้น โดยที่สามารถจะจัดการเรียนการสอนได้ทุกระดับชั้น โดยในระดับชั้นประถมต้นอาจจะแค่สร้างงานศิลปะด้วยการวาดรูปเรขาคณิตชนิดต่าง ๆ และประถมปลายอาจจุดประกายด้วยการตั้งคำถามว่ามีความยาวรอบรูปเท่าไร พื้นที่ล่ะ จะหาได้อย่างไร เช่นถ้าจะหาพื้นที่ของรูปใบไม้ และในมัธยมอาจจะเพิ่มด้วยการถ้าเป็นรูปทรงสามมิติล่ะ มีปริมาตรเท่าไหร่ หาได้อย่างไร และในการสร้างงานในตอนสุดท้ายอาจจะเป็นการออกแบบงานด้วยการใช้เป็นรูปทรงเรขาคณิตสามมิติมาสร้างเป็นชิ้นงานเป็นสถาปนิกตัวน้อย


และในช่วงสุดท้ายของการอบรมเป็นการนำที่จะนำสิ่งที่กลุ่มสาระการเรียนรู้นั้นได้คิดไปนำเสนอเพื่อแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ซึ่งกันและกัน โดยได้รับคำแนะนำจาก รศ.ยุทธนา ผู้เป็นวิทยากรในการอบรมในครั้งนี้ ซึ่งแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างงัดไม้เด็ดมานำเสนอล้วนเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ใกล้ตัว และยังเป็นการสอนที่บูรณาการกับสาระการเรียนรู้แบบอื่น ๆ อีกด้วย




สุดท้ายสิ้นสุดของการอบรมในวันนี้ทำให้ได้เรียนรู้เรื่องราวที่เป็นประโยชน์ที่สามารถนำไปปรับใช้ในการจัดการเรียนการสอนของตัวเองต่อไป งานนี้ต้องขอขอบคุณ รศ.ยุทธนา ที่มาให้ความรู้กับพวกเราในครั้งนี้ และคอยติดตามพวกเรานักศึกษาครูเป็นเลิศมาตั้งแต่สมัยเรียน โดยให้คำแนะนำและให้คำปรึกษาอยู่ตลอดเวลา


วันนี้จึงเป็นการปิดการมาโรงเรียนวันสุดท้ายของปีนี้...

วันนี้ได้เข้าไปที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ที่เป็นที่ฝึกสอนในภาคเรียนที่แล้วทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม นักเรียนหลาย ๆ คนยังจำได้ และคิดถึงวิ่งเข้ามากอด รู้สึกดีใจที่นักเรียนจำครูได้ วันนี้จึงได้ไปขอคำแนะนำเรื่องโครงการกับ อ.ดร.ชาตรี มณีโกศล ที่ในภาพรวมนั้นโอเคแล้ว แต่ยังคงมีอีกหลายจุดหลายส่วนที่ยังคงต้องนำมาแก้ไขและปรับปรุงอยู่มาก

หยุดแล้ว....

ปิดแล้ว....โรงเรียน

หยุดยาวนี้...

#โครงการ

#ตรวจข้อสอบ

#ลงคะแนน

#ตัดเกรด

#แผนการสอน

รออยู่เพียบ...


หมายเลขบันทึก: 620925เขียนเมื่อ 1 มกราคม 2017 15:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มกราคม 2017 15:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีปีใหม่ครับ ขอให้สุข สมหวัง สุขภาพเเข็งแรงนะครับ

จันทวรรณ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท