​หลับๆ ตื่นๆ



บทความเรื่อง Sleeping While Awake ลงพิมพ์ใน Scientific American Mind ฉบับเดือน - พฤศจิกายน ธันวาคม ๒๕๕๙ บอกว่าคนที่นอนไม่พอ จะงีบหลับเป็นช่วงๆ เรียกว่า microsleep ซึ่งทั้งสมองงีบหลับ และผลการวิจัยบอกว่า เซลล์สมองแต่ละเซลล์ ก็งีบหลับเป็นช่วงๆ ได้ด้วย


microsleep นี่ผมถนัด เป็นการ “หลับแบบไม่หลับ” ผมแอบลักจำมาจาก ศ. ดร. ประเสริฐ ณ นคร เคยเล่าไว้หลายครั้งแล้ว แสดงว่าสมองผมมีทักษะ “ออมแรง” คือแอบงีบบ่อยๆ


เขาบอกว่า สิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ต้องการการหลับทั้งสิ้น ในคนและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมความต้องการ นอนหลับจะค่อยๆ สะสมมากขึ้นๆ ตั้งแต่ตื่น แล้วในที่สุดก็เข้าสู่สภาพ “สมองหมดแรง” (cerebral exhaustion) และง่วง

เวลานี้เราสามารถวัดการนอนหลับได้โดยการวัดคลื่นไฟฟ้าในสมอง ที่มีทั้งคลื่น อัลฟ่า, เบต้า, และธีต้า และอาศัยการวัดคลื่นนี้ หากไม่มีคลื่นเป็นเวลา ๐.๓ - ๐.๔ วินาทีขึ้นไปของเซลล์สมองจำนวนมากในส่วน เปลือกสมอง (cortex) ก็ถือว่าอยู่ในภาวะ “หลับลึก” (deep sleep)


เวลานี้เป็นที่รู้กันว่า สมองหลับและตื่นไม่ทั่วทั้งสมอง เวลาหลับสมองบางส่วนอาจตื่น และเวลาตื่นสมองบางส่วนอาจหลับ


ในการทดลองให้คนทำกิจกรรมซ้ำๆ (ซึ่งชวนง่วงนอน) ๕๐ นาที พบว่าโดยเฉลี่ยเกิด microsleep 79 ครั้งต่อชั่วโมง นานครั้งละ ๑.๑ - ๖.๓ วินาที และในช่วงนั้นผลงานจะตกลง และคลื่นไฟฟ้าสมองเปลี่ยนจากคลื่นอัลฟ่าเป็นคลื่นธีต้า ช่วง microsleep นี้เจ้าตัวจะไม่รู้ตัวว่าตนงีบหลับ และถ้าเกิดตอนขับรถยนต์ ก็อาจเกิดอุบัติเหตุถึงตาย


มีผลการวิจัยในสัตว์ทดลอง พบ “เซลล์สมองขี้ง่วง” ที่หลับในขณะที่สัตว์ (หนู) นั้นกำลังตื่นอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหนูที่ตื่นเลยเวลานอนมานาน ผลการวิจัยนำไปสู่คำว่า “local sleep” คือหลับเฉพาะบางส่วนของสมอง คู่กับ microsleep หรือหลับชั่วพริบตา


มีเว็บไซต์ให้ความรู้เรื่องการหลับ ที่นี่ บอกว่าการหลับไม่ใช่สิ่งที่ไร้กิจกรรม การหลับเป็นขั้นตอนหนึ่งของสมอง ที่สมองยังทำงาน แต่เราไม่รู้สึก ดังนั้นที่เรามักเปรียบเทียบความตายว่าเป็นการ “หลับชั่วนิรันดร์” จึงไม่จริง ในการหลับสมองยังตื่นอยู่ หยังมีชีวิต แต่ในการตายสมองตายด้วย

วิจารณ์ พานิช

๒ พ.ย. ๕๙


หมายเลขบันทึก: 618952เขียนเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2016 22:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2016 22:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท