​นิสิตพร้อมใจ ชุมชนพร้อมหน้า พัฒนาสังคม (สโมสรนิสิตวิทยาลัยการเมืองการปกครอง)


หลักคิดการทำงานที่เด่นชัดคือการเรียนรู้คู่บริการแบบมีส่วนร่วม การบริหารจัดการโครงการในแบบการจัดการความรู้ร่วมกันระหว่างนิสิตกับชุมชนและการขับเคลื่อนในแบบ PDCA รวมถึงหลักธรรมหลักที่ว่าด้วยอิทธิบาท 4 และสังคหวัตถุ 4 ทั้งปวงนี้คือกรอบแนวคิดที่พบเจอทั่วไปในวิถีกิจกรรมนอกหลักสูตรโดยเฉพาะวิถีค่ายอาสาพัฒนานั้นยืนยันได้เลยว่านี่คือชุดความรู้สำเร็จรูปที่รอการปรับประยุกต์ไปใช้ให้เหมาะกับบริบทของแต่ละงานเท่านั้นเอง

โครงการ “นิสิตพร้อมใจ ชุมชนพร้อมหน้า พัฒนาสังคม” ที่สโมสรนิสิตวิทยาลัยการเมืองการปกครองจัดขึ้นเมื่อวันที่ 12-20 กุมภาพันธ์ 2559 ณ บ้านกุดหัวช้าง ตำบลขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม เป็นอีกหนึ่งกระบวนการเรียนรู้คู่บริการที่มุ่งให้นิสิตได้ตระหนักถึงแนวคิดการศึกษาเพื่อรับใช้สังคม ยึดมั่นในหลักคุณธรรม จริยธรรม – จิตอาสา

โครงการดังกล่าวนี้ ประกอบด้วยกิจกรรมหลักคือการจัดทำซุ้มประตูทางเข้าหมู่บ้าน ปรับภูมิทัศน์ ทำรั้วหมู่บ้าน ทำป้ายประจำครัวเรือนในแต่ละหลัง ถวายผ้าป่าสามัคคี โดยเน้นการทำงานแบบมีส่วนร่วมระหว่างนิสิตกับชุมชนที่เกี่ยวข้อง เช่น ชาวบ้านกุดหัวช้าง นักเรียนจากโรงเรียนบ้านมะกอกฯ รวมถึงชาวบ้านและแกนนำชาวบ้านจากชุมชนใกล้เคียง






กรณีเหตุผลที่เลือกขับเคลื่อนกิจกรรมในหมู่บ้านกุดหัวช้างนั้น เนื่องเพราะเป็นชุมชนในละแวกมหาวิทยาลัย และมีแนวโน้มที่จะเป็นยุทธศาสตร์ใหม่ของการพัฒนาเชิงพื้นที่ของเทศบาลตำบลขามเรียง โดยเฉพาะการมี “แก้มลิง” ที่ชุมชนหลายชุมชนเข้ามาใช้ประโยชน์ร่วมกัน อีกทั้งยังสามารถพัฒนาได้หลากลักษณะทั้งประมง เกษตรกรรม หรือกระทั่งการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ รวมถึงเป็นชุมชนที่นักวิชาการมหาวิทยาลัยมหาสารคามเคยเข้าไปขับเคลื่อนงานวิชาการรับใช้สังคมมาแล้วระยะหนึ่ง ทั้งที่เป็นวิจัยเพื่อท้องถิ่นและงานบริการวิชาการแก่สังคม หรือกระทั่งรองรับแผนพัฒนาของจังหวัด เช่น การจัดการสิ่งแวดล้อมและน้ำหมักชีวภาพจากผักตบชวา กังหันลมและพลังงานทดแทน การทำนาแบบโยนกล้า หรือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมบนฐานวัฒนธรรมชุมชนขามเรียงที่ระดมนิสิตและชาวบ้านปลูกต้นไม้ทั้งที่เป็นไม้ประดับและไม้บริโภคร่วมๆ 3 พันต้น


ผศ.จีรศักดิ์ โพกาวิน : รองคณบดีฝ่ายพัฒนานิสิต : ส่งมอบซุ้มประตูหมู่บ้านแก่ชุมชน



ในทำนองเดียวกันนี้ บ้านกุดหัวช้างก็เคยเป็นหมู่บ้านในโมเดล1 คณะ 1 หมู่บ้าน” ที่กองกิจการนิสิตเคย นำนิสิตแต่ละคณะไปฝากตัวเป็นลูกฮักในชุมชนและร่วมจัดกิจกรรมสร้างสรรค์บนความต้องการของชุมชน เมื่อปี 2553 โดยสโมสรนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์และชมรมนอกหน้าต่าง คือกลุ่มลูกฮักที่ฝังตัวทำกิจกรรมในบ้านกุดหัวช้าง ซึ่งตอนนั้นเป็นการสมทบทุนสร้างศาลาการเปรียญ ปลูกต้นไม้ เรียนรู้ประเพณีวัฒนธรรมและการจัดทำผ้าป่าหนุนเสริมเป็นระยะๆ ครั้นชาวบ้านเจอวิกฤตน้ำท่วมนิสิตก็พากันลงชุมชนช่วยเหลือพ่อฮักแม่ฮักด้วยตนเองโดยไม่รอให้กองกิจการนิสิตออกแรงกระตุกกระตุ้น ยิ่งชมรมนอกหน้าต่างนั้นต้องยอมรับว่ายุคนั้นได้ใจชุมชนเอามากๆ





ในครรลองเรื่องโจทย์หรือความต้องการของชุมชน นิสิตและชาวบ้านได้หารือร่วมกันเพื่อสังเคราะห์ถึงแนวทางการจัดกิจกรรมแบบมีส่วนร่วม ทั้งสองส่วนมุ่งเน้นไปยังกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ที่เกี่ยวโยงกับการจัดการสิ่งแวดล้อมและภูมิทัศน์ในหมู่บ้านเป็นหัวใจหลัก ประกอบด้วยการจัดทำรั้วรายรอบแต่ละครัวเรือนและการจัดทำซุ้มประตูทางเข้าหมู่บ้าน ซึ่งประเด็นหลังนั้นเป็นความต้องการหลักของชุมชน เนื่องจากเป็นหมู่บ้านขนาดเล็กไม่ถึง 50 ครัวเรือน ไม่มีงบประมาณในการจัดทำขึ้น รวมถึงที่ผ่านมาทิศทางหลักและเร่งด่วนจะเป็นการระดมทุนสร้างศาลาการเปรียญเสียมากกว่า และนั่นยังไม่รวมว่าเป็นชุมชนที่ประสบปัญหาเรื่องน้ำท่วมซ้ำซาก ยังผลให้ชาวบ้านติดๆ ขัดๆ ในเรื่องเงินทุนที่จะนำมาพัฒนาในเรื่องดังกล่าว




กิจกรรมครั้งนี้เน้นการมีส่วนร่วมอย่างเด่นชัด เป็นการมีส่วนร่วมทั้งในแง่ของแรงกายแรงใจ วัสดุอุปกรณ์ กล่าวคือกรณีจัดทำรั้วรายรอบหมู่บ้านนั้น เป็นกิจกรรมที่บูรณาการกับวัตถุดิบในท้องถิ่น เน้นใช้ไม้ไผ่มาทำเป็นรั้ว ช่วยให้นิสิตได้ลัดเลาะไปตัดไม้ไผ่ร่วมกับชาวบ้าน ได้เรียนรู้ระบบนิเวศวัฒนธรรมชุมชนและภูมิปัญญาในการตัดไม้ไผ่และการใช้ประโยชน์จากไม้ไผ่ของชาวบ้านไปโดยปริยาย

ขณะที่การจัดทำซุ้มประตูทางเข้าหมู่บ้านที่เป็นโครงเหล็กจะเน้นการใช้จ่ายจากงบประมาณของมหาวิทยาลัยเป็นหลัก ชาวบ้านจะรับหน้าที่ “พ่อช่าง-แม่ช่าง” พร้อมด้วยอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ส่วนหนึ่งเป็นอุปกรณ์ที่หลงเหลือจากงานก่อสร้างที่ชาวบ้านจัดเก็บมาไว้ เมื่อถึงวาระนี้จึงเสียสละนำออกมาใช้ประโยชน์เพื่อส่วนรวม ซึ่งกิจกรรมนี้นิสิตได้เข้าไปช่วยจัดทำตลอดทุกขั้นตอน ในทางสถานะเป็นทั้งการทำเองและเป็นลูกมือ รวมถึงการหนุนเสริมจากชุมชนและหน่วยงานในท้องถิ่นที่สนับสนุนเรื่องอาหารและสวัสดิการก็ถือเป็นการเรียนรู้คู่บริการที่เน้นการมีส่วนร่วมในอีกรูปแบบหนึ่งของโครงการนี้





ในทางกระบวนการของกิจกรรม หากไม่นับวันเวลาการเตรียมงานจะแบ่งขั้นตอนการทำงานออกเป็นห้วงๆ เช่น จัดทำรั้วในหมู่บ้าน 3 วัน จัดทำซุ้มประตูหน้าหมู่บ้าน 2 วันและการทอดผ้าป่าอีก 2 วัน โดยในทุกกระบวนการหยัดยืนบนหลักการของการมีส่วนร่วมระหว่างนิสิตกับชุมชน


ถึงแม้ว่าโครงการ “นิสิตพร้อมใจ ชุมชนพร้อมหน้า พัฒนาสังคม” จะไม่พบการชูประเด็นที่ว่าศาสตร์เฉพาะทางมาบูรณาเป็นหนึ่งเดียวกับค่ายนี้อย่างเป็นรูปธรรม นั่นก็มิใช่ปัญหาหรือความล้มเหลวใดๆ เพราะชัดเจนตั้งแต่แรกแล้วว่านี่คืองานที่หยัดยืนอยู่บนวิถีกิจกรรมนอกหลักสูตรในแบบ “ค่ายอาสาพัฒนา” ทว่าการขับเคลื่อนทั้งปวงนั้นต่างล้วนยึดโยงกับศาสตร์ในสังกัดวิทยาลัยการเมืองการปกครองอยู่วันยังค่ำ ทั้งการบริหารงานบริหารคน หรือการพัฒนาท้องถิ่นและชุมชน





ด้วยเหตุนี้โครงการดังกล่าวจึงเป็นงานบริการสังคมอย่างเต็มรูปแบบ ปลายทางการเรียนรู้มีหลากหลายหมุดหมาย แต่ที่แน่ชัดก็คือจิตอาสา จิตสำนึกสาธารณะเฉกเช่นอัตลักษณ์นิสิตที่มหาวิทยาลัยได้ประกาศไว้ว่า “นิสิตกับการเป็นผู้ช่วยเหลือสังคมและชุมชน” และที่เห็นชัดเอามากๆ ก็คือกิจกรรม “ทอดผ้าป่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมของชาววิทยาลัยการเมืองการปกครองขนานแท้ เพราะกิจกรรมดังกล่าวมักเป็นองค์ประกอบหลักในกิจกรรมหลายกิจกรรมที่ทางคณะได้จัดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่ายทั่วๆ ไปของนิสิต รวมถึงงานวิชาการรับใช้สังคมของอาจารย์ในชื่อโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน หรือกระทั่งโครงการหนึ่งคณะหนึ่งศิลปวัฒนธรรมก็มักพบเจอกิจกรรมในทำนองนี้เสมอ - เป็นกิจกรรมเรียนรู้บนฐานวัฒนธรรมชุมชนที่ฉายให้เห็นมิติทั้งการทำนุบำรุงและบริการบนฐานวัฒนธรรมอย่างน่ายกย่อง




ในมุมมองหลักคิดการทำงานที่เด่นชัดคือการเรียนรู้คู่บริการแบบมีส่วนร่วม การบริหารจัดการโครงการในแบบการจัดการความรู้ร่วมกันระหว่างนิสิตกับชุมชนและการขับเคลื่อนในแบบ PDCA รวมถึงหลักธรรมหลักที่ว่าด้วยอิทธิบาท 4 และสังคหวัตถุ 4 ทั้งปวงนี้คือกรอบแนวคิดที่พบเจอทั่วไปในวิถีกิจกรรมนอกหลักสูตรโดยเฉพาะวิถีค่ายอาสาพัฒนานั้นยืนยันได้เลยว่านี่คือชุดความรู้สำเร็จรูปที่รอการปรับประยุกต์ไปใช้ให้เหมาะกับบริบทของแต่ละงานเท่านั้นเอง




อย่างไรก็ดีต้องชื่นชมว่าการงานในครั้งนี้เห็นความพยายามของการนำพานิสิตทุกชั้นปีออกจากรั้วมหาวิทยาลัยมาสู่การทำงานสร้างสรรค์เพื่อสังคมร่วมกัน โดยอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการและคณะผู้บริหารคณะคอยดูแลกระบวนการทำงานอย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงการเพียรพยายามที่จะเชื่อมโยงการเรียนรู้ไปยังภาคีเครือข่ายในชุมชน เพราะนั่นคือระบบและกลไกของการพัฒนาท้องถิ่นในวิถีของคนที่เรียนวิทยาลัยการเมืองการปกครองอย่างแท้จริง

และถึงแม้ว่าเมื่อขับเคลื่อนจริงจะพบเจอปัญหาบ้างก็ย่อมเป็นธรรมชาติของการงาน เช่น ความไม่พร้อมเพรียงของชาวบ้านที่ติดภารกิจประจำวัน เพราะต้องไปรับจ้างเพื่อปากท้องที่มีทั้งอยู่ในตัวเมืองและในมหาวิทยาลัย แต่ก็มิได้ทำให้กิจกรรมสะดุด หรือล่าช้า เพราะชุมชนยังสามารถบริหารจัดการเวลาร่วมกับนิสิตได้เป็นอย่างดี นี่คือความสำเร็จบนฐานใจและการบริหารจัดการที่เป็นระบบ รวมถึงการกล้าที่จะเรียนรู้ผ่านการลงมือทำและเรียนรู้ร่วมกันอย่างเป็นทีม



เชิดศักดิ์ จันทร์ท้าว : หนึ่งในคณะทำงานโครงการฯ


ค่ายครั้งนี้เปิดโอกาสนิสิตได้ลงพื้นที่สำรวจ ศึกษาเพื่อพัฒนาชุมชน เรียนรู้ถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ การประกอบอาชีพ รวมไปถึงประเพณีของคนท้องถิ่น นอกจากจะพัฒนาชุมชนแล้วยังได้พัฒนาศักยภาพของตัวนิสิตเอง ช่วยให้นิสิตกล้าแสดงออก กล้าคิด กล้าทำ และกล้านำความรู้ที่ตนเรียนไปปฏิบัติจริง รวมถึงการแสดงถึงอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่ว่า “นิสิตกับการช่วยเหลือสังคมและชุมชน” ตอกย้ำคำคมที่ผมได้ยินมาตลอดว่า ''การเรียนสอนให้คนมีงานทำ กิจกรรมสอนให้คนทำงานเป็น''

เชิดศักดิ์ จันทร์ท้าว
ชั้นปีที่ 2 สาขารัฐศาสตร์บัณฑิต เอกการเมืองการปกครอง
วิทยาลัยการเมืองการปกครอง




ที่สุดแล้วโครงการ “นิสิตพร้อมใจ ชุมชนพร้อมหน้า พัฒนาสังคม
” คือการเรียนรู้คู่บริการในวิถีค่ายอาสาพัฒนาที่ยึดเอาชุมชนรายรอบมหาวิทยาลัยเป็นฐานที่มั่นของการเรียนรู้ เป็นการงานที่เน้นการพัฒนาชุมชนแบบมีส่วนร่วมเป็นหัวใจหลัก หากแม้นอนาคตยังมุ่งมั่นที่จะจัดค่ายอาสาในทำนองนี้ต่อไปโดยยกระดับค่ายนี้ในแบบการบูรณาการศาสตร์เฉพาะทางเข้าไปอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงการนำเอาหลักธรรมที่ว่าด้วยการบริหารคนบริหารงานเข้ามาเคลื่อนหนุนอย่างเต็มสูบ ย่อมน่าจะเป็นประโยชน์อันสูงสุดต่อการพัฒนานิสิตสู่การเรียนรู้และรับใช้สังคมอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ หรือกระทั่งการสร้างฐานคิดกระบวนการเรียนรู้ชุมชนให้เข้มข้นขึ้น ดังเช่นกระบวนการในหลายกระบวนการของโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนที่เป็นจุดเด่นของวิทยาลัยการเมืองการปกครอง ย่อมน่าจะช่วยให้การจัดกิจกรรมเรียนรู้คู่บริการในทำนองนี้มีพลังในแบบทบเท่าทวีคูณ



หมายเหตุ :
ภาพ : สโมสรนิสิตวิทยาลัยการเมืองการปกครอง

หมายเลขบันทึก: 618743เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2016 23:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2016 23:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีครับ พี่ใหญ่
นงนาท สนธิสุวรรณ

อบพระคุณที่แวะมาเยี่ยมเยียนให้กำลังใจนะครับ

งานที่ไม่ซับซ้อนของคณะนี้ อย่างน้อยก็ได้สอนการทำงานเป็นทีมและการทำงานร่วมกับชุมชน หรือกระทั่งการเรียนรู้บริบทชุมชนแหละครับ

หรือได้พบเจอและสัมผัสกับทรัพยากรต่างๆ ของชุมชน สู่การแปรรูปเพื่อพัฒนาชุมชนด้วยตนเออไปในทีด้วยเหมือนกัน


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท