วิจารณญาณในการอ่าน: อ่านแล้วคิดอย่างมีเหตุผล


วิจารณญาณในการอ่าน: อ่านแล้วคิดอย่างมีเหตุผล

เฉลิมลาภ ทองอาจ,ค.ด.




เหตุและผลทำให้คนเราสามารถที่จะสร้างและค้นพบความรู้ที่เป็นประโยชน์ หากคนเราปราศจากซึ่งเหตุผล เราก็จะเชื่อในสิ่งที่เหนือธรรมชาติ เชื่อในสิ่งที่ไม่มีที่มาที่ไป ที่สุดแล้ว เราก็จะไม่แสวงหาความจริงอันเป็นสาเหตุของสิ่งต่าง ๆ และวิทยาการหรือองค์ความรู้ต่าง ๆ ก็คงไม่เกิดขึ้น ในการจัดการศึกษา จึงต้องมีหน้าที่สำคัญที่จะทำให้นักเรียนคิดอย่างมีเหตุผล รู้จักที่จะพิจารณาสิ่งต่าง ๆ ว่าน่าเชื่อถือ หรือเกี่ยวข้องกันหรือไม่อย่างไร ซึ่งสามารถเริ่มต้นได้ จากการส่งเสริมให้นักเรียนใช้วิจารณญาณในการอ่านวิชาความรู้ต่าง ๆ ที่ศึกษาในชีวิตประจำวัน

แนวทางในการพัฒนาและส่งเสริมให้นักเรียนเกิดวิจารณญาณในการอ่าน หรือความสามารถในการอ่านแล้วคิดในเชิงเหตุและผล เพื่อประเมินความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความเป็นไปได้ ของแนวคิดหรือสาระสำคัญของสิ่งที่อ่าน มีอยู่อย่างหลากหลายวิธี แต่แนวทางหนึ่งที่มีการนำมาใช้ในการพัฒนาการอ่านของนักเรียน คือ แนวทางของ Wright (1977 อ้างถึงใน Patching, Kameenui, Carnine, Gersten และ Colvin, 1983) แนวทางดังกล่าวคือ การใช้อ่านด้วยการให้นักเรียนคำนึงถึงกฎอันเป็นความจริง แล้วนำกฎดังกล่าวมาพิจารณาข้อความที่อ่าน ตัวอย่างของกฎข้อหนึ่งคือ “การรับรู้เฉพาะบางส่วนของสิ่งหนึ่ง ไม่ได้หมายความว่าจะเข้าใจสิ่งนั้นทั้งหมด” กฎข้อนี้ ช่วยป้องกันไม่ให้อ่านข้อมูลใด ๆ แล้วอาศัยข้อมูลบางส่วนนั้นสรุปไปสู่สิ่งอื่น ๆ ที่เกินไปจากความเป็นจริง

สมมติว่านักเรียนอ่านพบข้อความว่า “เพราะยักษ์นนทกฆ่าเทวดา นกทกจึงไม่จงรักภักดีต่อพระอิศวร” จะเห็นได้ว่า เมื่อนำกฎข้างต้นมาพิจารณา พฤติกรรมของยักษ์นนทก เกิดจากความแค้นเคืองที่ถูกเทวดากลั่นแกล้ง ในขณะที่เรื่องความจงรักภักดีต่อพระอิศวรนั้น เป็นอีกส่วนหนี่งของนนทก ซึ่งพฤติกรรมการสังหารเทวดา กับความจงรักภักดีเป็นคนละส่วนกัน ข้อเขียนที่อ่านนี้ จึงมีการสร้างช้อสรุป ที่ขาดความสมเหตุสมผล หรือแม้จะมีความเกี่ยวข้องกัน แต่ก็ถือว่าน้อยมาก อีกตัวอย่างเช่น หากข้อความที่อ่านมีอยู่ว่า “สินสมุทรรักพระอภัยมณี มากกว่านางผีเสื้อ ดังนั้น สินสมุทรจึงรักมนุษย์มากกว่าเผ่าพันธุ์ของตัวเอง” ข้อสรุปนี้ หากใช้กฎพิจารณาก็พบว่า ไม่สามารถสรุปได้ เนื่องจากความรักของสินสมุทรนั้น เกิดจากการที่พระอภัยมณีเลี้ยงดูมาแต่กำเนิด อันเป็นเรื่องเฉพาะระหว่างสินสมุทรกับพระอภัยมณี แต่ไม่สามารถไปสรุปได้ว่า สินสมุทรชอบเผ่าพันธุ์มนุษย์ หรือรังเกียจเผ่าพันธุ์ยักษ์ของตนเอง เป็นต้น

เมื่อการสอนอ่านหันมามุ่งเน้นเรื่องการพิจารณาว่า ข้อความที่เขียนขึ้นมีเหตุมีผลหรือไม่ และทำไมถึงขาดความสมเหตุสมผล นักเรียนก็จะเกิดวิจารณญาณในการอ่าน อันจะส่งผลดีต่อการพัฒนาปัญญาความคิดของตนเองให้แหลมคมมากยิ่งขึ้น

__________________________________________________________________________

หมายเลขบันทึก: 618496เขียนเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2016 11:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2016 11:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท