วันที่ 11 พฤศจิกายน 2559 (ต่อ)
หลังอาหารมื้อบ่ายแก่ๆ ดิฉันและพี่สาวชวนพี่สาวอีกคน (คนที่สาม) ไปดูเหยี่ยวกัน คราวนี้เดินทางได้เร็วเพราะรู้เส้นทางแล้ว พอใกล้ถึงบริเวณที่ดูเหยี่ยวเจอรถเกี่ยวข้าวจอดขวางถนนเลยเสียเวลาไปนิด รอให้รถเกี่ยวข้าวลงนาไปก่อน
เราไปถึงที่หมายประมาณ 16.20 น.กว่าเล็กน้อย มีคนขับรถอีกสองคันมาดูเหยี่ยวด้วย แต่แยกไปดูคนละด้านกับเรา
ฝูงเหยี่ยวบนต้นยูคาลิปตัส ในแอ่งน้ำมีนกชนิดอื่นด้วย เขาไม่ตีกัน คงเพราะพื้นที่กว้างใหญ่ แบ่งกันอยู่แบ่งกันหากินได้
ช่วงเวลาเย็นอากาศไม่ร้อน แสงแดดส่องคนละด้านกับตอนเช้า จึงมองเห็นและถ่ายภาพเหยี่ยวได้ชัดดีกว่า ดูเหมือนเหยี่ยวที่เกาะอยู่บนต้นยูคาลิปตัสจะมีจำนวนมากกว่าช่วงเช้า บางตัวก็ลงมากินน้ำ บางฝูงก็บินกลับมาจากที่อื่น ที่มองเห็นเหยี่ยวน่าจะมีหลายขนาดทั้งตัวเล็กและใหญ่
ฝูงเหยี่ยวยามเย็น
เหยี่ยวที่ลงมากินน้ำ
นอกจากฝูงเหยี่ยวเราได้ยินเสียงอีการ้องด้วย อีกาแถวนี้ตัวใหญ่ๆ และมีมากมาย แต่ก็ไม่มากเท่าเหยี่ยวดำ
อีกด้านของถนนก็เห็นนกยางสีขาวบินกลับมาฝูงใหญ่
นกกาน้ำ ไม่รู้เป็นตัวที่เห็นเมื่อเช้าหรือเปล่า (มีเหยี่ยวหนึ่งตัวเป็นพื้นหลัง)
ประมาณ 17.30 น. แสงก็น้อยลงแล้ว เราลองขับรถไปถนนอีกด้านหนึ่ง ได้เห็นเหยี่ยวใกล้กว่าที่เดิม แต่จำนวนมีน้อยกว่า ได้เห็นแสงสียามพระอาทิตย์ใกล้ตกดิน ช่วงนี้มืดเร็ว เราคุยกันว่าครั้งต่อไปควรจะมาถึงที่นี่สักประมาณ 15.30 น. จะได้มีเวลาอยู่ได้นานๆ
แสงสียามเย็น
ตอนที่ออกจากพื้นที่ที่ดูเหยี่ยว เจอรถเกี่ยวข้าวคันเดิมขึ้นมาบนถนนเพื่อถ่ายข้าวใส่รถบรรทุกคันเล็กๆ เราเลยต้องจอดรอทางอีกครั้ง ชาวนาปัจจุบันแทบจะไม่ต้องออกแรงกายกันเลย ได้แต่ยืนดูรถเกี่ยวข้าวและรถบรรทุกทำงานไป ต่างจากชาวนาในสมัยที่ดิฉันยังเป็นเด็กที่ต้องออกแรงไถนา เกี่ยวข้าว ขนมัดข้าว นวดข้าว และขนข้าวใส่ยุ้งกันเอง มีการผลัดกันถือแรงชาวบ้านช่วยกันมากหน้าหลายตา เราที่เป็นเด็กๆ ก็พลอยคึกคักและได้เล่นสนุกไปด้วย
ขากลับมืดแล้วต้องเปิดไฟหน้ารถ เมื่อถึงบ้านแม่พี่สาวทำน้ำพริกปลาร้าเพิ่มอีกอย่างโดยใช้เนื้อปลาหมอและปลานิลย่างที่แกะเนื้อไว้ เราจัดของกินต่างๆ แบ่งเป็นสามส่วน เก็บไว้ที่บ้านสำหรับน้องสาวและเอากลับบ้านที่กรุงเทพฯ
ได้เวลาประมาณ 19.40 น. เราก็ออกเดินทางกลับกรุงเทพฯ
วัลลา ตันตโยทัย
บันทึกเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2559
โอโหอุดมสมบูรณ์มากเลยครับ
เข้าใจว่าอพยพหนีหนาวมาจากที่อื่น
ชอบนกกาน้ำมากเลยครับ
จับภาพได้สวยมาก
ขอบคุณครับ
มีข้อมูลว่าเหยี่ยวเหล่านี้อพยพมาจากไซบีเรียค่ะ มีจำนวนมากนับหมื่นตัวเลย จะหาเวลากลับไปดูอีกค่ะ