บ้านแม่ : ดูนก ตกปลา พาเพลิน (1)


เหยี่ยวดำจำนวนมากมายเกาะอยู่บนต้นยูคาลิปตัส

วันที่ 11 พฤศจิกายน 2559

ดิฉันตั้งใจจะไปดูเหยี่ยวดำ (Black Kite) ที่ทุ่งปากพลีเมื่อไปบ้านแม่ที่นครนายกมานานแล้ว แต่มักใช้เวลาหมดไปกับการตกปลาและทำอาหารอร่อยๆ ทานกันในหมู่พี่น้องเสียทุกครั้ง คราวนี้ตั้งใจจริงๆ ว่าจะต้องไปดูเหยี่ยวให้ได้ ดูตำแหน่งแหล่งที่แล้วคาดว่าพื้นที่ที่เหยี่ยวอพยพมาอาศัยอยู่นั้นอยู่ไม่ไกลจากบ้านแม่ เพราะอยู่ในตำบลและอำเภอเดียวกัน เพียงแต่บ้านแม่อยู่หมู่ที่ 5 แหล่งที่เหยี่ยวอยู่เป็นหมู่ที่ 6 จึงชวนพี่สาวไปบ้านแม่กันอีกในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2559

การเตรียมการสำหรับกิจกรรมนี้คือค้นหาแผนที่การเดินทางจากเว็บไซต์ ค้นข้อมูลเกี่ยวกับกล้องส่องทางไกลสองตา (Binoculars) ปรึกษาอาจารย์ต่าย ผศ.ดร.ปิยะพงค์ โชติพันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญการดูนก ในการเลือกกล้อง และไปซื้อกล้องราคาไม่แพงไว้สองตัว

วันที่ 11 พฤศจิกายน 2559 ตั้งนาฬิกาปลุกไว้ตั้งแต่ 04.45 น. ต้มกาแฟดื่มหนึ่งแก้ว ต้มไข่เอาไว้เป็นเสบียง 4 ฟอง (เพราะยังไม่ได้ทานข้าวเช้า) ออกเดินทางจากบ้านไปรับพี่สาวก่อนหกโมงเช้าเล็กน้อย (ยังเช้าไม่พอ) เดิมดิฉันวางแผนว่าจะเข้าไปยังพื้นที่ดูเหยี่ยวทางด้านอำเภอปากพลี แต่พอพี่สาวเห็นแผนที่ก็บอกว่าไปทางบ้านแม่ใกล้กว่า

เราไปถึงบ้านแม่ประมาณ 08.00 น. กว่าเล็กน้อย แวะบ้านแปล๊บเดียว ถามเส้นทางกับน้องสาวอีกครั้ง แล้วออกเดินทางจากบ้านแม่ไปถึงเกาะกา เลี้ยวขวาไปทางลำบัวลอย ถนนจากเกาะกาไปลำบัวลอยไม่ค่อยดีนัก พอไปถึงแถววัดลำบัวลอยเริ่มไปต่อไม่ถูก (ดิฉันเป็นคนหลงทิศ ดูแผนที่ไม่ค่อยถูก) จึงจอดรถถามผู้คนแถวนั้น มีสาวใจดีขับมอเตอร์ไซด์ผ่านมา เธอชี้ทางแล้วแต่คงเห็นว่าเรางงๆ เลยขับรถนำทางไปให้

เส้นทางนี้ผ่านหน้าวัดลำบัวลอย มีถนนล็กๆ ผ่านทุ่งนาที่ข้าวกำลังออกรวง ไปจนถึงทางเข้าพื้นที่สาธารณประโยชน์ มีรูปปั้นนกเหยี่ยวตัวใหญ่อยู่ปากทาง เส้นทางที่ดิฉันมานี้ไม่มีป้ายบอกทางเลย ถ้าเข้าทางปากพลีคาดว่าน่าจะมีป้าย เพราะในช่วงเวลานี้การท่องเที่ยวฯ ก็ประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้คนไปดูเหยี่ยวอพยพ

จากการค้นข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต ได้รู้ว่าพื้นที่ตรงนี้คือทุ่งใหญ่สาธารณประโยชน์ อยู่ที่หมู่ 6 ตำบลท่าเรือ อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก อาณาบริเวณกว่า 1,500 ไร่ มีการปลูกต้นยูคาลิปตัสไว้ (น้องสาวบอกว่าได้มาร่วมปลูกด้วย) เหยี่ยวดำนับหมื่นตัวจะอพยพหนีหนาวจากไซบีเรียมาอยู่ระหว่างเดือนตุลาคม/พฤศจิกายน ถึงเดือนมีนาคม/เมษายน ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา

เราใช้เวลาเดินทางจากบ้านแม่ประมาณ 15 นาทีก็ถึงที่หมาย ไม่มีใครมาดูเหยี่ยวในเวลานี้ มีแต่เราสองคนเท่านั้น เราตื่นตาตื่นใจที่เห็นเหยี่ยวดำจำนวนมากมายเกาะอยู่บนต้นยูคาลิปตัส แดดตอน 08.00 – 09.00 น.กว่า จ้ามาก เผาผิวหน้าร้อนเลย เวลาถ่ายรูปก็มองเห็นไม่ชัด ได้ภาพเหยี่ยวแบบดำๆ เหยี่ยวฝูงใหญ่บินร่อนอยู่บนท้องฟ้าเป็นระยะ แต่จับภาพได้ไม่ชัด



บริเวณที่เราดูเหยี่ยว



แนวต้นยูคาลิปตัสที่ฝูงเหยี่ยวอาศัยอยู่ ห่างออกไปจากถนน มีน้ำขัง




เหยี่ยวบนต้นยูคาลิปตัส


เหยี่ยวบนท้องฟ้า



ในแอ่งน้ำ มีนกกาน้ำ (Cormorant) ที่บางเวลาก็ลงไปว่ายอยู่ในน้ำ


เราประเมินแล้วช่วงเวลานี้สายไปไม่เหมาะต่อการถ่ายภาพเหยี่ยว จึงตั้งใจจะกลับมาอีกครั้งในตอนเย็น ระหว่างทางที่กลับไปบ้านแม่ยังเจอเหยี่ยวขาว (Black-shouldered Kite) สองตัว นกคล้ายอีเสือมีสีเทาๆ หนึ่งตัว (ถ่ายรูปไม่ทัน)


เหยี่ยวขาว


กลับไปถึงบ้านแม่เจอนกตีทอง (Coppersmith Barbet) หนึ่งตัวที่สายไฟและเสาไฟฟ้าหน้าบ้าน รวมทั้งนกกระจอกตาล (Plain-backed Sparrow) ตัวผู้ที่ต้นกระดังงาใกล้ประตูเข้าบ้าน



นกตีทอง



นกกระจอกตาล


เราทำอาหารเช้าง่ายๆ ทานกันก่อนที่จะรีบออกไปตกปลาที่บ่อในสวน วันนี้มีแผนจะทำอาหารสองเมนูคือลาบปลาหมอและแกงเหลืองปลาหมอ (เบื่อปลานิลแล้ว) ตอนที่ตกเบ็ดกันสี่คนพี่น้อง ก็ประกาศว่าขอให้ได้ปลาหมอ เราก็ได้ตามนั้น พี่สาวที่ไปจากกรุงเทพฯ ด้วยกันมีโชค ตกปลาหมอได้หลายสิบตัว ในขณะที่ดิฉันตกปลาหมอได้เพียง ตัว (แต่ได้ตัวใหญ่ๆ ทั้งนั้น) มีปลานิลและปลาตะเพียนตัวใหญ่ติดเบ็ดมาไม่มาก ระหว่างที่กำลังตกปลากันอยู่ เห็นนกกระเต็นซึ่งน่าจะเป็นกระเต็นหัวดำ บินไปมาผ่านบ่อนี้ แต่ดิฉันไม่ได้พกกล้องถ่ายรูปมาด้วย จึงไม่ได้เก็บภาพไว้

ดิฉันตกปลาได้ไม่กี่ตัวในขณะที่พี่สาวตกได้เยอะ เลยหันไปเก็บผักบุ้งที่ขึ้นตามโขดบ่อ ได้ผักบุ้งยอดอ่อนๆ หอบใหญ่ (ขนกลับกรุงเทพฯ ด้วย)

ต่อจากนั้นก็เป็นเวลาของการทำกับข้าว พี่สาวและน้องสาวช่วยกันทำปลา ดิฉันตำพริกแกงเหลืองและปรุงแกงเหลือง น้ำแกงหวานเพราะปลาสด ยังไม่ใส่รสเปรี้ยวเพราะเราไม่ทานแกงในวันนี้

น้องสาวเอาปลาหมอที่ขอดเกล็ดทำความสะอาดแล้วย่างบนเตาถ่าน เราแกะเนื้อปลาหมอย่าง เอาก้างออกแล้วสับหยาบๆ พี่สาวปรุงลาบปลาหมอตามสูตรของบ้านเรา เวลาที่เราพี่น้องทำกับข้าวด้วยกัน จะคุยกันว่าเมนูนั้นๆ เตี่ยและแม่ของเราทำอย่างไรบ้าง เป็นช่วงที่ได้ระลึกถึงเวลาดีๆ ตอนที่เตี่ยและแม่ยังอยู่

เราทานอาหารตอนเลยบ่ายสามโมงครึ่งแล้ว (ไม่รู้ว่ามื้ออะไร) ต้องบอกว่าลาบปลาหมออร่อยมากๆ อร่อยกว่าลาบปลาดุกอีก เราทานกับผักสดที่เก็บจากข้างบ้าน มีถั่วฝักยาวและยอดเสม็ด ผัดผักบุ้งที่เพิ่งเก็บมาใส่เต้าเจี้ยว อีกเมนูคือปลาหมอย่างทานกับน้ำพริกเผา (มีแต่เมนูปลากับผัก)


วัลลา ตันตโยทัย

บันทึกเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2559

หมายเลขบันทึก: 618457เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2016 21:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2016 09:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท