อย่าให้คำว่า “มาดามอังกฤษ” มาครอบงำชีวิต


เรื่องเล่าระหว่างทำงานของผม เมื่อปลายปี 2558 ผมเห็นเรื่องราวอื่นๆ นอกเหนือมิติสุขภาพ....

“พิม” (นามสมมติ)

อายุ 48 ปี

แรงงานหญิง


คนในชุมชน สะท้อนภาพหญิงสาวที่มีคู่ครองชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาติที่ใช้เงินยูโร ที่มีค่าเงินสูงกว่าเงินดอลล่าร์ เป็นสิ่งที่สวยหรู บ่งบอกถึงชีวิตความเป็นอยู่หรูหราที่แสนสบาย จนมีคำตอบของเด็กสาวตัวเล็ก ๆ ที่ไร้เดียงสา ที่มีผู้ใหญ่ถามว่า “โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร ? “หนูอยากเป็นเมียฝรั่ง”

“พิม” หญิงสาวในชุมชนคนหนึ่งเช่นกัน ที่มีคู่ครองเป็นชาวอังกฤษ การผ่านชีวิตที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ หรือแม้กระทั่งการต้องเหยียบย่ำดงหนามกุหลาบ พิมได้ผ่านมาอย่างโชกโชน และช่วงชีวิตหนึ่งกับโอกาสได้ไปดูแลสามีและทำงานในด่างแดน รวมถึงการกลับมาเมืองไทยในฐานะ “มาดาม”

พิมเล่าถึงชีวิตของตนเอง ที่เริ่มต้นมีคู่ครองเป็นคนในตัวอำเภอ อยู่กินด้วยกัน จนมีลูกสาวที่น่ารัก เฉกเช่นชีวิตวัยหนุ่มสาวทั่วไป จึงตัดสินใจทิ้งลูกน้อย ไปทำงานที่กรุงเทพ ฯ ทั้งสามีภรรยา ที่ห้างสรรพสินค้าเป็นพนักงานขายทั้งคู่ เวลาผ่านไปสามีคนไทย แอบนอกใจมีคนอื่น ตนเองอดทนกับความไม่เชื่อใจนั้นไม่ได้ จึงขอเลิกทางกันซึ่งสามีก็ตกลงแบบไม่ลังเล จนพิมเกิดอาการ “เบื่อชีวิตคู่”

พิมจึงหอบหิ้วเอาลูกสาวตัวเล็ก มาอยู่ห้องเช่าเล็ก ๆ จ้างคนเลี้ยงตอนออกไปทำงาน ชีวิตช่วงนั้นแสนลำบากมาก มีเพื่อนที่ทำงานมีแฟนฝรั่งหลายคน พิมจึงให้เพื่อน ๆ แนะนำให้ด้วย เหตุผล “ต้องการหลักยึดชีวิต แต่ไม่ต้องการความรัก” ระหว่างนั้น พิมก็เรียนรู้ภาษาอังกฤษไปด้วย แล้ววันหนึ่งมีเพื่อนร่วมงานที่มีแฟนฝรั่งคนหนึ่ง และได้จัดงานแต่งงานที่ชายทะเล เชิญพิมไปร่วมงาน โดยเหมารถทัวร์กันไปจำนวนมาก ในงานมีฝรั่งแก่ ๆ คนหนึ่ง มาคุยซึ่งตนเองถูกชะตา แทนที่จะกลับกับรถทัวร์ แต่พิมกลับมาพร้อมฝรั่งคนหนึ่งกับเพื่อนอีกคน

หลังจากนั้น ฝรั่งแก่ ๆ คนนั้น ที่เป็นชาวอังกฤษ ชื่อ “โรแลนด์” (ปัจจุบันอายุ 76 ปี) ได้ติดต่อทางโทรศัพท์มาหาพิมตลอด รับรู้ถึงภูมิหลังและเข้าใจชีวิตของพิม ด้วยความตื้อและความอดทน โรแลนด์พูดว่า “อยากอยู่กับเรา อยากใช้ชีวิตอยู่กับเรา ให้เราเลิกทำงาน และจะดูแลเราและลูก” ทำให้คิดว่า ฝรั่งแก่ ๆ เกษียณแล้ว จะจริงใจกับตนเองและไม่เจ้าชู้ แต่กว่าจะอยู่ด้วยกันอย่างถาวร ได้ผ่านการอยู่ด้วยกันก่อนถึงสองเดือน เพราะต้องการศึกษาใจกัน และเรียนภาษาอังกฤษแบบใช้งานได้ นอกจากนั้น ก็ได้สืบข้อมูลของโรแลนด์ว่า เคยมีภรรยาฝรั่งไม่มีลูกด้วยกัน แต่ได้แยกทางกันนานแล้ว และในส่วนพิมเช่นกัน การที่โรแลนด์เชื่อใจว่า พิมจะไม่หลอกลวงเหมือนผู้หญิงคนอื่นเหมือนที่เคยเจอ คือ พิมไม่เคยขอเงินแบบเร็ว ๆ ไม่มีเหตุผลเหมือนคนอื่นที่อ้างว่า โทรศัพท์เสีย หรือแม่ป่วย

ตอนแต่งงานทั้งคู่ ได้กลับมาทำพิธีแบบเรียบง่ายที่บ้านเกิดของพิม โดยโรแลนด์ให้ค่าสินสอด 73,000 บาท และให้เงินเลี้ยงแขกเหรื่ออีก 10,000 บาท ซึ่งพ่อและแม่ของพิมดีใจมาก เพราะได้สามีฝรั่งต้องรวย เหมือนคนอื่น ๆ หลังจากนั้น หกเดือน พิมจึงไปประเทศอังกฤษกับโรแลนด์ แต่พิมยืนยันต้องหารหาเงิน จึงขอทำงานด้วย เพราะต้องการหาเงินมาเลี้ยงลูก ๆ และครอบครัวตนเอง

บ้านของโรแลนด์เป็นทาวน์เฮ้าส์ อากาศหนาวมาก ๆ มีเพียงพิมและสามีอยู่กันสองคน สามีทำงานโรงงานทำอาหาร และน้ำเกรวี่ (ที่ใช้ราดสเต็ก) เป็นครั้งสุดท้ายก่อนเกษียณ เมื่อพิมอยู่ที่นั้นได้สามสัปดาห์ สามารถปรับตัวได้ดี และสามารถพูดและสื่อสารภาษาได้ จึงไปสมัครและได้เริ่มงานในอิเล็กทรอนิกส์ โดยงานแรกที่ได้ทำคือ แผนกห้องสี ติดพิมพ์สี เพราะเป็นงานที่ไม่ได้สื่อสารกับคนอื่นมากนัก ทดสอบงานเป็นเวลาหกเดือน ได้ค่าแรงขั้นฝึกหัด 1 ชั่วโมงได้ 6 ปอนด์ 80 เพนน์ ทำงาน 8 ชั่วโมงครึ่งในแต่ละวัน วันเสาร์และวันอาทิตย์หยุดทำงานแต่ไม่ได้ค่าแรง ส่วนวันหยุดนักขัตฤกษ์ได้ค่าแรงเพิ่มอีกหนึ่งเท่าครึ่ง พิมรู้สึกว่า เงินที่ตนเองได้รับการจากทำงานมากพอสมควร แต่ที่นี้ก็มีการเก็บภาษีมากเช่นกัน ตกเดือนละหนึ่งกว่าบาท

สามีไปรับไปส่งพิมในระหว่างทำงาน ทำให้มีความอุ่นใจ และทำให้รู้สึกว่าได้รับความรักจากสามี ในการทำงานผ่านไปด้วยดี หัวหน้างานสั่งงานตนเองก็สามารถทำได้ โดยอาศัยความจดจำและเรียนรู้ ทั้งด้านทักษะและคอมพิวเตอร์ ตอนแรก ๆ มีการตรวจสอบคุณภาพ เขาไม่ไว้ใจ ดูถูก ดูแคลนคนไทยและผู้หญิงไทยนัก ตำหนิผลงานตลอด แต่ตนเองก็สามารถพิสูจน์ตนเองด้วยความขยัน ความอดทน และการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา จนหัวหน้างานยอมรับในที่สุด สิ่งที่ดีในระบบงานของที่นี้ คือ ทำงานจริง ๆ การตรงเวลา การตรวจสอบผลงาน และการแนะนำกันทันทีตรงไปตรงมาแบบมืออาชีพ

พิมมีความรู้สึกว่า คนอังกฤษ จะเหยียดหยามหญิงไทย เช่น มีการพูดว่า หญิงไทยไปทำลายประเทศของเขา เอาของมีค่าจากประเทศของเขากลับบ้านตนเอง เช่น ตัวสามี ตัวบ้าน และทรัพย์สิน ในการทำงานจะเลือกปฏิบัติกับเรา ราวกับไม่มีศักดิ์ศรีและมีเกียรติ ชอบกระโดดหาผู้ชายที่มีฐานะดีกว่าสามีคนเดิม เป็นต้น แต่คำพูดเหล่านั้น ไม่ทำให้พิมหวั่นไหวเลย เพราะตนเองรู้ว่า มีเป้าหมายชีวิตคือ ต้องการหาเงินเลี้ยงลูก และจุนเจือครอบครัวให้พ่อกับแม่

พิมได้เงินจากตนเองทำงานทั้งหมด และสามีให้เงินเกือบสามหมื่นบาทต่อเดือน รวมถึงสามีรับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้ทุกอย่าง แม้กระทั่งค่าน้ำมันรถไปส่งและไปรับกลับ ทำให้พิมรุ้สึกว่า ตนเองโชคดีเหลือ และรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณสามี ประทับใจชีวิต และการไปทำงาน ผ่านความสุขและความทุกข์ด้วยกัน บางเดือนหิมะตกหนัก รถแล่นไปไม่ได้ต้องลงช่วยกันขูดเอาหิมะออก อากาศหนาวไปถึงกระดูก และประมาณสี่โมงเย็นของที่นั้น ก็มืดมาก ๆ แล้ว อาหารการกินของพิมที่นั้น ก็เลือกกินแบบง่าย ๆ และมีประโยชน์ต่อร่างกาย และราคาไม่แพง เช่น ฟิชแอนด์ชิปส์ (หรือ ปลาชุบแป้งทอด และ มันฝรั่งทอด เป็นอาหารเมืองผู้ดีที่รู้จักกันดี) แต่เมื่อคิดย้อนไปแล้ว ก็เป็นภาพที่น่าจดจำ

ชีวิตของพิมที่ประเทศอังกฤษ ความน่าอยู่ คือ การทำงาน และสามี โดยเฉพาะสามีอยู่บ้าน และดูแลบ้าน ไม่เคยออกนอกบ้านเลย ถ้าไม่มีพิมไปด้วย สามีได้เงินบำเหน็จบำนาญสองทางจากงานครั้งสุดท้ายก่อน เกษียณ คือ พนักงานโรงงานกระดาษ ในประเทศฮอล์แลนด์ และต่อมา คือ โรงงานทำอาหาร และน้ำเกรวี่ ซึ่งพิมประเมินว่า น่าจะมากกว่า 50 ล้านบาทไทย และเนื่องจากสามีเป็นผู้สูงอายุ จึงได้เงินเดือนผู้สูงอายุด้วยประมาณ 4 หมื่นกว่าบาทต่อเดือน เพราะระบบการหักภาษีจากการทำงานที่มาก ทำให้พิมไม่ประหลาดใจเลยที่เบี้ยผู้สูงอายุของเมืองไทยจะได้รับน้อยมาก

ความคิดถึงลูก ๆ และพ่อกับแม่ ที่เมืองไทย ทำให้พิมกลับเมืองไทยเกือบทุกปี ยิ่งตอนลูกป่วย พิมแทบกินไม่ได้นอนไม่หลับ จนมีความคิดว่า ตนเองทำงานและอยู่ที่นี้เกือบ 20 ปีแล้ว น่าจะกลับเมืองไทย เพราะไม่มีอะไรจะมีความสุขเท่าอยู่เมืองไทย จนตัดสินใจพูดคุยกับสามีว่า “ถ้าพวกเราตาย การจัดการทรัพย์สินจะลำบากมาก คุณสามีเลี้ยงดูฉันและลูกได้หรือเปล่า ?” คุยพูดกันเกือบหนึ่งปี และที่นี้มีระบบการปรึกษาด้านกฎหมายและใช้ทนายด้วย ทำให้ได้ความรู้ในสิ่งที่ตนเองไม่รู้ เมื่อคิดย้อนไปก็เหมือนคนอังกฤษพูดกันว่า “หญิงไทยมาเอาสามีฝรั่งแก่ แล้วก็ดูดเงินกลับเมืองไทย”

คนไทยโดยเฉพาะคนอีสานความเชื่อในเรื่องกตัญญูต่อพ่อแม่จะมีมาก พิมก็เช่นกัน จะส่งเงินให้พ่อแม่เดือนละหนึ่งบาท แต่ถ้าให้มาก ๆ เช่น ป่วยนอนโรงพยาบาล หรือมีงานบุญ งานแต่งงาน งานศพญาติ ๆ พิมจะให้เงินเป็นก้อนเลย ซึ่งท่านก็ไม่เคยร้องขอ นับว่าเป็นความภูมิใจของพิมมาก ๆ และเมื่อประมาณปีที่สิบกว่า ๆ ที่พิมอยู่ที่อังกฤษ พิมชวนน้องสาวคนเล็กมาทำงานที่ร้านอาหารไทยใกล้ที่พัก และน้องสาวก็ได้สามีที่นี้เหมือนกัน พิมบอกว่า “ไม่รู้สามี หรือฝรั่งเข้าใจไหม ที่เราเอาเงินให้พ่อและแม่ หรือซื้อนั้นซื้อนี้ให้ ไม่แน่ใจ เพราะเพื่อนพิมคนอื่นก็โดนว่าบ้าง แต่เราก็ทิ้งพ่อแม่ไม่ได้นะ”

เมื่อกลับถึงเมืองไทย พิมและสามี ซื้อบ้านจัดสรร 4 หลัง ให้คนเช่าบ้าน 3 หลัง เพื่อตนเองจะมีรายได้ประจำเดือน ซื้อที่ดินและปลูกยางพาราอีก 30 ไร่ และนาอีก 20 ไร่ เพื่อจะได้รายได้อีกทาง และเป็นสมบัติให้กับลูกกับหลาน เพราะตนเองกับสามีชอบต้นไม้และธรรมชาติ และได้เปิดคาร์แคร์ให้ลูกสาวที่โตและมีสามีและหลาน ให้มีอาชีพและเลี้ยงครอบครัวตนเอง

พิมเชื่อว่า เงินของพิมหามาด้วยความลำบาก จึงเห็นคุณค่าของเงิน จึงวางแผนและใช้เงินอย่างเกิดประโยชน์ที่สุด เพื่อนบางคนที่กลับมาเมืองไทยเช่นเดียวกับพิม บางคนนำเงินไปเล่นการพนันจนหมดตัว จนได้กลับไปทำงานที่อังกฤษตอนแก่ตัวอีกครั้ง บางคนใช้เงินหมดไปกับการกินดื่มกินยามราตรี ใช้จ่ายเงินเหมือนเศษกระดาษ และอวดร่ำอวดรวย ใส่เพชรใส่ทองเส้นใหญ่ ๆ เพื่อให้คนอื่นรู้ว่า ตนเองร่ำรวย เป็นมาดามฝรั่ง “ธรรมเนียมผู้หญิงอังกฤษชอบใช้เครื่องประดับเวลาออกงานที่เป็นทางการ ซึ่งแตกต่างจากมาดามไทย ที่อยู่บ้านก็ใส่เพชรใส่ทองเหมือนออกงาน” แต่พิมไม่เลือกเป็นแบบนั้น ตนเองใช้เงินแบบมีเหตุมีผล ประหยัด และไม่ฟุ่มเฟือย แต่ถ้าไปเที่ยวพักผ่อนก็ท่องเที่ยวแบบคนอังกฤษจริง ๆ นานเป็นเดือน พิมและสามีขอแค่เป็นคนธรรมดา ทำงานไปไร่ไปนา เลี้ยงหลาน ช่วยดูกิจการของลูก พยายามทำตัวให้ดีที่สุด เพราะสามีฝากชีวิตและทิ้งทุกอย่างเพื่อมาอยู่กับตนเองที่เมืองไทย

สามีฝรั่งเช่นกัน หญิงไทยต้องตกลงกันก่อนว่า การมีชีวิตคู่คือรักเดียวใจเดียว เพราะมีบางคนมองว่า หญิงไทยก็ส่ำส่อน อยากไปเที่ยวไปต่อไหนโดยไม่มีเรา ซึ่งมันไม่ใช่ การมีชีวิตคู่ต้องมีสัจจะ และความเชื่อใจกัน ซึ่งตนเองโชคดีที่ได้สามีคนนี้ และคิดว่า จะไม่นอกใจเขา และดูแลจนกว่าชีวิตจะจากกัน

ตอนนี้ พิมและสามีต้องไปต่อวีซ่าแต่งงานและอยู่ด้วยกันทุกปี ที่จังหวัดขอนแก่น เสียค่าธรรมเนียมครั้งละ 1,900 บาท ไม่มีปัญหาในการเดินเรื่อง เพราะตนเองเตรียมเอกสารครบทุกอย่าง มีแต่คนอื่น ๆ บ่นว่า ต้องเสียใต้โต๊ะ ค่าน้ำร้อนน้ำชา

ชีวิตของพิม ณ ปัจจุบัน มีความเป็นอยู่ที่แสนสบาย และได้คืนสู่อ้อมอกบ้านเกิด ชีวิตในประเทศอังกฤษ ที่ผ่านมาเป็นชีวิตที่แสนทรมานและสาหัส แต่ถ้าตนเองไม่ได้ไปอังกฤษ ก็จะไม่รับรู้ชีวิตที่รสขมและหวานในที่สุด “เหมือนเราอมบอระเพ็ด” ขอบคุณสามี ถ้าไม่สามีคนนี้ ก็จะไม่มีเงิน รู้จักคุณค่าเงิน และรู้รักษาเงินให้รุ่นลูกรุ่นลูก ภูมิใจที่เป็นลูกของพ่อแม่ ที่มีศักดิ์ศรี ไม่เคยเรียกร้องขอเงินตนเอง และภูมิใจตนเองที่เป็นแสงสว่างที่เป็นผู้ให้ชีวิตของลูก หลาน และพี่น้อง

“นึกและทบทวนตนเองอยู่เสมอว่า อย่าทำเงิน เป็นกระดาษ ถ้าอย่างนั้น เราจะหาเงินไปชั่วชีวิตไม่มีที่สิ้นสุด อย่าให้คำว่า มาดามอังกฤษ มาครอบงำชีวิตตนเอง จึงต้องเดือดร้อนและไม่มีความสุข”

*********************

คำสำคัญ (Tags): #แรงงาน#ทิมดาบ
หมายเลขบันทึก: 617161เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2016 09:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 ตุลาคม 2016 09:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

-สวัสดีครับ

-อ่านเรื่องราวของคุณพิมแล้วประทับใจมาก ๆครับ

-ขอบคุณเรื่องเล่าดี ๆ นะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท