จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๖๖ : "ความทรงจำ" โอสถขนานสุดท้ายของชีวิต


คนเรามีความสามารถในการเรียนรู้ตลอดทั้งชีวิต คำๆหนึ่งที่ "ชี้นำผิด" ที่เราคิดค้นขึ้นมาคือคำว่า "เรียนจบ" เพราะเป็นคำที่ฝึกฝืน จำกัด และกดเบียดบังศักยภาพที่แท้ของชีวิต เราไม่เคยเรียนจบ และเราไม่เคยหยุดเรียนด้วย และที่สำคัญกว่านั้นก็คือ เราเรียน "หลังจากออกจากโรงเรียนแแล้ว" มากกว่าที่เราเรียนในโรงเรียนมากมายหลายเท่า

มนุษย์เป็นเผ่าพันธุ์ที่กำเนิดมาพร้อมกับของขวัญธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดประการหนึ่งคือ "ความอยากรู้อยากเห็น" ทำให้เราตั้งคำถาม และทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ กำลังความคิดและความมุ่งมั่นในการหาคำตอบ ศักยภาพในการตั้งคำถามไม่เคยหมดไปจากชีวิต แม้กระทั่งคนที่สูญเสียความทรงจำ แก่ชราลง สมองเสื่อมลง ก็ยังคงสมรรถภาพในการ "ตั้งคำถาม" จวบจนลมหายใจเฮือกสุดท้ายของชีวิต

มนุษย์ยังสามารถ "สะสม" รางวัลในการเป็นมนุษย์ในมิตินี้ลงไว้ใน "ความทรงจำ" ซึ่งเป็นการตกผลึกประสบการณ์ของชีวิต เคยมีคนประมาณไว้ว่าสมองสามารถจุความทรงจำ "ทั้งหมด" ของชีวิตได้ถึง ๒๐๐ ปี ที่เราลืมอะไรบางอย่าง ไม่ได้หมายความว่าเราลืมเนื้อหานั้นๆ เพียงแต่เราไม่ได้สร้างจุดเชื่อมที่แข็งแรง ทำให้จะค้นหาเรื่องนั้นๆยากขึ้นเท่านั้นเอง

ในระยะเวลาสองสามวันที่ผ่านมา ผมดีใจที่เห็นคนจำนวนมาก เริ่มกลยุทธ์ในการสร้าง "ฐานความทรงจำ" ที่มีค่ามาสะสมไว้ในรูปแบบต่างๆ และแชร์ฐานความทรงจำนี้ต่อเพื่อนๆชาวไทย ที่กำลังมีประสบการณ์ความทุกข์ที่สุดในชีวิต การที่ประเทศชาติจะฟื้นตัว ก็ต้องเริ่มจากคนในชาติฟื้นตัวก่อน และสิ่งที่กำลังกระทำอยู่นี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

จริงอยู่ความเศร้าเสียใจก็เป็นความทรงจำประเภทหนึ่ง หลายๆคนไม่อยากจะมี ไม่อยากจะได้ ความจริงก็คือ "อารมณ์ทุกประเภท ธรรมชาติให้มีขึ้นเพราะมีประโยชน์ทั้งสิ้น" แม้กระทั่งกลุ่มอารมณ์ด้านลบที่เราไม่ค่อยชอบ
@ ความกลัว มีไว้เพื่อปกป้องเราจากภยันอันตราย
@ ความอิจฉา มีเพื่อให้เราทราบว่าเรา "อยาก ต้องการ" จะได้ จะมีอะไรในชีวิต
@ ความกังวล มีเพื่อปกป้องสิ่งที่เราต้องการเก็บรักษาดูแล
@ ความโกรธ มีเมื่อมีสิ่งคุกคามต่อเรื่องราวที่มีคุณค่าต่อเรา ความสงบของเรา
@ ความเกลียด มีเมื่อมีสิ่งคุกคามต่อชีวิตของเรา ความสุขของเรา

ค้นหาดูให้ดี จะพบว่า "ทุกๆอารมณ์" เป็นยามคุ้มกันสุขภาวะของเราทั้งสิ้น สิ่งสำคัญก็คือ เราควบคุมอารมณ์ อย่าให้อารมณ์ควบคุมเราเท่านั้น

ความเศร้าเสียใจเกิดขึ้นเมื่อมีความพรากจากของสิ่งที่เราอยากจะมี อยากจะเป็น อยากจะทำ ไปจากชีวิตของเรา เมื่อไรก็ตามที่มีความเศร้าที่เกิดขึ้นในหัวใจเรา เป็นสิ่งที่เราบังคับไม่ได้ มันเกิดขึ้นมาทุกครั้งที่มีความพรากจาก แตกดับ สูญเสีย เราไม่ควรจะกลัวความเศร้า รังเกียจความเศร้า หรือพยายามทำชีวิตให้ไม่เศร้าโดยการไม่ผูกพันกับอะไรเลยในชีวิตนี้ เพราะความผูกพันเป็นของขวัญอีกชิ้นที่มีค่าที่มนุษย์ได้รับมอบมา

วิธีจัดการความเศร้าก็คือ จงมองเห็นเขา เข้าอกเข้าใจเขา เขาออกมาเพราะเขาต้องการจะ "ปกปักรักษา" สิ่งที่เราได้ให้ความหมายไว้อย่างลึกซึ้งของชีวิตเท่านั้นเอง ไม่ใช่ความผิดของความเศร้าที่ปรากฎขึ้นมาในชีวิตเรา เมื่อเขาออกมาแล้ว สิ่งที่เราควรจะกระทำก็คือ "ดูแลเขาให้ดี" เราจะต้องมีสติ มองเห็นให้ชัด และเมื่อเราอยู่ในตำแหน่งที่เราจะดูแลเขาได้ เราจะตระหนักทันทีว่าครั้งหนึ่งในชีวิตของเราที่เรามีความสามารถจะรัก จะผูกพัน กับอะไรบางอย่าง กับใครบางคน ได้อย่างท่วมท้นขนาดนั้น

ความสามารถที่จะรัก จะผูกพัน เป็นศักยภาพสูงสุดของมนุษย์ประการหนึ่ง

การฟื้นตัวจากความเศร้า ไม่เคยหมายถึงให้เรา "ลืมเลือน" สิ่งนั้น คนๆนั้น หรือเรื่องราวนั้นๆ สิบปี ยี่สิบปีผ่านไป เราอาจจะพบพาเรื่องราวที่ทำให้ความสะเทือนใจเกิดขึ้นมาอีกครั้ง นำ้ตาไหลออกมาอีกครั้ง ก็เพียงเป็นเครื่องหมายว่าครั้งหนึ่งในชีวิต เรารักมากขนาดนั้นเท่านั้นเอง สิ่งสำคัญก็คือ ในเวลาที่ผ่านไป เราดำเนินชีวิตในภาระกิจต่างๆได้ตามครรลอง ไม่จมกับอารมณ์ต่างๆหรือปล่อยให้อารมณ์ควบคุมชีวิตของเรา

ทัศนะแห่งความขัดสน และ ทัศนะแห่งความรุ่มรวย

เมื่ออารมณ์ลบเข้าควบคุมเรา เราจะมองเห็นแต่สิ่งที่เราขาด สิ่งที่เราพร่อง สิ่งที่เราไม่มีอีกต่อไป สิ่งที่เราทำไม่ได้ สิ่งที่เราไม่ได้เป็นอีกต่อไป ทั้งๆที่เรายังมี ยังเป็น และยังทำอะไรได้อีกเยอะ ปัญหาคือถ้าเราขัดสน เราจะเป็นผู้ให้ไม่ได้ เราจะเป็นผู้เยียวยาไม่ได้ เพราะชีวิตเราเต็มไปด้วยความพร่องที่เราเองเป็นคนให้ความหมายเช่นนั้น

ในวาระนี้ ผมขอเชิญชวนพวกเรา ที่กำลังประสบความเศร้าที่สุดในชีวิต ซึ่งแปลว่าเราได้ "เข้าใกล้ และเข้าใจ" สิ่งที่มีค่ามีความหมายที่เราเคยมี เคยให้คุณค่ามากที่สุดแล้ว คุณงามความดีนั้นไม่มีอายุขัย ขอให้พวกเรารวบรวมเรื่องราวที่มีค่าเหล่านั้น จัดรวบรวมเป็นหมวดหมู่ ทำให้เข้าถึงได้ ยุวชนอีกมากมายที่ไม่ทันเห็นเรื่องราวเหล่านั้นด้วยตา ด้วยประสบการณ์ตรง แต่เรามีเทคโนโลยีที่ทำให้เรื่องราวอันทรงพลังทุกๆเรื่องคงอยู่ต่อไป เรื่องราวที่จะสำแดงว่าในการเกิดมาเป็นมนุษย์คนหนึ่งนั้น ขอเพียงยึดมั่นในคุณงามความดี ความขยันหมั่นเพียร ไม่กลัวงานหนักหนาสาหัส ไม่ย่อท้อต่อมาร ต่อความรู้สึกล้า ต่อความไม่แน่ใจ เรื่องราวที่ใช้เวลายาวนานถึงเจ็ดสิบปี ในการที่จะเล่าแล้ว เล่าอีก เล่าต่อไป ให้ลูกหลานของเราสักวันหนึ่ง ที่จะได้มาศึกษา รับฟังเรื่องราวเหล่านี้ จะได้เข้าใจว่าทำไม คน generation เรา ถึงได้สามารถรักคนๆหนึ่งได้ถึงขนาดนี้

ความทรงจำที่ดี จะเป็นทิพย์โอสถอันเป็นนิรันดร์ของประเทศไทย เรามีหน้าที่จะต้องตกทอดมรดกอันมีค่าสูงสุดนี้อีกให้กับคนในชาติเราสืบต่อไป

นายแพทย์สกล สิงหะ
หน่วยชีวันตาภิบาล โรงพยาบาลสงขลานครินทร์
วันอังคารที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๙ เวลา ๙ นาฬิกา ๔๔ นาที
วันแรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีวอก

หมายเลขบันทึก: 617158เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2016 09:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 ตุลาคม 2016 09:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท