ไฟลุกโชนจากแสงไต้...ไต้หวันฉันรักเธอ


เรื่องเล่าระหว่างทำงานของผม เมื่อปลายปี 2558 ผมเห็นเรื่องราวอื่นๆ นอกเหนือมิติสุขภาพ....

“ไพลิน” (นามสมมติ)

อายุ 26 ปี

แรงงานไต้หวัน

“ ไตหวัน...(ยิ้มและหัวเราะเบาๆ) ทำให้หนูรู้จักรับผิดชอบตัวเอง มีความสุขที่ได้ทดแทนพระคุณพ่อแม่

ได้พบคนที่มารักและดูแลห่วงใยกันและกัน แม้ความรักและการแต่งงานครั้งแรกจะดับสลายที่ไตหวัน..

แต่หนูก็รักไตหวัน...หนูจะกลับไปทำงานอีกครั้งเดียว...แต่เป้ (สามีคนใหม่) จะไปอีกหลายครั้ง...

ให้หนูกลับมาอยู่บ้าน เก็บเงินมาเปิดร้านขายของชำที่บ้าน...ไปสวนไปนาบ้าง...

เลี้ยงลูกตัวเล็กๆ มีสวนดอกไม้หน้าบ้าน...”

คำพูดที่พรั่งพรูและร่ายยาวไม่ขาดสายจากหัวใจซื่อๆ ของหญิงสาวที่ผ่านโลกมา 26 ปี กับชีวิตที่ผ่านกับความสุขและความทุกข์ พบกับความสมหวังและความผิดหวัง และกับโชคชะตาชีวิตที่บันดาลชักพา ให้ก้าวเดินต่อไป ความหวังข้างหน้าเป็นเหมือนรูปภาพที่งดงา ม ที่ยังรอให้เป็นความจริงอีกไม่ไกล

“ไพลิน” มีครอบครัวที่อบอุ่น มีพ่อและแม่ อายุ 50 ปีต้นๆ และน้องสาว อายุ 20 ปี ถึงแม้ความรักในครอบครัวจะเป็นสิ่งสำคัญ แต่ด้วยความยากจนทำให้ทั้ง 4 ชีวิต ต้องดิ้นรนต่อสู้ ด้วยมีเพียงบ้านไม้เล็กๆ ชั้นเดียว ที่ดินทำนาและทำไร่ไม่มี แต่พ่อกับแม่ก็รับจ้างทุกอย่างที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินให้มาหล่อเลี้ยงทุกชีวิต และสามารถส่งเสียให้ไพลินและน้องสาว เรียนจนจบชั้น ปวช.

ความคิดที่อยากกตัญญูพ่อกับแม่บ้าง เมื่อเรียนจบ ปวช.จึงอยากจะทำงาน เพื่อช่วยเหลือทางบ้านอีกทาง และเอาเงินส่วนหนึ่งลงเรียนต่อ ปวส. ด้วย พอดีทางสถานีอนามัยเปิดรับเจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูล อัตราเงินเดือนเกือบหกพันบาท มีคนมาสมัครงานมากมาย แต่ทางชุมชนและผู้นำหมู่บ้านได้ฝากฝังตนเองกับคุณหมออนามัยให้รับตกลงทำงาน เพราะเห็นว่าฐานะทางบ้านยากจน

ไพลินได้ทำงานตั้งแต่อายุ 18-20 ปี และด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจเรียนเสาร์อาทิตย์ จนจบ ปวส. ด้วยในระหว่างทำงาน “คนในหมู่บ้านคงสงสารครอบครัวหนู ทำให้หนูได้งาน ต้องตั้งใจทำงาน และช่วยเหลือส่วนรวมของหมู่บ้านเท่าที่ทำได้ พยายามใช้เงินประหยัด ให้พ่อแม่ และเอาไปเรียนหนังสือ”

หญิงสาวย่อมคู่กับชายหนุ่ม ในวัยสาวย่อมหลีกหนีความรักไม่ได้ ญาติข้างบ้านได้ลูกเขยต่างจังหวัด ลูกเขยคนนั้นมีเพื่อนสนิท จึงชักชวนมาเที่ยวที่บ้าน ทำให้ไพลิน ที่มีครบ 22 ปี และ “ปลั๊ก” หนุ่มอายุคราวเดียวกัน ทำงานโรงงานที่จังหวัดขอนแก่น เกิดบุพเพสันนิวาส คบหาพูดคุยกัน ปลั๊กอยากใช้ชีวิตร่วมกันกับไพลิน จึงมาคุยกับพ่อกับแม่ของไพลิน แต่ไพลินยังไม่อยากแต่งงาน เพราะยังมีความสนุกกับงาน และอยากช่วยทางบ้านอยู่ ถ้าแต่งงานแล้วอาจทำให้ช่วยเหลือทางบ้านได้น้อยลง

ทว่าพ่อกับแม่ของไพลินพูดว่า “ความสุขและความหมดห่วงของพ่อและแม่ คือ ลูกสาวได้แต่งงาน จะได้มีเพื่อนร่วมสุขร่วมสุข ช่วยกันทำงานหาเงิน ปลั๊กก็ดูเป็นผู้ใหญ่ มีหลักมีฐาน ที่จะคุ้มครองลินได้นะลูก อีกอย่างถ้าแต่งงานแล้ว ลูกสาวก็เหมือนได้ทดแทนพ่อกับแม่ด้วย คนในหมู่บ้านก็จะมองเราดีขึ้น” ประโยคตอนต้นๆ ไพลินเข้าใจในความคิดของพ่อแม่ แต่แปลกใจประโยคท้ายๆ ว่า บ้านเราทำไมกลัวคนอื่น จะกล้าทำอะไรต้องรอให้คนอื่นเห็นด้วย แต่ไม่ใช่คนในหมู่บ้านหรือที่ทำให้ได้ทำงาน ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไม่แต่งงาน ทั้งที่ยังไม่ได้มีความรู้สึกรักมากมาย และรู้จักกันเพียงหกเดือนเท่านั้น

เมื่อแต่งงานกันแล้ว ไพลินทำงานตามเดิม ส่วนปลั๊กมาอยู่ด้วยเพียงวันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันหยุดของโรงงาน จนกระทั่งวันหนึ่ง พี่ชายของพ่อ ที่ไปทำงานไต้หวันและได้ภรรยาเป็นคนไต้หวัน ชักชวนให้หลานเขยและหลานสาวไปทำงานที่ไต้หวัน พ่อปรึกษากับไพลิน “ไปทำงานที่ไต้หวันนะ ให้ปล็กไปก่อนล่วงหน้าสักสามสี่เดือน ลินตามไป อาอยู่ที่นั้น ลำบากเดือดร้อนไปหาสบาย คนบ้านเราก็เยอะ อายุยังน้อย จะได้เงินตั้งตัวได้ไวๆ”

ต่อมาไพลินจึงปรึกษาปลั๊ก จึงตกลงใจจะไปทำงานที่ไต้หวัน โดยผ่านกรมแรงงาน ซึ่งค่าใช้จ่ายทั้งหมด คนละ 85,000 บาท สัญญาการทำงาน 3 ปี ส่วนเงินที่ส่งให้ทั้งคู่ไปทำงาน มีทั้งของสามีและของครอบครัวไพลิน ปลั๊กเดินทางไปก่อน และไพลินได้เดินทางตามหลังเพียง 3 เดือน อาของไพลินช่วยหาโรงงานให้ในเขตเถาหยวน ใกล้ๆ บ้านอา และมีคนไทยมากมายไปทำงานที่นั้น

โรงงานที่ปลั๊กและไพลินไป เป็นโรงงานครอบครัวของคนไต้หวัน เป็นงานทำโครงสร้าง และขอบอลูมิเนียม ขอบกระจก และขอบกันกระแทก โรงงานมี 3 ชั้น ชั้นแรกเป็นที่ทำงาน ชั้นล่างเป็นโกดังเก็บของ และชั้นบนสุด มีบันไดแยกจากชั้น 1 และ 2 เป็นที่พักของแรงงาน เป็นห้องพักคู่ มีระบบป้องกันอันตรายและกันขโมยอย่างดี มีคนงาน 30 กว่าคน เป็นคนไต้หวันและคนไทยครึ่งหนึ่ง ส่วนใหญ่เป็นคู่สามีภรรยา นายจ้างพูดถึงแรงงานไทยว่า “คนไทยมีความอดทน ขยัน ไม่เรื่องมากเหมือนคนชาติๆ ทำอะไรก็ทำ ไม่อู้ ชอบให้มาเป็นผัวเป็นเมียกัน เพราะไม่มีปัญหาเรื่องการเที่ยว ทะเลาะวิวาทกัน โดดงาน การเบิกเงิน และสามารถควบคุมดูแลกันเองได้ดี ห้ามมีลูกในระหว่างทำงาน จะส่งกลับเมืองไทย ”

ทำงานกันทุกวัน มีวันอาทิตย์เป็นวันหยุด เวลาทำงานเริ่ม 8.30-17.00 น. ถ้ามีนอกเวลาจะถึง 20.30 น. ได้ชั่วโมงละ 150 บาท สำหรับเงินเดือน ทั้งหญิงชาย จะใกล้เคียงกัน คือคนละ 24,000 บาท เฉลี่ยแล้วประมาณ 30,000 บาท แต่ผู้ชายจะได้เงินค่าล่วงเวลาและมีงานมากกว่าหญิงที่ทำเฉพาะการตรวจสอบ และบรรจุภัณฑ์ เพราะชายทำโครงสร้างซึ่งเป็นงานหลักทั้งหมด ส่วนใหญ่วันอาทิตย์จะทำงานครึ่งวัน มีค่าอาหารเที่ยงให้คนละ 30 บาท ส่วนอาหารเช้าและเย็นหากินกันเอง ภายในห้องพักจะมีทีวี ตู้เย็น และน้ำร้อนให้ ส่วนห้องครัว ห้องน้ำ และเครื่องซักผ้าจะใช้ร่วมกัน ไพลินประหยัดมาก ใช้จ่ายเพียงเดือนละ 5,000 บาท เพื่อเก็บเงินกลับบ้านให้มากที่สุด เพราะค่าใช้จ่ายที่นี้ก็แพงมาก ดูจาก “ก๋วยเตี๋ยวถ้าชาม แบบพิเศษ มีเนื้อ มีหมู บ้านเราจะ 30-35 บาท แต่ที่นั้นชามละ 100 บาท นานๆ ถึงกิน เพราะเสียดายเงิน”

ไพลินกับปลั๊กทำงาน และอยู่ที่เดียวกันเกือบตลอดเวลา เหมือนกับศึกษาชีวิตคู่ด้วยกันไปเรื่อยๆ อย่างมีความสุขตามประสา แต่เวลาผ่านไปไม่ถึงปี ก็มีเหตุการณ์ให้ไพลินย้ายไปพักห้องเก็บของคนเดียว เนื่องจากปัญหาสุขภาพที่เจ็บปวดมากในช่วงมีประจำเดือน ตอนอยู่ที่บ้านเมืองไทย จะต้องกินยา ฉีดยา ซึ่งบางครั้งได้นอนโรงพยาบาล เป็นอย่างนี้ประจำ ไม่พ้นแม้อยู่ในไตหวัน ซึ่งถ้าวันไหนไปหาหมอที่โรงพยาบาล นายจ้างจะหักค่าจ้าง ค่ายามีระบบที่ไม่ต้องจ่าย จ่ายเพียงค่าล่าม ครั้งละ 200 บาท

ความรักคู่สามีภรรยาเป็นอย่างไงนะ? ไพลินครุ่นคิดเสมอๆ เพราะยามป่วยไข้ ปลั๊กไม่เคยดูแล ไม่เคยลางานไปดูแล แม้แต่ยามเลิกงานแล้ว ปลั๊กก็ออกไปกับเพื่อนๆ ทิ้งตนเองไว้เพียงลำพังในห้องท่ามกลางความหนาวเหน็บ ความรู้สึกเจ็บปวดทั้งร่างกาย และความน้อยใจเดียวดาย เพราะยามป่วยไข้น่าจะมีใครสักคนที่ว่ารักเราดูแลห่วงใยกัน เพียงถามว่า เป็นอย่างไงสักคำ น่าจะเป็นน้ำหล่อเลี้ยงชีวิตคู่ต่อไปได้ “ไม่ใช่แค่ครั้งสองครั้งที่ไม่ถามหนู ไม่ดูแลหนูยามหนูเจ็บป่วย เขาออกไปเที่ยวกับเพื่อนๆ มันเป็นความรู้สึกสะสมๆ เป็นปัญหาเล็กๆ สำหรับคนอื่น แต่หนูพยายามทนแล้ว บอกว่ารักหนู แต่รักแล้วไม่ดูแลกัน หนูทนไม่ได้ จะให้อยู่ด้วยกัน มันรู้สึกว่า ไม่อยากอยู่แบบนี้”

ปลั๊กมาง้อหลายครั้ง แต่ไพลินมีความรู้สึกว่างเปล่า ความสัมพันธ์เป็นแค่เพื่อนร่วมงานเท่านั้น ชีวิตในไตหวันอีกสองปีจะเป็นอย่างไง พยายามทำงานไม่ปล่อยให้ความคิดลบๆ บั่นทอนเป้าหมายชีวิตที่ดิ้นรนมาทำงาน ไม่นานข่าวคราวการเลิกกันกับสามีก็ถึงหูพ่อและแม่ไพลิน ด้วยความหวังดีจากเพื่อนแรงงานคนไทยในหมู่บ้าน โลกของพ่อแม่ที่กลัวคนอื่น จะทำอะไรต้องรอให้คนอื่นเห็นด้วยเสมอ แต่เมื่อไพลินบอกเล่าให้ฟังพ่อแม่ฟัง ท่านกลับเข้าใจและยอมรับการตัดสินใจของลูกสาว เพราะปัญหาสุขภาพดังกล่าวพ่อแม่ดูแลลูกสาวมาตั้งนานหลายปี ไพลินโล่งอกเพราะตอนแรกตนเองเกลียดความรู้สึกการสูญเสียความสามารถในการตัดสินใจของตนเองในทุกครั้งที่ต้องส่งผลกระทบต่อพ่อกับแม่

เขตเถาหยวน ส่วนใหญ่อากาศจะหนาวเย็น แต่ก็มีคนไทยมากมาย แต่อย่างไงไม่ทำให้ไพลินคลายเหงาไปได้ นอกจากความเหนื่อยล้าทางกายและทางใจจากการแยกทางกับสามีแล้ว ความรู้สึกคิดถึงบ้าน คิดถึงพ่อกับแม่และน้อง เป็นสิ่งทรมานยิ่งนัก เหมือนนกน้อยหลงทางในโลกกว้าง “คิดฮอดอยากเมื่อบ้านแฮง ถ้าไปทำงานงานกรุงเทพฯ ยังฮู้ว่า จะบินเมื่อบ้านทิศทางได๋ ไปจั๋งได๋ แต่นี่ทิศทางจะเมื่อบ้านอยู่ตรงได๋ ไปก็บ่ถูก”

ขึ้นปีที่ 3 ของชีวิตที่ไต้หวัน ไพลินเริ่มปรับตัวได้ดี เวลาว่างๆ ไม่ต้องเก็บเงินมากนัก เพราะสามารถซื้อที่นาให้พ่อและแม่แปลงย่อมๆ เป็นที่ดินของตนเองผืนแรกของครอบครัว จึงได้มีโอกาสได้ไปเที่ยวบ้าง และเพื่อนได้แนะนำให้รู้จัก “พี่เป้” เป็นพี่ 3 ปี เริ่มต้นจากการเป็นเพื่อนเป็นพี่ คอยปรึกษาทุกข์สุขกัน และเมื่อยามที่ไพลินเจ็บป่วยไม่สบาย ตอนเลิกงานก็มาหาดูแล แม้ที่พักพี่เป้ห่างไกลเกือบกิโลเมตร รวมถึงยามที่นอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล ก็ลางานไปเฝ้าไข้ ไพลินให้คำนิยามกับความรักครั้งใหม่อย่างเจียมตัวเจียมตนว่า “หนูไม่รู้ซึ้งถึงคำว่าความรัก หนูรู้ว่า ถ้ามีใครสักคน ถามหนูว่า หนูเป็นอย่างไง ยามหนูเจ็บป่วย เพียงเท่านั้นก็รู้สึกดีแล้ว”

เมื่อต้นปี 2558 ทั้งไพลินและพี่เป้ก็กลับมาบ้านที่เมืองไทย เพราะได้หยุดงาน 2 เดือน พี่เป้มาขอไพลินแต่งงานกับพ่อและแม่ โดยไม่รังเกียจว่า เคยแต่งงานมาแล้ว เหมือนคนในหมู่บ้านยังยึดถืออยู่ “เอ้ย เจ้าบ่าวหล่อนะ สูงใหญ่ ไม่เคยแต่งงานมาก่อน แต่ทำไม มาเอากับผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว” งานแต่งงานเกิดขึ้นเมื่อต้นกุมภาพันธ์ 2558 ด้วยเงินสินสอดเพียง 30,000 บาท ทองหนัก 1 บาท เป็นงานที่เรียบง่ายที่สุด สังเกตจากเจ้าบ่าวยังใส่รองเท้าแตะ แต่สิ่งนั้นเป็นสัญลักษณ์ภายนอกทั้งนั้น ไม่ยิ่งใหญ่เท่ากับความรู้สึกยิ่งใหญ่ที่บ่งบอกถึงความรักไม่ได้

ต้นมีนาคม 2558 ทั้งคู่ได้โบยบินไปไต้หวันอีกครั้ง ไปทำงานที่เดิมของแต่ละคน แต่สถานที่พักจะอยู่ด้วยกัน กับรอยยิ้มที่พูดถึงไต้หวันในครั้งนี้ “หนูรักไต้หวันนะ แต่รองจากบ้านเรา มันสอนให้หนูอดทน พยายาม ได้กตัญญูพ่อแม่ เห็นความรักของท่านที่รักหนู หนูได้เรียนรู้ถึงชีวิตคู่ ถ้าบอกน้องๆ ที่จะไปทำงาน ต้องอดทน อย่าใช้เงินเยอะ อย่าเที่ยวมาก นอกใจกัน ติดการพนัน ตีกัน ก็มีเงินส่งกลับบ้าน แต่ครั้งนี้หนูลงทุนสูง เพราะกู้เงินดอกไป ร้อยละ 10 แต่ค่าไปเพียง 65,000 บาท เท่านั้น”

เมื่อมองลงลึกในสายตา กลับเพ่งเห็นความลุ่มลึกในใจ เมื่อขณะไพลินได้ร่ำลาเดินทางกลับบ้าน เพื่อเตรียมตัวบินสู่ไตหวัน ภาพฝันของไพลินเริ่มปรากฏความเด่นชัดอย่างเป็นประกาย เห็นภาพไล่เรียงกันอย่างไม่ขาดสาย ภาพร้านของชำเล็กๆ ภาพการเดินชมสวนชมนาชมไร่ ภาพการเลี้ยงลูกตัวเล็กๆ มีสวนดอกไม้งดงามหน้าบ้าน ท่ามกลางรอยยิ้มแห่งความสุขของไพลิน พ่อ แม่ น้องสาว กับสามีและลูกๆ

*********************

คำสำคัญ (Tags): #แรงงาน#ทิมดาบ
หมายเลขบันทึก: 617152เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2016 09:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 ตุลาคม 2016 11:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท