แอฟริกาใต้...เตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อม


เรื่องเล่าระหว่างทำงานของผม เมื่อปลายปี 2558 ผมเห็นเรื่องราวอื่นๆ นอกเหนือมิติสุขภาพ....

“เนียร” (นามสมติ)

อายุ 34 ปี

แรงงานชาย

บ่ายวันหนึ่งฝนตกพรำ ๆ ในฤดูฝน เจอชายหนุ่มหน้าตาสดใส ผิวขาว และรัศมีจับกว่าเดิมกว่าที่เคยเห็นมา เพราะหายหน้าหายตาไปหลายปีแล้ว จึงได้ทักทาย และรับรู้ว่า ไปทำงานประเทศแอฟริกาใต้เพิ่งกลับมา

ตลาดแรงงานแอฟริกาใต้ของคนในพื้นที่มีค่อนข้างน้อย แต่เท่าที่ทราบในปัจจุบัน มีธุรกิจต่อเนื่องที่ภาคเอกชนไทย มีโอกาสเข้าไปประมูลงาน รวมทั้งส่งแรงงานฝีมือและกึ่งฝีมือไปยังแอฟริกาใต้มากขึ้น ขณะนี้มีแรงงานไทยในแอฟริกาใต้ปีละประมาณ 1,000 คน ที่กลุ่มช่างเชื่อม เพราะตลาดงานแอฟริกาใต้พอใจฝีมือแรงงานไทย เพื่อทำงานก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

“เนียร” ชายหนุ่มอายุ 34 ปี เล่าถึงเรื่องราวของตนเองตั้งแต่วัยหนุ่มน้อย “เรียนจบชั้นมอหก เรียนหนังสือไม่เก่ง และคิดว่า โอกาสที่ได้เรียนมหาวิทยาลัยคงไม่มี จึงเดินทางตามเด็กอีสานทั่วไป มาทำงานรับจ้างที่เมืองหลวงกรุงเทพฯ”

เนียรได้มาทำงานที่กรุงเทพฯ ทำงานกระจก ประกอบเข้ากับหินอ่อน ประดับบ้านสวย ๆ และทำงานเฟอร์นิเจอร์ไปพร้อม ๆ กัน ได้ค่าแรงวันละร้อยสองร้อยบาท ซึ่งตนเองสามารถเลี้ยงดูตนเองได้ ไม่เป็นภาระทางบ้าน และสามารถเก็บรวบรวมเงินมาให้พ่อกับแม่ในช่วงเทศกาล ทำให้ครอบครัวภูมิใจอย่างมาก

ทำงานกระจกได้ 2-3 ปี อายุครบเกณฑ์ทหาร จึงมาเกณฑ์ทหาร แต่ไม่ติด เนียรได้มีแฟนที่ทำงานใกล้กันในกรุงเทพฯ จึงขอครอบครัวสองฝ่ายแต่งงานกัน ช่วงนี้ก็ทำนาทำไร่อ้อยที่บ้าน แล้วก็มีลูกสาว จึงคิดว่า ตนเองและภรรยา ต้องมารับจ้างทำงานที่กรุงเทพฯ อีกครั้ง เพื่ออนาคตของครอบครัว โดยฝากลูกสาวไว้ให้ตาและยายเลี้ยง

อายุเข้า 23 ปีของเนียร ได้มารับจ้างเป็นคนตรวจคุณภาพงานเชื่อม ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ทำงานรายวัน เป็นงานสบาย และถ้ารวมรายได้กับภรรยา ตกวันละ 500 บาท ทำให้สามารถใช้ชีวิตไปแต่ละวัน และส่งกลับบ้าน แต่เมื่อมองเห็นแรงงานเชื่อมแล้ว เนียรมองว่า เป็นงานใช้ฝีมือ และได้เงินมากกว่าตนเอง จึงใช้วิธีการเรียนรู้ด้วยตนเอง

“ผมในฐานะคนตรวจสอบคุณภาพงานเชื่อม เมื่อเห็นแรงงานเชื่อมคนไหน ฝีมือดีและทำงานสวย ผมจะเล็งไว้ แล้วสังเกตดูห่าง ๆ และเข้าใกล้ ๆ เมื่อเขาว่าง ให้เขาสอน และทดลองทำด้วยไปในตัว จนสามารถทำได้ และคุ้นเคยอุปกรณ์

ทำงานที่สนามบินสุวรรณภูมิ ได้ 2 ปี เนียรเริ่มมีฝีมือในการเชื่อม จึงขอลาออก และไปทำงานตามโรงงานที่จังหวัดระยอง และรวมกลุ่มกับเพื่อน ๆ เป็น “มือปืน” รับจ้างงานเชื่อม และประกอบโครงสร้างเอง ได้เงินวันละ 800 บาท จนถึงปัจจุบัน สามารถมีบ้านและรถยนต์เป็นของตนเอง

เมื่อลืมตาอ้าปากได้ ในระยะที่เป็นช่างเชื่อม ก็ให้ภรรยากลับบ้าน เพื่อมาเลี้ยงดูลูก เพราะตนเอง สามารถหาเงินเพื่อจุนเจือบ้านได้ และไม่ขัดสนเดือดร้อนเหมือนที่เป็นมา “ภรรยาไม่ห่วงผมเท่าไรนัก เพราะผ่านมาผมไม่เคยทำให้เขาเดือดร้อนเลย ตั้งเรื่องเงิน ผู้หญิง และเหล้า ผมก็เชื่อใจภรรยา”

จนกระทั่งเนียร อายุ 32 ปี มีเพื่อนบางคนที่เป็นช่างเชื่อมด้วยกัน ได้ไปทำงานเชื่อมแอฟริกาใต้ แล้วบอกว่า งานสบาย และรายได้ดี อย่างน้อยเดือนละ 50,000 บาท อย่างต่ำ ตนเองสนใจ เพราะเห็นว่า มีคนไทยไปทำงานอยู่จำนวนมาก แต่ก็ยังหวั่น ๆ ใจ เนื่องจากเป็นการเดินทางไปต่างประเทศนี้ และได้ข่าวว่า ประเทศนี้ มีเชื้อไข้หวัดใหญ่ และมีผู้ป่วยโรคเอดส์จำนวนมาก แต่ที่สนใจจะไปเพราะอยากได้เงินก้อน เพื่อเก็บเงินไว้ใช้ในอนาคตและเป็นการศึกษาของลูกสาว

แต่การไปแอฟริกาใต้ ไม่ง่ายอยากที่คิด เพราะในขั้นตอนการสมัครต้องผ่านกรมจัดหางาน ต้องมีประสบการณ์ในการเชื่อมแบบที่เนียรเคยทำมา แต่ต้องเชื่อมแบบ “อาร์กอน” (เชื่อมโดยใช้แก๊สอาร์กอน ซึ่งเป็นแก๊สปกคลุมแนวเชื่อม ใช้แก๊สเฉื่อยปกคลุมบ่อหลอมละลายสามารถเชื่อมโดยเติมหรือไม่เติมลวดก็ได้) และมี “ฝรั่ง” มาดูตอนสอบชิ้นงานที่ทำจริง ๆ เนียรเล่าว่า

“บางคนฝีมือดี ๆ แต่เมื่อเป็นการสอบ มีคนมาดู ทำให้เกร็ง ๆ ชิ้นงานไม่ผ่านเลย”

เนียรสอบผ่าน และได้มัดจำเงิน 12,000 บาท ในการไป และบวกค่าเครื่องบิน ค่าต่าง ๆ แล้วเป็นเงิน 45,000 บาท ซึ่งเนียร เห็นว่า ไม่แพงเลย เมื่อเปรียบเทียบค่าหัวระหว่างไปไต้หวันหรือเกาหลีใต้ จนได้ข้อสรุปที่รวบรวมจนเป็นความคิดตนเองว่า

“ค่าหัวถูก เพราะค่าแรงที่ไปทำจะแพง ส่วนค่าหัวแพง เพราะค่าแรงที่ไปทำจะถูก”

เนียรได้ไปแอฟริกาใต้ และได้ไปทำงานที่โรงงานไฟฟ้า เป็นโรงงานที่มีแรงงานถึง 10,000 คน อากาศค่อนข้างจะหนาวเย็น ผู้คนส่วนใหญ่จะเป็นคนดำ มีแรงงานไทยถึง 600 คน พักในตู้คอนเทนเนอร์ มีเครื่องปรับอากาศทั้งแบบร้อน-เย็น มีอาหารให้กินทุกมื้อ มีแม่บ้านซักรีดเสื้อผ้าให้ ความเป็นอยู่แสนสะดวกสบาย สำหรับเนียรคิดว่า ไม่ได้ปรับตัวมากเท่าไร

การทำงานจะเป็นการเชื่อมท่อไอน้ำ โดยใช้เชื้อเพลิงที่มีมากมายของประเทศ คือ ถ่านหิน จะได้เชื่อมทั้งข้างล่าง และชั้นสูง ๆ บ้าง แต่ระบบรักษาความปลอดภัยจะเคร่งครัดมาก ทำให้รู้สึกปลอดภัย ทำงานตั้งแต่ 7 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น วันเสาร์ช่วงบ่าย และวันอาทิตย์ ทั้งวัน เป็นวันหยุด แต่ถ้าเราไม่หยุด จะได้ค่าแรง 2 เท่า รวมเงินเดือนและค่าล่วงเวลาในแต่ละเดือน เนียรได้เดือนละ 70,000 กว่าบาท

“ ผมได้ค่าแรงชั่วโมงละ 91 แรนด์ 1 แรนด์ ประมาณ 3 บาทได้ รวม ๆ แล้วทั้งโอทีได้เจ็ดหมื่นกว่าบาท เขาให้สลิปเงินเดือนให้เราดู แล้วเขาส่งเงินให้บัญชีของภรรยาเลย เพราะเขาก็กลัวว่า เราจะเล่นการพนัน และเที่ยวใช้เงินหมด ผมเชื่อใจเมียครับ เราเข้าใจกัน สื่อสารกันตลอดทั้งโทรศัพท์ Line Facebook ”

การทำงานที่นี้สำหรับเนียรแล้ว สบาย ๆ ไม่เหนื่อยเหมือนตอนอยู่ประเทศไทย เพราะวิถีชีวิตของผู้คนที่นี้ และฝีมือแรงงานไทยไม่แพ้ชาติไหนในโลก

“งานไม่หนักเลย ช่างเชื่อมหนึ่งคนเช่นผม ส่วนใหญ่เป็นคนไทย ต่อช่างประกอบที่เป็นคนงานพื้นบ้าน 8 คน เขาทำงานช้า ๆ ทำให้เราช้าด้วย ไม่เหนื่อยเลย นายจ้างชอบแรงงานไทย เพราะฝีมือดี ขยัน และละเอียด แต่สำหรับฟิลิปปินส์ ถึงแม้จะสื่อสารภาษากันได้ดี แต่เขาว่าฝีมือแรงงานไทยเราดีกว่ามาก ๆ”

ด้านสุขภาพสำหรับเนียรแล้ว ตนเองมีความคิดว่า ระบบการป้องกันอุบัติเหตุและความปลอดภัยของโรงงานมีระบบที่ดี ถ้ามีความเสี่ยงจะไม่ให้แรงงานเสี่ยงเลย อย่างไรก็ตาม เนียรมีความเห็นว่า ตนเองควรป้องกันและดูแลตนเองไว้ก่อนเป็นอันดับแรก

“ก็มีเสี่ยงเรื่องความสูงบ้าน แต่โรงงานมีระบบที่ดีในการดูแล รวมถึงการระเบิด หรือความร้อนในระหว่างการทำงานก็มีการป้องกันที่ดี แต่ที่แน่ ๆ ผมป้องกันตนเองจากกลิ่นควันของแก๊สมากกว่าและสายตามากกว่า”

ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างแรงงานด้วยกัน โดยเฉพาะแรงงานไทยด้วยกัน ส่วนใหญ่จะห่วงใยและร่วมงานด้วยกันดี แต่พอเลิกงาน อาจจะที่มีการเล่นการพนันกันบ้าง กินสุราบ้าง ทะเลาะวิวาทกันบ้าง หรือเที่ยวผู้หญิงในร้านอาหารไทย

เนียรถ่อยทอดประสบการณ์ในการเดินทางไปทำงานที่แอฟริกาใต้ ที่ผ่านมา 2 ปี และมาหยุดพักกลับบ้านที่เมืองไทย 2 เดือน และยังได้เงินเดือนอยู่ถึง 1 เดือน โดยครั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในการไปเพียง 20,000 บาท เท่านั้น และตนเองยังคิดว่า จะทำงานไปเรื่อย ๆ เพราะยังทำงานไหวอยู่ และครอบครัวก็ส่งเสริมและให้กำลังใจในการทำงาน และยังเชื่อว่า เป็นโอกาสดีของตนเองและครอบครัว และทิ้งท้ายฝากการเตรียมตัวและเตรียมพร้อมสำหรับแรงงานที่ต้องการมาทำงานที่นี้เช่นตนว่า

“ถ้าอยากมา ให้ศึกษาข้อมูลให้ดี และอยากให้มาอย่างถูกต้อง เพราะต้องใช้ฝีมือจริง ๆ เหมือนเพื่อนผมบางคน จ่ายค่าใช้จ่ายมาทั้งหมด 45,000 บาท พอมาถึงแอฟริกาใต้ ต้องมาอยู่ที่แค้มป์คนงานก่อน และมีการสอบปฏิบัติในการเชื่อมอีกครั้ง ให้นายจ้างดู ซึ่งมีคนไม่ผ่านการคัดเลือก ต้องเสียเงินทิ้งเลย และเป็นหนี้กู้ยืมมา เราต้องมีฝีมือจริง ๆ และเมื่อได้ทำงานจริง ๆ ต้องทำงานเต็มที่ เหมือนเราเป็นตัวแทนประเทศไทย เขาจึงอยากจ้างงานน้อง ๆ ลูก ๆ หลาน ๆ เราต่อ และเมื่อเราทำงานได้เงิน ต้องเห็นคุณค่าของเงินด้วย...”



คำสำคัญ (Tags): #แรงงาน#ทิมดาบ
หมายเลขบันทึก: 617154เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2016 09:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 ตุลาคม 2016 09:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท