​ช่องว่างระหว่างยุค (Generation's gap)


ช่องว่างระหว่างยุค (Generation's gap)

เวลามีความขัดแย้งกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างคนอายุมากกว่ากับคนอายุน้อยกว่า เหตุผลหนึ่งที่มักจะถูกยกขึ้นมาอธิบาย (ต่างฝ่ายต่างก็ยก!) ทันทีก็คือ "มันคนละยุคสมัยกัน" ดูแล้วก็สะดวกดี แต่เนื่องจากเป็นคนไม่ชอบคำอธิบายแบบง่ายๆ ก็เลยมานั่งครุ่นคิดตริตรองว่าอะไรคือนัยยะของประโยคเหตุผลประโยคนี้

มีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง ของคนแต่ละยุค ทำให้คิดแตกต่างกัน? มาดูที่ Head Heart และ Hand หรือ มิติทางชีวะ มิติทางอารมณ์ความรู้สึก และมิติทางความคิด

ทางชีววิทยา ดูๆแล้วเรายังไม่ได้ "วิวัฒน์" จนแตกต่างกัน เรายังคงต้องกิน ต้องนอน ต้องหายใจ ยังใช้ปอด หัวใจ ตับ กระเพาะอาหาร น่าจะสรุปได้อย่างมั่นใจว่า ทาง biology นี้ ไม่ใช่ปัจจัยของความแตกต่างของคนๆละยุคสมัย จะมีแตกต่างกันบ้าง ก็อาจจะในเรื่องของคนยุคใหม่จะ "ตายยาก" กว่าคนสมัยก่อน ก็เพราะเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่เจริญมากขึ้น ไม่ใช่เพราะคน mutation ให้แข็งแรงขึ้น

คนยังคงชอบความสุข ความหวัง ความสัมพันธ์ ความสะดวกมาแต่ไหนแต่ไร คนไม่ชอบความทุกข์ ความเศร้า ความพรากจาก ความหมดหวัง ความโดดเดี่ยวมาแต่ไหนแต่ไร สิ่งเหล่านี้เปลี่ยนไหม? อาจจะเปลี่ยนในรูปแบบ ยกตัวอย่างเช่น คนสมัยก่อนอาจจะเหงาได้มากกว่า เพราะหนทางการสื่อสาร คมนาคม และการ "สัมผัส" กับผู้อื่นนั้น มันกระทบโดยเทคโนโลยีการสื่อสารได้ค่อนข้างเยอะ

ความคิดล่ะ หลักตรรกะ เหตุผล นั้นเปลี่ยนไปตามยุคสมัยไหม เรายัง references ปรัชญา วิทยาศาสตร์นิวตัน นิวเคลียร์ฟิสิกส์ของไอสไตน์ ของฟริจอบ แคปรา ของโบห์มอยู่ไหม มีอะไรเปลี่ยนแปลงใน principle of logics ไหม? หรือว่ายังใช้เหมือนเดิม คำตอบน่าจะเป็น "หลักการเหมือนเดิม แต่วัตถุดิบแตกต่างไป" เช่น perspective ของความเร็ว/ช้า สมัยก่อนส่งจดหมายเจ็ดวันไปอเมริกานี่อาจจะนับว่าเร็ว แต่เดี๋ยวนี้ส่ง email แล้วสองชั่วโมงไม่ตอบนี่อาจจะเรียกว่าช้า

จากข้างบน พอจะสรุปได้ไหมว่า "ความต่างเกิดจาก technology gap" เป็นปัจจัยสำคัญ?

เลยเกิดคำถามว่า แล้ว "คุณค่าทางสังคมศาสตร์หลายๆอย่างล่ะ? มันมี generation gap ด้วยไหม เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาไหม? อาทิ ความเคารพ ศักดิ์ศรี ความสุภาพ ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความกตัญญู ความรัก ความเมตตา สิ่งเหล่านี้ "เปลี่ยนไปตามคนรุ่นใหม่ คนรุ่นเก่าหรือไม่?"

ผมนั้นให้คุณค่าเรื่องการเปลี่ยนแปลงมาแต่ไหนแต่ไร ผมให้นิยามโดยตัวเองว่า "การศึกษาต้องทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง" แต่ไม่เคยคิดว่า "ทุกอย่างต้องเปลี่ยนแปลง จึงจะเป็นการดี" ดังนั้น ผมได้ฟังเหตุผลเวลาคนเราไม่เข้าใจกันว่า "เราคนละยุคกัน" มันไม่พอ มันฟังแล้วเกียจคร้านไปสักหน่อยที่จะทำให้เราเข้าใจหรือมีปัญญามากขึ้น เราน่าจะตกผลึกและจับให้ได้ว่าอะไรกันแน่ที่ คนยุคเก่าคิดแล้วไม่เหมือนกับคนยุคใหม่

เพราะคำว่า "ยุค" นั้นเป็นสัมพัทธ์เสมอ เก่านั้นเก่าแน่ ตรงไปตรงมา แต่ "ใหม่" นั้น จะใหม่ได้นานสักแค่ไหนกันเชียว? ปีนึง? สองปี? ยี่สิบปี? หรือสองสามเดือน? เราใช่ความเก่า/ใหม่มาเป็น frame of rationale มันเป็นวิธีที่ถูกต้องหรือไม่? แน่ใจหรือว่าที่เรียกว่า "ใหม่" ในตอนนี้จะไม่เหมือน "ความคิดเมื่อร้อยปีที่แล้ว"?

แทนที่เราจะ reference แค่เก่า vs ใหม่ เราหันไปพูดถึง values หรือคุณค่าที่เรากำลังหาแทนจะดีกว่าไหม? เราอาจจะค้นพบว่ามีคุณค่าพื้นฐานบางประการที่ไม่เกี่ยวกับยุคสมัย ไม่เกี่ยวกับเก่าหรือไม่ เป็นอกาลิโก คือ ไม่มียุค ไม่มีสมัย แต่เป็นจริงตลอดไปตั้งแต่สมัยก่อนจนถึงอนาคต เพียงเท่านี้ คนยุคเก่าก็ดี คนยุคใหม่ก็ดี ก็จะมี reference ร่วมกันได้ เดินไปข้างหน้าด้วยกันได้ แทนที่จะมีแต่เกิด gap ซ้ำแล้วซ้ำอีกเป็นนิจนิรันดร์

น.พ.สกล สิงหะ
เขียนที่บ้านพักแพทย์ พ.๓๑ หมู่บ้านใหม่ หลังอ่างเก็บน้ำ
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
วันอาทิตย์ที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๕๙ เวลา ๑๙ นาฬิกา ๑๓ นาที
วันขึ้น ๘ ค้ำ เดือน ๑๑ ปีวอก

คำสำคัญ (Tags): #ยุค#generation's gap
หมายเลขบันทึก: 616814เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2016 19:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 ตุลาคม 2016 19:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท