“เสียง” ของวรรณคดี กลวิธีเข้าถึงคุณค่า


“เสียง” ของวรรณคดี กลวิธีเข้าถึงคุณค่า


เฉลิมลาภ ทองอาจ, ค.ด.




หนังสือที่ได้รับยกย่องว่าแต่งดี มีความดีพร้อม มากด้วยคุณค่าต่อสังคมเรียกว่าวรรณคดี ผู้ที่นำวรรณคดีบรรจุไว้ในตำราเรียนและให้นักเรียนทุกระดับได้ศึกษาล้วนมุ่งหวังว่า นักเรียนจะมีโอกาสได้เรียนรู้ และสัมผัสภาษาที่งดงาม ตลอดจนเห็นแบบอย่างของการใช้ภาษาในเชิงประพันธ์ที่เป็นมรดกทางภูมิปัญญา ครูภาษาไทยที่มีหน้าที่โดยตรงในการสอนวรรณคดีจึงต้องเข้าใจบทบาท และเข้าใจธรรมชาติของวรรณคดี โดยเฉพาะในเรื่องของ “เสียง” ซึ่งสำหรับในทางวรรณคดีไทยแล้ว มีความสำคัญมากกว่าองค์ประกอบส่วนอื่น ๆ

วรรณคดีหรืองานเขียนที่ผู้เขียนเรียบเรียงขึ้นด้วยอย่างมีวรรณศิลป์ โดยถ่ายทอดจินตนาการของตนเองผ่านการสื่อสารด้วยถ้อยคำที่คัดสรรมาเป็นอย่างดี คำที่คัดสรรและนำมาเรียงร้อยต่อกันนี้เอง ถือได้ว่าเป็นหัวใจของวรรณคดี เพราะคำแต่ละคำจะอุดมไปด้วยเสียงและความหมายที่สอดคล้องกันเป็นอย่างดี และช่วยให้ผู้อ่านสัมผัสถึงความไพเราะของถ้อยคำ ที่เป็นเครื่องสื่ออารมณ์และความรู้สึกได้ดีที่สุด ดังที่ บุญเหลือ เทพยสุวรรณ (2554) ได้กล่าวถึงคุณค่าของวรรณคดีไว้โดยสรุปว่า การสื่อความหมายที่งดงามประณีตที่สุดของมนุษย์ เกิดจากการใช้ภาษาเป็นสื่อ วรรณคดีจึงเป็นศิลปะที่ซับซ้อนที่สุดของมนุษย์ ด้วยคุณค่าดังที่ได้กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่า จุดมุ่งหมายหลักของการสอนวรรณคดี คือ การส่งเสริมและการเปิดโอกาสให้นักเรียนเข้าถึงความงดงามของถ้อยคำและภาษาในวรรณคดี ซึ่งจะเกิดขึ้นได้เมื่อครูภาษาไทย จัดการเรียนการสอนวรรณคดีไทยโดยให้ความสำคัญกับ“การออกเสียงถ้อยคำ” ในตัวบทวรรณคดี

แนวทางการจัดการเรียนการสอนวรรณคดีไทย ที่จะช่วยให้นักเรียนเข้าถึงคุณค่าและสัมผัสความงามของวรรณคดี คือการให้นักเรียนได้รับสัมผัสด้านเสียง ทั้งในรูปแบบที่ครูอ่านให้ฟังหรือโดยให้นักเรียนอ่าน หรือผสมผสานกัน กล่าวคือ กรณีแรก ครูควรที่จะอ่านออกเสียงตัวบทวรรณคดีในบางช่วงบางตอน ที่มีความโดดเด่นโดยอ่านเป็นทำนองเสนาะ หรืออ่านแบบปกติ แต่มีการควบคุมจังหวะ หรือความหนักเบาของเสียง ให้เหมาะสมกับเนื้อหา เพื่อที่จะสื่ออารมณ์ในตัวบทไปยังนักเรียน ส่วนในกรณีที่สองคือ ครูให้นักเรียนอ่านออกเสียงวรรณคดี โดยคัดเลือกบางตอนที่สำคัญ หรือควรที่จะอ่านออกเสียงให้นักเรียนอ่าน ทั้งในลักษณะของการอ่านเป็นรายบุคคล หรือการอ่านออกเสียงพร้อมกันเป็นกลุ่ม ทั้งนี้ ระหว่างการอ่านครูสามารถอ่านเป็นตัวอย่างให้แก่นักเรียน แล้วให้นักเรียนอ่านตาม เป็นต้น นอกจากนี้ การจัดการเรียนการสอนวรรณคดีด้วยการอ่านออกเสียง ยังสามารถจัดได้ในลักษณะของการอ่านออกเสียงอย่างอิสระ โดยให้นักเรียนสร้างสรรค์ลีลาและทำนองการอ่านของตนเองขึ้นมา เพื่อที่จะสื่อสารไปยังเพื่อนในชั้น ในรูปแบบใหม่ ๆ ที่ต่างจากไปจากขนบนิยม ซึ่งก็น่าที่จะช่วยให้นักเรียนสามารถเข้าถึงความงดงามของวรรณคดีได้ในอีกลักษณะหนึ่ง

วรรณคดีไทยคืองานศิลปะที่สร้างขึ้นโดยมีรูปแบบที่งดงาม ผ่านการใช้ถ้อยคำเพื่อนำเสนอเนื้อหา ครูภาษาไทยควรที่จะเน้นเรื่องของถ้อยคำ ความงามของเสียง รวมถึงสัมผัสต่าง ๆ ที่ปรากฏในการเรียบเรียง แล้วจึงให้นักเรียนขบคิดประเด็นเนื้อหาต่าง ๆ และเชื่อมโยงประสบการณ์ของตนเองกับวรรณคดี อันจะช่วยให้นักเรียนเข้าถึงคุณค่าภายในด้านปัญญาความคิดมากยิ่งขึ้น หลังจากที่ได้เข้าถึงคุณค่าด้านสุนทรียะทางภาษาแล้ว

___________________________________

หมายเลขบันทึก: 616813เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2016 18:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 ตุลาคม 2016 18:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท