เก็บตกวิทยากร (27) : หมุดหมายและผลลัพธ์บนถนนสายกิจกรรม (สัมมนาสภานิสิต)


ผมให้นิสิตเลือกที่จะสะท้อนออกมาตามแต่จะสะดวกใจ ใครใคร่เขียนบัตรคำก็เขียน ใครใคร่เขียนบนกระดานฟลิปชาร์ทก็เขียน ซึ่งผมจะไม่ “ออกแบบ” หรือ “สั่งการ” ว่าควรต้องทำยังไงกันบ้าง จะเรียงแถวเข้าคิวตบเท้าเข้าไปเขียน หรือจะตะกายเบียดแทรกเข้าไปเขียนก็สุดแท้แต่ใจจะพึงปรารถนา

เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๕๙ เป็นอีกครั้งที่ผมหวนกลับไปรับงานบรรยายให้กับองค์กรนิสิตในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม หลังจากละวางไปยาวนานอย่างมากโข ซึ่งครั้งนี้จัดโดยสภานิสิตในหัวข้อ “แนวทางการดำเนินงานของสภานิสิตและพัฒนาองค์กร”


เอากันตรงๆ ชัดๆ เลยก็คือ ระยะหลังผมเลือกที่จะไม่บรรยาย หรือกระทั่งจัดกระบวนการใดๆ ในมหาวิทยาลัย หรือต้นสังกัดของตนเอง เพราะต้องการเปิดพื้นที่ให้คนใหม่ๆ ได้มีโอกาสในการแสดงศักยภาพกันอย่างเต็มที่ โดยระยะหลังผมเน้นเรื่องการถอดบทเรียนเสียมากกว่า หรืออีกประเด็นหนึ่งที่โกหกตัวเองไม่ได้เลยก็คือการขาดแรงบันดาล ยังหาความท้าทายใหม่ๆ ยังไม่เจอ







ครั้งนี้ ผมเตรียมสไลด์บรรยายไป ๒ ชุด ประกอบด้วยเรื่องการพัฒนานิสิตในศตวรรษที่ ๒๑ และเรื่ององค์ความรู้ด้านกิจกรรมนิสิตกับการพัฒนาตนเองและสังคม โดยประเด็นหลังนั้นผมเตรียมนำโมเดล “ฮีต ๑๒ คองกิจกรรม” ไปสื่อสารอย่างเต็มสูบ แต่เอาเข้าจริงๆ แม้จะเตรียมการล่วงหน้าเป็นสัปดาห์ ก็ไม่เห็นจะมีใครมาประสานเพิ่มเติมอะไร จึงได้แต่เก็บเงียบไว้ พร้อมๆ กับการตั้งคำถามภายในกับตัวเองถึงวิธีคิดและวิธีการจัดการที่ว่าด้วยการเชิญวิทยากรไปในตัว ---


เอากันจริงๆ เลยนะ - ผมมาถึงสถานที่บรรยายก่อนเวลาจริงประมาณชั่วโมงเศษๆ เชื่อหรือไม่ก็มิเห็นจะมีใครขานทักว่าผมมาหรือยัง มีอะไรจะให้เตรียมบ้าง มีเอกสารที่จะต้องทำสำเนาจ่ายแจกหรือไม่ ฯลฯ

แน่นอนครับ แม้ผมจะเป็นบุคลากรภายในก็เถอะ แต่ผมก็ไม่อาจละข้ามประเด็นเช่นนี้ไปได้ และยืนยันว่าผมมิได้เจ้ายศเจ้าอย่าง หากแต่อดที่จะพูดอดที่จะเปรยไม่ได้ เพราะนี่คือสิ่งที่ต้องสอน นี่คือสิ่งที่ต้องบอก มิเช่นนั้นจะเข้าใจผิด หรือคุ้นชินเผลอลืมไปกระทำกับคนอื่น หรือวิทยากรคนอื่นๆ พลอยให้ถูกเบิ่งมองว่าผ่านการหลอมรวมบ่มเพาะอย่างไม่ถูกต้อง



ประเมินความรู้และทักษะบางประเด็นผ่านวีดีทัศน์ !

แรกเริ่มผมปรับสถานที่ด้วยการให้จัดเรียงเก้าอี้กันใหม่ มิใช่การนั่งราวกับมาเรียนหนังสือ -

ผมเปิดเวทีด้วยการให้นิสิตดูชมวีดีทัศน์ ๒ เรื่อง คือ สัญญาหน้าเสาธง และ รองเท้าค(รั)บพ่อ

ครั้นดูชมกันจนจบแล้ว ก็เปิดเวทีทักทายอย่างเป็นทางการและถามทักว่า “ได้เรียนรู้อะไรจากวีดีทัศน์ทั้งสองเรื่อง”



อันที่จริงมีเหตุผลมากมายของการเลือกวีดีทัศน์ แต่ผมปักหมุดง่ายๆ ตามมุมมองของผมเอง กล่าวคือเรื่อง สัญญาหน้าเสาธง ผมต้องการผูกโยงการเรียนรู้จากคำว่า “สัญญา” มาสู่ “หมุดหมาย” ของการเรียนรู้และการใช้ชีวิต รวมถึงการสอบถามถึงสถานที่ต่างๆ ในท้องเรื่องซึ่งเกี่ยวโยงกับสถานที่สำคัญๆ ในจังหวัดมหาสารคาม เพื่อประเมินว่านิสิตรับรู้ตัวตนความเป็นเมืองมหาสารคามสักกี่มากน้อย เสมอเหมือนการตั้งคำถามกับนิสิตในมิติ “รู้เท่าทันสังคม” นั่นเอง

จากนั้นก็เชื่อมโยงการรู้เท่าทันสังคมกลับเข้ามายังเรื่องใกล้ตัว ทั้งเพื่อนพ้องน้องพี่ มหาวิทยาลัย ปรัชญามหาวิทยาลัย และปรัชญากิจกรรมนอกหลักสูตร ฯลฯ เพื่อบอกย้ำว่าคนเราต้องมี “หมุดหมาย” และมี “แก่นสารความรู้” ทั้งที่เป็นตัวตนของตนเองและตัวตน ของสิ่งรอบกาย





ส่วนในเรื่อง องเท้าค(รั)บพ่อ ....ก็มีประเด็นหลากหลายที่ผมเจตนานำมาสื่อสาร เช่น ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง วิถีสังคมเกษตรกรรม นิเวศวัฒนธรรมในสังคมชนบทและสังคมเมือง กระแสทุนนิยม หรือบริโภคนิยม และการเชื่อมโยงถึงวิถีการแต่งงานข้ามชาติ ฯลฯ

โดยทั้งปวงนั้นผมก็พอจะมองออกว่านิสิตมีทุนความรู้ในเรื่องเหล่านี้ไม่มากนัก ทั้งการบริโภคข่าวสารหลากเรื่องราว การตีความสังเคราะห์ความและถอดรหัสชีวิตและสังคม การคิดในแบบบูรณาการ และอื่นๆ จิปาถะที่ผมคิด (เอง) ว่าไม่สมควรที่จะละข้ามไปจริงๆ





ปรับแต่งกระบวนการใหม่หน้างาน !

ถัดจากนั้นผมก็ถามคณะผู้จัดงานว่าก่อนเริ่มต้นงานในครั้งนี้มีกระบวนการ BAR บ้างแล้วหรือยัง ซึ่งคำตอบที่ได้มาก็คือ “ยังไม่ได้ดำเนินการ”

นี่เป็นอีกสถานการณ์หนึ่งที่ผมฉุกคิดและไม่อาจละข้ามไปได้ จึงผนวกสถานการณ์ปัญหาที่ประเมินจากวีดีทัศน์ทั้งสองเรื่องมาสู่กระบวนการ BBA แบบสดๆ ร้อนๆ โดยไม่เร่งรีบที่จะบรรยายในประเด็นที่ถูกเชื้อเชิญมาเป็นวิทยากร

กล่าวคือ ผมแจกบัตรคำในจำนวนหนึ่งไปยังนิสิต และติดตั้งกระดานฟลิปชาร์ทไว้หนึ่งชุด โดยให้นิสิตทบทวนตัวเองในประเด็น ๒ ประเด็น คือ

  • ๑) หมุดหมายแรกเริ่มที่ตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรม โดยให้ทบทวนกลับไปสู่ครั้งแรกที่ย่างกรายเข้าสู่ถนนสายกิจกรรม
  • ๒) ผลลัพธ์ที่ได้จากการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม โดยให้ทบทวนตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ทั้งนั้นผมให้นิสิตเลือกที่จะสะท้อนออกมาตามแต่จะสะดวกใจ ใครใคร่เขียนบัตรคำก็เขียน ใครใคร่เขียนบนกระดานฟลิปชาร์ทก็เขียน ซึ่งผมจะไม่ “ออกแบบ” หรือ “สั่งการ” ว่าควรต้องทำยังไงกันบ้าง จะเรียงแถวเข้าคิวตบเท้าเข้าไปเขียน หรือจะตะกายเบียดแทรกเข้าไปเขียนก็สุดแท้แต่ใจจะพึงปรารถนา

เรียกได้ว่าเอาที่นิสิตสะดวกและสบายใจนั่นแหละ ตรงกันข้ามผมกลับเลือกที่จะประเมินพฤติกรรมการเรียนรู้ หรือการออกแบบการเรียนรู้ของนิสิตอย่างเงียบๆ เพราะผมเองก็มีโจทย์ในใจแล้วว่า “ผู้นำนิสิต” ก็จำต้องเป็น “นักออกแบบการเรียนรู้” ด้วยเหมือนกัน





ผลพวงที่ว่านั้น (หมุดหมายแรกเริ่มที่ตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรม)

  • อยากเห็นคนอื่นมีความสุข
  • อยากเรียนรู้วิธีการแก้ปัญหาต่างๆ
  • อยากเรียนรู้กระบวนการทำงานที่มีประสิทธิภาพ
  • อยากเข้าใจตัวเองมากขึ้น
  • อยากมีทักษะในการทำงานและอยู่ร่วมกับคนอื่น
  • อยากเรียนรู้/ลงมือทำสิ่งใหม่ๆ
  • อยากปลูกต้นไม้/ปลูกป่า





ลพวงที่ว่านั้น (ผลลัพธ์ที่ได้จากการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม)

  • ได้เปิดโลกทัศน์ใหม่ให้กับตัวเอง
  • ได้เพื่อนใหม่และมิตรภาพใหม่ๆ ในสังคมที่กว้างขึ้น
  • เกิดมนุษยสัมพันธ์ที่ดีและมีทักษะการทำงานร่วมกับคนอื่น
  • ได้ใช้เวลาว่างเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาตนเองและผู้อื่น
  • เกิดทักษะในการบริหารชีวิตและกิจกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ
  • เกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง / เห็นศักยภาพตนเอง
  • เกิดความกล้าในการแสดงออก ทั้งความคิด การพูดจา และการกระทำ
  • เกิดความรู้และทักษะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
  • ได้เข้าร่วมกิจกรรมการปลูกป่า
  • ได้เรียนรู้การปรับตัวตามกาลเทศะ
  • ได้รู้จักการรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม


ครับ- นี่คือส่วนหนึ่งที่นิสิต หรือที่ผู้นำนิสิตได้สะท้อนออกมา ซึ่งผมก็แอบเอามาเทียบเคียงกับหมุดหมายการพัฒนานิสิตมหาวิทยาลัยว่าสัมพันธ์กันอีกมากน้อย และจะตั้งคำถามกับนิสิตเหมือนกันว่านิสิตรู้ หรือเข้าใจหมุดหมายของการพัฒนานิสิต ทั้งในความเป็นมหาวิทยาลัยและสังคมอย่างไร รวมถึงสิ่งที่นิสิตได้สะท้อนออกมานั้น สัมพันธ์ และยึดโยงกับหมุดหมายการพัฒนานิสิตแค่ไหน

ค่อยมาเล่าต่อ นะครับ

หมายเลขบันทึก: 615820เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2016 13:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กันยายน 2016 14:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เรื่องที่ 2 ยังไม่ได้ดูเลยครับ

น่าสนใจมาก

ครับ ดร.ขจิต ฝอยทอง

เรื่องที่ 2 เดี๋ยวผมมาเล่าให้ฟังนะครับ 555 แต่ที่แน่ๆ ก็ปรับประบวนการ "หน้างาน" เลย เพราะ BAR แล้ว สิ่งที่สะท้อนมา มันทำให้เราต้องปรับแต่งกระบวนการไปในตัว เพื่อให้สอดคล้องกับข้อมูลตัวตน สถานะ สภาวะของนิสิต ซึ่งเห็นชัดว่าเรื่องความรู้สำคัญมาก และมากจริงๆ ผู้นำนิสิตขาดความรู้ในเรื่องที่ทำ ขาดการเชื่อมโยงความรู้ เหมือนทำงานเฉพาะทางเฉพาะด้านและแยกส่วนมากจนเกินไป

ปรับแต่งกระบวนการหน้างาน สด ๆ .... วิทยายุทธ์ต้องล้ำเลิศจริง ๆ นะคะ

สุดยอดค่ะ

เปล่าหรอกครับ พี่หมอ ธิ

ทุกอย่างผมยังงูๆ ปลาๆ ทำไปเรียนรู้ไป ครับ

บ่อยครั้งก็เหมือนตีบตัน เหมือนเดินชนกำแพง ถอยก็ชนกำแพง ได้แต่แหงนมองฟ้าสร้างแรงบันดาลใจและค้นหาทางออก ---

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท