ฉบับที่ ๔๗ “ แค่กล้า ก็ ชนะ ”


ผู้เขียนแนะนำเรื่องเล่า ในโครงการเขียนเรื่องเล่าสู่กันฟัง ช่วยคนลด ละ เลิกบุหรี่ เลิกเหล้า ครั้งที่ 4 จัดโดย ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ โดยนำเรื่องเล่าซึ่งเขียนโดยคุณบงกช บุญฟู พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลสารภี ต.สารภี อ.สารภี จ.เชียงใหม่ เพื่อเล่าสู่กันฟังและเสริมแรงให้คนทำงานช่วยคนเลิกบุหรี่ได้ทำสำเร็จ เรื่องมีอยู่ว่า....


ชื่อเรื่อง “ แค่กล้า ก็ ชนะ ”

“ หมอครับ! ผมเหนื่อย… ช่วยผมด้วย ” นั่นคือเสียงของ “แซม” เด็กหนุ่มอายุ 19 ปี ที่เรื่องราวของเขายังอยู่ในใจฉันตลอดระยะเวลาที่ผ่านไป…8 ปีแล้ว

เช้าวันที่ 20 มิถุนายน 2550 หรือ 8 ปีที่แล้ว ฉันยังจำได้ไม่เคยลืม เวลาประมาณ 9 โมงเช้า เสียงโทรศัพท์ในห้องทำงานฉันดังขึ้น “ สวัสดีค่ะ คลินิคเลิกบุหรี่นะคะ เดี๋ยวจะส่งคนไข้ 1 รายค่ะต้องการเลิกบุหรี่ ขอบคุณค่ะ” เสียงจากเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ประจำโรงพยาบาล โทรศัพท์มาที่ห้องทำงานของฉัน แจ้งให้ฉันเตรียมรับผู้ป่วยรายนี้ ซึ่งหลังจากวางสายแล้ว ฉันก็เตรียมเอกสารที่จะใช้กับผู้ป่วย แต่ในใจก็คิดไปด้วยว่า คงเป็นคนแก่ที่ป่วยด้วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเหนื่อยหอบง่าย ลูกหลานพามาให้เลิก เหมือนที่ผ่านมาอีกเช่นเคย ฟันธง! แต่แล้วผ่านไป 5 นาที มีผู้หญิงวัยกลางคนมาพร้อมวัยรุ่นชายคนหนึ่ง เดินเข้ามาในห้องของฉัน แล้วถามว่า “ ห้องหมอต่าย ใช่มั้ยค่ะ” เมื่อฉันตอบว่า “ใช่ค่ะ” เธอก็เลยแจ้งความจำนงค์ว่าต้องการนำลูกชายมาเลิกบุหรี่ จากเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ฉันคิดได้ว่า บางครั้ง “สิ่งที่คิดก็อาจไม่ใช่สิ่งที่เห็นหรือสิ่งที่เห็นก็อาจจะไม่ใช่สิ่งที่เราคิดเสมอไป” ขอบคุณผู้ป่วยที่ให้แง่คิดดีๆกับฉัน แว๊บแรกที่ฉันมองเห็นชายหนุ่มเดินมากับแม่ ดูเขาอ่อนเพลียมาก รูปร่างผอม ใบหน้าหมองคล้ำ หายใจเหนื่อย ฉันจึงจัดแจงให้เขานั่งพักให้สบายก่อน เชิญให้คุณแม่นั่งด้วย พร้อม กับหาน้ำมาต้อนรับ เพราะฉันคิดว่าเราต้องต้อนรับผู้ป่วยเหมือนมีแขกมาเยี่ยมเราที่บ้าน นี่คือวิธีการสร้าง สัมพันธภาพหรือการสร้างความประทับใจเมื่อแรกพบของฉันกับผู้ป่วย ซึ่งก็มักจะได้ผลทุกครั้ง เพราะฉันรับรู้ได้ถึงความรู้สึกที่ดีที่ผู้ป่วยและญาติมีต่อเรา จากนั้นฉันก็สานสัมพันธภาพกับผู้ป่วยและญาติต่อด้วย รอยยิ้ม น้ำเสียงที่นุ่มนวล ท่าทีที่เต็มใจดูแลของฉัน ทำให้พวกเขาคลายความวิตกกังวลลงอย่างเห็นได้ชัด ฉันจะประเมินตัวเองตลอด..ตลอด..และคิดว่าทำได้ดีด้วย.. มั่นใจค่ะ เข้าเรื่องผู้ป่วยต่อดีกว่า หลังการสนทนาเพื่อสร้างสัมพันธภาพแล้วนั้น ฉันได้กล่าวแนะนำตนเอง สถานที่ และเริ่มพูดคุยกับเขาเพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติม ฉันจึงได้รู้จัก “แซม” วัยรุ่นชายที่ฉันพูดถึงตอนแรกมากขึ้น ขณะเดียวกันนั้นเองแม่ของแซมบอกว่า ขอฝากแซมไว้กับหมอสักครู่(ผู้ป่วยและญาติมักเรียกเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลว่าหมอทุกคน) เพราะต้องรีบเข้าไปทำธุระในเมือง (เขียนถึงตรงนี้ ทำให้ผู้อ่านรู้หมดว่า ฉันเป็นพยาบาลนอกเมืองหรือพยาบาลบ้านนอกนั่นเอง แต่ไม่เป็นไรยังไงก็มั่นใจค่ะ)ฉันรับปากและแสดงออกให้รู้ว่า ฉันเต็มใจดูแลลูกของเขา เพื่อที่เขาจะได้ไม่กังวลเวลาไปทำธุระ แต่อีกใจหนึ่งก็คิดว่าดีเหมือนกัน ฉันจะได้พูดคุยกับผู้ป่วยได้เต็มที่ “ พี่ขอเรียกชื่อเล่นน้องละกันนะค่ะ จะได้ดูเป็นกันเองมากขึ้น แซมบอกพี่ว่าแซมเป็นคนบอกให้แม่พามาเลิกบุหรี่ อะไรคือเหตุผลที่แซมอยากเลิก เล่าให้พี่ฟัง ได้มั้ยค่ะ” “ได้ครับ” ท่าทางและน้ำเสียงของแซมแสดงถึงความเต็มใจที่อยากจะบอกกล่าวถึงเหตุผลทั้งหมด

“แซม” เป็นชายหนุ่มอายุ 19 ปีมีน้องสาวอีก 1 คนอายุ 15 ปี ที่บ้านเคยอยู่กัน 5 คน มีครอบครัวแซมและยาย พ่อกับแม่เลิกกันตั้งแต่แซมยังเด็ก พ่อทะเลาะกับแม่บ่อยมาก แซมแอบเห็นบ่อยๆ เก็บกดไว้ในใจคนเดียวเรื่อยมา แซมไม่รู้ว่าใครถูกใครผิด รู้แต่ว่าสุดท้ายเขาก็กลายเป็นลูกที่ขาดพ่อ ขณะที่พูดคุยกัน ฉันสังเกตดูพบว่าเขาเป็นชายหนุ่มที่ดูหน้าตาเคร่งเครียด ไม่มีรอยยิ้ม ไม่กล้าสบตาขณะพูดคุย มักจะก้มหน้าบ่อย ๆ นั่งหลังค่อม ดูขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง พูดเสียงเบา ๆ แต่คำพูด กิริยาของเขา เป็นคนนอบน้อม สุภาพ ไม่ก้าวร้าว ที่สำคัญฉันสังเกตเห็นแววตาที่ดูเศร้า เหงา ท้อแท้ และอาการทางกายที่เวลาพูดคุยเขาจะดูเหนื่อยหอบ แซมเล่าต่อว่า เขาเริ่มสูบบุหรี่มาตั้งแต่อายุ 15 ปี เหตุผลเพราะเครียดเรื่องครอบครัว อยากลองและเพื่อนชวน โดยเริ่มจากที่แซมมักจะหนีเรียนไปอยู่บ้านเพื่อนคนหนึ่ง ซึ่งเป็นที่มั่วสุมของกลุ่มเพื่อนที่หนีเรียนด้วยกัน ครั้งแรกเพื่อนให้เริ่มสูบบุหรี่ก่อน โดยลองสูบที่ละครึ่งมวน เพราะเพื่อนบอกว่าสูบแล้วจะหายเครียดและมีความสุข ซึ่งตอนแรกสูบไม่เป็น สำลักควัน คิดว่าจะไม่สูบแล้วแต่เพื่อนก็คะยั้นคะยอให้สูบต่อ พูดดูถูกสารพัด บอกว่า “อ่อนหัด” อย่างนี้เข้าก๊วนไม่ได้ ให้ลองอีกที ด้วยความที่กลัวเพื่อนทิ้งไม่ให้เข้าก๊วนแซมจึงลองสูบครั้งแล้วครั้งเล่า สุดท้ายเมื่อสูบเป็น ก็รู้สึกดี รู้สึกภูมิใจที่สูบได้เหมือนเพื่อน หายเครียด..บุหรี่ช่วยให้ลืมความทุกข์ได้จริงๆ แซมคิดอย่างนั้น แต่ความทุกข์ที่แซมว่า มันก็แค่ลืมได้ชั่วขณะเท่านั้นเอง เพราะเมื่อออกจากบ้านเพื่อนกลับไปบ้านตัวเองแล้ว แซมก็ต้อง เจอสิ่งเดิมๆ เกิดความเบื่อ เครียดอีก เพราะตั้งแต่พ่อกับแม่เลิกกันเมื่อหลายปีก่อน พ่อย้ายไปอยู่กรุงเทพฯขาดการติดต่อไปเลย แม่ก็มีสามีใหม่ ซึ่งแซมไม่ค่อยชอบ จึงทำอะไรออกแนวประชดแม่หลายอย่าง หนึ่งในนั้นก็คือการสูบบุหรี่ให้แม่เห็น พอแม่ขอให้เลิกก็ทะเลาะกันทุกที พ่อเลี้ยงก็เลยชวนแม่ไปเช่าหอพักอยู่ในตัวเมือง ทิ้งให้แซมอาศัยอยู่กับยายและน้องสาวที่บ้านเดิม โดยที่แม่มักจะไปๆมาๆ เพราะเป็นห่วงทุกคน ยิ่งรู้อย่างนั้น แซมยิ่งทำให้แม่รู้สึกเจ็บปวดมากขึ้นเพราะลึกๆแล้วแซมคิดว่า แม่ไม่รักเขา แซมสูบบุหรี่มากขึ้น มากขึ้นเรื่อยๆ จากหนึ่งมวน เป็นสอง เป็นสาม เป็นสี่ เป็นห้าเป็นซองต่อวันภายในเวลา 2 ปี แซมไม่เรียนต่อ จบแค่ชั้นม.2 และยังคงอยู่กับยายและน้องสาว ซึ่งยายก็ยังคงทำงานรับจ้างทั่วไปเพื่อหารายได้มาเลี้ยงหลานอีกทาง ส่วนน้องสาวก็ยังเรียนหนังสืออยู่ แม่ก็เอาเงินมาให้บ้าง แซมยังเล่าต่อว่าสงสารยายเหมือนกัน จึงเริ่มหางานทำรับจ้างทั่วไป แต่เวลาทำงานรู้สึกเหนื่อยง่ายมาก ทำงานได้น้อยก็ต้องนั่งพัก ถูกหัวหน้างานดุบ่อยๆ เพราะเขาคิดว่าแซมอู้งาน ไม่ได้คิด ว่าเป็นเพราะอาการเหนื่อย เนื่องจากแซมยังวัยรุ่น ควรจะทำงานได้ว่องไวและทำงานหนักได้มากกว่านี้ นี่คือ สาเหตุที่ทำให้แซมออกจากงานในเวลาต่อมา แต่ขณะเดียวกันก็ยังคบเพื่อนกลุ่มเดิม ชวนกันเที่ยว สูบ ดื่มหนักขึ้นเรื่อยๆ การงานแย่ลง สมัครงานใหม่ที่ไหนก็ทำได้แค่ช่วงเวลาสั้นๆ ก็ต้องออกจากงานเพราะอาการเหนื่อยที่ มากขึ้นทุกวัน หนักเข้าก็จะไปนอนหอพักเพื่อน ไม่กลับบ้าน สุดท้ายเพื่อนชวนเสพยาบ้า เขาเริ่มจากเสพทีละครึ่งเม็ดต่อครั้ง เป็นหนึ่งเม็ด..สองเม็ดเสพนาน ๆ ครั้งแล้วก็บ่อยครั้งขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขั้นติดมาก แซมบอกว่าเวลาที่เขาเสพยาบ้า มันจะกระตุ้นให้เขาอยากสูบบุหรี่มากขึ้น จนช่วงที่เขาอายุ 18 ปีเขาเสพยาบ้าวันละ 5 เม็ด สูบบุหรี่วันละ 2 ซอง แน่นอนว่าทุกอย่างไม่ได้มาฟรีๆต้องใช้เงินทั้งนั้น ที่สุดแซมต้องส่งยาบ้าเพื่อแลกกับเงิน ได้เงินมา ก็จะซื้อบุหรี่ตุนไว้ทีละหลายๆซอง เพราะช่วงนั้นตำรวจมักจะตั้งด่านตรวจปัสสาวะหายาบ้า แซมจึงเลิกเสพยา บ้า จะได้ไม่กังวลเมื่อถูกเรียกตรวจ เมื่อเลิกเสพยา…หลังจากที่เสพอยู่นาน 1 เดือน แทนที่ทุกอย่างน่าจะดีขึ้น แต่เปล่าเลยเขากลับติดบุหรี่หนักขึ้นกว่าเดิม ขาดบุหรี่ไม่ได้ ต้องสูบถึง 2-3 ซอง/วัน ข้าวปลาแทบไม่ตกถึงท้อง สูบบุหรี่เกือบทั้งวัน

1 เดือนผ่านไป…แซมไปอยู่กับเพื่อน ไม่กลับบ้าน ไม่ติดต่อใครเลย ช่วงนี้เป็นช่วงที่รู้สึกแย่ที่สุดในชีวิต เพราะด้วยความที่ต้องเป็นคนส่งยาบ้า จะไปทางไหนก็รู้สึกหวาดระแวง กลัวถูกจับ กลางวันจะอยู่แต่ในห้องพักเพื่อน ดึกๆจะออกมาส่งยา แล้ววันหนึ่งก็รู้สึกคิดถึงยายและน้องสาวมาก จึงกลับบ้าน ก้าวแรกที่ถึงบ้าน คนแรกที่พบคือยาย ยายเข้ามากอดแซมไว้แน่น ร้องไห้บอกว่าคิดถึง เป็นห่วงแซมมาก กลัวแซมจะเป็นอันตรายต่างๆนานา หาทางติดต่อก็ไม่ได้ แซมบอกว่ายายไม่ดุด่าว่าอะไรเลย ยิ่งทำให้เขารู้สึกผิดมาก ถ้ายายด่าเขา ตีเขาแรงๆยังจะดีซะกว่า เพราะมันทำให้เขารู้สึกเกลียดตัวเองมากที่ทำให้ยายเสียใจ จากวันนั้นแซมเริ่มอยู่ติดบ้าน ไม่ได้เสพยาแต่..บุหรี่เลิกไม่ได้เลย พยายามหลายครั้งแล้ว อยากให้ยายสบายใจ แซมอยู่บ้านมาตลอด ไม่ได้กลับไปหาเพื่อนอีก ออกไปทำงานนอกบ้านก็ไม่ได้เพราะเหนื่อย ได้แต่ช่วยยายทำงานบ้านเล็กๆน้อยๆ อาศัยเงินจากยายและแม่ที่แวะมาหาเพื่อนำเงินมาให้

แล้ววันหนึ่ง..จุดเปลี่ยนในชีวิตแซมก็เกิดขึ้น ขณะที่กำลังนั่งเล่นอยู่หน้าบ้าน มีมอเตอร์ไซค์คันหนึ่งขับผ่านหน้าบ้านเขา เมื่อขับมาใกล้ๆ แซมจึงเห็นชัดว่าคนขับคือเพื่อนของเขา เมื่อตอนที่ยังเรียนอยู่ชั้นม.2 ด้วยกัน ต่างคนต่างเห็นหน้ากัน เพื่อนคนนั้นจึงจอดรถที่มีภรรยาและลูกซ้อนท้ายมาด้วย แล้วมาทักทายแซม แซมเล่าต่อ ว่า เพื่อนของเขาดูสุขภาพแข็งแรง หน้าตาสดใส มีความสุขกับครอบครัวของเขา ต่างคนต่างดีใจ เพราะไม่ได้พบ ปะกันมานานมาก จึงนั่งคุยถามสารทุกข์สุกดิบกันซะยกใหญ่ แซมบอกว่าเพื่อนของเขาทำงานที่โรงงานแห่งหนึ่ง ในอำเภอ เงินเดือนประมาณ ๘,๐๐๐ บาทต่อเดือน ถึงแม้เงินเดือนจะไม่มาก แต่พวกเขาก็พออยู่พอกินสามคน พ่อ แม่ ลูก หลังจากที่ได้นั่งคุยกันพักใหญ่ เพื่อนของแซมและครอบครัวได้ขอตัวกลับ เพราะจะไปทำธุระต่อ เมื่อเพื่อนขับรถมอเตอร์ไซค์ออกจากหน้าบ้านแซมไป แซมมองตามด้วยสายตาที่ชื่นชมกับความสุขของเพื่อน และใช้เวลาหลังจากนั้น มานั่งทบทวน ชีวิตของตัวเองที่ผ่านมา ทบทวนอย่างละเอียด คิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ภาพของ เพื่อนที่เคยเรียนมาด้วยกัน ถึงแม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆที่ได้พบกันแต่ก็ยังวนเวียนอยู่ในความคิดของแซมตลอด แต่ไม่เหมือนกันตรงที่ ภาพของเพื่อนเป็นภาพแห่งความสุข เพื่อนมีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง เพื่อนมีรอยยิ้มที่ สดใส เพื่อนมีครอบครัวที่อบอุ่นอยู่กันพร้อมหน้า เพื่อนมีงานทำที่มั่นคง เพื่อนเป็นหัวหน้าครอบครัวสามารถ ดูแลคนอื่นได้ เพื่อนไม่เป็นภาระให้ใคร..ความคิดเหล่านี้ตอกย้ำตัวเขาเอง..คิดเอง..ตอกย้ำตัวเอง

แล้วตัวเขาล่ะ…..สุขภาพก็ย่ำแย่ สามวันดีสี่วันไข้ วันๆไม่มีรอยยิ้ม มีแต่ความเศร้าหมองเพราะขาดความ เชื่อมั่นในตัวเอง ในบ้านมีแต่ยายกับน้องสาว ยายก็รับจ้างทำงาน ออกบ้านแต่เช้า ค่ำๆถึงจะกลับบ้าน น้องสาวก็ ไปเรียนหนังสือ เย็นมาก็คลุกอยู่แต่บ้านเพื่อน แม่ก็อยู่กับพ่อเลี้ยงในตัวเมือง ตัวเขาเองไม่ได้ทำงาน ขอเงินยายใช้ ไปวันๆ ดูแลใครก็ไม่ได้ หนำซ้ำยังต้องเป็นภาระให้ยายดูแล หาข้าวหาปลาให้ทานทุกวัน เมื่อคิดได้ดังนั้น …

จุดเปลี่ยนในชีวิตแซมจึงเริ่มขึ้น แซมทบทวนถึงเรื่องสุขภาพที่แย่ลงทุกวัน รูปร่างผอม ดำ ใบหน้าคล้ำ แก่เกินอายุจริง เรี่ยวแรงไม่มี เหนื่อยง่ายเหมือนคนแก่ มีกลิ่นปาก กลิ่นบุหรี่ติดตัวตลอดเวลา ขาดความเชื่อมั่น เมื่อพบปะผู้คน หลังจากทบทวนแล้วเขาจึงมั่นใจว่าสาเหตุทั้งหมดที่เกิดขึ้นมาจากเจ้าฆาตกรมวนเล็กที่เรียกว่า “บุหรี่” นั่นเอง เขาจึงเกิดความตั้งใจอยากจะเลิกบุหรี่ขึ้นมาทันที เลิกสิ่งเสพติดทุกอย่างที่เขาใช้อยู่ อยากทำให้ ร่างกายแข็งแรง อยากหางานทำ มีรายได้แล้วนำมาเลี้ยงดูยายกับน้อง แซมเล่าต่อว่า เมื่อคิดได้อย่างนั้นเขารีบ โทรศัพท์หาแม่ทันที เหมือนแม่จะรับรู้ความรู้สึกของเขา เพราะแม่ก็รับโทรศัพท์จากเขาทันทีเช่นกัน เขาเล่าเรื่อง ที่เจอเพื่อนเก่า บอกเล่าความคิด ความรู้สึกของเขาให้แม่ฟัง น้ำเสียงของแม่ฟังดูมีความสุขที่ได้ยินแซม ขอให้พา มาโรงพยาบาลเพื่อมาเลิกบุหรี่ในวันพรุ่งนี้ แม่รับปากทันที โดยไม่คิดอะไรเลย แม่บอกว่าพรุ่งนี้ แม่จะลางานมา รับแซมที่บ้านยายและส่งลูกเพื่อเลิกบุหรี่ เมื่อเล่าถึงตอนนี้ดูหน้าตาแซมมีรอยยิ้มขึ้นมาทันที เหตุการณ์เย็นวานนี้ ได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตของแซมจริง..จริง แซมบอกว่าเมื่อคืนเขาคิดว่าพรุ่งนี้เขาจะเป็นคนใหม่ ชีวิตเขา จะต้องดีขึ้น เขาต้องเลิกบุหรี่ให้ได้ แซมบอกเล่าอย่างมีความหวัง

และแล้วเช้าวันที่ 20 มิถุนายน 2550 แม่ก็มาส่งแซมตามสัญญา ระหว่างที่พูดคุยกัน ฉันให้แซมเล่าไป เรื่อยๆ เหนื่อยก็พัก แซมบอกว่าถ้าไม่เดินไป-มา ก็ไม่เหนื่อยมาก เราจึงคุยกันได้นานพอสมควร ประกอบกับ แม่แซมไปทำธุระในเมือง ทำให้คุยกันได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น แซมบอกว่ารำคาญตัวเองมากที่เหนื่อยง่าย จากนั้น ฉันจึงให้คนงานนำรถเข็นมาให้แซมนั่ง แล้วเข็นไปพบคุณหมอตัวจริง ( ซะที )เพื่อตรวจร่างกาย คุณหมอสั่งให้ X-RAYปอดเลย เมื่อหมอดูฟิล์มเสร็จก็แสดงท่าทีตกใจพอสมควร บอกแซมว่าจากฟิล์มปอดเหมือนปอดคนแก่ อายุซัก 70 ปี เมื่อพูดคุยต่อคุณหมอจึงทราบว่าแซมสูบบุหรี่จัดมาก วันนั้นหมอสั่งให้นอนโรงพยาบาลเลย ให้นอนเตียงหัวสูง ให้ใส่ออกซิเจน ให้ยาขยายหลอดลม ให้ยาวิตามิน ให้น้ำเกลือเติมเพราะแซมมีท่าทางอ่อน เพลียมาก อยู่โรงพยาบาลแม่มาเยี่ยมแซมทุกเย็นหลังเลิกงาน ยายมาเฝ้าทุกวัน น้องสาวมาเยี่ยมหลังเลิกเรียน ทุกครั้ง แต่ไร้เงาเพื่อนๆที่เคยชวนแซมสูบบุหรี่ เสพยา ดื่มเหล้า แซมนอนอยู่นาน 3 วันไม่ได้สูบบุหรี่เลย ทาน ข้าวได้มากขึ้น เหนื่อยน้อยลง แข็งแรงกว่าเดิม ใบหน้าเริ่มมีรอยยิ้ม แซมบอกว่าอยากกลับไปพักฟื้นต่อที่บ้าน สงสารยายที่มานอนเฝ้า คุณหมอมาตรวจร่างกายซ้ำ ทุกอย่างดีขึ้น จึงอนุญาตให้กลับบ้านได้และให้คำแนะนำ แซมเยอะมาก พร้อมกับสั่งยาให้ไปทานต่อที่บ้าน จากนั้นนัดพบที่ตึกผู้ป่วยนอกอีกอาทิตย์ถัดไป วันนั้นแซม เป็นคนขับรถกลับให้ยายซ้อนท้าย ต่างจากวันที่มาวันแรกที่ต้องให้แม่เป็นคนขับรถและแซมซ้อนท้ายเพราะ ขับเองไม่ไหว ก่อนกลับแซมบอกว่า “ หมอครับ ขอบคุณมากครับ ผมจะเลิกบุหรี่ให้ได้ แล้วอาทิตย์หน้า ผมจะมาให้หมอตรวจอีกทีครับ ” คำพูดที่เกิดความหวัง เกิดพลังของผู้ป่วยนี้ มันเป็นรางวัลของการทำงานอย่าง เรา จริงๆขอเพียงแค่ผู้ป่วยไม่ย่อท้อ ขอเพียงแค่ผู้ป่วยมีความหวัง เจ้าหน้าที่อย่างเราก็มีความสุขใจแล้ว

หนึ่งวัน..ก่อนที่จะถึงวันนัด เสียงโทรศัพท์ในห้องทำงานฉันดังขึ้น เสียงปลายสายเป็นเสียงของแม่แซม นั่นเอง เพราะฉันได้ให้เบอร์ที่ทำงานไว้ แม่ของแซมพูดด้วยน้ำเสียงที่มีความสุขว่า “แซมให้โทรมาบอกหมอต่าย ว่า พรุ่งนี้จะไปตามนัดค่ะ ” ฉันอยากเห็นแซมเป็นเด็กหนุ่มที่แข็งแรง ร่าเริงสดใสสมวัย 19 ปีของเขา

เมื่อถึงวันนัด แซมชวนแม่มาแต่เช้า และแวะมาหาฉันที่ห้องทำงานก่อน ฉันเห็นแซมคนใหม่ วันนี้แซม ขี่รถและให้แม่เป็นคนซ้อนท้าย แซมเดินเร็วขึ้น เหนื่อยนิดหน่อย ไม่มีกลิ่นบุหรี่ติดตัว เวลาพูดคุยด้วยสบตา ใบหน้ามีรอยยิ้ม มีความเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น พูดเก่งขึ้น แต่คนที่พูดน้อย มีรอยยิ้มเยอะคงเป็นใครไปไม่ได้ นอกจากแม่ของแซมนั่นเอง เมื่อถึงเวลาที่ต้องพบคุณหมอ ฉันจึงเดินไปส่งแซมพร้อมกับแม่ (วันนี้ไม่ต้องเรียก คนงานรถเข็นแล้ว) หมอให้ส่งX-RAY ปอดซ้ำ และบอกว่าจากฟิล์มปอดดีขึ้นมาก จากนั้นย้ำให้แซมเลิกบุหรี่ อย่างเด็ดขาด ซึ่งแซมก็รับปากคุณหมอเป็นอย่างดี เมื่อจะกลับแซมและแม่เดินมาพร้อมฉันและกลับมาที่ทำงาน ฉันอีกครั้งหนึ่ง แซมบอกแม่ว่าขอคุยกับพี่ต่ายสักครู่ แม่จึงนั่งรออยู่ด้านนอก แซมขอบคุณฉันที่ได้ช่วยเหลือเขา ให้เลิกบุหรี่ ตั้งแต่มานอนโรงพยาบาลเขาเลิกสูบบุหรี่มาตลอด จะว่าไปแล้วแซมใช้วิธีบ้านๆที่ชาวบ้านเรียกกัน ว่า หักดิบซึ่งมักจะได้ผลดีกว่าการค่อยๆเลิก แต่ฉันบอกเขาว่าที่เขาเลิกได้สำเร็จนั้นเป็นเพราะตัวเขาเอง เพราะ ความเด็ดเดี่ยวของเขา เพราะความตั้งใจจริงของเขา เวลาที่ฉันชื่นชมแซมจะมีใบหน้าที่มีความสุข มีรอยยิ้มทุก ครั้ง เหนือสิ่งอื่นใด แซมบอกว่าเขาเข้าใจผิดมาตลอดว่าไม่มีใครรักเขา เขาจึงทำสิ่งไม่ดีเพื่อประชด ให้ทุกคนเสีย ใจ แต่มาถึงวันนี้ เขาได้รู้แล้วว่าทุกคนรักเขา แม่..ยาย..น้องสาว ทุกคนรัก..ห่วง..ดูแลเขาอย่างดียามที่เขาเจ็บป่วย เพื่อน ! ที่เคยกิน เที่ยว เสพด้วยกัน เพื่อนที่เขาคิดว่าดีกับเขาหายหน้ากันไปหมด แซมบอกว่าถึงเวลาแล้วที่เขาจะ ต้องดูแลคนที่รักเขากลับคืน แซมได้ไปสมัครงานกับคนที่รู้จักกันไว้แล้ว เขาให้เริ่มทำงานอาทิตย์หน้าเลย เขารู้ว่าแซมเคยทำงานได้ไม่ดีนัก แต่เขาก็ให้โอกาส..โชคดีจริงๆน๊ะแซม และแล้วแซมก็ลากลับไปพร้อมกับแม่ ด้วยสีหน้า แววตาที่มีความสุขทั้งสองคนแม่-ลูก…หลังจากนั้นฉันจะโทรติดตามให้แซมมาพบที่ทำงานเป็นระยะซึ่งแซมก็มาพบทุกครั้ง มาคนเดียวบ้าง มาพร้อมกับแม่บ้าง จนครบ 1 ปี แซมสามารถเลิกบุหรี่ได้อย่างเด็ดขาด ครั้งสุดท้ายที่พบกันแซมทำงานในโรงงานใกล้บ้าน สุขภาพแข็งแรงดีหน้าตาสดใส และมีแผนจะไปทำงานสาขา ต่างจังหวัด ฉันอวยพรให้แซมโชคดีในทุกเรื่อง เราจากกันด้วยความรู้สึกที่ดี..ดี มีรอยยิ้มให้กันในวันนั้น ฉันมองตามสองคนแม่-ลูกที่ก้าวเดินออกจากห้องฉันไปจนลับสายตา…ในใจฉันคิดว่า..ขอบคุณแซมและแม่ที่ให้ แง่คิดดี..ดีหลายอย่าง สอนฉันในหลายเรื่อง.. ความรักของแม่ทำลายอุปสรรคทุกอย่างได้..มีแต่สิ่งดี..ดีให้ลูก แม่คือผู้เสียสละเพื่อลูกในทุกเรื่อง สำหรับแซมชีวิตของเขาทำให้ฉันได้คิดในหลายเรื่องเช่นกัน แซมเป็นตัวอย่าง ของคน ที่มีจิตใจเข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว มุ่งมั่น เขาสามารถพลิกชีวิตด้วยตัวเขาเองได้

เรื่องราวของชายหนุ่มคนหนึ่งที่ชื่อ “แซม” ยังอยู่ในความทรงจำของฉัน ความทรงจำที่ทำให้ฉันต้อง คิดว่าถ้าพบเห็นคนไข้ที่เขาเลิกบุหรี่ยาก อย่าพึ่งท้อที่จะช่วยเขา อย่าละทิ้งเขา เพราะสักวันเขาอาจจะเกิด จุดเปลี่ยนของชีวิตที่ทำให้เขาคิดได้ เลิกได้เหมือนแซม

ขอบคุณมากนะแซม ที่ให้บทเรียนชีวิตของเขามาเป็นมุมมองของฉัน ทำให้ฉันเกิดทัศนคติที่ดีต่อผู้ป่วย คนอื่นมากขึ้น ขอบคุณจริง..จริง “ แค่กล้า ก็ ชนะ ” โชคดี…แซม

ถ่ายทอดโดยแอดมิน ศจย. : www.trc.or.th

๒๓ ก.ย. ๕๙

หมายเลขบันทึก: 615817เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2016 13:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กันยายน 2016 13:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท