(141) Learning Skills : ประสบการณ์ 'กลุ่มเรียนด้วยกัน'


ตั้งเป็น ‘กลุ่มเรียนด้วยกัน’ .. เปิดประเด็นเหตุการณ์บ้านเมือง แล้ววิพากษ์เชิงหลักการทฤษฎี .. สุดท้ายเราจะนำทุกประเด็นในวันนั้นมาวิเคราะห์ แล้วหาข้อสรุปร่วมกัน .. ในท้ายสุดแต่ละคนจะบอกว่าตนเองจะนำข้อสรุปนี้ไปใช้ในการวิเคราะห์ส่วนตัวอย่างไร เพราะอะไร

กระบวนทัศน์ positive sum game กับความสำเร็จในชีวิตของนักเรียน

เช้านี้ดิฉันอ่านบทความเรื่อง ‘กระบวนทัศน์ positive sum game กับความสำเร็จในชีวิตของนักเรียน’ ของ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช (https://www.gotoknow.org/posts/614285) ท่านเล่าถึงบทความเรื่อง Why We Should Stop Grading Students On A Curve ซึ่งเขียนโดย Adam Grant ศาตราจารย์ของ Wharton School, University of Pennsylvania ใน นสพ. New York Times วันที่ 10 กันยายน 2559

ในบทความนี้มีคำอธิบายเรื่อง “เกรดเฟ้อ” (Grade Inflation), “เกรดแฟบ” (Grade Deflation), ควรใช้วิธีให้เกรดแบบอิงเกณฑ์ (Absolute Grading) มากกว่าอิงกลุ่ม (Curve Grading), การสร้างวัฒนธรรมความร่วมมือ (Collaborative culture) ในชั้นเรียน ซึ่งการเรียนรู้ในชีวิตจริง มีมิติของการเรียนรู้ว่าใครทำเรื่องนั้นได้ดี และไปเรียนรู้จากคนนั้น ฯลฯ คลิกเข้าไปอ่านรายละเอียดนะคะ

learning skill กับ ศ.นพ.วิจารณ์

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช กล่าวว่าประเด็นนี้ทำให้ท่านหวนระลึกถึงพฤติกรรมของท่านในสมัยเด็กๆ ที่เฝ้าสังเกตคนเรียนเก่ง ว่าเขาเรียนอย่างไร แล้วหาทางฝึกตนเอง เมื่อทำงานก็สังเกตคนทำงานเก่ง สังเกตว่าเขาเก่งจุดไหน สังเกตวิธีการของเขา เอามาฝึกตนเอง แม้เวลานี้ท่านก็ยังประพฤติปฏิบัติอยู่ และตระหนักว่านี่คือ learning skill อย่างหนึ่ง

ดิฉันอ่านบทความนี้แล้วมีความรู้สึกร่วม เพราะเคยร่วมในเหตุการณ์ที่คล้ายกันนี้ค่ะ

learning skill ของเด็กบ้านนอก ยากจน

เมื่อสมัยเด็กๆ ครอบครัวของดิฉันยากจนมาก อาศัยอยู่ในอำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี พื้นที่ในสมัยนั้นเป็นชนบท เป็นสวนทุเรียนพันธุ์ดี ต้นตระกูลทางคุณพ่อดิฉันเป็นเศรษฐี มีสวนทุเรียนมากมาย แต่ครอบครัวดิฉันไม่มีสวนทุเรียนหรอกค่ะ และยังเป็นครอบครัวเดียวที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ ไม่มีแม้กระทั่งส้วม ไปอาศัยเข้าส้วมวัด (เป็นเด็กวัด) จึงรู้จัก ‘หมาวัด’ ทุกตัว ในระดับลงลึกถึงที่มาของหมาแต่ละตัว เพราะไปเข้าส้วมวัดดึกๆ ทุกคืน ระยะเวลายาวนานตั้งแต่เพิ่งเข้าส้วมเป็นถึงเรียนจบพยาบาลเชียวค่ะ

เล่าเรื่องเสียละเอียด เพื่อบอกว่าครอบครัวดิฉันยากจนมาก แต่เรียนหนังสือมาถึงจุดสูงสุดของชีวิตได้เพราะมี ‘การเรียนรู้ด้วยตนเอง’ ฟังดูเท่ห์นะคะ ดิฉันเพิ่งสรุปได้วันนี้ หลังจากอ่านบทความนี้ค่ะ

ดิฉันสังเกตเห็นเพื่อนคนที่เรียนเก่งอ่านหนังสือก่อนเข้าห้องเรียน อ่านในช่วงที่รอผู้ปกครองมารับกลับบ้าน นัดอ่านหนังสือทำการบ้านด้วยกันในวันหยุด ดิฉันไม่มีเพื่อนสนิทหรอกค่ะ เพราะไม่มีใครคบเด็กวัดเป็นเพื่อน จึงอ่านหนังสือคนเดียวข้างๆ โบสถ์บ้าง ในศาลาการเปรียญบ้าง หรือแม้กระทั่งบนบันไดกุฏิพระ หรือบนต้นไม้ใหญ่ ฯลฯ อ่านแล้วจดบันทึกไว้ แต่ดิฉันมีงานอดิเรกดีๆ ที่ทำให้มีเพื่อนที่ไม่สนิทบ้าง ด้วยการทำการบ้านมาให้เพื่อนลอก แลกกับขนม นม ดินสอ ไม้บรรทัด ฯลฯ แล้วแต่เพื่อนจะปันให้

learning skill ของนักเรียนพยาบาล

เมื่อมาเรียนพยาบาล ได้พบคนเก่งมากมาย จึงมีเพื่อนมากขึ้น แต่ดิฉันกลับเรียนจบพยาบาลด้วยเกรดเพียง 2.2 เท่านั้น ทั้งที่เราเรียนเป็นกลุ่ม และดิฉันเป็นติวเตอร์ให้เพื่อนในกลุ่ม เขียนรายงานกลุ่ม นำเสนองานกลุ่ม สรุปว่ากิจกรรมใดเป็นกิจกรรมกลุ่มย่อมเป็นหน้าที่ของดิฉันเสมอ มติกลุ่มมักเป็นเช่นนั้น (ฮา)

หลักสูตรพยาบาล มีทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติค่ะ ภาคทฤษฎีดิฉันทำคะแนนได้ไม่ค่อยดี เพราะมีปัจจัยเศรษฐกิจเข้ามาเกี่ยวข้องมาก ภาคปฏิบัติยิ่งเลวร้าย ดิฉันโดนไล่ลงจากหอผู้ป่วยหลายครั้ง แต่ยังดีที่กลับไปฝึกงานได้ในวันรุ่งขึ้น ไม่ได้ไล่แล้วไล่เลยแบบถาวร สาเหตุเนื่องมาจากดิฉันถูกสอนให้มีศักดิ์ศรีความเป็นคน เท่าที่คนๆ หนึ่งจะพึงมี จะไม่ยอมให้ใครมากดขี่ข่มเหงเป็นอันขาด .. ไม่มีใครกล้าข่มเหงดิฉันหรอกค่ะ ดิฉันถูกทำโทษเพราะเถียงแทนเพื่อนที่ถูกให้ร้ายค่ะ (ฮา)

learning skill ของ นศ.ปริญญาโท ภาคพิเศษ

เมื่อเรียนปริญญาโท ภาคพิเศษ ดิฉันติดกระดานไวท์บอร์ดแผ่นใหญ่สุดไว้ที่ผนังบ้าน อันที่จริงติดไว้ก่อนหน้านั้นแล้ว แล้วเขียนสรุป concept ต่างๆ ไว้บนบอร์ดนี้ เรียนวิชาใหม่ก็เขียนเพิ่มลงไป concept ต่างๆ ในกระดานก็จะพันกันยุ่งเหยิง ในตอนเช้าก่อนจะออกไปทำงาน ดิฉันจะนั่งจิบกาแฟ ทอดสายตาไปที่บอร์ด วิเคราะห์สังเคราะห์ออกมาเป็นสาระกรอบแนวคิดส่วนตัว ซึ่งดิฉันมาทราบภายหลังว่าลูกและสามีได้ซึมซับรับไปโดยไม่รู้ตัว จะเล่าเรื่องนี้ให้ฟังในภายหลังนะคะ

เหตุเกิดเมื่อเพื่อนๆ ที่เรียนปริญญาโทด้วยกัน แวะมารับดิฉันไปเรียนพร้อมกัน เพื่อนนั่งรอดิฉันอยู่ข้างกระดาน จึงได้อ่าน ได้ถาม ได้ถกเถียงกัน และได้รับอนุญาตให้เขียนเติมลงในกระดานได้ หลังจากนั้นดิฉันก็มีเพื่อนมาที่บ้านมากขึ้น บ่อยขึ้น จนตั้งเป็น ‘กลุ่มเรียนด้วยกัน’ แล้วแปรสภาพเป็นกลุ่มติวก่อนสอบของแต่ละวิชา ดิฉันมีความสุขกับการเรียนช่วงนี้มากค่ะ

learning skill ของ นศ.ปริญญาเอก ภาคพิเศษ

ช่วงที่เรียนปริญญาเอก ภาคพิเศษ สถานการณ์เปลี่ยนไป แม้ดิฉันจะยังใช้กระดานไวท์บอร์ดแผ่นเดิม แต่บ้านพักข้าราชการ (ห้องพัก) แคบมาก มองไปมองมา เพิ่งรู้ตัวว่าดิฉันใช้พื้นที่เกือบทั้งหมดของครอบครัวเป็นพื้นที่ส่วนตัวไปเสียแล้ว จึงย้ายตัวเองออกไปเช่าห้องพักเพื่อสร้างอาณาจักรส่วนตัว โดยมีสามีตามไปดูแล ตอนเช้าเขาจะไปรับดิฉันจากหอพักมาทำงานพร้อมตะกร้าผ้าเปื้อน ตอนเย็นก็รับดิฉันจากที่ทำงานไปส่งหอพักพร้อมตะกร้าผ้าสะอาด ถ้าเป็นวันหยุดก็จะพาไปทานข้าว ไปเดินเล่น (หมาวัด เลี้ยงง่ายนะคะ.. ฮา) สามีดิฉันเป็นสปอนเซอร์ที่ยอดเยี่ยมมาก จะเล่าเรื่องนี้ให้ฟังในภายหลังเช่นกันค่ะ

ดิฉันใช้หอพักนี้เป็นห้องเรียนชั่วคราวสำหรับ ‘กลุ่มเรียนด้วยกัน’ ไม่น่าเชื่อนะคะว่านักเรียนพยาบาลที่เรียนจบด้วยเกรด 2.2 ซึ่งถูกตัดสิทธิ์เรียนต่อระดับสูงขึ้นเพราะถูกพิพากษาโดยระบบว่าโง่เกินกว่าจะเรียนต่อได้ (เกรดต่ำกว่าเกรดต่ำสุดที่ได้รับอนุมัติให้ศึกษาต่อ) ยังคงเป็นติวเตอร์กลุ่มเรียนด้วยกันในระดับปริญญาเอก เราขยายกลุ่มไปรวมกับกลุ่มอื่นๆ เมื่อใกล้สอบค่ะ และยังมี ‘ติวสด’ หน้าห้องสอบ ที่เราจะเชื่อมโยงสถานการณ์ปัจจุบันที่เพิ่งเกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ มาเป็นประเด็นวิเคราะห์วิชาที่กำลังจะสอบด้วยกัน

วิธีการติวแต่ละครั้งไม่ได้แบ่งเป็นฝ่ายให้กับฝ่ายรับ เหมือนการติวทั่วไปนะคะ แต่เป็นการเปิดประเด็นเหตุการณ์บ้านเมือง แล้ววิพากษ์เชิงหลักการทฤษฎี เหมือนกับที่นักวิชาการหรือผู้รู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องหนึ่งๆ ได้รับเชิญมาวิพากษ์ในรายการโทรทัศน์เมื่อมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น คนหนึ่งเปิดประเด็น อีกคนวิพากษ์ คนอื่นๆ หาข้อโต้แย้ง ถ้ากลุ่มเริ่มเงียบลงดิฉันก็จะเปิดประเด็นใหม่ สุดท้ายเราจะนำทุกประเด็นในวันนั้นมาวิเคราะห์ แล้วหาข้อสรุปร่วมกัน .. ยังไม่จบนะคะ เพราะในท้ายสุดแต่ละคนจะบอกว่าตนเองจะนำข้อสรุปนี้ไปใช้ในการวิเคราะห์ส่วนตัวอย่างไร เพราะอะไร เช่น

“ผมจะเริ่มด้วยแนวคิด.. ต่อด้วยแนวคิด.. แล้ววิพากษ์ว่า.. สรุปเชื่อมโยงมาที่.. แม้อาจารย์จะไม่ยอมรับสองแนวคิดที่ตรงข้ามกัน หาว่าแทงกั๊กไม่ฟันธง ผมก็ยืนยันตามนี้”

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช กล่าวว่า

“ศ. แกรนท์ เอ่ยถึงคุณภาพของการเรียนเป็นทีม ทำให้ได้ transactive memory หรือ group mind ซึ่งมีพลังสูงกว่า individual memory”

สำหรับดิฉัน การเรียนแบบร่วมมือกัน ส่งผลให้ดิฉันเรียนจบเป็นคนสุดท้ายในรุ่น อย่างมีความสุขค่ะ (ฮา)

หมายเลขบันทึก: 614336เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2016 12:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2017 16:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ว้าว !!! พลอยมีความสุขกับกลุ่มคุณพี่ไปด้วย และคงเฮฮาน่าดู ๕ ๕ ๕

Thank you for sharing this great lesson for learning.

I like the way you put learning materials into (your home) environment so the whole family can learnwith you.

Learning is private. But learning materials should be shared -- open source!

ชื่นชมจากใจนะครับ การเรียนรู้ที่ก่อให้เกิดทักษะ เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวดเลย

และผมชอบการเรียนรู้ที่พูดถึงการ "เชื่อมโยง"

ซึ่งในบันทึกนี้ก็สะท้อนยึดโยงให้เห็นในตัว

ขอบพระคุณครับ

สวัสดีค่ะน้องดารนี

สุดยอดมากค่ะ คนเกรดดีใช่ว่าจะทำงานเก่งทุกคนนะคะ


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท