ข้าวงวงช้างข้าวร้อยปีจังหวัดตรัง


แห่งเดียวในประเทศไทยและการกลับมาของข้าว "งวงช้าง" ข้าว 100 ปีของจังหวัดตรัง.. จังหวัดตรัง มีชุมชนแห่งหนึ่ง ชื่อชุมชนควนขัน มีประเพณีชักพระหรือลากพระ เป็นประเพณีเก่าแก่ที่ชาวพุทธในภาคใต้ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลานาน วันแรม 1 ค่ำเดือน 5 ของทุกๆปี ชาวบ้านชุมชนควนขันจะพร้อมใจกัน จัดงานประเพณีชักพระที่่วัดควนขัน ชาวบ้านช่วยกันตกแต่งเรือพระ ทำขนมต้ม ประเพณีลากพระ ปี59 ตรงกับวันที่ 21- 22 เมษายน เทศบาลนครตรังได้ร่วมกับชุมชนจัดงานขึ้น เพื่อส่งเสริมสนับสนุนอนุรักษ์ฟื้นฟูและสืบสานขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น รวมทั้งปลูกฝังค่านิยมความเป็นไทยเพื่อสำนึกรักษ์ถิ่นบ้านเกิด มีกิจกรรมเช่น พิธีสมโภชเรือพระ ทำบุญตักบาตร การชักพระ สาธิตการทำขนมต้ม ขนมลา การละเล่นกีฬาพื้นบ้าน การแสดงศิลปวัฒนธรรม การแสดงดนตรีของนักเรียน และชุมชน ช่วงเช้าของวันทำบุญ ชาวบ้านชุมชนควนขันและชุมชนใกล้เคียงจะมาร่วมกันชักลากเรือพระที่ตกแต่ง สวยงามจากวัดควนขันไปยังบริเวณสามแยกทางเข้าชุมชนควนขัน บนถนนสายตรังพัทลุงเพื่อให้ประชาชนและเยาวชนที่เดินทางผ่านไปผ่านมาได้ร่วมกันสักการะบูชาเรือพระ หลังจากนั้นช่วงเย็นชาวบ้านหรือชุมชนจะพร้อมใจกันลากเรือพระกลับมายังวัดควนขันถือเป็นประเพณีชักพระเดือน 5 ที่เหลือแห่งเดียวในจังหวัดตรังและในประเทศไทย สำหรับความเป็นมาของประเพณีชักพระเมื่อครั้งอดีตมีคณะพุทธบริษัทจากวัดต่างๆในจังหวัดตรังรวมทั้งวัดควนขันร่วมกันชักเรือพระไปประดิษฐานไว้กลางทุ่งนา ในวันแรม 1 ค่ำเดือน 5 เดือนเมษายนของทุกปี จากนั้นก็จะทำการแย่งพระซึ่งมีลักษณะคล้ายกับการชักคะเย่อ เมื่อนำพระที่ได้ไปประดิษฐานไว้ที่วัดในหมู่บ้านของตนพร้อมบุษบกและเรือพระจากวัดใดเป็นผู้ชนะก็จะได้เป็นเจ้าภาพในปีถัดไป ประเพณีเก่าแก่ที่มีมาอย่างช้านานได้รับการสืบสานมาอย่างต่อเนื่องถึงแม้ว่าวันนี้สภาพพื้นที่บริเวณดังกล่าวจะเปลี่ยนไปมาก แต่ยังมีเค้าลางให้เห็นว่า พื้นที่ลุ่มในชุมชนดั้งเดิมมีการปลูกข้าวทำนามาก่อน มีการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา มีการทำต้มแขวนเรือพระ สำหรับเรื่องข้าวอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจมากที่วัดควนขันงานประเพณีชักพระ มีการนำข้าวพื้นเมืองตรังมาตั้งโชว์ให้เห็นหลายสายพันธุ์หนึ่งในนั้นคือข้าวสายพันธุ์พื้นเมืองและเป็นข้าวตรังดั้งเดิมนั่นคือข้าวงวงช้าง ข้าวงวงช้างเป็นข้าวประจำถิ่นลุ่มคลองนางน้อย จังหวัดตรังปลูกในนาลึกพื้นที่บริเวณนาเขาช้างหาย ที่ลุ่มสะพานยาว บ้านนาทองหลาง ทุ่งนางามหน้าวัดพระงาม ทุ่งควนขัน ทุ่งโคกหล่อเป็นข้าวที่มีความผูกพันธ์มาอย่างช้านานกับจังหวัดตรัง บัญชีสอบสวนพันธุ์ข้าวหนักในจังหวัดตรังระหว่างปีพุทธศักราช 2458 ถึงปี 2460 เอกสารมณฑลภูเก็ตระบุชื่อ ข้าวงวงช้าง ไว้ในบัญชีว่าเป็นข้าวในพื้นที่ตรังแล้ว เป็นข้าวสายพันธุ์เดียวที่มีหลักฐานบ่งบอกว่ามีอายุ 100 ปีมาแล้ว ด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวของข้าวพันธุ์นี้ที่ปลูกในที่ลึกเป็นข้าวลู่ลำต้นขึ้นตามน้ำ ข้าวงวงช้างปรับตัวได้ดีในสภาพน้ำท่วมสามารถปลูกง่ายๆแค่พอกดินที่โคนต้นกล้าแล้วโยนลงไปในนาที่ตัดหญ้าออกแล้ว ข้าวงวงช้างจะสามารถเจริญเติบโตได้ในสภาพดังกล่าวต้นสูงตามน้ำลำต้นอาจยืดตัวสูงได้ 2 ถึง 3 เมตร ในแต่ละพื้นที่เมื่อข้าวออกรวงจะชูรวงโบกโบยไปมากับสายลมเหมือนงวงช้างชาวบ้านจึงตั้งชื่อว่า "ข้าวงวงช้าง" ลักษณะที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ เมล็ดปลายรวงข้าวจะมีหางยื่นออกมาอย่างชัดเจนมีค่าแป้งอมิโรส 22.39เปอร์เซ็นต์ เมล็ดข้าวสารยาว ความนิ่มใกล้เคียงกับข้าวเล็บนกปัตตานี ซึ่งเป็นที่นิยมในปัจจุบัน ข้าวงวงช้างเป็นข้าวหนักมากปลูกเดือน 8 เก็บเกี่ยวเดือน 4 ในขณะที่ข้าวหนักอื่นๆจะเก็บในเดือนยี่เดือน 3 ชาวบ้านในพื้นที่ลุ่มคลองนางน้อย โดยเฉพาะที่หน้าวัดพระงาม ที่ควนขัน ที่โคกหล่อ ต้องรอให้เก็บเกี่ยวรวงข้าวรวงช้างเสร็จก่อนจึงจะสามารถจัดกิจกรรมลากเรือพระได้ กล่าวได้ว่าข้าวงวงช้างเป็นที่มาอีกอย่างหนึ่งของการลากเรือพระเดือนห้าในทุ่งนาแถวบ้านโพธิ์ นาพระ ควนขัน โคกหล่อ ประเพณีท้องถิ่นที่ชาวชุมชนและหน่วยงานท้องถิ่นร่วมกันจัดขึ้นรวมทั้งผู้ที่สนใจได้ร่วมกันสืบสานสะท้อนคุณค่าของวิถีชีวิตอันเรียบง่ายและการมีศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาที่ถ่ายทอด สืบเนื่องต่อมาจากรุ่น ปู่ย่าตายายพ่อแม่สู่ลูกหลาน การช่วยกันฟื้นฟูสายพันธุ์ของข้าวพื้นเมืองดั้งเดิมซึ่งเกือบจะสูญหายไปแล้วให้กลับคืนมาคืนถิ่น ที่เคยอยู่อีกครั้งนั้นเป็นความพยายามอย่างมากที่จะคงเอกลักษณ์ท้องถิ่นตรังให้ทุกคนได้ระลึกรู้ถึงคุณค่าของประเพณีอันดีงามแสดงออกถึงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษและพื้นแผ่นดินเป็น การรวมศรัทธาของผู้คนให้ก่อเกิดความรักความสามัคคี จากห่างไกลให้กลับมาใกล้ จากรอยแยกให้กลายมาเป็นผสมผสาน จากแตกเหล่าให้กลับกลายมาเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เป็นการจรรโลงจิตใจให้รู้ซึ้งถึงคุณค่าของการดำรงชีวิตให้มีความสุขมีความอบอุ่นทำให้ผู้คนและชุมชนเกิดความสงบสุขทั้งกายใจและ จิตวิญญาณนับเป็นคุณค่าที่เกิดขึ้นในสังคมคนตรังอย่างแท้จริง

หมายเลขบันทึก: 613208เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2016 17:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กันยายน 2016 16:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

-สวัสดีครับ

-ถือเป็นพันธุ์ข้าวที่ผมเพิ่งเคยรู้จักครับ

-ข้าวงวงช้าง น่าสนใจมาก ๆ ครับ

-หากนำมาใช้แก้ปัญหาเรืืองการปลูกข้าวในที่ลุ่มที่น้ำท่วมขังก็คงจะดีไม่น้อย

-แต่เท่าที่อ่านดู ถือว่าข้าวพันธุ์นี้เป็นภูมิปัญญาของคนโบราณที่ปลูกเอาไว้ในเขตน้ำอยู่แล้ว

-ชอบใจกับการนำเรื่องราวดี ๆ แบบนี้มาเผยแพร่ครับ

-ขอบคุณครับ


ถือเป็นหน้าที่ของคนไทยคนหนึ่งในอีกหลายคนที่ เห็นคุณค่าของ พันธุกรรมพืชเพื่อความมั่นคงทางอาหารของไทย ขอบคุณครับที่ให้กำลังใจ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท