ครูเพื่อศิษย์วันละคน _ ๑๐๒ : ครูจันทร์เพ็ญ เทียงดาห์ "การใช้กลอนสอนคิด"


คุณครูจันทร์เพ็ญ เทียงดาห์ ครูภาษาไทยระดับประถมศึกษา โรงเรียนบ้านหนองคูขาด ต.หนองคูขาด อ.บรบือ จ.มหาสารคาม เป็นตัวอย่างหนึ่งของความสำเร็จของ "ระบบวิทยฐานะ" ของกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งหนึ่งหลังจากการอบรมเชิงปฏิบัติการส่งเสริมให้คุณครูทำผลงานเพื่อขอรับตำแหน่งวิทยฐานะ ท่านออกมาเดินดูหนังสือที่มาวางขายหน้าห้องประชุม สะดุดใจกับแบบฝึกแต่งกลอนเล่มหนึ่ง จึงซื้อหนังสือนั้นมาและเริ่มศึกษาเรียนรู้ ค้นหา และพัฒนาวิธีการสอนด้วยตนเอง จนสำเร็จกลายเป็น BP ที่ทำให้ท่านลูกศิษย์สามารถแต่งกลอนได้อย่างไพเราะ ท่านได้เลื่อนวิทยฐานะ และโรงเรียนมีชื่อเสียงจากรางวัลที่ท่านและลูกศิษย์คว้ามาได้จากการแข่งขันต่าง ๆ

ทำไมเลือกเรื่องการ "แต่งกลอน" .... ครูจันทร์เพ็ญ เล่าว่า ครั้งหนึ่งน้องสาวท่าน มาขอความช่วยเหลือให้แต่งกลอนให้ จะนำไปให้เด็กท่องตอนเลิกเรียน ตอนที่แต่งให้ไป ก็ไม่คิดว่าจะดีอะไรมาก แต่พอนักเรียนท่องกลอนนั้นเสียงดัง ท่านได้ฟังแล้วก็เกิดความรู้สึกชอบกลอน ชอบการแต่งกลอนตั้งแต่ตอนนั้นมาก

การทำผลงานเพื่อขอเลื่อนตำแหน่งวิทยฐานะด้วยตนเอง ด้วยความขยันฝึกฝน ฝ่าฟัน (และน่าจะด้วยความสุข) ทำให้ประสบการณ์ตรงของครูจันทร์เพ็ญ ตกผลึกมาเป็นแนวปฏิบัติในการสอนให้นักเรียนแต่งกลอน ท่านจะสอนนักเรียนโดยให้นักเรียน เรียนรู้ด้วยการฝึกคิด ฝึกปฏิบัติ ลงมือทำด้วยตนเอง เหมือนกันที่ท่านฝ่าฟันมาด้วยตนเอง ดังจะนำเสนอต่อไปนี้

การสอนคิด้วยการให้แต่งกลอน หรือ การใช้ "กลอนสอนคิด"

รูปแบบการสอนของครูจันทร์เพ็ญ ถอดบทเรียน (จากการฟัง) ท่านได้ ๘ ขั้นตอน ดังภาพ (คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)


ขั้นที่ ๑ กำหนดประเด็น

ขั้นนี้ท่านจะเป็นผู้กำหนดประเด็นขึ้นมาเอง ตามเหตุการณ์หรือกิจกรรมสำคัญ ๆ ในโรงเรียน เช่น เกี่ยวกับวันแม่ วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ฯลฯ โดยสิ่งสำคัญคือ การเน้นเหตุผลด้วยว่า เป้าหมายสำคัญของสิ่งนั้น ๆ คืออะไร ... ผมตีความว่า นี่คือ BAR เป้าหมายในการใช้ KM ที่ผมทำอยู่

ขั้นที่ ๒ ระดมสมอง

ให้นักเรียนทุกคนออกมาเขียนคำที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่กำหนดบนหน้ากระดาน โดยมีเงื่อนไขว่าต้องไม่ซ้ำกัน ... วิธีนี้ทำให้ นักเรียนได้ฝึกคิด และได้ฝึกคิดวิเคราะห์ทั้งแยกแยะและเชื่อมโยงสัมพันธ์อย่างที่สุด คำที่มีอยู่บนกระดานน่าจะสะท้อนได้ดีมากกว่า ความรู้และทักษะการคิดของนักเรียนอยู้่ในระดับใด และแน่นอนว่า การนำวิธีนี้ไปใช้ ไม่ใช่ว่าจะทำได้ง่ายและเห็นผลเร็ว ... คงต้องถามเทคนิครายละเอียดจากครูจันทร์เพ็ญเอาเองครับ

ขั้นที่ ๓ อภิปราย ทำความเข้าใจ คำที่เขียนไว้

วิธีการคือ ท่านจะให้นักเรียนอ่านคำบนกระดานที่ละคำ ทีละคน และอ่านพร้อมกัน คำใดที่ใครอ่านไม่ได้ จะได้รับการแก้ไขจากนักเรียนผู้เขียนคำนั้น ถือเป็นกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่แยบยลยิ่ง และสิ่งที่สำคัญมากคือ ท่านจะใช้โอกาสนี้ในการเพิ่ม เติม ขยายความรู้เกี่ยวกับศัพท์หรือคำที่จำเป็นอันเกี่ยวกับประเด็นนั้นๆ ... แน่นอนครับ ต้องใช้ประสบการณ์จากงานของท่าน

ขั้นที่ ๔ วิเคราะห์ จัดหมวดหมู่

ให้นักเรียนจัดหมวดหมู่ของคำทั้งหมดที่ได้มา ออกเป็นหมวดหมู่ตามความคิดของนักเรียน แล้วท่านก็จะช่วยแนะโดยช่วยกำหนดหัวข้อย่อยให้ แล้วให้นักเรียนคิดเพิ่มเติมหัวข้อย่อยเหล่านั้นให้สมบูรณ์ขึ้น แล้วช่วยกันทำเป็นโครงสร้างของกลอนว่า ส่วนใดควรจะมาก่อนมาหลัง เหมือนสร้างพล็อตเรื่องขึ้น ก่อนจะฝึกให้เขียนบทนำ เนื้อหา และบทสรุป

ขั้นที่ ๕ ลงมือแต่งกลอน

หลังจากสอนเรื่องโครงสร้างของกลอน โดยคำนึงถึงความยากง่ายให้เหมาะสมกับศักยภาพของเด็ก จากง่ายไปยากแล้ว ท่านจะให้นักเรียนเริ่มแต่งกลอนด้วยตนเอง โดยแนะนำวิธีเขียนบทนำ คือ ให้เอาหัวข้อย่อยเหล่านั้นมาแต่งเป็นกลอน วิธีเขียนส่วนเนื้อหา ให้ใช้คำศัพท์ที่อยู่ในหมวดหมู่หัวข้อย่อยต่างๆมาร้อยเรียงกัน ก่อนจะแต่งเป็นบทสรุปในตอนท้าย... คงไม่สามารถอธิบายได้ครับ ใครสนใจโปรดไปเยี่ยมศึกษาดูงานท่านที่โรงเรียน

ขั้นที่ ๖ ครูวิพากษ์และเกลาแก้ไขให้ไพเราะ

ให้นักเรียนอ่านบทกลอนของตนเอง ท่านจะวิพากษ์และเกลาแก้ไขให้ไพเราะมากขึ้น เทคนิคและรายละเอียดตรงนี้นั่นเอง ที่เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จประการสำคัญของท่าน ... เราเรียกว่า ความรู้ฝังลึก (Tacit Knowledge) ที่ยากจะอธิบายให้ผู้อื่นเข้าใจ

ขั้นที่ ๗ สร้างชิ้นงาน

บทกลอนที่นักเรียนได้แต่งขึ้น ถือเป็นชิ้นงานอยู่แล้ว การสร้างชิ้นงานในที่นี้ จะมุ่งไปที่การเตรียมตัวนำเสนอบทกลอนของตน ๆ ในลักษณะต่างๆ เพื่อแสดงในวันงาน เช่น จัดบอร์ด ฝึกขับกลอน เป็นต้น

ขั้นตอนที่ ๘ การนำเสนอ

นักเรียนทุกคนได้นำเสนอผลงานของตนต่อผู้อื่น มีการจัดประกวดบทกลอน และมอบรางวัลเพื่อเสริมแรงใจให้นักเรียนที่มีความสามารถและมีพัฒนาการดีเด่น ฯลฯ


วันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๙ ท่านอาจารย์สุริมภา (ศน. สพป.มค.๑) เชิญผมไปร่วมวง PLC จัดทำแผนการสอนคิดด้วยการอ่านคิดวิเคราะห์ ผมแนะนำท่านให้เชิญคุณครูจันทร์เพ็ญ เทียงดาห์ ให้เมาเล่าเรื่อง BP เรื่องการสอนนักเรียนแต่งกลอนของท่านให้ฟังเพื่อนครูฟัง เพราะ BP การสอนของท่าน เป็นกระบวนการสอนการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และสร้างสรรค์ บนฐานของวัฒนธรรมไทย ตรงกับเป้าของ ""ประเทศไทย ๔.๐" แบบเต็งๆ ...


หลักการสอนคิด

ผมแลกเปลี่ยนหลักการที่เกี่ยวกับเรื่อง "การคิด" ตามความเข้าใจที่ได้เรียนรู้ทั้งจากการฟัง การคิด และการปฏิบัติด้วยตนเอง ต่อวง PLC ๓ ประการ คือ

๑) ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน ... เราใช้ใจฟัง ไม่ได้ใช้หูฟัง ใช้หูเป็นเครื่องมือ เช่นเดียวกัน...เราใช้ใจคิด โดยใช้สมองเป็นเครื่องมือ

๒) ใจหรือจิต จะกระทำได้ทีละอย่าง ทีละขณะเท่านั้น ไม่สามารถทำสองอย่างพร้อมกันได้ เช่น ขณะที่ฟังจะไม่ได้คิด ขณะที่คิดจะไม่ได้ฟัง ขณะที่รู้จะไม่ได้คิด ขณะที่คิดจะไม่รู้

๓) ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นมาแต่เหตุ หากอยากจะให้เกิดผลต้องทำเหตุ ไม่ใช่มุ่งสร้างผลลัพธ์ แต่ต้องมุ่งทำเหตุให้มาก เช่น หากอยากให้นักเรียนเก่งเรื่องคิด จะต้องทำให้เด็ก "ฝึกคิด" เป็นต้น

หากจะสอนเรื่องการคิด สิ่งที่ไม่ควรยึดติดคือทฤษฎีการศึกษาเกี่ยวกับการคิดต่าง ๆ เพราะทฤษฎีการคิดเหล่านั้นจะกลายเป็นกรอบครอบไม่ให้จิตนาการสิ่งใหม่ ๆ

ทฤษฎีการคิดที่นิยมนำมาสอนกันคือ ทฤษฎีของบลูม (Bloom ตั้งแต่ปี 1964) ที่แบ่งการคิดวิเคราะห์ออกเป็น ๓ แบบคือ คิดวิเคราะห์แยกแยะองค์ประกอบ (Analysis of Elements) คิดวิเคราะห์ความสัมพันธ์ (Analysis of Relationship) และ คิดวิเคราะห์หลักการและจัดระเบียบ (Analysis of Principle, Organization) (คลิกอ่านบล็อคของคุณพระจันทร์ยิ้มได้ที่นี่ )

ครั้งหนึ่ง ปราชญ์ท่านหนึ่งไปเยี่ยมโรงเรียน คุณครูเจ้าของผลงาน นำเสนอวิธีการสอนคิด โดยแบ่งฐานการฝึกออกเป็น ๓ ฐานการฝึก ไว้ภายในห้องเรียน ฐานที่ ๑ เป็นฐานการฝึกคิดแยกแยะองค์ประกอบ โดยมีใบงานและกิจกรรมถามให้นักเรียนตอบองค์ประกอบของสิ่งที่เห็น ฐานที่ ๒ เป็นการคิดวิเคราะห์ควาามสัมพันธ์ มีใบงานให้โยงความสัมพันธ์ บอกความสำคัญ บอกหน้าที่ขององค์ประกอบที่เห็น และฐานที่ ๓ เป็นฐานคิดวิเคราะห์หลักการ ให้ตอบหลักการจากเหตุการณ์หรือข้อมูลที่ได้รับรู้ ... ท่านตั้งคำถามประมาณว่า หากมีการคิดที่ต้องฝึกเป็นสิบแบบ จะต้องทำฐานการฝึกคิดแบบนี้สิบฐานหรือ? ... ท่านบอกว่า ความจริงแล้ว การคิดไม่ได้เกิดขึ้นที่ละอย่างแบบนั้น และไม่ได้เกิดในลำดับขั้นตอนตายตัว ... ดังนั้น การฝึกคิด ไม่ใช่การแยกส่วนฝึกคิด แต่ควรเป็นการฝึกคิดจริงๆ ในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะปัญหาจริงๆ ที่มีจริงในชีวิต ซึ่งก็คือหลักสูตร 3PBL 4.0 นั่นเอง

วิธีการใช้ "กลอนสอนคิด ๘ ขั้นตอน" ของครูจันทร์เพ็ญ ไม่ได้แยกส่วนสอนคิด แต่เป็นการสอนโดยเอานวัตกรรมหรือชิ้นงานเป็นเป้าหมาย แล้วครูอำนวยการเรียนรู้แบบ "พาทำ นำคิด" ในตอนแรกๆ และ "ชง ชวน ช่วย" ในขั้นตอนต่อมา และจบด้วยการ "เชียร์ และชื่นชม" ในตอนท้าย ... ผมคิดว่า แม้ครูจันทร์เพ็ญจะไม่ได้เรียกรูปแบบการสอนแบบนี้ว่า 3PBL แต่สำหรับผมแล้วนี่คือ 3PBL สำหรับการสอนแต่งกลอน หากครูค่อยๆ ถอยออกมาจนนักเรียนทำได้เองตั้งแต่ต้นจนจบ ...











ครูเพื่อศิษย์วันละคน _ ๑๐๑ : ครูจิตลัดดา ภวภูตานนท์ "การสอนที่เน้นผู้เรียนรายบุคคลเป็นศูนย์กลาง"

หมายเลขบันทึก: 613203เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2016 13:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 กันยายน 2016 13:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท