หลักสูตร 3PBL 4.0


กิจกรรมวันที่สองของเวที PLC ครูเพื่อศิษย์อีสาน ประจำปี ๒๕๕๙ (๒๒-๒๓ กรกฎาคม) เราให้ความสำคัญกับการยกระดับกระบวนการเรียนรู้ไปสู่ "3PBL 4.0" หลังจากที่เราได้ทำ AAR กันว่า หลักสูตร 3PBL ที่ดำเนินกันมานั้น ดูเหมือนจะไม่ได้กำหนดเน้นเรื่องการสร้างนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียน ทำให้ไม่มี "ชิ้นงาน" ไปร่วมการประกวดต่าง ๆ ตามกระแสขับเคลื่อนการศึกษาของเมืองไทยตอนนี้ ที่มุ่งให้ผลงานและรางวัล ซึ่งการพิจารณาทุนการศึกษาและการคัดเลือกคนเข้ามหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ ก็(ดันไป)ให้ความสำคัญกับรางวัลเสียด้วย ... อย่างไรก็ตาม การเน้นเรื่องทักษะการคิดสร้างสรรค์และการสร้างนวัตกรรมเพื่อให้แก้ปัญหาได้จริงๆ ถือเป็นสิ่งที่่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในศตวรรษใหม่ที่ ๒๑ นี้

"วง PLC" จะยกระดับความรู้และประสบการณ์ได้ดี นอกจากการต้องมีการ "ลงมือปฏิบัติ" แล้ว สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือ ต้องมีใครสักคนใน "วง" นำความรู้หรือประสบการณ์ใหม่ ๆ หรืออาจได้มาจากการอ่าน การไปฝึกอบรมพัฒนา หรือมีผู้ทรงคุณวุฒิ มีผู้เชี่ยวชาญเข้ามากระตุ้นให้ความเห็น เป็นต้น ... เช่นเดียวกับการยกระดับกระบวนการของ "PLC ครูเพื่อศิษย์อีสาน" ในครั้งนี้ ที่คุณครูเพ็ญศรี ใจกล้า เสนอว่า เราต้องพาเด็กนักเรียนไปให้ถึง "ทักษะการสร้างนวัตกรรม" และครูศิริลักษณ์ ชมพูคำ ที่เรารบกวนท่านมาเล่าให้ฟังว่า จะสามารถนำเอาผลลัพธ์เชิงประจักษ์ของตน ไปทำ "ผลงานทางวิชาการ" เพื่อความก้าวหน้าทางวิชาชีพได้ ... บันทึกนี้จะมุ่งเล่าให้ผู้อ่านฟังว่า 3PBL 4.0 ที่เราได้เรียนรู้จากครูเพ็ญศรี ใจกล้า นั้นเป็นอย่างไร

ทำไมเรียก 4.0

ผู้อ่านที่ชื่นชอบเทคโนโลยี อาจจะคุ้นกับคำว่า 4G ที่ย่อมาจาก 4th Generation หรือยุคที่ ๔ ของการสื่อสารผ่านอุปกรณ์มือถือ ที่เปลี่ยนแปลงรุดหน้าอย่างรวดเร็ว

  • 1G พูดได้ทีละคน พูดพร้อมกันไม่ได้ ให้นึกถึงวิทยุสื่อสารไงครับ เวลาจะพูดต้องกดปุ่ม พูดเสร็จต้องวางปุ่ม
  • 2G พูดพร้อมกันได้ คุยโต้ตอบได้เลย ไม่ต้องกดปุ่มใดๆ ส่งข้อความได้ด้วย ก็คือโทรศัพท์มือถือรุ่นแรก รุ่นกระดูกหมาไงครับ
  • 3G นอกจากคุยโต้ตอบได้ ส่งข้อความได้ ยังสามารถส่งไฟล์รูปภาพ ส่งไฟล์เสียง ไฟล์วีดีโอ ได้ด้วย เพราะยุคนี้สามารถส่งข้อมูลได้มากและรวดเร็ว .... แน่นอนครับ "กินเงิน" เราเร็วด้วย ....
  • 4G ใครที่มีโทรศัพท์ยุคนี้ สามารถคุยกันแบบเห็นหน้า หรือที่เรียกว่า "วีดีโอคอล" ได้เลยครับ นอก

แต่สำหรับผู้อ่านทั่วไปที่ไม่ค่อยสันทัดเทคโนโลยี ท่านคงจะได้ยินคำว่า "ไทยแลนด์ 4.0" จากรัฐบาลเมื่อไม่นานมานี้เอง (อ่านได้ที่นี่) เป็นการแบ่งการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศออกเป็น ๔ ยุค ได้แก่

  • ไทยแลนด์ 1.0 คือยุคภาคเกษตร
  • ไทยแลนด์ 2.0 คือยุคอุตสาหกรรมเบา เช่น ทอผ้า อาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ
  • ไทยแลนด์ 3.0 คือยุคอุตสาหกรรมหนัก เช่น รถยนต์ เหล็ก ปูน ฯลฯ
  • ไทยแลนด์ 4.0 คือยุคแห่งนวัตกรรม

เป็นความพยายามที่จะพาประเทศให้หลุดออกจาก "กับดักประเทศผู้มีรายได้ปานกลาง" ที่เน้นการผลิต (ต้องพูดว่ารับจ้างผลิต) ไปสู่ Value Based Economy เน้นเรื่องเพิ่มมูลค่า คุณค่า ด้วยนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ อ่านบันทึกสรุปการสืบค้นและสังเคราะห์ความได้ที่นี่

คุณครูเพ็ญศรีสรุปว่า ยุค ๔.๐ นั้น ผู้เรียนเปลี่ยน สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี สังคม กฎหมาย ทุกอย่างเปลี่ยน ดังนั้นการเตรียมคนสำหรับยุคนี้จึงต้องเปลี่ยนด้วย ... ผมจึงตั้งชื่อหลักสูตรเป็น "3PBL 4.0" ด้วยเหตุประการนั้น เพื่อให้ทันสมัยและนโยบาย สื่อสารกันได้ง่ายขึ้น...

หลักสูตร 3PBL 4.0

โดยหลักการ กระบวนการ และวิธีการนั้น ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก แต่สิ่งที่เน้นย้ำมาก ๆ มากจนทำให้ 3PBL ----> กลายเป็น "3PBL 4.0" (แบบก้าวกระโดดข้าม 1.0 2.0 3.0) ก็คือ "ความคิดสร้างสรรค์" (Creative Thinking) ผ่านการเรียนรู้ที่เน้นสร้าง "ชิ้นงาน" ที่เป็น "นวัตกรรม" ทำเอง



(Cr. เพ็ญศรี ใจกล้า)

ครูเพ็ญศรี เน้นในกล่องข้อความสีชมพูว่า ความคิดสร้างสรรค์ไม่ใช่พรสวรรค์ สามารถฝึกกันได้ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นคำของ ศาสตราจารย์ กิลฟอร์ด (Guilford) นักจิตวิทยาชาวอเมริกา ซึ่งเสนอมาไว้ตั้งแต่ 1967 หรือ สี่สิบกว่าปีที่แล้ว (อ่านเรื่องนี้จากบันทึกของครูแอ๋มได้ที่นี่) และยกเอาทฤษฎีการคิดสร้างสรรค์ เกี่ยวกับ องค์ประกอบและประเภทของความคิดสร้างสรรค์ มาเล่าให้เพื่อนครูได้ทบทวนกัน ดังนี้ว่า

  • ความคิดสร้างสรรค์ มี ๔ องค์ประกอบได้แก่ คิดละเอียดละออ (Elaboration) คิดริเริ่ม (Originality) คิดยืนหยุ่น (Flexibility) และ คิดคล่อง (Fluency)
  • ประเภทของความคิดสร้างสรรค์หรือระดับของการสรรค์สร้าง มี ๔ ระดับ ได้แก่ ระดับลอกเลียน (Duplicate) ระดับต่อเนื่อง (ต่อยอด ขยาย Extension) ระดับสังเคราะห์ (Synthesis) และระดับสร้างนวัตกรรม (Innovation)

โดยสิ่งที่เราต้องเปลี่ยนก็คือ ครูต้องเรียนรู้และให้ความสำคัญเรื่องนี้ แล้วใช้วิธีอำนวยการเรียนรู้ไปสู่จุดนั้น

กิจกรรมส่งเสริมทักษะการคิดสร้างสรรค์

โจทย์ของครูคือ ทำอย่างไรจะฝึกให้นักเรียนมีความคิดสร้างสรรค์และมีประสบการณ์มากพอที่จะสร้างนวัตกรรมอันสามารถนำไปใช้ได้จริง ต่อไปนี้เป็นกิจกรรมตัวอย่างของการออกแบบกิจกรรมนำให้นักเรียนได้ฝึกความคิดสร้างสรรค์ และสร้างนวัตกรรมในความคิด ... ผมจับหลักจากคำอธิบายของครูเพ็ญศรี ๓ อย่างคือ

  • ให้แยกความคิดหริอจิตนาการ ออกจากความเป็นจริงในการนำไปใช้งาน ... คือ บอกนักเรียนให้ใช้จิตนาการได้เต็มที่ โดยไม่ต้องมีเงื่อนไขใด ๆ
  • กำหนด "ชนวนคิด" (ผมตั้งชื่อให้เอง...จะได้เข้าใจง่ายครับ) ให้ก่อน เช่น สร้างสถานการณ์ กำหนดอุปกรณ์ หรือ กำหนดเงื่อนไข ให้เป็นจุดเริ่มต้นของการฝึกคิดสร้างสรรค์นวัตกรรม
  • ให้คิดเป็นกลุ่ม ให้เด็ก ๆ คิดเป็นกลุ่ม โดยใช้กระดาษฟลิบชาร์ท และเขียนสรุปความคิดสร้างสรรค์หรือนวัตกรรมของกลุ่มเป็นรูปภาพ ก่อนจะให้นำเสนอไอเดียหน้าชั้นเรียน

หลังจากละลายพฤติกรรมด้วยกิจกรรม Brain Gym และกิจกรรมจิตศึกษา แต่ละกลุ่ม (กลุ่มละ ๔-๕ คน) ได้รับแจกซองสีน้ำตาล เมื่อเปิดผนึก พบว่าอุปกรณ์ที่ได้มาแตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่ม ครูเพ็ญศรี ให้เวลาประมาณ ๑๕ นาที เขียนไอเดียสร้างสรรค์ลงในฟลิบชาร์ท และหลังจากนำเสนอ ให้ผมเป็นผู้เริ่มประเมินระดับความคิดสร้างสรรค์ด้วย

กลุ่มที่ ๑ ฟองน้ำ

อุปกรณ์ที่ได้คือ ฟองน้ำสีน้ำตาลเล็ก (เป็นชิ้นส่วนสก๊อตไบรท์ อันเล็กๆ) ... หากเป็นผู้อ่าน จะสร้างนวัตกรรมอะไรจากสิ่งที่ได้นี้ ...

นวัตกรรม ของกลุ่มนี้คือ ที่นอนแห่งศตวรรษที่ ๒๑ "เตียงนอนแคปซูล" เวลาจะไปค่ายในป่าหรือไปท่องเที่ยวที่ไหน ไม่ต้องมัวยุ่งยากกับการเตรียมที่นอนและแบกหนักไป เพียงแต่มีเม็ดแคปซูลเตียงนอน อันเล็กเท่าเม็ดยา เปิดออกมาเป่าลมกลายเป็นเตียงขนาดใหญ่นอนได้หลายคน มีปุ่มเปิดระบบนวดอัตโนมัติ และมีุปุ่มเก็บตัวเองกลับเป็นแคปซูลอย่างรวดเร็ว

ลักษณะการคิดสร้างสรรค์แบบนี้ น่าจะอยู่ในระดับ สังเคราะห์-ลอกเลียน คือ วิเคราะห์ก่อนว่าฟองน้ำและสปริงที่ได้นั้นมีคุณสมบัติของความยึดหยุ่น และวิเคราะห์ว่า ความยืดหยุ่นนั้น เกี่ยวกับอะไรได้บ้าง จะเอาไปใช้อะไรได้บ้าง และคิดถึงเตียงนอนนุ่มๆ ที่ยึดสามารถยึดหดได้จนสามารถเก็บไว้ในลักษณะแคปซูลขนาดเม็ดยา ตัดปัญหาเรื่องการหอบไปมาได้ ส่วนหลังนี้ผมคิดว่าเป็นการ "ลอกเลียน" ไอเดียที่อยู่ทั่วไปในทีวี

กลุ่มที่ ๒ ผ้าฝ้ายและอะลูมิเนียม

กลุ่มนี้ได้อุปกรณ์ในซองปริศนา เป็นเทียนไขกับอะลูมิเนียม หากเป็นท่านผู้อ่าน จะสร้างชิ้นงานาอะไรครับ??? ...



กลุ่มนี้บอกว่า จะสร้าง "สปาเคลื่อนที่" โดยเอาข้อดีของอะลูมิเนียมที่แข็งแรงแต่เบา และเอาคุณสมบัติของฝ้าฝ้าย มาใช้ทำเป็นผ้าเช็ดตัว ผ้าปูเตียง ใช้ทำผนัง หลังคา เพราะสามารถระบายความร้อนได้ดี ไม่ระคายผิว ทั้งยังเป็นการส่งเสริมสินค้าพื้นถิ่น ทำให้ชุมชนมีรายได้ ... คิดไปได้ล้ำบนฐานการคิดเพื่อสังคมอีกด้วย

ผมตีความว่า "ไอเดีย" นี้ สร้างสรรค์อยู่ในขั้น สังเคราะห์-ลอกเลียน เช่นกัน คือนำเอาความรู้เดิมเรื่อง สปา ผ้าฝ้ายขาว และความเบา แข็งแรงของอะลูมิเนียม มาใช้ทำสิ่งที่เคยพบเคยเห็นกันอยู่ทั่วไป ...

กลุ่มที่ ๓ ฝอนขัดหม้อกับมะขามเปียก

อุปกรณ์ในซองปริศนาของกลุ่มที่ ๓ คือ ฝอยขัดหม้อกับมะขามเปียก ชิ้นงานเป็นการผสานผสมของเนื้อมะขามกับชิ้นส่วนของฝอนขัดหม้อ เป็นสก็อตไบร์ท ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเอนกประสงค์ ทำความสะอาดร่างกาย เครื่องครัว เครื่องประดับ หรือม้แต่สุขภัณฑ์


ชิ้นงานนี้น่าจะอยู่ในขั้น ลอกเลียน-เปลี่ยนแปลง-สังเคราะห์ มะขามยังคงเป็นมะขาม เอาประโยชน์ของเนื้อมะขามมาใช้โดยตรง ผสมกับฝอยโลหะยังคงความเป็นโลหะอยู่ สังเคราะห์รวมเอาคุณสมบัติการใช้งานของสองสิ่งมาไว้ด้วยกัน

กลุ่มที่ ๔ แผ่นพลาสติก

อุปกรณ์ที่ได้รับคือ แผ่นพลาสติก ชิ้นงานเป็น "เสื้อมหัศจรรย์" (Magic Shirt) มีความแข็งแรง ทำความสะอาดตนเองได้ ปรับอุณหภูมิภายในได้ ทนความรู้จากภายนอกสูง ฯลฯ




"ไอเดีย" นี้ก็เป็นแบบ สังเคราะห์-ลอกเลียน สังเคราะห์หมายถึง สังเคราะห์เอาคุณลักษณะของพลาสติกมาใช้ ส่วนคำว่าลอกเลียนคือ เอามาทำสิ่งที่เรามีกันอยู่ทั่วไปคือ เสื้อ

ข้อสังเกต

ผม AAR ว่าตนเองได้เรียนรู้มากจากกิจกรรมที่ครูเพ็ญศรี ใจกล้า และครูสุกัญญา มะลิวัลย์ นำมาแลกเปลี่ยนในวันนี้ เกิดแรงบันดาลใจ เกิดความมั่นใจให้พลังเพิ่มขึ้นอย่างมาก ผมจับความว่า 3PBL 4.0 นั้น นอกจากจะเราจะต้องจัดกิจกรรมไปให้ถึง "นักเรียนเรียนรู้เองจากการลงมือทำ" แล้ว ยังต้องอำนวยให้พวกเขาได้ฝึก "คิดสร้างสรรค์" และสร้างชิ้นงานที่เป็น "นวัตกรรม" ให้ได้

ผมตีความว่า การศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑ เป็นการสร้างสังคมฐานความรู้ เพราะสังคมฐานความรู้ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าประเทศที่พัฒนาแล้วประสบความสำเร็จอย่างไร นวัตกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นล้วนแต่เกิดจากองค์ความรู้ที่พัฒนาไป ใครเป็นเจ้าของความรู้จะก้าวไปสู่ความเป็นเจ้าของนวัตกรรม ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าและคุณค่าให้กับตนเองและประเทศได้มหาศาล

สังเกตว่าเราจะสร้างนวัตกรรมบนฐาน "ความรู้เดิม" ทั้งหมด ดังนั้น หากความรู้เดิมไม่ใหม่ เรามักจะไม่ได้นวัตกรรใหม่ สิ่งที่ได้จะอยู่ที่ ลอกเรียน - สังเคราะห์ - เปลี่ยนแปลง ต่อยอด เท่านั้น ยังไม่ไม่ถึง "นวัตกรรมใหม่" ที่แท้จริง

หลังจากการนำเสนอของเรา ครูเพ็ญศรี ได้นำเอาตัวอย่างนวัตกรรมต่างๆ มาเล่าให้ฟัง ดังนี้ครับ ... น่าสนใจมาก


(สไลด์ ครูเพ็ญศรี ใจกล้า) เครื่องช่วยเดิน เป็นการต่อยอดจากนวัตกรรมที่เขาเป็นเจ้าของ บนฐานความรู้และนวัตกรรมของเขา



(สไลด์ ครูเพ็ญศรี ใจกล้า) ที่จอดรถที่สามารถชาร์ทไฟให้รถไฟฟ้าได้ ... เช่นเดียวกัน... เป็นการต่อยอดจากนวัตกรรมเรื่องรถไฟฟ้า แบตเตอรรี่ ... ซึ่งหากเราไม่ใช่เจ้าของ เราก็สร้างนวัตกรรมต่อยอดแบบนี้ไม่ได้

(สไลด์ ครูเพ็ญศรี ใจกล้า) ชิปซิมที่โทรศัพท์ไปได้ทั่วโลก ... เป็นนวัตกรรมบนฐานความรู้เรื่องอิเล็คทรอนิกส์และไอซีที ซึ่งไม่มีฐานความรู้นี้ในโรงเรียน



(สไลด์ ครูเพ็ญศรี ใจกล้า) ปริ๊นเตอร์ดินสออันนี้ ถือเป็น "นวัตกรรม" ที่แท้จริงครับ ... ต้องบอกว่า "ใช่เลย!!!" ทั้งคนคิดคนทำ และน่าจะสามารถนำไปใช้ได้จริง ทำขึ้นได้จริง ... แน่นอนว่า ต้องมีฐานเทคโนโลยีเดิมมาก่อน ...



(สไลด์ ครูเพ็ญศรี ใจกล้า) สายรัดข้อมูลนี้ ถือเป็นวัตกรรมต่อยอด ที่ใช้ความรู้ทางฟิสิกส์และอิเล็คทรอนิกส์

(สไลด์ ครูเพ็ญศรี ใจกล้า) รถไม่มีคนับแบบนี้ มาแน่ในทุก ๆ ประเทศในอนาคตอันใกล้ เพราะเท่าที่ทราบ ประเทศฟิลแลนด์ ประกาศเป็นนโยบายแล้วว่า 2025 จะนำมาแทนรถยนต์ส่วนใหญ่ในประเทศ ... ฟิลแลนด์มีประชากร ๘ ล้าน ได้รับการยอมรับว่ามีระบบการศึกษาดีที่สุดประเทศหนึ่งของโลก




(สไลด์ ครูเพ็ญศรี ใจกล้า) สิ่งต่อไปนี้ถือเป็น "ไอเดีย" นวัตกรรม ที่นำเอาสิ่งที่มีอยู่ง่าย ๆ มาประดิษฐ์ เป็นตัวอย่างของการคิดสร้างสรรค์แบบ "คิดละเอียดละออ" และนำเอาสิ่งที่มีอยู่มาต่อยอด ... น่าจะเป็นตัวอย่างของ "ชิ้นงาน" ที่ทำในโรงเรียนได้









ขอขอบคุณคุณอาเพ็ญศรี ใจกล้า ที่ได้นำพาครูเพื่อศิษย์อีสาน ให้ผ่านมาจนถึงจุดนี้ ... ผมพยายามศึกษาและสังเกตว่า ทำไมท่านถึงได้รับการยอมรับจากลูกศิษย์และเพื่อนครู ... หากผู้อำนวยการและผู้บริหารโรงเรียนในจังหวัดมหาสารคาม ให้ความสำคัญมากขึ้น โมเดลการสอน IS 1, 2,3 ของโรงเรียนเชียงยืน จะเป็นต้นแบบของการเรียนการสอนในศตวรรษใหม่สำหรับประเทศไทยที่แท้จริง ....

หมายเลขบันทึก: 612869เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2016 04:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 สิงหาคม 2016 05:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท