ความเห็นถูก ความเห็นผิด


ความเห็นถูก ความเห็นผิด

เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาศไปปฎิบัติธรรมที่วัดป่าแห่งหนึ่ง ซึ่งการไปลักษณะพักค้างเพื่อการ รักษาศีล และปฎิบัติธรรมนี้ได้ห่างหายไปในระยะหลังด้วยเหตุผลหลายประการ ส่วนใหญ่จะเป็นเหตุจากกิเลสตันหา ที่แรงต้านยังไม่มีกำลังพอ

วันนี้ตามหัวข้อที่ยกมา มีเหตุจากช่วงการร่วมฟังการสนทนาธรรมกับหลวงพ่อ ที่โดยปกติก็จะเป็นช่วงหลังฉันท์ในตอนเช้า ซ่ึงวัดที่ไปนี้อย่างที่กล่าวว่าเป็นวัดป่า คือท่านจะฉันท์มื้อเดียว ฉันท์ในบาตร หมายความว่าท่านจะตักอาหารทุกประเภททั้งคาว และหวาน ลงไปในบาตรรวมกันทั้งหมดก่อน ในปริมาณที่คิดว่าตนเองจะฉันท์หมด เพื่อให้ยังชีพให้ได้เพียง 1 คืนและ 1 วันเท่านั้น

เหตุนั้นคือว่า มีสุภาพสตรีท่านหนึ่งมีการศึกษาถึงระดับปริญญาเอกไม่ได้ทำการจองกุฎิไปให้ถูกต้องตามกฎระเบียบของวัด กฎมีอยู่ว่าโยมที่ต้องการพำนักเพื่อการปฏิบัติต้องทำการจองกุฎิไปล่วงหน้า 7 วัน แต่ครั้งนี้สตรีท่านนี้จองล่วงหน้า 1 วัน โดยพยายามให้เหตุผลว่า ก็หากจองมาไม่เกี่ยวว่าจองล่วงหน้ากี่วันหรือไม่ แต่กุฎิว่างอยู่ก็น่าจะอนุญาติ เพราะดีกว่าปล่อยให้ว่างไปเลย (ทำนองว่าเสียประโยชน์) หรือไม่

ทั้งนี้ก่อนหน้าที่จะมาถึงจุดการสนทนาตรงนี้ หลวงพ่อท่านได้อนุญาติให้พักไปแล้ว

หลวงพ่อได้เมตตาอธิบายต่อว่า หากสถานที่แห่งไหนมีกฎระเบียบเช่นไร เราก็ควรปฎิบัติตามกฎนั้นไม่ใช่หรือ เพราะต่างคนต่างมาจากทิศทั้ง 8 หากเราไม่ทำตามกฎ แล้วคนอื่นก็ไม่อยากทำตามกฎบ้าง อาจเป็นในแง่ต่างๆกันไป หลายคนเข้ามันจะวุ่นวายไหม เราควรยึดความเห็นของเราหรือของสถานที่ ยิ่งเรา (หลวงพ่อชี้ไปที่สุภาพสตรีท่านนั้น) มาวัดเป็น 10 ปีแล้วรู้กฎระเบียบดี ทำไมไม่ทำตามกฏเสียเอง ท่านกล่าวด้วยน้ำเสียงในท่วงทำนองการสนทนาปกติ และมีรอยยิ้มตลอดไม่ได้ทำหน้าบึ้ง หรือทำเสียงดัง หรือมีโมหะแต่อย่างใด โยมท่านนั้นก็ดูเหมือนจะยังไม่เข้าใจประเด็นแล้วพยายามอธิบายเหตุผลตนเองต่อ ท่านกล่าวอธิบายต่อว่า หากเราทำใจยอมรับไปเลยมันก็จะไม่สงสัยแบบนี้ ความลังเลสงสัยในกฎระเบียบจะเป็นเหตุให้ปฎิบัติธรรมไม่ก้าวหน้านะ ท่านเริ่มสอนแรงขึ้น แต่ก็ยังมีน้ำเสียง และการยิ้มแย้มอย่างปกติของท่าน สำทับด้วยว่าเราเป็นถึงครูอาจารย์ก็ควรเคารพกฎเป็นตัวอย่าง เพื่อความเรียบร้อยของส่วนรวม เพราะบางทีมีคนต้องการเข้าพักจองมาจำนวนมาก กุฎิไม่เพียงพอ ก็จะได้แจ้งกันให้ทราบได้ โยมท่านนั้นก็ถามว่า ถ้าคนเราดื้อจะแก้ตรงไหนดี ท่านกล่าวว่า ดื้อตรงไหนก็แก้ตรงนั้น เหมือนกระดาษที่ม้วนไว้นาน ก็ต้องคลี่ออก กางออก ก็ต้องฝืน การปฎิบัติธรรมคือการต้องฝืนทวนกระแสของกิเลส มีกิเลสข้อไหน ก็ต้องฝืนทวนกระแสในข้อนั้น

จากนั้นก็มีโยมอีกท่านหนึ่งเรียนท่านว่า 'ท่านอาจารย์คะมีคนถ่ายรูปไปลงในอินเตอร์เนต เห็นมีกุฎิสวยๆ ใครเป็นผู้กำหนดคะว่าจะได้พักหลังไหน' ก่อนท่านตอบข้อนี้ ท่านกล่าวว่า กฎของโยมที่จะเข้าพักนี้ ที่จริงมาจากข้อวัตรของพระที่ว่า 'จงพอใจในเสนาสนะที่ท่านจัดให้' พร้อมนั้นท่านได้เล่าให้ฟังว่า ในสมัยบวชใหม่ๆ เป็นพระผู้น้อย ท่านก็ต้องปฎิบัติตามข้อวัตรนี้เหมือนกัน กุฎิพระในสมัยก่อนในภาคอีสานนั้น สภาพแย่ยิ่งกว่านี้หลายเท่า ขนาดกุฎิแต่สักประมาณสองเมตรครึ่ง คูณสองเมตรครึ่ง หลังคามุงจากผนังก็เป็นจากใบตองตึงเหมือนกัน ส่วนพื้นเป็นไม้ไผ่ผ่าซีกแล้วแผ่ออก พลิกตัวทีก็จะมีเสียงกร๊อบแกร๊บ เดินทีก็ยวบยาบ พอกางมุ้งกันยุงขนาดของมุ้งจะเท่ากับขนาดกุฎิพอดี คือสี่ด้านของมุ้งจะชนผนัง ห้องน้ำก็ห่างออกไปสัก 100-200 เมตร สภาพทุกหลังก็พอๆกัน ก็มีกุฎิพระเถระที่อาจดีกว่า บางทีที่ว่างพระท่านอื่นก็ดูเหมือนอยากเข้าไปพักเหมือนกัน แต่อาตมาน่ะ ชอบแบบเล็กๆนี่แหล่ะ ไม่ต้องดูแลรักษาความสะอาดมาก มีเวลาปฎิบัติมากว่า อย่างสภาพกุฎิของที่นี่ทุกวันนี้ถึอว่าดีกว่าที่พระในสมัยก่อนอยู่นั้นเยอะมาก กุฎิที่อาจมีสภาพดีกว่าที่โยมเคยพักบ้างก็เป็นเพราะผู้ที่เขาบริจาคสร้างไว้นั้นมีกำลังด้านปัจัย ส่วนใหญ่ก็ให้โยมที่มาจากต่างประเทศ ที่มากราบเยี่ยมแค่คืน 2 คืน เท่านั้น ผู้ที่มาพักหลายวันก็จะจัดให้แบบที่โยมเคยพัก (ในทำนองว่าก็มาปฎิบัติธรรม ได้อยู่ในสถานที่สุขสบายเกินไปก็จะเป็นกำลังหนุนให้กิเลิสหรือไม่) โยมคนนี้กล่าวต่อไปว่า กุฎิที่พักคั้รงก่อนมีตุ๊กแกด้วย กลัวมากทำสมาธิไม่ได้เลย หลวงพ่อก็ยังมีสีหน้ายิ้มน้อยๆกล่าวต่อว่า 'มันมีตุ๊กแกทุกหลังแหล่ะโยม อยู่ที่ว่ามันจะร้องขึ้นมาหรือไม่ ร้องเวลาไหน และกล่าวต่อว่า บางคนกลัวตุ๊กแก บางคนกลัวงู บางคนก็กลัวทุกอย่าง โยมก็พิจารณาสิ ลองลอกหนังมันออก แยกธาตุมัน มันก็ดินน้ำลมไฟ เหมือนเรา เราก็ดินน้ำลมไฟ สุดท้ายเรากลัวอะไร มันเห็นเรามันก็กลัวเรา

ในระหว่างที่ฟังอยู่นั้น เราก็พิจารณาตามที่หลวงพ่อกล่าวสั่งสอนไปด้วย และก็เห็นจริงตามท่านว่า ข้อแรกเรื่องการปฎิบัติตามกฎระเบียบ ซึ่งวัดแต่ละวัด สำนักแต่ละสำนักก็จะมีข้อวัตรไม่เหมือนกันอีก ได้ยินบางคนก็ตั้งแง่ว่า ตนเองเคยไปที่นั่น เขาไม่เห็นมีกฎนี้เลย ทำไมที่นี่มีหล่ะเป็นต้นบ้าง หรือก็ว่า ทำไมไม่ทำอย่างนั้นบ้าง อย่างนี้บ้าง หากพวกเรา เหล่าคนที่มุ่งหน้าไปวัด แล้วยังมีความลังเลสงสัยในประเด็นที่หลวงพ่อท่านเรียกว่า กิเลสอย่างหยาบๆ เหล่านี้แล้ว เราจะพัฒนาตนเองจะทำได้อย่างไรเล่า เพราะกิเลสมีหลายระดับที่เราต้องต่อกรกับมันไปจนไปถึงขั้นละเอียดมากๆ ที่หลวงพ่อเคยเทศน์สอนพระไว้ว่า กิเลสระเอียดนั้น เปรียบเสมือนเรือดำน้ำ ที่เราไม่สามารถมองเห็นมันได้ เป็นศัตรูที่น่ากลัวจะโจมตีเมื่อไหร่มองไม่เห็น ต้องใช้เครื่องมือพิเศษอย่างเรดาห์ ซึ่งก็คือปัญญา ที่ต้องมีการฝึกฝนอย่างหนัก และอยากเย็นแสนเข็ญกว่าจะถึงขั้นนี้ อย่ามาถามเลยว่าพระในพรรษานี้สัก 50 รูปจะสำเร็จเป็นโสดาบันสัก 1 องค์ไหม เพราะหากเทียบปริมาณของพระที่บวชสักหมื่นรูป แล้วทำการฝึก ปฎิบัติอย่างหนัก อาจสำเร็จได้สัก 1 รูป มันอยากขนาดนั้น แค่ข้อวัตรเหล่านี้ยังทำไม่ได้ ศีลห้ายังไม่บริสุทธิ การบรรลุธรรม เห็นธรรมจะหวังอะไร ทำสมาธิห้านาที สิบนาทีไม่สงบก็เลิก ละทิ้งไปอีกหลายวัน ดังนั้นอยากให้เพื่อนพุทธบริษัทได้ตั้งตำถามกับตนเองว่า เราไปวัดกันนั้น เราไปถึงวัดกันไหม เราจะยึดเอาความคิดเห็นของตนเองเป็นใหญ่ หรือสละมันออกเพื่อให้การเข้าวัดของเรานั้นมีโอกาสได้ฝึกตนเอง ได้ฝืนกิเลสตนเองอย่างท่านกล่าว ท่านมีกฎอย่างไรถึงจะไม่ชอบใจ ให้ปฎิบัติตามนั้นไปก่อน เพราะเราไปวัดจุดประสงค์หลักคือการไปรับฟังธรรมะของพระพุทธเจ้า จากศิษย์ตถาคตเจ้าท่าน ไม่ใช่ไปเพราะมีระเบียบถูกใจเรา หรือประเด็นที่ 2 ไม่ใช่ไปเพราะสามารถเลือกสถานที่พักที่สะดวกสบายได้ไม่ใช่หรือ เราให้น้ำหนักกับแก่นแท้สาระของการไปวัดกันถูกต้องแล้ว หรือยัง ผู้เขียนก็ต้องโอปนยิโกคำสอนเข้ามาพิจารณา เนื่องจากตนเองก็มีความคิดคล้ายๆโยมเหล่านั้นที่ยกมาเป็นตัวอย่างอยู่บ้างเหมือนกัน ก็เลยได้โอกาสน้อมเอาคำสอนนั้นมาเพื่อปรับปรุงตนเองไปด้วย หรือไม่เราก็ต้องเป็นผู้ที่สามารถปฎิบัติอยู่ที่บ้านได้ หากไม่ได้เราเองก็ต้องใช้เป็นโอกาสในการฝืนกระแสของกิเลสไป มันไม่ชอบใจว่ามีกฎนั้น ก็พามันไปอยู่ภายใต้กฎนั้น มันกลัวจะเจอกุฎิที่มีตุ๊กแก หรืองู ก็ให้โอกาสตนเองได้พิจารณาตามที่ท่านสอน เรากลัวเขา เขาก็กลัวเรา แท้จริงเราเขาก็เป็นเพียงดิน น้ำ ลม และไฟ แท้จริงเราก็เป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ และตาย เขาอาจมีชีวิตไม่กี่ปีก็ตายไป เราอาจมีอายุมากสุดไม่เกิน 100 ปีก็ต้องตายไปเหมือนกัน ท้ายสุดจริงๆ เรา เขาต่างไม่มีตัวตน ตัวตนคือกิเลส เราไปวัดเพื่อพอกพูนกิเลส หรือเพื่อการขัดเกลา ก็ต้องพิจารณากันเพื่อความก้าวหน้าของตน ของตนไป เราไปวัด ได้ถึงวัดกันมั้ย...

หมายเลขบันทึก: 612845เขียนเมื่อ 24 สิงหาคม 2016 17:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 สิงหาคม 2016 17:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท