กระแส “การควบรวม” องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อประสิทธิภาพ


กระแส “การควบรวม” องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อประสิทธิภาพ

25 สิงหาคม 2559

ทีมวิชาการ สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]

ในที่สุด “ร่างประมวลกฎหมายท้องถิ่น” [2] และ “ร่าง พรบ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.....” [3] ซึ่งไม่เกี่ยวกับ กรุงเทพมหานคร (กทม.) และเมืองพัทยา ก็ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2559 ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นเห็นด้วย 163 เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี งดออกเสียง 2 เสียง จากผู้เข้าประชุมทั้งหมด 166 เสียง [4]

ท่ามกลางกระแสความเห็นที่แตกต่าง จากกลุ่มต่าง ๆ ที่มีส่วนได้เสียทั้งกลุ่มการเมืองท้องถิ่น กลุ่มข้าราชการส่วนท้องถิ่น มีเสียงสะท้อนที่แตกต่างกันไป โดยเฉพาะในประเด็น “การจัดตั้ง” องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เป็นเทศบาลตำบล และ “การควบรวม” องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ควบรวมภายใน 1 ปีตาม มาตรา 5 [5] แห่ง ร่าง พรบ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นฯ และ มาตรา 15 [6] แห่ง ร่างประมวลกฎหมายท้องถิ่น และ ลองมาติดตามความเห็นก่อนหน้าดู

จุดเริ่มต้นของแนวคิด “การควบรวม อปท.”

จากจำนวน อปท. ที่มีมากมายถึง 7,853 หน่วย [7] ซึ่ง อปท. หลายแห่งถือว่ามีขนาดเล็กที่ส่งผลถึงประสิทธิภาพและความพึงพอใจใน “การจัดบริการสาธารณะ” แก่ประชาชนในท้องถิ่น มีข้อแนะนำของธนาคารโลก (World Bank) เมื่อปี 2555 [8] ได้รายงานให้คำแนะนำในเรื่อง ขนาดขององค์กรบริหารท้องถิ่น (Local Administrative Organizations size) หรือ “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” (อปท.) ในรูปแบบ โครงสร้าง อำนาจหน้าที่ที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพ (Efficiency on appropriate structure & functions) ในกรณีของประเทศไทยไว้ ซึ่งได้ทำให้มีการคิดถึงเรื่องการ “ควบรวม” (Amalgamation or Merging) อปท. ให้มีขนาดที่ใหญ่ขึ้น หรือมีขนาดที่เหมาะสมแก่การจัดบริการสาธารณะแก่ประชาชนตามหลักการกระจายอำนาจ

ก่อนหน้านี้กลุ่มที่มีส่วนได้เสียหรืออาจเรียกว่าเป็นกลุ่มที่เสียประโยชน์ จากการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. เช่น กลุ่มนักการเมือง อบจ. กลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้าน กลุ่มปลัดอำเภอฯ กลุ่มข้าราชการระดับสูงกระทรวงมหาดไทย กลุ่มอดีตข้าราชการระดับสูงกระทรวงมหาดไทย เป็นต้น ได้ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านต่อต้าน ในประเด็นที่มีผลกระทบกับตน ทำให้การพิจารณาดำเนินการของคณะกรรมการชุดต่าง ๆ อยู่ภายใต้กระแสความกดดัน อาทิการปล่อยกระแสว่าจะยุบ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทำให้สมาคม อบจ.แห่งประเทศไทยออกมาคัดค้านต่อต้าน หรือ ข่าวการยุบ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)

หรือแม้แต่ในส่วนข้าราชการส่วนท้องถิ่นหรือบุคลากรส่วนท้องถิ่น หรือในระหว่างผู้บริหารท้องถิ่น หรือ สมาชิกสภา อปท. ด้วยกันเองก็ยังสับสน โดยเฉพาะในส่วนได้เสียที่เกี่ยวกับตำแหน่งหน้าที่ของตนเอง เพราะหากมีการเปลี่ยนแปลง อปท. ในทางที่มีผลเป็นการลดบทบาท ตำแหน่งหน้าที่ ของตนลง ก็จะไม่ยอม เป็นต้น

ผลดีของการควบควบ อปท.

จากผลการศึกษาของ นายสรณะ เทพเนาว์ ปลัดเทศบาลเมืองมหาสารคาม นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย ที่นำเสนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อปี 2558 [9] สรุปสาระสำคัญในผลดีของการควบรวม อปท.

(1) การพัฒนา อปท.ขนาดเล็ก ควรเหลือเพียง 2 ระดับ คือ 'อบจ.' ทำหน้าที่ระดับจังหวัด และ 'เทศบาล' ทำหน้าที่ระดับต่ำกว่าจังหวัด ส่วน อบต. ให้ยกฐานะเป็นเทศบาล และเทศบาลขนาดเล็ก ให้ยุบรวมเป็นเทศบาลขนาดใหญ่แทนสำหรับ อปท.ที่มีขนาดเล็ก ต้องมี “การควบรวม” เพราะ อปท.ขนาดเล็กไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ทำให้ภารกิจไม่ซ้ำซ้อนกัน สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการจ้างบุคลากร เป็นการประหยัดงบประมาณลง อีกแนวคิดหนึ่งในการควบรวม อปท. เป็นเทศบาลจังหวัด เทศบาลอำเภอ จะทำให้ อปท. จากจำนวน 7,853 แห่ง ซึ่งหากคิดจากฐานการควบรวม อปท. ที่ประชากร 5,000 คน ก็จะทำให้จำนวน อปท. เหลืออยู่เพียง 865 แห่ง (รวม กทม.และเมืองพัทยา) โดย (1) เทศบาลนคร / เทศบาลเมือง ก็ยังอยู่เช่นเดิม (2) ยกฐานะ อบต. เป็นเทศบาล (ทั้งหมด) และ (3) มีการควบรวม หรือ ยุบรวม อบต. ยกฐานะเป็นเทศบาล ยุบรวม อบต. กับเทศบาลข้างเคียง

(2) ในมุมมองของการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน เมื่อ 27 มกราคม 2558 พล.อ.สำเริง พินกลาง ประธานคณะกรรมการภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของชาติ เข้ายื่นหนังสือแก่นายพงศ์โพยม วาศภูติ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น และนายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ขอให้ยุบรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อให้เกิดการใช้งบประมาณของรัฐเป็นไปตามระเบียบและกฎหมายมิให้เกิดการทับซ้อนกัน และให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อราชการ โดยภาคีเครือข่ายฯได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการทุจริตต่างๆ ในหลายพื้นที่เพื่อมอบให้คณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องนำไปเป็นข้อมูลประกอบการปฏิรูปประเทศ

อย่างไรก็ตาม ในความเห็นของนักการเมืองบางคนไม่เห็นด้วยต่อการควบรวม อบท. เช่น นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าคณะทำงานด้านกฎหมาย พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยกับแนวคิดในการยุบ อปท. แต่ ควรมีการควบรวม อปท.มากกว่าการยุบ เช่น กรณี ที่ภายใน 1 ตำบล มี อปท. 2 แห่ง ควรยุบเหลือเพียงแห่งเดียว หรือการควบรวม อปท.ขนาดเล็ก ต้องให้ประชาชนได้รับบริการอย่างทั่วถึง

สรุปข้อดีของการเปลี่ยนสถานะ อบต. เป็นเทศบาล

นายสรณะ ได้สรุปข้อดีของการปกครองท้องถิ่นในรูปแบบ “เทศบาล” ว่า [10] (1) รูปแบบเทศบาลเป็นการปกครองท้องถิ่นที่เป็นรูปแบบสากล มีฝ่ายบริหาร และฝ่ายสภาถ่วงดุลอำนาจกันและกันแม้รูปแบบปัจจุบันของไทย จะเป็นรูปแบบ อปท.ที่ฝ่ายบริหารมีอำนาจมากก็ตาม ซึ่งนานาอารยประเทศนำมาเป็นรูปแบบในการปกครองท้องถิ่น

(2) เพื่อให้ อบต. เปลี่ยนฐานะรูปแบบเป็น เทศบาล ซึ่งจะเป็นรูปแบบที่เหมือนกันทั่วประเทศ มีโครงสร้างที่เหมือนกันหมด

(3) เมื่อยกฐานะเป็นเทศบาลตำบลแล้วจะมีภาระตามกฎหมายเพิ่มเติมขึ้นจากเดิม

(4) เป็นส่วนราชการที่มีความรับผิดชอบในพื้นที่ขนาดเล็กเกินไป บางแห่งมีพื้นที่รับผิดชอบไม่ถึง 10 หมู่บ้าน มีประชาชนในความรับผิดชอบน้อยเกินไป บางแห่งมีประชาชนในความรับผิดชอบไม่ถึง 3,000 – 4,000 คน ต้องสิ้นเปลืองเงินเดือนค่าจ้างบุคลากร และ ค่าตอบแทน ส.อบต.ที่มีจำนวนมาก แต่ภารกิจความรับผิดชอบมีน้อย เนื่องจากมีขนาดเล็ก

ข้อวิตกของสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย

นายพิพัฒน์ วรสิทธิดำรง ปลัด อบต. นายกสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย มีความวิตกว่า ร่างประมวลกฎหมายท้องถิ่น ตามที่คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการปกครองท้องถิ่นเสนอ โดยเบื้องหลังร่างฉบับนี้ มีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) เป็นผู้จัดทำและนำเสนอข้อมูลทั้งหมดในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมาธิการ ถือเป็นหน้าที่เพียงฝ่ายเดียว โดยไม่มีส่วนร่วมในการร่างหรือไม่มีโอกาสเสนอความเห็นใดๆ จากผู้มีส่วนได้เสียอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะส่วนสำคัญในร่างนี้ที่ว่าด้วย “การยุบควบรวม อปท.” นายพิพัฒน์ ไม่เห็นด้วยว่า การยุบ ควบรวม อปท. เป็นหน้าที่ของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเพียงฝ่ายเดียว [11]

ข้อเสนอการควบรวม อปท. ของฝ่ายการเมือง

3 สมาคมฝ่ายการเมือง ประกอบด้วย สมาคม อบจ. อบต. และ เทศบาล มีข้อเสนอทิศทางการขับเคลื่อน การควบรวม อปท. ดังนี้ [12] (1) กรอบชี้แจงประชาชน โดยการปฏิรูปท้องถิ่นในเรื่อง (1.1) การควบรวม (1.2) การศึกษา (1.3) ผู้สูงวัย (2) เสนอข่าว โดยการการปฏิรูปท้องถิ่น ในประเด็นควบรวมท้องถิ่น มิให้กระทบต่อการออกเสียงประชามติ (3) ประสานขอเข้าพบ นายกรัฐมนตรี (4) ทำกรอบการปฏิรูป 3 ระยะ

ระยะที่ 1 โดยการเสนอควบรวม (1) “หนึ่งตำบล หนึ่งท้องถิ่น” (2) ประกันรายได้ อปท. ทุกระดับ 20 ล้านบาท (3) กำหนดให้มีงบลงทุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของงบประมาณ (4) ปฏิรูปโครงสร้างบุคลากร เน้นการจ้างบุคลากรเข้าสู่ตำแหน่ง แทนข้าราชการท้องถิ่น (5) ประเมินผล 5 ปี

ระยะที่ 2 โดยการควบรวม (1) ต้องมีประชากรไม่น้อยกว่า 4,000 คน (2) ประกันรายได้ อปท. 30 ล้านบาท (3) เพิ่มสัดส่วนงบลงทุน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของงบประมาณ (4) จัดระบบโครงสร้างบุคลากรที่เหมาะสมกับการเติบโตของงบประมาณ (5) ประเมินผล 5 ปี

ระยะที่ 3 โดยการควบรวม (1) ต้องมีประชากรไม่น้อยกว่า 7,000 คน (2) ประกันรายได้ อปท. 40 ล้านบาท

ทั้งนี้ในเรื่องจากควบรวม อปท. มีการเสนอให้จ้างคนนอกทำงานแทนข้าราชการส่วนท้องถิ่นด้วย นายพิพัฒน์ มีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า แนวคิดของสมาคมฝ่ายการเมืองท้องถิ่นนี้มีมุมมองที่แตกต่างต่อฝ่ายประจำข้าราชการส่วนท้องถิ่น ทั้งๆ ที่ฝ่ายประจำนี้ถือเป็นตีนมือของฝ่ายการเมืองท้องถิ่นในการนำนโยบายไปปฏิบัติมาตลอดกว่า 20 ปีที่ผ่านมา (ปี 2537) ทำให้ อปท. มีความเข้มแข็งในระดับหนึ่งพอที่จะก้าวเดินต่อไปข้างหน้า แต่ปรากฏว่า ฝ่ายการเมืองกลับไม่มีท่าทีที่สนับสนุนส่งเสริมความก้าวหน้าของฝ่ายประจำ ที่มีเป้าหมายอย่างหนึ่งก็คือ “การอยู่ทำงานอย่างมีศักดิ์ศรี และความก้าวหน้าในชีวิตราชการ”

ปฏิรูปท้องถิ่นไทยจะก้าวเดินไปทิศทางใด

นายศักดิพงศ์ ธรรมอาชวกุล ปลัดเทศบาล ประธานสมาพันธ์ปลัดเทศบาลแห่งประเทศไทย วิตกว่า [13] คนท้องถิ่นวันนี้เชื่อว่า ส่วนใหญ่จะสนใจในรูปแบบ อปท.เท่านั้น แทบจะไม่มีใครสนใจถามถึงอำนาจหน้าที่ อปท.ว่าจะไปในทิศทางใดในระหว่าง ราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น ในการก้าวเดินของ อปท. ที่ไม่ชัดเจน แต่ราชการส่วนภูมิภาค มีสัญญาณยังคงอยู่อย่างแน่นอน นอกนี้ความเป็น “การเมืองของท้องถิ่น” ทำให้ “ผู้มีอำนาจส่วนกลาง” ปักใจเชื่อว่าท้องถิ่นยังคงเป็นแขนขาของนักการเมืองระดับชาติ เพราะผู้เขียนเชื่อว่า จากความเชื่อที่ว่าผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นผูกพันกับพรรคการเมืองนั้นมีจำนวนมากกว่าร้อยละ 85 เพราะทุนที่ซื้อเสียงเป็นกระเป๋าเดียวกัน

นายศักดิพงศ์ กล่าวสรุปได้อย่างเด็ดขาดว่า ผู้มีอำนาจจึงไม่มีความเชื่อมั่นในการเมืองท้องถิ่น ที่ถูกมองว่าทำงานขาดประสิทธิภาพ ทุจริต ใช้อำนาจเกินขอบเขต และมีปัญหาการบริหารมากมาย ตราบใดที่ “การกระจายอำนาจ” เดินไปพร้อมกับ “ระบอบประชาธิปไตย” เมื่อใด ก็มักจะสวนทางกับ “การรวมอำนาจ” และการสั่งการเสมอ ฉะนั้น ชาว อปท. ต้องติดตามกันต่อไปอย่างตั้งอกตั้งใจ

นี่คือเสียงสะท้อนในภาพรวมของคนท้องถิ่นปัจจุบันที่ค่อนข้างจะไม่กระชับและชัดเจนนัก แต่อย่างน้อยที่สุด เสียงนกเสียงกาเหล่านี้ บรรดาผู้มีอำนาจ ควรรับไว้พิจารณา ซึ่งท้ายที่สุดในความขัดแย้งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เห็นว่า “ประชาชน” ถือเป็น “จุดเชื่อมต่อ” ที่สำคัญที่สุด เพราะหากมีความขัดแย้งกันในทางการบริหาร หรือการเมืองในพื้นที่ ประชาชนเท่านั้นที่จะเป็น “ผู้ตัดสิน” เพราะประชาชนเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง แน่นอนว่า จากผลคะแนนการรับร่างรัฐธรรมนูญถึงร้อยละ 61.35 [14] ต่อไปนี้เวที “การเมืองภาคประชาชน” (Citizen politics & People’s politics) คงมีบทบาทที่เพิ่มมากขึ้น มากกว่า “การเมืองภาคตัวแทน” (Representative Politics) ซึ่ง “ท้องถิ่น” หรือ “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” (อปท.) นั่นแหละ คือเวทีที่เหมาะสมสำหรับ “การเมืองภาคประชาชน” ต่อแต่นี้ไป ท้องถิ่นคงไม่ใช่เวทีประชาธิปไตยขั้นต้นของ “การเมืองภาคตัวแทน” อีกต่อไป และหวังว่า หากการเมืองภาคพลเมืองเข้มแข็งขึ้น เมื่อใด ก็จะส่งผลไปถึงการเมืองภาคตัวแทนที่จะได้ “คนดีมีคุณภาพ มีจริยธรรมคุณธรรม” อาสาเข้ามาเป็นตัวแทนพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้าต่อไป



[1] Phachern Thammasarangkoon, Municipality Officer ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม 2559 ปีที่ 67 ฉบับที่ 23131 หน้า 10, การเมืองท้องถิ่น : บทความพิเศษ & หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 63 ฉบับที่ 48 วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม 2559 – วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน 2559, หน้า 66

[2] พิพัฒน์ วรสิทธิดำรง, ร่างประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (รวม 225 มาตรา), ฉบับที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2559, 23 สิงหาคม 2559, http://www.thailocalgov2013.com/law.php?id=1817

[3] ร่างพรบ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.... , (รวม 24 มาตรา) http://www.thailocalgov2013.com/upload/ร่างให้ใช้ประมวล.pdf

[4] สปท. เห็นชอบรายงานแผนปฏิรูปด้านการปกครองท้องถิ่น, 23 สิงหาคม 2559, http://www.thailocalmeet.com/index.php/topic,62862 & สปท.สรุปแผนปฏิรูป มุ่งขับเคลื่อนให้แล้วเสร็จตามกรอบเวลาที่เหลือ, 22 สิงหาคม 2559, http://www.radioparliament.net/parliament/viewNews.php?nId=6254#.V7ww7NSLSt8

[5] มาตรา 5 ให้จัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลตามกฎหมายว่าด้วยสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลที่มีอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนี้ใช้บังคับเป็นเทศบาลตำบล ตั้งแต่วันที่ประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนี้ใช้บังคับเป็นต้นไป

ให้เทศบาลที่ได้รับการจัดตั้งตามวรรคหนึ่ง มีชื่อและเขตตามชื่อและเขตองค์การบริหารส่วนตำบลเดิม หากกรณีเทศบาลตำบลที่มีชื่อซ้ำกับเทศบาลตำบล เทศบาลเมือง และเทศบาลนครที่มีอยู่เดิม ให้ดำเนินการเปลี่ยนชื่อเทศบาลตำบลนั้นตามที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด

[6] มาตรา 15 ให้ควบรวมเทศบาลที่มีรายได้ไม่รวมเงินอุดหนุนต่ำกว่ายี่สิบล้านบาทหรือมีจำนวนประชากรต่ำกว่าเจ็ดพันคนเข้าด้วยกันหรือกับเทศบาลแห่งอื่นที่มีพื้นที่ติดกันและในอำเภอเดียวกันภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีผลใช้บังคับ โดยให้ทำเป็นประกาศกระทรวงมหาดไทย

การควบรวมกับเทศบาลหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนในเขตเทศบาลที่ควบรวมนั้น

การสำรวจเจตนารมณ์ของประชาชนตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด ทั้งนี้ ให้มีคณะกรรมการพิจารณาการควบรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับจังหวัดและระดับอำเภอและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์การควบรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของกระทรวงมหาดไทย โดยให้คณะกรรมการดังกล่าวได้รับเบี้ยประชุม ตามกฎหมายว่าด้วยเบี้ยประชุมกรรมการ

เทศบาลใดมีสภาพพื้นที่เป็นเกาะ หรือโดยสภาพทางภูมิศาสตร์ไม่สามารถติดต่อกับเทศบาลอื่นที่จะไปรวมได้โดยสะดวก กระทรวงมหาดไทยจะไม่ดำเนินการตามวรรคหนึ่งกับเทศบาลนั้นก็ได้ โดยให้ออกเป็นประกาศกระทรวงมหาดไทย

การควบรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามมาตรานี้ให้เป็นไปตามระเบียบที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด

[7] ข้อมูลจำนวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งสิ้น 7,853 แห่ง แยกเป็น

1. องค์การบริหารส่วนจังหวัด 76 แห่ง

2. เทศบาล 2,441 แห่ง ( เทศบาลนคร 30 แห่ง เทศบาลเมือง 178 แห่ง เทศบาลตำบล 2,233 แห่ง)

3. องค์การบริหารส่วนตำบล 5,334 แห่ง

4. องค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ (กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา) 2 แห่ง

ข้อมูล ณ วันที่ 6 พฤศจิกายน 2558 โดย ส่วนวิจัยและพัฒนาระบบ รูปแบบและโครงสร้าง สำนักพัฒนาระบบ รูปแบบและโครงสร้าง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

[8] ธนาคารโลกสำนักงานประจำประเทศไทย, ประเทศไทย: ความท้าทายและทางเลือกในปี 2555 และอนาคต, การเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการสาธารณะ ผ่านการสร้างความเข้มแข็งให้กับโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลและท้องถิ่น รวมถึงนโยบายรายจ่ายของรัฐ, มกราคม 2555, http://www-wds.worldbank.org/external/default/WDSContentServer/WDSP/IB/2012/06/07/000333038_20120607014231/Rendered/PDF/685510THAI0Box369270B00PUBLIC0.pdf

[9] สรณะ เทพเนาว์, “ยุทธศาสตร์การปฏิรูปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ศึกษาเฉพาะกรณี การควบรวมองค์กรบริหารท้องถิ่น ภายใต้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่”, หลักสูตร การพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง รุ่นที่ 6 ประจำปี 2557 สถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง, http://www.mediafire.com/download/5ffvl13fybd96kp/SaranaISelectStudy006-000report9browallia16-99.pdf

[10] สรณะ เทพเนาว์, “ยุทธศาสตร์การปฏิรูปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ศึกษาเฉพาะกรณี การควบรวมองค์กรบริหารท้องถิ่น ภายใต้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่”, อ้างแล้ว

[11] พิพัฒน์ วรสิทธิดำรง, ยุบ ควบ รวม อปท.เป็นหน้าที่กรมส่งเสริมฯฝ่ายเดียว เห็นด้วยหรือไม่?, 21 สิงหาคม 2559, https://www.facebook.com/phiphatw?fref=ts

[12] พิพัฒน์ วรสิทธิดำรง, 3 สมาคมฝ่ายการเมือง เสนอให้จ้างคนนอกทำงานแทนข้าราชการส่วนท้องถิ่น, 17 สิงหาคม 2559, https://www.facebook.com/phiphatw/posts/1213191925377953

[13] ศักดิพงศ์ ธรรมอาชวกุล, ปฏิรูปท้องถิ่นไทยจะก้าวเดินไปทิศทางใด ?, 21 สิงหาคม 2559, https://www.facebook.com/profile.php?id=100002714010567&fref=ts

[14] สรุปผลการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ประกาศผลการออกเสียงประชามติอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

1. ประชาชนมีมติรับร่างรัฐธรรมนูญ ด้วยคะแนนเห็นชอบ ร้อยละ 61.35 ไม่เห็นชอบ ร้อยละ 38.65

2. ประชาชนมีมติเห็นชอบกับคำถามพ่วง โดยจะให้สมาชิกวุฒิสภา (สว.) มีสิทธิร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ด้วยคะแนนเห็นชอบ ร้อยละ 58.07 ไม่เห็นชอบ ร้อยละ 41.93

3. การลงประชามติครั้งนี้ มีผู้ออกมาใช้สิทธิ คิดเป็นร้อยละ 59.40 จากผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติทั้งหมด และมีจำนวนบัตรเสียทั้งหมด ร้อยละ 3.15

, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2559/A/069/11.PDF

หมายเลขบันทึก: 612837เขียนเมื่อ 24 สิงหาคม 2016 08:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กันยายน 2016 19:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

Thank you for this informative posting.

Experiences from amalgamation of local councils in Australia point to higher efficiency but more investment/development in larger/more established centres - leaving underdeveloped areas further deprived.

In simple terms. cities get larger, remote areas get abandoned.

End results of population/emplyment/business/public services... decline in remote areas are self-reinfecting - accelerating decline. Schools, medical centres, shops and so on are forced to close down. People in remote areas are forced to travel longer distance, more time and at higher costs to obtain livelihood and services.

Amalgamation is efficient for big guys in cities but devastating for people in the bush -who pay the same landtax rate.

Mr. SR., Big Thx for your comment, may I take this information passage on the FB Post.

I think: Such the Amalgamation is more efficiency, but less on the remote area, that is more better than its still Status Quo by not do anything?

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท