หลักคิดในการฝึกตนเอง สำหรับนิสิตจิตอาสาขับเคลื่อนคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของหมวดวิชาศึกษาทั่วไป


ปรัชญาของหมวดวิชาศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยมหาสารคาม คือ "เข้าใจตนเองและผู้อื่น อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข" คุณลักษณะนิสิตที่พึงประสงค์ของหมวดวิชาศึกษาทั่วไปกำหนดไว้ ๙ ประการ ได้แก่ (เฉพาะคำสำคัญ)

  • เป็นคนดีที่ "พอเพียง"
  • รู้รอบรู้กว้างขวาง
  • เห็นคุณค่าของตนเองและผู้อื่น
  • มีจิตอาสา จิตสาธารณะ
  • เป็นผู้ใฝ่รู้ (เรียนรู้ตลอดชีวิต)
  • คิดเป็น (คิดอย่างมีวิจารณญาณและองค์รวม)
  • เป็นผู้มีความสุข (นำความรู้ไปใช้ อยู่ได้ในสังคมอย่างดี)
  • รู้เท่าทันสมัย (นำเทคโนโลยีและไอซีทีไปใช้ได้)
  • สื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ (ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย)

คำถามคือ ทำอย่างไรนิสิตสามารถพัฒนาตนเองไปสู่คุณลักษณะข้างต้นนี้ได้ด้วยตนเอง? คำตอบน่าจะมีหลากหลายตามลักษณะนิสิต ซึ่งหลักคิดในการพัฒนา ต้องยึดเอาพวกเขาเป็นศูนย์กลาง อย่างไรก็ดี วิธีที่เราเลือกทำคือ การฝึกอบรมนิสิตจิตอาสาแกนนำฯ เพื่อบ่มภาวะ "จิตตื่นรู้" เพื่อเป็นก้าวแรกสู่การรู้จักและเข้าใจตนเอง เพื่อการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาด้วยตนเองต่อไป

ผมสรุปหลักคิดในการฝึกตนเอง สำหรับให้นิสิตจิตอาสาฯ นำไปพิจารณาเรียนรู้ด้วยตนเอง กระบวนการเรียนรู้ภายใน ๔ ประเภทดังภาพด้านล่างนี้ มาจากหลักปฏิบัติตามพุทธธรรม ดังนั้นนิสิตควรจะมั่นใจและเปิดใจเรียนรู้และนำไปปรับปฏิบัติด้วยตนเอง พร้อมๆ ไปกับศึกษาพระธรรมภาคปฏิบัติไปด้วย


คำอธิบายภาพ

  • เบื้องต้นที่สุด เราเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อม จากสิ่งเร้า จากสิ่งที่มาสัมผัสทาง ตา หู จมูก ลิ้น ผิวกาย และใจ สิ่งที่กำหนดการเรียนรู้คือ "สิ่งแวดล้อม" ลองพิจารณาต้นพญาสัตบันที่เติบโตสูงถึงระบบตึกแปดชั้นที่อาคารราชนครินทร์ ฯลฯ


  • แบบที่ ๑ บุคคลทั่วไปที่ "ไม่ฝ่เรียนรู้" จะมีรูปบบของการดำเนินชีวิตแบบ "สะท้อนทันที" กล่าวคือ เมื่อมีสิ่งใดมากระทบสัมผัสทั้ง ๕ หรือนึกคิดขึ้นมาได้ (จากใจ) จะตอบสนองหรือแสดงหรือสะท้อนออกไปทางกาย วาจา หรือใจ ทันที โดยเป็นไปตาม ร่องความคิดเดิมๆ ความคุ้นชินเดิมๆ นิสัยเดิม ความรู้จำเดิมๆ ที่มีอยู่ ในขั้นนี้ นอกจากประสบการณ์ผ่านกายที่สั่งสมในรูปของทักษะแล้ว จะไม่เกิดองค์ความรู้ใดๆ
  • แบบที่ ๒ บุคคลทั่วไปที่ใฝ่รู้ใฝ่เรียน เขียน อ่าน นักวิชาการ หรือผู้มีประสบการณ์ และรวมถึงคนที่สังคมสมัยนี้ยกย่องว่าเป็น "ปัญญาชน" จะมีมีรูปแบบของการดำเนินชีวิตแบบ " ๓ เหลี่ยม" กล่าวคือ เมื่อมีสิ่งสัมผัสแล้ว จะนำมาคิดพิจารณา ใคร่ครวญ อย่างเป็นเหตุเป็นผล เทียบเคียงกับประสบการณ์และองค์ความรู้เดิมของตนก่อนจะตัดสินใจตอบสนองและแสดงพฤติกรรมออกไป ผลการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในขั้นนี้ นอกจากจะเกิดทักษะและความชำนาญแล้ว ยังทำให้ได้องค์ความรู้เชิงทฤษฎี หลักการ ปรัชญา ซึ่งถือได้ว่าเป็นความรู้ภายนอก หรือความรู้ชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) หรือเรียกว่า ปัญญาทางโลก
  • แบบที่ ๓ คือ การดำเนินชีวิตแบบครบวงจร "๔ เหลี่ยม" แตกต่างจากแบบ "๓ เหลี่ยม" ตรงที่ จะต้องฝึกตนเองให้เป็นผู้มี "สัมมาสติ" คือ สติปัฏฐาน ระลึกรู้กายรู้ใจ ซึ่งเป็นฐานของการปฏิบัติวิปัสนา ศึกษาการเกิดดับของสรรพสิ่ง ผลการเรียนรู้ในขั้นนี้ คือ การรู้จักตนเอง การรู้เห็นตามเป็นจริง และรวมไปถึงการยกระดับจิตใจ จิตวิญญาณให้สูงขึ้น กลายเป็นจิตใหญ่ ใจจักรวาล จนพ้นทุกข์ต่อไป หรืออาจเรียกรวมว่า ได้ปัญญาทางธรรม

สรุปคือ ให้ทุกคนพยายามศึกษาหาทางฝึกฝนตนเองให้เป็นคนแบบ "๔ เหลี่ยม" ครับ

ต่อไปนี้เป็นรูปที่ผมก๊อปปี้มาจากเฟสบุ๊คของแสน (ธีระวุฒิ ศรีมังคละ) นักเดินทางต่างวัย ที่ก้าวมาเป็นผู้นำนิสิตจิตอาสาในปีนี้







Cr. แสน ศรีมังคละ

หมายเลขบันทึก: 611610เขียนเมื่อ 1 สิงหาคม 2016 02:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 สิงหาคม 2016 22:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

"จิตตื่นรู้" เพื่อเป็นก้าวแรกสู่การรู้จักและเข้าใจตนเอง เพื่อการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาด้วยตนเองต่อไป ชอบมากๆค่ะ ขอบคุณที่แบ่งปันนะคะ ฝากติดตามด้วยนะคะ

https://www.gotoknow.org/posts/611639


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท