ธรรมะบำบัดความเจ็บป่วยได้จริงหรือ?


วันนี้ร่วมกิจกรรมในหัวข้อ "ธรรมะบำบัดความเจ็บป่วยได้จริงหรือ?" เวลา 9.00 - 16.00 น. จัดที่ สถาบันปัญญาภิวัตน์ แจ้งวัฒนะ มีคนเข้าร่วมแน่นหอประชุมคอนเวนชั่นที่จุคนได้ 1,500 คน ทราบว่ามีคนสมัครถึง 3,000 กว่าคนและพลาดโอกาสไปหลายคน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพกายจิตโดยอาศัยธรรมะบำบัดมีมากขึ้น



วิทยากรภาคเช้าที่มาเล่าประสบการณ์ตรงในการใช้ธรรมะบำบัดความเจ็บป่วย คือคุณปรียานุช ปานประดับ อีกท่านเป็นคุณหมอหน่วยชีวันตาภิบาล คือ น.พ.สกล สิงหะ ซึ่งทั้งสองท่านมีเรื่องเล่าที่สนุกๆและให้สาระที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง สลับกับการบริหารกายจิตด้วย "โยคะภาวนา" โดยครูหมู
ภาคบ่ายที่ทุกคนรอคอยคือการฟังคำสอนจากพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ซึ่งมีหนังสือธรรมรักษาใจมาแบ่งปันให้ด้วย ผมฟังด้วยความตั้งใจ จึงอยากสรุปสาระสำคัญที่ท่านให้ข้อคิดวันนี้มาแบ่งปันต่อ อาจบันทึกกระท่อนกระแท่นบ้างคงไม่ว่ากันนะ



ท่านอาจารย์ไพศาลบอกว่าปัจจุบันคนป่วยทางใจมากขึ้น ทั้งๆที่บางครั้งอาการป่วยทางกายไม่เท่าไร หรือบางคนก็ไม่ได้ป่วยทางกาย แต่พอป่วยทางใจทำให้เกิดป่วยทางกายไปด้วย การรักษาการป่วยทางใจสามารถรักษาได้ด้วยการปล่อยวางอารมณ์ที่ป่วยใจ ซึ่งเกิดจากความคิดที่ปรุงแต่ง วาดภาพที่เลวร้าย ที่น่ากลัว บางคนก็สร้างภาพที่ตนเองทำไม่ดีในอดีต หรือบางคนก็ห่วงใยคนอื่น



ท่านอาจารย์ไพศาลเสนอแนะวิธีการปล่อยวางไว้ 3 วิธีคือ
1.การปล่อยวางคนป่วยทางใจ แก้ได้โดยต้องรู้ทันความคิดที่ปรุงแต่ง แล้วปล่อยวางด้วยสติ จะทำให้จิตโปร่งเบา คลายจากความเจ็บป่วย เพราะโรคที่ว่าร้ายไม่ร้ายเท่าความคิดปรุงแต่งอารมณ์ให้เกาะกินหัวใจ จิตเราตก เราโกรธเพราะใจเราเองไม่ใช่ปัจจัยภายนอก ถ้าเรารู้เท่าทัน รู้ตัว หรือมีสติ ความคิดก็จะค่อยๆหายไป การให้อภัย การแผ่เมตตาก็ช่วยได้
2.การปล่อยวางเวทนาจากความเจ็บปวด แก้ได้ด้วยสมาธิ เพราะเวลาเจ็บปวดจิตจะถูกแรงดึงดูดให้ไปจดจ่อที่ความเจ็บปวด ถ้าเราสามารถหันเหความสนใจมาที่ลมหายใจจากสมาธิ จะทำให้ลืมความเจ็บปวด ร่างกายจะหลั่งสารระงับความเจ็บปวดได้เอง ที่สำคัญคือต้องฝึกให้มีสติ ให้เข้าใจว่าความเจ็บปวดเอาไว้ให้เห็น ไม่ใช่เอาไปเป็น เราไม่ใช่เป็นผู้ปวด คือมีสติเห็นความเจ็บปวด แต่ไม่ใช่ลงไปปวด นั่นคือเอาสติไปดูเวทนา ด้วยการปฏิบัติสติปัฏฐาน 4 (กาย เวทนา จิต ธรรม) จะสามารถวางอุเบกขาปล่อยวางจากเวทนาได้ โดยไม่ต้องจ้องหรือปล่อยใจแต่ให้ชำเลืองดู ไม่เช่นนั้นจะตกเข้าหลุมดำ สติจะเป็นตัวแยกกายปวดแต่ใจเป็นผู้ดู
3.การปล่อยวางความอยากหายป่วย ความอยากก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ถ้าเราปล่อยวางความอยาก ความทุกข์หรือความเจ็บป่วยก็จะบรรเทาลง ถ้ายังอยากจะทำให้ติดยึด หัวใจของการปล่อยวางก็คือการยอมรับ แล้วใจจะปล่อยวางมากขึ้น ถ้าไม่ยอมรับ จะขัดขืน แล้วจะยิ่งเจ็บปวดมากขึ้น โดยต้องยอมรับความจริง ยอมรับความเป็นไป และยอมรับความตายให้ได้ใจเราก็จะไม่ทุกข์ เพราะร่างกายไม่ใช่ของเราแต่เมื่ออาศัยเขาอยู่ก็ต้องดูแลเขาไป


หมายเลขบันทึก: 611603เขียนเมื่อ 31 กรกฎาคม 2016 19:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 กรกฎาคม 2016 20:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

Sadhu.

I think these 3 points are really 'rewording' of the Buddha Teaching. Ture and true!

ตามมาอ่านด้วยคนครับ

หมอสกลเป็นบล็อกเกอร์ของเราครับ คนนี้ครับ

https://www.gotoknow.org/blog/phoenix-mirror

จากบุญถึงครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท