เลือกระบบการศึกษาให้ถูกทาง



นี่คือเรื่องคอขาดบาดตาย หรือเรื่องสัมมาทิฐิ/มิจฉาทิฐิ ของระบบการศึกษาของประเทศที่เสนอในหนังสือ Global Education Reform : How Privatization and Public Investment Influence Education Outcomesโดยเสนอในลักษณะของผลงานวิจัย มีข้อมูลหลักฐานเพียบ

สรุปได้ว่า มิจฉาทิฐิคือเดินตามแบบประเทศชิลี สวีเดน และสหรัฐอเมริกาที่ใช้แนวทางทำให้ การศึกษาของประเทศเป็นธุรกิจเอกชน (privatization)

ซึ่งตรงกันข้าม กับอีก ๓ ประเทศ คือคิวบาฟินแลนด์ และแคนาดาที่ใช้แนวทางลงทุนและ จัดบริการการศึกษาโดยรัฐ (ผมตีความว่าเป็นแนวทางสังคมนิยม) เป็นแนวทางแห่งสัมมาทิฐิ

กล่าวง่ายๆ คือ แนวทางของสามประเทศหลังให้ผลลัพธ์การเรียนรู้สูงกว่า พิสูจน์กันที่ผลลัพธ์ การเรียนรู้

หนังสือทั้งเล่ม หนา ๒๓๒ หน้ามีข้อมูลเพียบ ทั้งข้อมูลเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ และเขียนแบบ นักวิจัยคือระมัดระวังในข้อสรุปเขาสรุปเฉพาะผลการวิจัยเปรียบเทียบประเทศคล้ายๆ กันในด้านระดับ ของการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ ๓ คู่นี้ เท่านั้น

อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว คนไม่ประสีประสาอย่างผมสรุปว่าการต่อสู้ระหว่างโลกทุนนิยมกับโลก สังคมนิยม ยังคงดำเนินต่อเนื่องอย่างเข้มข้นมีการรวมพวกกันตามสถานการณ์ เพื่ออ้างว่าแนวทางของตนดีกว่าช่วยสร้างโลกที่สดใสกว่าให้ผลประโยชน์แก่คนส่วนใหญ่ได้ดีกว่า

โชคดีที่ในประเทศที่เจริญแล้ววงการวิชาการของเขาก้าวหน้าและมีความเป็นกลางทางอุดมการณ์มีความแม่นยำทางวิชาการหนังสือที่มาจากผลงานวิจัย อิงข้อมูลหลักฐานแน่นแฟ้น จึงช่วยบอกคนในสังคมว่าความเป็นจริงเป็นอย่างไรเป็นไปตามข้ออ้างหรือความเชื่อใดดังที่หนังสือเล่มนี้ได้ทำหน้าที่

น่าสนใจ ที่หนังสือเล่มนี้เดินเรื่องด้วย “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” แต่เป็นคนละสามเหลี่ยมกับของ ท่านอาจารย์หมอประเวศ นะครับ

ผู้ที่เอาหนังสือเล่มนี้มามอบให้ผม คือคุณวิริยะ ผลโภค ผู้จัดการประชุมวิชาการทางการศึกษาที่ใหญ่ที่สุด ในประเทศไทย คือ Educathai ท่านเหลือบมาเห็นผมกำลังอ่าน pdf ชุด Global Education Reform ท่านอุทานว่า “อาจารย์กำลังอ่านหนังสือที่ผมเอามาให้พอดี” และกล่าวต่อว่า “อ่านจากหนังสือเล่มนี้ ประเทศไทยเรากำลังเดินผิดทางอยู่นะครับ”

เป็นข้อสรุปที่ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง

ผมพยายามทบทวนว่า ใครเป็นผู้ส่ง pdf file ชุดนี้มาให้ผม ก็นึกไม่ออกจึงไม่สามารถขออนุญาต เอามาเผยแพร่ต่อได้จำเป็นต้องถือวิสาสะเอามาเผยแพร่ต่อเพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจ “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา”ของระบบการศึกษา ๒ แนวทางแต่เมื่อตรวจสอบข้อมูลในเอกสาร จึงพบว่าเป็นของคุณวิริยะนั่นเองเป็นเอกสารสรุปสาระในหนังสืออย่างดีเยี่ยม

อ่านผลงานวิจัยนี้แล้วผมตีความว่านโยบายการศึกษาแบบเน้นให้เป็นธุรกิจเพื่อกำไรเป็นตัวบั่นทอนศักดิ์ศรีของครูไปอย่างไม่รู้ตัวเพราะเขาจะใช้ test-based accountability โดยใช้กลไก การประเมินภายนอกจัดการสอบ (อย่างที่เราก็เอาอย่าง) ในขณะที่สามประเทศฝั่งที่ใช้นโยบายให้เป็น บริการของรัฐใช้กลไกกำกับคุณภาพโดยครู ผ่าน whole child curriculum and pedagogy และครูเน้น ประเมิน เพื่อเสริมพลังการเรียนรู้ของศิษย์และประเมินเด็กทั้งคน ไม่ใช่ประเมินเฉพาะด้านความรู้

ระบบการศึกษาแบบคิวบาฟินแลนด์ และแคนาดา จึงต้องพิถีพิถันในการสร้างและพัฒนาครูโดยครูก็ต้องพัฒนาตัวเองจากการทำงานในห้องเรียน อย่างสม่ำเสมอ

หนังสือเล่มนี้มี ๘ บทบทแรกชื่อ Privatization or Public Investment : A Global Questionบทสุดท้ายชื่อ Privatization and Public Investment : Is the Invisible Hand a Magic Wand?คำว่า wand แปลว่าไม้เรียว

สองบทนี้บอกเราว่า หนังสือเล่มนี้ต้องการบอกเราว่า สำหรับระบบการศึกษา แนวคิด neoliberalism / privatization ได้รับการพิสูจน์โดยข้อมูลในบทที่ ๒ - ๗ ว่าใช้การไม่ได้อย่างน้อยก็ในประเทศชิลีสวีเดน และสหรัฐอเมริกา

เป็นการบอกว่า ขบวนการที่ใช้ชื่อย่อว่า GERM (Global Education Reform Movement) ที่องค์การ พัฒนาระหว่างประเทศบริษัทที่ปรึกษา และมูลนิธิการกุศล ร่วมกันขับเคลื่อนลามเข้าไปมีอิทธิพลต่อนโยบาย การศึกษาของประเทศ สหรัฐอเมริกาออสเตรเลียอังกฤษหลายประเทศละตินอเมริกาบางประเทศ สแกนดิเนเวียและประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากเป็นขบวนการที่มีผลทำลายคุณภาพการศึกษาของประเทศ

ระบบการศึกษาของประเทศไทยก็ติดเชื้อนี้เข้าไปแล้วไม่ใช่น้อยผมหวังว่าสำนักงานสภาการศึกษา จะศึกษาข้อมูลจากหนังสือเล่มนี้เอาไปเสนอต่อสภาการศึกษา เพื่อหาทางกลับลำระบบการศึกษาไทยไม่ให้ถลำติดเชื้อ GERM จนถอนตัวไม่ขึ้นอย่างสหรัฐอเมริกา ชิลี และสวีเดน

วิจารณ์ พานิช

๑๗ มิ.ย. ๕๙


Global education reform from Pattie KB


หมายเลขบันทึก: 611307เขียนเมื่อ 27 กรกฎาคม 2016 07:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กรกฎาคม 2016 07:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท