​จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๖๒ : ถูกกฎหมายควรจะ (ต้อง) ถูกคุณธรรมด้วย


เมื่อวานมีชั่วโมงสอนจริยธรรมให้แก่นักศึกษาแพทย์ เรื่อง Ethics ในกรณี organ transplantation (จริยศาสตร์กรณีการปลูกถ่ายอวัยวะ) ผมจัดห้องเรียนเป็น round table (จริงๆไม่มี table มีแต่เก้าอี้ ๑๘ ตัวล้อมเป็นวงกลม) เหตุผลก็คือการเรียนจริยศาสตร์ไม่ใช่เพื่อที่ให้ท่องได้ว่ามีสี่ข้อ คือ สิทธิของปัจเจก ประโยชน์ ผลเสีย และความยุติธรรม (autonomy, beneficence, non-maleficence and justice) เท่านั้น ซึ่งใช้เวลาประมาณ ๒ นาทีก็สามารถท่องได้ จำได้ ให้นิยามได้ แต่เราต้องการภาคปฏิบัติของ "จริยะ" มากกว่า

การปลูกถ่ายอวัยวะเป็นหัวข้อที่น่าสนใจ เพราะเป็นวิธีการรักษาอย่างเดียวสำหรับสภาวะอวัยวะล้มเหลว โดยเฉพาะอวัยวะภายในที่สำคัญ (พวกแขน ขา หรืออวัยวะภายนอก เดี๋ยวนี้ไม่ยากที่จะหาอะไรมาแทนได้เกือบหมดแล้ว) ซึ่งก็มักต้องอาศัย "อวัยวะจริง" เท่านั้นที่จะทดแทนได้ ก็จะมาจากที่ไหนไม่ได้ก็ต้องมาจากมีคนบริจาค นำไปสู่ประเด็นปัญหาใหญ่ก็คือ อุบัติการณ์อวัยวะล้มเหลวนั้นมันสูงกว่าจำนวนคนบริจาคมากมายหลายร้อยเท่า จึงเกิด dilemma เรื่องการบริหารจัดการอวัยวะที่ได้มา ว่าจะให้ใครดี ตามหลักการอะไร? first-come/first-serve หรือจะเอาตามใครป่วยหนักกว่ากัน (ร่อแร่) หรือจะเอาทำให้ใครน่าจะได้ประโยชน์สูงสุด จะให้เด็กก่อนหรือผู้ใหญ่ก่อนดี ฯลฯ

บางคำถามอาจจะไม่มีคำตอบที่ดีที่สุด แต่พอมีแนวทาง

ที่ต้องการจะสื่อก็คือ ในชีวิตจริงเราต้องมีทักษะในการจัดการกับปัญหาที่ "ไม่เคลียร์ชัดเจนว่าถูกหรือผิด" เป็นจำนวนมาก และเราต้องอยู่กับ "ผลลัพธ์" ของการตัดสินใจของเราไปตลอดทั้งชีวิต ผมเชื่อว่าหากเราจะต้องอยู่กับความผิดพลาดหรือผลเสียจากการตัดสินใจให้ได้ น่าจะเป็นการง่ายที่สุด (หรือดีที่สุด?) หากเราบอกกับตัวเองได้ว่าเราอิงบนหลัก "จริยธรรม" ไม่ใช่อิงอารมณ์ อิงอะไรก็ไม่รู้ เนื่องจาก "สำนึกผิด (guilt)" นั้นสามารถกัดกร่อนชีวิตและจิตวิญญาณได้ชะงัดนัก พยาธิสภาพของ guilt ที่ไม่อาจจะจะจัดการได้ดีจะน่ากลัวมาก

ในการสนทนาก็มียกตัวอย่าง เช่น หากอวัยวะมีไม่พอ เราก็ควรจะ "เลือก" ให้ดีว่าจะให้ใคร หรืออีกทางหนึ่งก็คือ เลือกว่าจะ "ไม่ให้ใคร" ก็เริ่มมีการยกตัวอย่างว่า "โรคที่คนๆนั้นทำตัวเอง" น่าจะเป็นหนึ่งในข้อบ่งชี้ว่าไม่น่าจะให้ หรือโรคที่เกี่ยวกับพฤติกรรมที่ไม่สามารถจะแก้ได้ หรือแก้ยากมาก ก็จากเหตุผลเดียวกันก็คือ เดี่ยวมันก็เป็นอีก หรือกลับมาด้วยโรคเดิมเพราะมันมีความเสี่ยงสูง

มาถกเถียงมาถึงจุดนี้ ก็มีประเด็นน่าสนใจหลายตัวอย่าง อาทิ
@ คนไข้ที่เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง (อุบัติการณ์เป็นใหม่สูงมาก)
@ คนไข้มะเร็งปอดจากการสูบบุหรี่
สองอันแรกนี้จะค่อนข้างมีจุดเชื่อมชัดเจน แต่พอยกตัวอย่างไปเรื่อยๆ อาทิ
@ คนไข้เบาหวานจากการชอบกินหวานล่ะ?
@ คนไข้โดนรถชนตับแตก เพราะวิ่งข้ามถนนนอกทางข้ามล่ะ?

จะถือว่าเป็น "โรคทำตัวเอง" และพลอยติดหลังแหว่า "ไม่สมควรจะได้รับการดูแล" ไปด้วยหรือไม่?

น่าสนใจมากขึ้นเมื่อโยน dilemma เพิ่ม เช่น การเป็นคนรู้จักกับเรา? เป็นญาติเรา (ลูก ภรรยา สามี) เป็นผู้มีบุญคุณต่อเรา (เป็นหมอเคยรักษาเรา รักษาครอบครัวเรา เป็นครูบาอาจารย์เรา?) หรือเปลี่ยนอารมณ์อื่น เช่น เป็นผู้มีอิทธิพลในชุมชน เป็นตำรวจ เป็นทนายผู้พิพากษา เป็นยากูซ่า เป็นนักเลงหัวไม้ เป็นมหาโจร ฯลฯ จะมีส่วนเกี่ยวข้องในการตัดสินของเราหรือไม่?

บางเรื่องมันเบลอมากๆนัก ก็เลยโยนไปให้เป็นหน้าที่ของ Rule, Regulation กฎหมาย (Laws) แทน ในทางปฏิบัติเราใช้แบบนี้เยอะ เพื่อที่จะได้ตัดส่วนอารมณ์ emotion ออกไป เพราะมันยากและไม่คงที่

แต่.....

สิ่งที่คิดขึ้นมาในตอนนั้นก็คือ ที่แน่ๆเราไม่ควรจะใช้กฎหมายเพื่อให้เราเกิด comfort zone หรือ comfort feeling ในการทำอะไรก็ตามที่ผิดจริยธรรม ในการทำอะไรก็ตามที่ผิด conscience (มโนธรรม) ในการทำอะไรก็ตามที่ทำให้เราลดความเป็นมนุษย์ลง (dehumanization)

แม้ว่ามันอาจจะทำให้ "ง่ายขึ้น" ที่จะหลุดจากปัญหา ณ เวลานั้น ในขณะนั้น แต่การผิดจริยธรรม ผิดมโนธรรม และลดความเป็นมนุษย์ลงทุกประเภทจะ "ทิ้งร่องรอยแผลเป็น" ไว้บนชีวิตเราตลอดไป

และถ้าเป็นระดับกฎหมายของประเทศ ก็จะทิ้งร่องรอยของการเป็น less-than human ให้กับสังคมตลอดไป

กฎหมายจึงออกอย่างมักง่ายไม่ได้ ต้องคำนึงถึง consequences ผลตามด้วย กฎหมายแบบมักง่ายก็จะทำให้เกิดสังคมมักง่าย แก้ปัญหาแบบตื้นๆเขินๆ มนุษย์ที่เป็นผลิตผลของกฎหมายแบบนี้ก็พลอยตื้นๆเขินๆ

ห่างจากความหมายของ "มนุษย์ = มน (ใจ) + อุษยะ (สูง) ไปเรื่อยๆ

น.พ.สกล สิงหะ
หน่วยชีวันตาภิบาล ร.พ.สงขลานครินทร์
วันอังคารที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๙ เวลา ๑๐ นาฬิกา ๓๙ นาที
วันแรม ๗ ค่ำ เดือน ๘ ปีวอก

หมายเลขบันทึก: 611254เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2016 10:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 กรกฎาคม 2016 10:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณบันทึกดีๆที่ชวนให้ผู้อ่านคิด พิจารณา อย่างละเอียดลึกซึ้งเหมือนเดิมนะครับอาจารย์ พวกผมใช้ชีวิตบนความรีบเร่ง จนหลายครั้งก็ละเลยเรื่องความละเอียด ความลึกซึ้ง จนสูญเสียโอกาสในการเรียนรู้ความเป็นมนุษย์ ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่าไป ยังระลึกถึงอาจารย์เสมอครับถึงแม้จะไม่ค่อยได้มา log in เว็ปสักเท่าไรครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท