บันทึกการเดินทางด้วยรอยเท้าตนเอง (56) : ไปวัด


ผมไม่อยากควักตังค์ให้ลูกอีก วันเวลาเช่นนี้ถึงแม้ลูกๆ จะยังไม่มีรายได้อันใดเป็นของตัวเอง แต่เงินที่เก็บไว้ในกระปุกออมสินก็น่าจะเรียกได้ว่านั่นคือรายได้อันชอบธรรมของเขา และชอบธรรมที่ลูกๆ จะนำมา “ทำบุญ” ด้วยตัวเขาเอง

วันนี้ (20 กรกฎาคม 2559) เป็นอีกวันของการพักผ่อน

ชีวิตวันนี้ไม่ได้แพลนอะไรมากมายเป็นพิเศษ แต่ลึกๆ ก็ตั้งใจไว้เหมือนกันว่าจะ “ไปวัด”

ใช่ครับ “ตั้งใจ” แต่ก็ไม่ได้วางหมุดหมายแจ่มชัดว่าต้องเป็นห้วงเวลาใด

ไม่ได้ตั้งกติกาว่าต้องเช้าตรู่ - เช้าสายๆ หรือไม่ก็เที่ยงและบ่าย หรือกระทั่งเป็นห้วงเย็นย่ำ ตรงกันข้าม ผมกลับปล่อยให้ทุกอย่างเดินทางไปตามสภาวะภายในของตัวเอง

จนแล้วจนรอด จวบจวนพระอาทิตย์จะเที่ยงวันและหล่นร่วงลงมาเผากะบาลผมโน่นแหละ ผมถึงได้เอ่ยปากชวนเพื่อนชีวิตและสองหนุ่มน้อย “ไปวัด”

โดยหลักแล้วปักหมุดกันง่ายๆ แต่เพียงว่า "ไปถวายสังฆทาน" (ที่ไหนสักแห่ง)

ใช่ครับ -- ที่ไหนสักแห่ง มองตารู้ใจว่า "เน้นวัดวาที่เล็กๆ คนไม่พลุกพล่าน รวมถึงญาติโยมไม่ล้นทะลัก" เพราะผมไม่ค่อยชอบไปทำบุญในวันเวลาอันเป็นเทศกาลที่มีคนมากมายเป็น "คลื่นคน"

แต่วันนี้บอกตามตรงว่า เสียงอันเป็นสภาวะจากภายในของตัวเองดังกังวานว่า “อยากจะไป” และอยากไปในแบบ “ง่ายงาม” อันหมายถึงไปในที่ซึ่งไม่มีคนพลุกพล่าน ได้ถวายสังฆทานแล้วมีเวลานั่งสนทนาชีวิตกับ “พระสงฆ์องคเจ้า” นิดๆ หน่อยๆ ไม่ใช่รีบเร่งด้วยกระบวนการทั้งปวง






ก่อนออกจากที่พัก ผมบอกกับสองหนุ่มว่า “ไปแคะกระปุกออมสินของตัวเอง อยากทำบุญกี่บาทก็เอามา”

ใช่ครับ- ผมไม่อยากควักตังค์ให้ลูกอีก วันเวลาเช่นนี้ถึงแม้ลูกๆ จะยังไม่มีรายได้อันใดเป็นของตัวเอง แต่เงินที่เก็บไว้ในกระปุกออมสินก็น่าจะเรียกได้ว่านั่นคือรายได้อันชอบธรรมของเขา และชอบธรรมที่ลูกๆ จะนำมา “ทำบุญ” ด้วยตัวเขาเอง –

จุดแรกที่เราทั้งสี่คนปลงใจลงจากรถก็คือ ร้านรวงใกล้ๆ ที่พักเพื่อเลือกข้าวของเครื่องใช้ไป “ถวายพระ”

ใช่ครับ-คล้ายดังเดิมนั่นแหละ ผมบอกกับสองหนุ่มแต่เพียงสั้นประมาณว่า “มาเลือกเอง อยากทำบุญด้วยอะไรก็มาเลือกเอง”





เราใช้เวลาไม่มากมายนักกับภารกิจนี้ --- จากนั้นผมก็ตัดสินใจแล่นลิ่วไปตามถนนสายเลี่ยงเมือง โดยมีวัดป่าแห่งหนึ่งที่ผมเคยคุ้นชิน (ป้ายชื่อ) แต่ไม่เคยได้เข้าไปกราบสักการะ หรือทำบุญแม้แต่ครั้งเดียว

ระหว่างรถจอดแสดงความเคารพต่อสัญญาณไฟ เพื่อนชีวิตซื้อ "มาลัยดอกไม้" มาคล้องไว้ในรถ ซึ่งเธอก็ชอบทำเช่นนี้อยู่เป็นประจำ หากแต่คราวนี้แปลกดี พวงมาลัยที่ซื้อมาไม่ได้เต็มไปด้วยดอกไม้เหมือนแต่ก่อน หากแต่มี "ปลา" ติดสอยห้อยตามมาด้วย ทำให้เรามีเรื่องคุยกันว่า "ดีๆ นี่คือสิ่งที่ควรจะมีและควรจะทำ" เพราะมันคืออีกหนึ่ง "ภูมิปัญญาไทย" ที่ควรผูกโยงเข้ามาเป็นหนึ่งเดียวกัน -




ครับ- จากจุดแยกไฟแดง เราใช้เวลาวิ่งรถไม่ถึงสิบห้านาทีก็ถึงที่หมาย -

เอาเข้าจริงๆ พอเข้าไปถึง สภาพอันเป็นบริบทของวัดดูหรูหราใหญ่โตเกินคาดคิด ดูเหมือนจะมี "ความพร้อม" อย่างมหาศาล แถมยังอยู่ติดกับหมู่บ้าน อีกทั้งยังกำลังอยู่ระหว่างการปลูกสร้างอาคารและศาสนสถานต่างๆ อย่างน่าชื่นใจ เราจึงไม่ลังเลที่จะหันเหไปยังที่อื่น -- เป็นการเปลี่ยนใจโดยไม่รู้ว่า “จะไปที่ไหนต่อกันดี”

ดังนั้น เราจึงจำต้องย้อนกลับออกมาทางเดิม -

ครั้นถึงถนนสายหลักจึงหันหัวรถมุ่งไปยังอีกทิศทางหนึ่ง โดยตั้งใจว่าวิ่งไปอีกสักไม่เกิน 2-3 กิโลเมตร หากไม่เจอวัดเราจะเลี้ยวกลับ แล้วค่อยมาตัดสินใจอีกทีว่า “จะไปวัดไหนดี” หรือไม่ก็ "กลับที่พัก วันหลังค่อยว่ากันใหม่"

กระนั้นพอเดินทางไปได้สักพัก เราต่างก็เอ่ยปากถึงวัดแห่งหนึ่งขึ้นมาพร้อมกันแบบไม่ได้นัดหมาย ซึ่งเป็นวัดที่เราเคยไปมาเมื่อหลายเดือนก่อน วัดๆ นั้นเป็นวัดเล็กๆ ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่อยู่ใกล้ๆ กับมหาวิทยาลัยฯ มี “หลวงพ่อ” หรือที่เราเรียกว่า "หลวงตา" จำวัดอยู่ 1 รูป ---

แต่ก็น่าเสียดาย เมื่อไปถึง "ท่านก็ไม่อยู่" เข้าใจว่ามีกิจนิมนต์ที่ไหนสักแห่ง ถามคนแถวนั้นก็ไม่ได้คำตอบที่แน่ชัด จนเรารู้สึกว่า "ที่นี่อาจไม่ใช่" และบางทีเราอาจมีที่ไหนสักแห่งที่ถูกลิขิตไว้เพื่อ "วันนี้" โดยเฉพาะแล้วก็เป็นได้ เพียงแต่เล่นกลให้เราได้ทบทวนและท้าทายบางอย่างไปพร้อมๆ กัน

เช่นเคยครับ -- เราทั้งสี่คนตัดสินใจขึ้นรถและวกลับออกมาทางเดิม

ขณะขับรถออกมานั้น ผมกับลูกๆ ต่างตัดสินใจร่วมกันว่า เราจะแวะ “สำนักสงฆ์” ที่เรา "เห็นป้ายอยู่แว้ปๆ" ในตอนขามา ซึ่งเราพูดตรงกันว่า "บางทีอาจเป็นสถานที่ที่ใช่ของวันนี้ก็เป็นได้" —




พระเจ้า !

เส้นทางที่มุ่งเข้าไปนั้นเล็กและแคบเอามากๆ ถึงแม้จะสองเลนก็เถอะ สาบานได้เลยหากรถยนต์สองคันบังเอิญมีพรหมลิขิตต้องวิ่งสวนกัน เอาหัวเป็นประกันเลยว่า “จบข่าว” อย่างไม่ต้องสงสัย

ความจริงมีอยู่ว่า ....

เส้นทางสายนี้ผมเคยลัดเลาะมาเมื่อห้าปีก่อน ตอนนั้นถนนหนทางยังเป็นลูกรังผสมปนเปกับโคลนตม หน้าแล้งก็ร้อนแล้งฝุ่นตลบ พอหน้าฝนก็เลอะลื่นเฉอะแฉะ ซ้ำร้ายยังถูกน้ำท่วมขังปิดตายตัดขาดจากโลกภายนอก หากแต่ครานี้ถนนดังกล่าวกลับเปลี่ยนรูปร่างไปจนจำไม่ได้ ถนนสายนี้ถูกยกระดับสูงหนีน้ำและถูกแต่งองค์ทรงเครื่องใหม่ผ่านกระบวนการเททับด้วยซีเมนต์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สำหรับผมแล้ว- อดีตถนนสายนี้ เปรียบได้กับเด็กบ้านนอกกะโปโลไม่สวมรองเท้า หน้าตามอมแมนเหน็บเหาเต็มศรีษะ แต่พอมาวันนี้... และวินาทีนี้กลับเปลี่ยนแปลงไปในแบบหน้ามือเป็นหลังมือ จากเด็กมอมแมมกลายเป็นเด็กสาวกึ่งเมืองกึ่งชนบทที่ผมเผ้าเริ่มยาวสยายสวยงาม ส่วนผิวพรรณก็ดูเปล่งปลั่ง มีน้ำมีนวล





จะว่าไปแล้ว - จากจุดตัดแยกปากทางเข้าสู่ตัวสำนักสงฆ์น่าจะอยู่ในราวๆ 3 กิโลเมตร สองฝั่งทางเป็นเรือกสวนไร่นาที่กำลังเขียวงามทั้งข้าวกล้าและวัชพืช หรือกระทั่งไม้เล็กไม้ใหญ่ที่เติบกล้าท้าฟ้าฝน


ภายหลังจากถวายสิ่งของต่างๆ เป็นที่เรียบร้อย ถือโอกาสนั่งสนทนาชีวิต (ไม่ใช่สนทนาธรรม) กับท่านเล็กๆ น้อยๆ พอได้รู้ว่าท่านบวชมาแล้ว 5 พรรษา โดยก่อนหน้านี้จำวัดที่จังหวัดเลยและอำเภอบรบือ (จังหวัดมหาสารคาม)

ท่านเล่าให้ฟังว่า ที่นี่ก็เคยเป็นสำนักสงฆ์มาก่อน แต่เพราะพิษภัยของน้ำที่หลากท่วมซ้ำซาก ไม่มีอาคารสงฆ์ที่เป็นรูปธรรม กอปรกับจำกัดด้วยพื้นที่ธรณีสงฆ์ จึงทำให้ "วัดร้างพระ" ในที่สุด ส่วนท่านก็เพิ่งมาจำวัดที่นี่เป็นพรรษาที่ 2 และกำลังจะย่างเข้าสู่พรรษาที่ 3

ครับ- นั่นคือข้อสมมติฐาน หรือคำบอกเล่าจากเวทีสนทนาชีวิตเล็กๆ ที่ไม่มีผิด ไม่มีถูก และผมก็ได้บอกเล่ากับพระหนุ่มด้วยเช่นกันว่า หลายปีก่อน (ร่วมห้าปี) ผมก็เคยมาที่นี่ ซึ่งสำนักสงฆ์ ณ วันนั้น กับวันนี้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง





ไม่รู้สิครับ--- สำหรับผมแล้ว ผมเป็นคนประเภทนี้แหละ ยิ่งในเรื่องวิถีบุญ ผมยิ่งไม่ชอบกะเกณฑ์อะไรกับตัวเองมากนัก พร้อมคือพร้อม –

ใช่ครับ "พร้อม" ในที่นี้หมายถึง พร้อมไปวัดวันไหนก็ไป และเมื่อคิดจะไปก็ต้องไป ผมเป็นเช่นนี้จริงๆ

และในยามที่ไป หลายต่อหลายครั้ง ผมมักจะเลือกท่องสัญจรไปเรื่อยๆ เจอพระ หรือเจอวัดที่ไหนก็แวะเข้าไปกราบสักการะ ---

ใช่ครับ --- เรื่องของการไปวัด เรื่องของการไปทำบุญ

สำหรับผมแล้ว แค่คิดก็สุขใจ ยิ่งได้ทำ ยิ่งสุขใจเป็นที่สุด

นี่คือคำว่า "ไปวัด" ในแบบ “ง่ายงาม” ในนิยามของผม –




...

เข้าพรรษา 2559
โขงกุดเวียน
มหาสารคาม,



หมายเลขบันทึก: 610969เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2016 23:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2017 08:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

-สวัสดีครับอาจารย์ฺ

-ตามบันทึกชีวิตแห่งความสุขครับ

-เข้าพรรษา...หลายคนงดเหล้า..นะครับ

-ถือเป็นสิ่งดี ๆ ที่ควรให้กำลังใจ

-สำหรับผมแล้ว...เห็นแง่งามของชีวิตผ่านบันทึกนี้ครับ..

-"ความดีงามย่อมดึงดูความดีงามเสมอ"

-ขอบคุณครับ


สวัสดีครับ คุณมะเดื่อ

ขอบพระคุณดอกไม้แสนหอมที่นำมาฝากนะครับ

พลอยให้คิดถึงคำแซวแบบบ้านๆ จากกัลยาณมิตรที่เห็นผมปลูกไม้ยืนต้นใหญ่ๆ ไม่ได้ว่า

"เอาแต่ปลูกไม้ประดับ ไม้ประแดก คือบ่ปลูก"

แปลว่า "ปลุกแต่ไม่ประดับที่กินไม่ได้ ทำไมไม่ปลูกไม้ที่กินได้บ้าง"

5555

เห็นด้วยอย่างยิ่ง นะครับ อาจารย์ฯ เพชรน้ำหนึ่ง

ความดีงาม

ย่อมดึงดูดความดีงาม-เสมอ

ขอบพระคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท