เลี้ยงลูกยิ่งใหญ่ ๑. ทารกนักคิดและนักวิทย์



บันทึกชุดเลี้ยงลูกยิ่งใหญ่นี้ ตีความมาจากหนังสือ Raise Great Kids : How to Help Them Thrive in School and Life ซึ่งเป็นหนังสือชุดรวบรวมบทความเด่นจากนิตยสาร Scientific American Mind หนังสือเล่มนี้เพิ่งออกจำหน่ายในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๙

บันทึกแรก ทารกนักคิด ตีความจากบทความชื่อ How Babies Think โดย Allison Gopnik คำตอบคือ ทารกคิดและเรียนรู้ มากกว่าที่เราเข้าใจ

เมื่อ ๓๐ ปีก่อนเข้าใจกันว่า ทารกไม่มีเหตุผล เอาแต่ใจตัวเอง และไร้ศีลธรรม ตกอยู่ใต้อิทธิพลของ สภาพที่ตนอยู่ในขณะนั้น ไม่สามารถเข้าใจเหตุและผล ไม่เข้าใจประสบการณ์ของผู้อื่น ไม่สามารถแยกระหว่าง ความจริงกับความเพ้อฝัน และมักจะคิดว่าทารกเป็นเสมือนผู้ใหญ่ที่ไร้ความสามารถ

แต่ผลการวิจัยในช่วง ๓๐ ปีที่ผ่านมา บอกว่า ทารกรู้มากกว่าที่เราคิด และทารกใช้วิธีเรียนรู้แบบ เดียวกันกับนักวิทยาศาสตร์ คือทดลอง ตามด้วยการวิเคราะห์สถิติ แล้วสร้างทฤษฎีเกี่ยวกับความเป็นจริง ทางกายภาพ ชีวภาพ และจิตวิทยา โดยมีกลไกทางสมองรองรับความสามารถพิเศษนี้ ความรู้ใหม่นี้ ปฏิวัติความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์

ความเข้าใจผิดพลาดในอดีตต่อทารกและเด็กเล็ก เป็นเพราะหลงวิเคราะห์จากคำพูดของเด็ก แต่การวิจัยในช่วง ๓๐ ปีที่ผ่านมา เน้นที่พฤติกรรม หรือการกระทำของเด็ก พบว่าเด็กจะจ้องมอง สิ่งใหม่ที่พบเห็น หรือสิ่งแปลกไม่คาดคิด นานกว่าปกติ พฤติกรรมนี้แหละที่นักวิทยาศาสตร์นำมาใช้วิจัยทารก และเด็กเล็ก

บทความนี้เน้นที่เด็กอายุ ๔ ขวบลงมา ซึ่งหากตั้งคำถามปลายเปิด เด็กจะตอบไม่ได้ หรือไม่ได้สาระ แต่เมื่อใช้คำถามปลายปิด มีเพียง ๒ ทางเลือก และสังเกตพฤติกรรมเด็ก แล้วตีความความคิดของเด็ก จากพฤติกรรม ยกตัวอย่าง คำถามวิจัย ๒ ข้อ (๑) เด็กจับหรือคลานไปหาสิ่งของชิ้นใด (๒) ทารกและเด็กเล็ก เลียนพฤติกรรมของคน รอบข้างอย่างไรบ้าง

เขาอ้างผลงานวิจัยมากมาย ที่สรุปได้ว่า ทารกและเด็กเล็กเข้าใจโลกโดยรอบตัวไม่น้อย เช่นเด็กจะจ้อง สิ่งของที่เคลื่อนไหวผ่านกำแพง มากกว่าวัตถุที่เคลื่อนผ่านประตู แสดงว่าเด็กเล็กมีความเข้าใจหลักการของวิชา ฟิสิกส์แล้ว

จากผลการวิจัย เขาสรุปว่าเมื่ออายุ ๓ ถึง ๔ ขวบ เด็กมีความเข้าใจเรื่องชีววิทยา (สิ่งมีชีวิต) การเจริญเติบโต พันธุกรรม และความเจ็บป่วย รวมทั้งรู้จักคนอื่นและพยายามเลียนแบบสีหน้าท่าทาง

ผู้เขียนกับเพื่อนร่วมงานทำวิจัยชิ้นหนึ่งในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ในเด็กอายุ ๑๔ กับ ๑๘ เดือน ให้ทดลองชิมบร็อคคอลี่ดิบ (ทั้งเด็กและผู้ทดลองทำหน้าเหยเก เพราะขม) กับขนมปังแคร็กเกอร์ (ทั้งเด็กและผู้ทดลองทำหน้าพอใน เพราะอร่อย) แล้วผู้วิจัยทำท่าและพูดว่าขอบ้างได้ไหม เด็กอายุ ๑๘ เดือนบางคนยื่นบร็อกคอลี่ให้ พร้อมทำหน้าพอใจ (เป็นเชิงหลอกว่าตนชอบ) แต่เด็กอายุ ๑๔ เดือนทั้งหมดจะยื่นแคร็กเกอร์ให้ แสดงว่าเด็กอายุเพียงแค่ ๑๔ - ๑๘ เดือน ก็สามารถเข้าใจความรู้สึก ของคนอื่นแล้ว รวมทั้งเข้าใจจิตวิทยาง่ายๆ ในชีวิตประจำวันด้วย

ในบทความ มีข้อสรุปผลงานวิจัยที่แสดงว่า ทารกและเด็กวัย ๔ ขวบลงมา มีการเรียนรู้วิธีคิด และเข้าใจธรรมชาติรอบตัวมากกว่าที่เราเคยเข้าใจกัน ผู้เขียนสรุปว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ช่วงเวลาวัยเด็ก ต้องพึ่งพาผู้อื่นในการดำรงชีวิตยาวที่สุด สัตว์ที่ช่วงเวลาวัยเด็กยาว จะมีการเรียนรู้สูง มนุษย์เป็นสัตว์ที่ มีการเรียนรู้สูงที่สุด โดยที่มีการแบ่งหน้าที่ระหว่างวัยเด็กกับวัยผู้ใหญ่ โดยวัยเด็กเป็นวัยเพื่อการเรียนรู้

นักวิทยาศาสตร์ทางสมองค้นพบว่า สมองของเด็กมีความยืดหยุ่นกว่าสมองของผู้ใหญ่ โดยมีการเชื่อมต่อใยประสาทระหว่างเซลล์สมองสูงกว่ามาก แต่เป็นการเชื่อมต่อที่ไม่มีประสิทธิภาพ และจะมีการตัดออกไป (pruning) ในภายหลัง เพื่อเอาการเชื่อมต่อที่ไร้ผลออกไป คงไว้แต่การเชื่อมต่อ ที่มีคุณภาพ นอกจากนั้น สมองของเด็กยังอุดมด้วยสารเคมีที่ช่วยการเปลี่ยนการเชื่อมต่อใยประสาท

สมองส่วน prefrontal cortex เป็นสมองที่มีเฉพาะในมนุษย์ และต้องการเวลายาวนานที่จะพัฒนา การเชื่อมต่อใยประสาทเต็มที่ คือต้องมีอายุเลยวัยเบญจเพสไปแล้ว สมองส่วนนี้ทำหน้าที่ควบคุมความสามารถ ในการมีสมาธิจดจ่อ การวางแผน และการมีพฤติกรรมที่เหมาะสม ซึ่งต้องอาศัยความรู้ที่สั่งสมอย่างยาวนาน ไว้ตั้งแต่วัยเด็ก

การที่สมองส่วน prefrontal cortex ยังไม่บรรลุวุฒิภาวะในช่วงต้นของชีวิต เป็นคุณต่อการเรียนรู้ เพราะสมองส่วนนี้ ทำหน้าที่ยับยั้งพฤติกรรมที่ไม่สมเหตุสมผล การขาดความยับยั้งมีส่วนช่วยให้มนุษย์ ในวัยเยาว์มีการทดลองแสวงหาความรู้ความเข้าใจ

วิวัฒนาการสู่ความเป็นมนุษย์ ได้ช่วยให้วัยทารกและเด็กเล็กเป็นวัยของการทดลองค้นคว้าและเรียนรู้ ดูเสมือนว่า ความเป็นนักวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่มากับธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ และความอ่อนแอของสมอง ส่วนหน้า (prefrontal cortex) ในวัยเยาว์ ดูจะเป็นกลไกที่เอื้อต่อการเรียนรู้ในวัยเยาว์

สำหรับพ่อแม่ที่ใจร้อน อยากรู้เคล็ดลับความสำเร็จในการเลี้ยงลูกให้เป็นคนดีและคนเก่ง ขอแนะนำให้อ่านบทความ 10 Proven Ways to Raise Smarter, Happier Children ที่ http://www.marcandangel.com/2015/02/18/10-proven-w...



วิจารณ์ พานิช

๓ พ.ค. ๒๕๕๙


หมายเลขบันทึก: 608136เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2016 16:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2016 16:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท