After Action Review


ผมเชื่อว่าใครหลายคนที่เป็นคอภาพยนตร์ คงเคยได้ชมภาพยนตร์เรื่อง "We were Soldiers" ซึ่งกวาดรางวัลมากมายมาแล้วอย่างแน่นอน ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้นำเสนอช่วงเหตุการณ์หนึ่งในสงครามเวียดนาม คือ สมรภูมิรบเทือกเขาเอียดรัง ซึ่งเชื่อกันว่าบทเรียนของทหารอเมริกันครั้งนั้นกลายเป็นที่มาของ After Action Review

ในปี ค.ศ.๑๙๖๕ สมัยสงครามเวียดนาม ในสมรภูมิเทือกเขาเอียดรัง (เอีย-ดรัง) ทหารอเมริกันมอบหมายให้พลโทฮัล มัวร์ นำกำลังพลเข้าพื้นที่สมรภูมิด้วยเฮลิคอปเตอร์ จากการประเมินของการข่าวแจ้งว่าในพื้นที่ดังกล่าวมีทหารเวียตกงประมาณ ๒๐๐ นาย แต่เมื่อกองกำลังทหารอเมริกันชุดแรก ๖๐ นายมาถึง กลับพบว่าตกอยู่ท่ามกลางทหารเวียตกงกว่า ๑,๖๐๐ นาย ทหารอเมริกันตกอยู่ในภาวะที่ยากลำบากก่อนที่กองกำลังเสริมจะถูกส่งมาถึงอีกครั้ง และแม้ท้ายที่สุดสมรภูมิดังกล่าวจะจบลงด้วยการล่าถอยของทหารเวียตกงเนื่องจากถูกทิ้งระเบิดทางอากาศ แต่ความสูญเสียและความผิดพลาดที่เกิดขึ้นได้กลายเป็นที่มาของการพัฒนาเครื่องมือที่เรียกว่า After Action Review


๕ ปีต่อมา สถาบันวิจัยกองทัพสหรัฐ ได้ตีพิมพ์ “After Action Review Process” เพื่อเป็นคู่มือในการพัฒนากลยุทธารรบ โดยเริ่มต้นทดลองใช้ในการฝึกภาคสนามของกองทัพ โดยมีคำถามสำคัญ ๓ ข้อ ให้แต่ละหน่วยปฏิบัติได้หารือกันหลังเสร็จสิ้นภารกิจ ประกอบด้วย

  • “มีอะไรเกิดขึ้นระหว่างการฝึกซ้อมร่วมกัน” ให้ระบุถึงข้อเท็จจริง สิ่งที่ดำเนินการ และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น
  • “ทำไมมันจึงเกิดขึ้น” ให้ข้อเท็จจริงที่สามารถอธิบายสาเหตุของเหตุการณ์และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น
  • “จะทำอย่างไรให้หน่วยรบมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

ในเวลาต่อมา After Action Review ก็ถูกเผยแพร่และต่อยอดจนเป็นกรอบคำถาม ๔ ข้อ และถูกใช้เพื่อกระบวนการที่เรียกว่า “ถอดบทเรียน” กรอบคำถามนั้นประกอบด้วย

  • สิ่งที่คาดหวังไว้ในตอนแรกคืออะไร
  • สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคืออะไร แตกต่างกับสิ่งที่คาดหวังอย่างไร
  • ได้เรียนรู้อะไร ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
  • จะพัฒนาให้ดีขึ้นอีกได้อย่างไร

หลักสำคัญของ AAR ประกอบด้วย

  • เป็นการทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นจริง เพื่อยกระดับในการปฏิบัติครั้งต่อไป
  • เป็นการประเมินสถานการณ์หรือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่การประเมินตัวบุคคล
  • เป็นพื้นที่ที่ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันในการแสดงความคิดเห็น ซักถาม เพื่อให้เกิดความคิดหรือทางเลือกใหม่
  • ควรทำทันทีหลังเสร็จสิ้นกิจกรรมย่อย ไม่ใช่เสร็จสิ้นโครงการ เพื่อให้สามารถปรับแก้ไขได้ทันท่วงที
หมายเลขบันทึก: 607934เขียนเมื่อ 6 มิถุนายน 2016 20:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2016 20:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ค่ะ AAR เป็นเครื่องมือหนึ่งของการจัดการความรู้ ซึ่งเริ่มมาจากองทัพสหรัฐค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท