วิธีลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา



ในการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การพัฒนาคุณภาพภายในสถานศึกษา” วันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๕๙ ตามที่เล่าแล้วเมื่อวาน ได้เชิญ ดร. ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ จากธนาคารโลก ไปบรรยายเรื่อง ความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรทรัพยากรทางการศึกษา และแนวทางแก้ไข เป็นการวิจัยทางการศึกษาที่วงการ ศึกษาไทยทำไม่เป็น คือต้องใช้กระบวนวิธีวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ แบบ modeling และใช้ข้อมูลภาพใหญ่ เป็นการวิจัยแบบมองภาพใหญ่ (macro) ทั้งประเทศ

ดร. ดิลกะ ชี้ให้เห็นพลังของระบบข้อมูล ที่เมื่อเอามาวิเคราะห์เป็นสารสนเทศ และเปิดเผยต่อสาธารณะ มันจะส่งผล ให้สาธารณชนเรียกร้องให้ฝ่ายนโยบาย ปรับยุทธศาสตร์ แผน และการจัดสรรงบประมาณ และทรัพยากรอื่นๆ ไปโดยอัตโนมัติ ประเทศที่ประสบความสำเร็จมาก ในการใช้ยุทธศาสตร์นี้คือ บราซิล และเวียดนาม

เรื่องระบบข้อมูล และการเปิดเผยข้อมูลทางการศึกษานี้ ประเทศไทยล้าหลังมาก และเป็นต้นเหตุของความด้อยคุณภาพของการศึกษา และความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

มองในแง่ร้าย ระบบการศึกษาไทยเป็นระบบปกปิดข้อมูล มีผลให้ชนชั้นนำได้รับผลประโยชน์สูง กว่าคนทั่วไป แต่ในภาพรวม เราสูญเสียกันทั้งชาติ หากเราปล่อยให้ระบบการศึกษายังเป็นเช่นปัจจุบัน ประเทศชาติจะเสื่อมถอย เพราะจะเป็นต้นเหตุให้คุณภาพพลเมืองไทยลดลง ซึ่งเวลานี้ก็เห็นตำตาอยู่ และการมี คสช. ก็ไม่ได้แก้ปัญหาหลักด้านการศึกษาของชาติเลย คสช. ดูจะจับประเด็นผิดด้วยซ้ำ

นั่นเป็นการมองในแง่ร้ายนะครับ เราไม่ควรหมกมุ่นกับกระบวนทัศน์นั้น แม้มันจะเป็นความจริง

เราควรช่วยกันแก้ไข ตามขีดความสามารถของแต่ละคน และรวมตัวกันแก้ไข เพราะเป็นเรื่องของ บ้านเมืองของเรา ของลูกหลานในอนาคตของเรา ไม่ควรหวังรอผู้กุมอำนาจทางการเมือง ไม่ว่าจะมาโดยวิธีใด

การเขียน บล็อก Council ของผม เป็นส่วนหนึ่งของการทำงานสาธารณะเพื่อเป้าหมายพัฒนาการเรียนรู้ หรือการศึกษาของบ้านเมือง

ข้อมูลในผลการศึกษาบอกว่า หากจะให้เป็นชั้นเรียนที่มีคุณภาพทั่วประเทศ เราขาดครูอยู่ 108,000 คน ซึ่งไม่มีทางที่จะเพิ่มได้ และผมคิดว่าหากจะแก้โดยการเพิ่มจำนวนครูเอาดื้อๆ น่าจะเป็นวิธีการที่ผิดอย่าง น่าละอาย เพราะเป็นวิธีที่โง่เขลา

ดร. ดิลกะเสนอเครื่องมือแก้ที่น่าสนใจมาก เรียกว่าระบบโรงเรียนศูนย์กลาง (Central School) ซึ่งจะทำให้จำนวนครูที่มีอยู่ในปัจจุบัน เกินพอ

อ่าน ppt ของ ดร. ดิลกะ ได้ ที่นี่


วิจารณ์ พานิช

๒๘ เมษายน ๒๕๕๙


หมายเลขบันทึก: 607930เขียนเมื่อ 6 มิถุนายน 2016 17:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2016 17:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท