“ปลูกผักในถุง” หลักสูตรบ้านสำโรง พื้นที่น้อย ดูแลง่าย เคลื่อนย้ายสะดวก


การปลูกผักในตะกร้าหรือถุงดำ เป็นวิธีหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วง 2-3 ปีผ่านมา ซึ่งสามารถปลูกได้ในบ้านที่มีพื้นที่จำกัด หรือ คอนโดแคบๆ ได้ การดูแลไม่ยุ่งยากเหมาะกับชีวิตไลฟ์สไตล์ของคนเมืองใหญ่

บ้านสำโรง ต.ท่าสว่าง อ.เมือง จ.สุรินทร์ เป็นชุมชนขนาดกลาง มีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 183 ครัวเรือน ประชากร 763 คน ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก จากที่เคยเพื่อยังชีพก็กลายมาเป็นเพื่อสร้างรายได้ แต่ไม่มีการจัดการที่ดี การขาดความรู้ มีค่านิยมและความเชื่อที่ผิด เห็นแก่ตัว ขาดความตระหนัก พึ่งพาสารเคมี ทั้งปุ๋ยเคมี ฮอร์โมน และยาฆ่าแมลง

ดังนั้นชาวชุมชนบ้านสำโรงจึงร่วมกันวิเคราะห์และหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นและได้จัดทำโครงการบ้านสำโรงน่าอยู่ “ปลูกผักปลอดสารพิษ” ภายใต้โครงการร่วมสร้างชุมชนและท้องถิ่นให้น่าอยู่ของ สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

พีรวัศ คิดกล้า ผู้ใหญ่บ้านบ้านสำโรง เล่าว่า บ้านสำโรงปลูกผักเป็นหลักมากถึง 67 ครัวเรือน และปลูกเพื่อจำหน่าย 21 ราย ซึ่งแต่ก่อนพบว่าใช้สารเคมีปริมาณสูง เฉลี่ยแล้วค่าใช้จ่ายสำหรับสารเคมีมากถึงปีละ1.2 ล้านบาท แล้วยังมีผู้เสียชีวิตจากจากสารพิษตกค้างด้วย จึงได้มีการส่งเสริมให้คนในชุมชนปลูกผักปลอดสารพิษ เพื่อการจำหน่ายและบริโภคในครัวเรือน ขณะเดียวกันพื้นที่รอบๆ หนองน้ำชุมชนซึ่งเป็นพื้นที่ว่างเปล่าถูกจัดสรรให้ชาวบ้านปลูกผักปลอดสารพิษ ส่งผลให้มีเกษตรกรเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาปลูกผักอินทรีย์เพื่อจำหน่าย 25 ราย ปลูกผักปลอดสารเคมี 15 ราย และลดการใช้สารเคมี 29 รายจากผู้ปลูกผักจำหน่าย 69 รายในปัจจุบัน

ทุกวันนี้ บ้านสำโรงกลายเป็นแหล่งเรียนรู้การปลูกผักปลอดสารพิษให้กับผู้สนใจได้แวะเวียนมาเยี่ยมชมไม่ขาดสาย และที่ดูจะได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ นั่นคือ การปลูกผักในถุงดำ

การปลูกผักในตะกร้าหรือถุงดำ เป็นวิธีหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วง 2-3 ปีผ่านมา ซึ่งสามารถปลูกได้ในบ้านที่มีพื้นที่จำกัด หรือ คอนโดแคบๆ ได้ การดูแลไม่ยุ่งยากเหมาะกับชีวิตไลฟ์สไตล์ของคนเมืองใหญ่

ขณะเดียวกันการปลูกผักดังกล่าวยังเป็นช่องทางหนึ่งของเกษตรกรที่พลิกระบบการปลูกลงดินแบบเดิม แล้วหันมาปลูกลงภาชนะ อย่างเช่น แก่นแก้ว หอมนวล หรือ “พี่แสบ” ชาวบ้านสำโรงที่ใช้เวลาว่างหลังหลังจากงานประจำแล้วทำเกษตรแบบพอเพียงและปลูกผักทั้งแบบลงดินลงในถุงไว้เก็บกิน อันไหนเหลือก็เก็บขายสร้างรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง

พี่แสบ เล่าถึงจุดเปลี่ยนที่มาปลูกผักในถุง ว่าด้วยความที่ตนเองหมั่นศึกษาหาความรู้สิ่งแปลกๆ ใหม่ จึงได้ไปค้นคว้าในอินเตอร์เน็ตเกี่ยวกับการปลูกพืชแนวใหม่ ซึ่งได้สนใจการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ และผักการปลูกผักในภาชนะต่างๆ โดยเฉพาะผักถุง ซึ่งถือว่าเป็นระบบเกษตรแบบใหม่ เพราะต้องการทำอะไรที่ไม่เหมือนกับคนอื่นที่ทำๆ กัน และจากการศึกษาก็พบว่าการปลูกผังในถุงมีข้อดีกว่าการปลูกลงดินหลายอย่าง คือสามารถปลูกในพื้นที่จำกัดได้ เช่น คนที่อาศัยอยู่คอนโดสามารถวางเป็นชั้นๆ ได้ ซึ่งพื้นที่เพียง 1 ตารางเมตร สามารถปลูกผักได้ถึง 10 ชนิด และสะดวกต่อการเคลื่อนย้ายไปวางไว้ตรงไหนก็ได้ หรือจะเอาผักถุงมาวางตกแต่งบ้านได้เช่นกัน คนปลูกสามารถปลูกไว้เก็บกินช่วยประหยัดรายจ่ายในครัวเรือน

สำหรับขั้นตอนการปลูกผักในถุง เริ่มจาก จัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ ได้แก่ ถุงดำ หน้าดิน ปุ๋ยหมัก ขุยมะพร้าวสับละเอียด เมล็ดพันธุ์ สำหรับการผสมดินใช้สูตร 2-1-1 คือ ดิน 2 ส่วน ปุ๋ยหมัก 1 ขุยมะพร้าวสับ 1 ส่วน คลุกผสมให้เข้ากัน หรือถ้ามีขี้วัวก็ใช้ได้แต่อย่าใส่เยอะ ผสมแล้วต้องจำด้วยแล้วดูว่าพืชเป็นอย่างไรค่อยปรับใช้ในอัตราส่วนที่จะเพิ่มหรือลดหลั่น จากนั้นกรอกดินลงในถุงเสร็จแล้วโรยเมล็ดพันธุ์ผักที่ต้องการ รดน้ำพอชุ่มชื้นรอจนผักเติบโตขึ้น ก็ค่อยๆ รดน้ำ เช้า-เย็น หรือวันละครั้งก็ได้

ผักที่เหมาะกับการปลูกในถุง จะเน้นที่พืชอายุสั้น ได้แก่ ผักที่ลำต้นไม่ใหญ่มาก ประเภทกินใบได้ทุกประเภท เช่น โหระพา แมงลัก คะน้า กะเพรา ตะไคร้ หรือผักมีผลก็ได้ เช่น พริก มะเขือม่วง มะเขือเทศ เป็นต้น เพราะผักจำพวกนี้โตเร็ว ให้ผลผลิตเร็ว ไม่เป็นโรคง่าย ถ้าให้ดีแนะนำปลูกพริก เพราะราคาดี ลงมือปลูกแค่ 3 เดือนก็ออกผลแล้ว

การใช้ขนาดถุงที่เหมาะสมนัยว่ามีความสำคัญเช่นกัน คือ ต้องคิดด้วยว่าเวลาผักโตแล้วจะมีขนาดเท่าไหร่ ถ้าหากอยากเก็บกินในระยะยาวก็ใช้ถุงขนาดใหญ่ เพราะใช้เด็ดกินใบกินลูกก็จะแตกยอดออกลูกขึ้นมาเรื่อยๆ แต่หากอยากจะปลูกเพื่อขายต้นกล้าอายุแค่ 1-2 เดือน ก็ใช้ถุงขนาดเล็กลง

“เทคนิคอีกย่างหนึ่ง คือ ผักตระกูลใบและผลขนาดเล็ก ไม่จำเป็นต้องให้น้ำบ่อยๆ เราว่างเมื่อไหร่ก็ค่อยรดก็ได้ ดูแลง่าย เพราะผักจำพวกนี้ไม่ได้อ่อนไหว และถ้าเป็นผักแบบมีผลเราก็ใช้เทคนิคการอดน้ำ คือ ไม่ต้องรดน้ำ เมื่อพืชมันขาดน้ำนานๆ เวลาได้รับน้ำได้รับปุ๋ยมันก็จะรีบดูดซับสารอาหารและน้ำเข้ามันได้ปริมาณมาก ทำให้ติดดอกออกผลเร็ว” พี่แสบ แนะนำ

สำหรับช่องทางการตลาดของผักถุงนั้น พี่แสบ บอกว่า ผักถุงที่ตัวเองปลูกนั้นส่วนใหญ่จะขายให้กับผู้ที่มาศึกษาดูงานที่บ้านสำโรงแบบยกถุงหิ้วกลับไปทั้งถุงๆ ราคาตั้งแต่ 50 - 200 บาท ส่วนไหนที่ไม่ได้ขายก็ไว้เก็บกินในครัวเรือน ถ้าเหลือมากค่อยเก็บไปขายรวมกับผักอื่นๆ ที่ปลูกในสวนกว่า 10 ชนิด

“เก็บนั่นเก็บนี่อย่างละนิดอย่างละหน่อยรวมๆ กันขายได้อย่างน้อย 8,000-9,000 บาทต่อเดือนแล้ว ยิ่งถ้าช่วงไหนเราผลิตออกในช่วงที่ขาดตลาดเราก็จะได้ราคาดี เช่น มะเขือเทศในหน้าร้อนราคาสูงถึง ก.ก.ละ 40-50 บาทเลยทีเดียว” หนุ่มใหญ่ชื่อแสบ เล่าไปยิ้มไป

ทั้งนี้เขาเคยมีแนวคิดที่จะรวมกลุ่มส่งออกผลผลิตภายใต้แบรนด์สินค้า “ผักปลอดสารพิษบ้านสำโรง” อย่างไรก็ดีเขาพบว่าการทำแบรนด์สินค้านั้นจะต้องมีพืชผักหมุนเวียนป้อนตลาดทุกวันไม่ขาด ซึ่งในส่วนนี้ยังไปไม่ถึง เนื่องจากผลผลิตของบ้านสำโรงยังมีน้อย เพราะไม่ใช่พื้นที่ปลูกรายใหญ่ จึงทำได้เพียงส่งขาย หรือพ่อค้ามารับซื้อไปขายตามในหมู่บ้านหรือชุมชนข้างเคียง

“หลังจากหันมาปลูกผักแล้ว ทำให้ครอบครัวมีรายได้เสริม ไม่กระทบกับงานประจำ เพราะดูแลง่าย ใช้รดน้ำเช้า-เย็นก่อนไปทำงานและหลังเลิกงานเท่านั้น ขณะเดียวกันยังช่วยลดรายจ่ายในครัวเรือน ไม่ต้องไปซื้อเขากิน เราปลูกเอง ปลอดสารพิษ ดีต่อสุขภาพอีกด้วย”พี่แสบ กล่าว

พี่แสบ ยังได้ทิ้งท้ายให้คำแนะนำการทำเกษตรสมัยใหม่ ว่า เกษตรกรสมัยใหม่ต้องหมั่นศึกษาและประยุกต์ปรับตัวเอง เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา อย่าไปตามกระแส พยายามทำอะไรที่คนอื่นยังไม่ได้ทำดีกว่า ไม่ต้องเสียเวลา “ทำน้อยแล้วได้เยอะ ดีกว่าทำเยอะแล้วได้น้อย”

ดังนั้นไม่ต้องห่วงว่าทำแล้วจะขายไม่ได้ ห่วงแต่ว่าเราผลิตได้แล้วหรือยัง



ความเห็น (2)

น่าสนใจมาก

กำลังปลูกกับเด็กนักเรียนเลยครับ

ปลูกเป็นอาหารกลางวัน

-สวัสดีครับ

-ตามมาชื่นชมการปลูกผักถุงครับ

-เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการบริหารจัดการแปลงผักเลยนะครับนี่

-ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท