740. "พัง" เพราะมาตรฐาน


เรียนรู้ศาสตร์ OD จาก "สามก๊ก" (ตอนที่ 61)

ไม่กี่วันมานี้ผมได้มีโอกาสอ่าหนังสือของท่านเซอร์เคน โรบินสันเรื่อง Creative Schools ...ท่านเซอร์ท่านนี้เป็นคนที่สนใจเรื่องการศึกษามากๆ และออกไปพูดที่ TED Talks จนมีชื่อเสียงไปทั่วโลก หนังสือที่ท่านเขียนสร้างแรงบันดาลใจให้ผมมากๆ ...เรื่องที่โดนใจผมมากคือท่านเซอร์วิจารณ์การศึกษากระแสหลักของโลก ที่พยายามทำทุกอย่างให้เหมือนๆกัน เด็กๆไม่ว่าจะเป็นใครมาจากไหนต้องได้ผ่านหลักสูตร และการทดสอบที่เหมือนๆกัน .. ท่านเห็นมากับตาว่าระบบนี้บั่นทอนเด็กแค่ไหน เกาหลี ที่รัฐบาลส่งเสริมการเรียนการสอนให้ได้มาตรฐานโลก แต่กลับเริ่มมีเด็กฆ่าตัวตายมากขึ้น มาตรฐานโลกด้านการศึกษาจำกัดว่าคุณจะฉลาดก็ต่อเมื่อคุณได้คะแนนคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภายหลังทราบว่ามหานครเซี่ยงไฮ้ซึ่งเด็กสอบได้ที่หนึ่งของโลก ผู้บริหารเมืองเริ่มมองเห็นสิ่งผิดปรกติ และเลิกใช้ข้อสอบมาตรฐาน

ท่านว่าโลกค้นพบมานานว่าคนเรามีความฉลาดหลายแบบ แต่ถ้าเอาความฉลาดบางแบบมาพัฒนาคน ด้วไสนวทางเดียวกันนั้นสร้างปัญหามากๆ

แล้วจะทำอย่างไร หนังสือเล่มนี้ว่าไปคือการสืบสวนค้นหาปรากฏการณ์ดีๆ ในท่ามกลางสถานการณ์ที่หดหู่

และแล้วท่านก็เริ่มสืบหาว่าคำตอบคืออะไร ...เช่นในโรงเรียนหนึ่งในเม็กซิโก ครูพยายามทำตามหลักสูตรมาตรฐาน เอาข้อสอบระดับชาติมาวัด และเคี่ยวเข็ญเด็ก ปรากฏว่าเด็กทั้งโรงเรียนทำข้อสอบไม่ได้ คุณครูท่านนี้เลยเริ่มคิดใหม่ พยายามออกแบบการสอนใหม่ ให้เนื้อหาเชื่อมโยงกับของจริง ไม่ใข่ทำตามคู่มือที่กระทรวงส่งมาให้ เด็กเริ่มสนุก เด็กธรรมดาๆ เริ่มเก่ง ตอนหลังไปเจอเด็กอัจฉริยะ ที่เมื่อส่งเสริมก็ไปสอบได้คะแนนที่หนึ่งของประเทศ ตอนหลังไปถามว่าทำไมคะแนนน้อย ทำไมเพิ่งมาเก่ง...เธอบอกว่า “เมื่อก่อนครูสอนไม่สนุก เลยไม่เอาอะไรเลย”

มีอีกที่ครูลองเปลี่ยนกลยุทธ์ จากเดิมสอนคณิตศาสตร์ให้เด็ก พยายามให้เด็กเก่ง แต่เด็กก็ไม่ชอบ เคี่ยวเข็ญอย่างไรก็ไม่เอา เด็กไม่ยอมเรียน ไปมาเลยลองถามว่าเด็กอยากทำอะไร เด็กบอกว่าอยากเล่นฟุตบอล..ครูเลยบอกไม่เป็นไร เล่นเลย ว่าแล้วครูนี่แหละไม่ชอบบอลเลย เวลาเด็กเล่นไปเชียร์กันครับ ใครทำอะไรทำเลยครูเชียร์ ปรากฏว่าถึงเวลาชั่วโมงเลข เด็กหันมาเรียนเลขโดยไม่ต้องบังคับ

การทำอะไรตามมาตรฐานการศึกษาด้วยแนวคิดอุตสาหกรรม นอกจากสร้างความกดดันให้เด็ก แม้กระทั่งเด็กที่มีสติปัญญาก็ไม่อยากแสดงความสามารถออกมา

นี่น่าจะไม่ใช่คำตอบ แล้วอะไรล่ะคือคำตอบ

มีครูชาวญี่ปุ่นที่เก่งมากๆ สมัยก่อนเป็นยาม ระหว่างเป็นยาม แต่ท่านใช้เวลาศึกษากฏหมาย จนตอนนี้จบเนติบัณฑิต (ในญี่ปุ่นยากมาก) ตอนหลังมาเปิดโรงเรียนติวสอบเนติชื่อดัง..ท่านจะย้ำเสมอว่า..การศึกษาไม่ได้มีเป้าหมายไปแข่งอะไรกับใครหรือได้อะไร หากแต่ การศึกษาเปิดโอกาสให้เราค้นพบศักยภาพของตนเอง”...

นี่น่าจะเป็นคำอธิบายที่ดีที่สุด...ไม่อย่างนั้นสังคมล่มสลายแน่ครับ เพี้ยนกันหมด

ผมมองการศึกษาไทยตอนนี้ สัมผัสจากการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยมาก็ไร้สาระเต็มทีครับ ...

ลูกศิษย์ผมคนหนึ่งสามารถพัฒนาคอนโดจนมาขายได้สำเร็จ ขณะที่เพื่อนเพิ่งหลุดจากโลกปริญญาตรีมา คนอื่นกำลังเรียนกันอยู่ เด็กคนนี้มาหาผมตั้งแต่ปี 1 อยากได้ความรู้ (เพื่อนเรียนตามมาตรฐาน) ...ผมก็สอน สอนไปพัฒนาโรงแรมตัวเองให้ดีขึ้นจนกระทั่งมีคนพักเยอะขึ้น เลยขายต่อ พอปีสองเอาเงินและกู้ (พ่อช่วยด้วย) เอาเงินมาสร้างคอนโด ...แต่ตอนนี้เรียนไม่จบครับ เพราะไม่สามารถสอบข้อสอบมาตรฐานของอาจารย์ ที่อาจไม่เคยขายแม้กระทั่งน้ำอัดลมได้ ส่วนเพื่อนของเขาตอนนี้ยังเป็นลูกจ้างอยู่ครับ ยังดิ้นรนไปวันๆ.เด็กคนนี้ตอนนี้ไปไกลกว่าเพื่อน แปลกไหมครับ ผมเจอ case อย่างนี้เยอะมากๆ...และจากการเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์มามากกว่า 14 ปี ชัดมากครับ เกรดบอกอะไรไม่ได้ นี่ครับมาตรฐานการศึกษาไทย (และโลกด้วย)

หันมาหามหาอาณาจักรตั้งแต่ยุคโบราณ ที่เกิดขึ้นและดับสูญไปตามกาลเวลา ผมว่าคำว่ามาตรฐานอาจเป็นคำอธิบายได้

ผมเชื่อว่ามาตรฐานที่ขาดการดูแลปรับเปลี่ยนนี่เอง น่าจะเป็นตัวทำให้ราชวงค์ทุกราชวงค์ในยุคสามก๊กเกิดและดับสูญ

ผมเองตั้งข้อสังเกตมาสักพักว่า ทำไมราชวงค์ฮั่นไม่อยู่มาถึงปัจจุบัน ประวัติศาสตร์ควรจะเป็นว่า..เมื่อสองพันปีที่แล้ว ราชวงค์ฮั่นก็ไม่เคยวุ่นวายอะไรจนคุมไม่ได้ ส่วนใหญ่วุ่นวายเรื่องการปฏิรูปสังคม การค้า การสร้างนวัตกรรม ...ด้วยจากการที่ตอนนี้ราชวงค์ฮั่นค้นพบคนเก่งเช่นเล่าปี่เลยดึงมาเป็นขุนพล โจโฉได้รับการทาบทามมาพัฒนากองทัพ ซุนเซ็กเอามาพัฒนากิจการอาณานิคม ขงเบ้งมาช่วยพัฒนาการศึกษา อ้วนเสี้ยวเอามาทำ CSR และเหตุการณ์ในจีนก็ดำเนินไปอย่างนี้จนกระทั่งจีนเจริญที่สุดในโลก สามารถส่งยานอวกาศไปดวงจันทร์ได้ตั้งแต่เมื่อสองร้อยปีที่แล้ว...

เปล่าครับ นั่นภาพฝัน ดูเหมือนราชวงค์ที่ทรงอำนาจเป็นตำนานอย่างฮั่น ซึ่งได้พัฒนาสั่งสมประสบการณ์การบริหารราชการมาสี่ร้อยปี ย่อมมีมาตรฐานการบริหารการคัดคน แต่มาตรฐานนี้คัดกรองคนเก่งออกไปหมด ..แถมสามารถทำให้เกิดช่องว่างที่คนไม่ดีจะเข้าไปควบคุมกลไกรัฐได้ง่ายๆ ...จะว่าไปคนพวกนี้เช่นขันทีทั้งสิบของฮั่นก็ย่อมผ่านกลไกที่เป็นมาตรฐานและเติบโตในระบบ จนกุมสภาพได้หมด..

คุณลองดูสิครับว่าใช่ไหม ผมว่าใช่ ระบบของฮั่นไม่ใช่ระบบที่ทำให้คนค้นพบศักยภาพตัวเอง ตัวระบบเองไม่ช่วยทำให้คนเปล่งประกาย...

ตรงข้ามครับ..สายผู้นำก๊กทั้งหลาย ซุนเซ็ก เล่าปี่ โจโฉ ที่ไม่สามารถทนกับระบบเดิมได้ ทั้งหมดเลยต้องสร้างองค์กรใหม่ ต้องค้นหาคนมาช่วย และส่งเสริมให้ทำงานตามความสามารถ ..ซึ่งทั้งหมดไม่ได้ใช้มาตรฐานเดิมครับ ทุกคนต้องแหกกฏแล้วกติกาใหม่หมด ผู้นำก๊กทำหน้าที่ HR เองเลยคือคัดคนเอง เดินเข้าไปหาคนเอง จากนั้นเอามาทำงานด้วยกัน ต้องอยู่ร่วมกันให้ได้แม้พื้นฐานความคิด ความรู้ต่างกัน ที่สุดเมื่อมาลุยด้วยกันก็สร้างชัยชนะได้

แต่เมื่อทั้งหมดได้ก้าวเข้ามาบริหารประเทศก็สนุกเลยครับ ทุกคนหันกับไปหามาตรฐานราชการจากราชวงค์ที่ล้มเหลว ชัดๆครับฮ่องเต้ไม่ต้องคิดเอง ทำเอง หาคนเอง สร้างทีมเอง ปล่อยให้คนรองๆไปทำแทน ระบบนี้ตอบโจทย์คนบางกลุ่ม แต่เริ่มไม่ตอบโจทย์คนส่วนใหญ่ เกิดการกีดกันคนเก่ง จนคนเก่งในระบบและนอกระบบรู้สึกไม่มีอนาคต ใครบางจึงเริ่มสร้างอนาคตเอง เช่นสุมาอี้เป็นต้น สุมาอี้ค้นหาคน ดูแลคน บุกน้ำลุยไฟไปด้วยกัน..สร้างมาตรฐานที่ไม่เคยมี และแหกคอกทุกอย่าง ที่สุดตระกูลสุมาก็ครองแผ่นดิน

จากนั้นก็รับมาตรฐานราชการโบราณเข้ามาใช้ และก็ล่มสลายๆ ไปกับมาตรฐานเดิมในเวลาต่อมา

สรุปแล้วคล้ายๆกับการศึกษา ระบบบริหารในหลายๆที่ที่ผมพบ ที่เน้นมาตรฐานอย่างบ้าคลั่ง ดูเหมือนจะสร้างปัญหามากเพราะดูเป็นมาตรฐานโรงงานไม่ส่งเสริมกรค้นพบตัวเอง ซึ่งถ้าไม่ปรับตัวคงนำไปสู่ความล่มสลายของสังคมในที่สุด

ในทางกลับกัน หากการศึกษาหรือระบบบริหาร (ทั้งรัฐและเอกชน) เป็นไปเพื่อทำให้คนค้นพบตัวเอง และส่งเสริมให้เขาเปล่งประกาย ทุกอย่างเติบโตครับ ..

เพราะฉะนั้นก่อนจะทำตามมาตรฐาน เราควรค้นหาว่าทำไมต้องมีมาตรฐาน มาตรฐานที่ว่ามีอะไรดีกว่าไหม มาตรฐานนั้นทำให้คนค้นพบตัวเอง และส่งเสริมศักยภาพคนอย่างแท้จริงไหม ... ถ้าไม่ ต้องพัฒนาใหม่แล้วครับ

สำหรับยุคปัจจุบันอาจต้องไปทบทวนกันที่วิสัยทัศน์ และค่านิยมองค์กรใหม่

เริ่มจากคล้ายๆสามก๊กครับที่ผู้นำเริ่มมองภาพก่อนว่าอยากเห็นอะไร ..แล้วค้นหาคน สร้างระบบ สร้างมาตรฐาน ค่านิยมขึ้นมาใหม่ ของเดิมผสมของใหม่ได้ แต่ต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ โดยต้องตรวจสอบดูว่าระบบนั้นเป็นระบบที่ทำให้คนจากทุกชนชั้น ทุกภูมิหลังค้นพบตัวเอง และส่งเสริมให้ได้แสดงศักยภาพหรือไม่ การศึกษาเช่นกัน ถ้าไม่ คิดใหม่ครับ

ด้วยรักและปราถนาดี

ดร.ภิญโญ รัตนาพันธุ์

www.aithailand.org


ดู Clip ของท่านได้ที่นี่ครับ



https://www.ted.com/talks/sir_ken_robinson_bring_o...


หมายเลขบันทึก: 607414เขียนเมื่อ 29 พฤษภาคม 2016 07:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2016 14:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เห็นหนังสือเล่มนี้ผมเห็นอาจารย์หมอวิจารณ์แนะนำไว้
และตามด้วยผมมองเห็นมันที่ SE-ED
และอาจารย์นำมาเล่าให้ฟังอีก

จะต้องตามไปสอยมาเสียแล้ว ;)...

สมัยใหม่คือต้องคิดแบบฝรั่งเพราะฝรั่งต้องการ..ระบบวันนี้..ถ้าเปลี่ยนได้..ด้วยตนเอง..โดยไม่ใช้กฎและกติกา..ความเปลี่ยนแปลง..คงเป็นไปอย่างธรรมดาๆธรรมชาติ..(ที่มีอยู่..นิดเดียว..)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท