Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

บุตรที่เกิดในประเทศสิงคโปร์จากหญิงที่มีสิทธิในสัญชาติไทย แต่ยังไม่ถูกบันทึกในทะเบียนราษฎรไทย มีสิทธิอาศัยถาวรในไทยหรือไม่ ?


กรณีศึกษาเด็กชายแดนนี่ จิว

: สิทธิอาศัยถาวรในประเทศไทยของบุตรที่เกิดในต่างประเทศของหญิงสัญชาติไทย ซึ่งไม่ได้แสดงตนในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยในสถานะคนสัญชาติไทย

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ข้อสอบในวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ปีการศึกษา ๒๕๕๘ ภาคที่ ๒

เมื่อวันที่ ๔ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๙

https://www.facebook.com/note.php?saved&&note_id=10154187849603834

https://www.facebook.com/media/set/?set=a.10678137...

https://drive.google.com/file/d/0BzawtIMOMfMTNWpHT...

-----------

ข้อเท็จจริง

------------

นางสาวสุดา สมิท เกิดในประเทศสิงคโปร์จากนายสมประสงค์ สวัสดี และนางเจนนิเฟอร์ จาง เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๗ บิดาและมารดาจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมายสิงคโปร์ แม้นางสาวสุดาย่อมมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาโดยผลอัตโนมัติของมาตรา ๗ (๑) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติม โดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ แต่นางสาวสุดายังมิได้ใช่สิทธิร้องขอการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติในสถานะคนสัญชาติไทยในทะเบียนราษฎรไทย เธอจึงไม่มีเอกสารรับรองสถานะคนสัญชาติไทย เธอจึงไม่อาจจะแสดงตนว่า เป็นคนสัญชาติไทยได้

ปรากฏต่อไปว่า บุคคลทั้งสามตั้งบ้านเรือนอยู่ในประเทศมาเลเซีย โดยที่นายสมประสงค์ถือหนังสือเดินทางที่ออกโดยกระทรวงการต่างประเทศไทยที่ระบุว่า เขามีสัญชาติไทย ในขณะที่นางสาวสุดาและนางเจนนิเฟอร์ถือหนังสือเดินทางที่ออกโดยกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ที่ระบุว่า บุคคลทั้งสองมีสิงคโปร์ นายสมประสงค์มีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎรไทย

ในขณะที่นางสาวสุดาและนางเจนนิเฟอร์มีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎรสิงคโปร์ นางสาวสุดาทำงานเป็นลูกจ้างของบริษัท ส้มฝาง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทตามกฎหมายไทย ซึ่งไปตั้งร้านขายส้มในประเทศมาเลเซีย นางสาวสุดาทำหน้าที่ผู้จัดการฝ่ายขายในประเทศมาเลเซียให้แก่บริษัทดังกล่าว สัญญาจ้างแรงงานทำในประเทศมาเลเซีย

ต่อมา เมื่อ พ.ศ.๒๕๕๘ นางสาวสุดาได้จดทะเบียนสมรสกับนายเฮนรี่ จิว ซึ่งเป็นคนสัญชาติสิงคโปร์ แต่อาศัยอยู่ในประเทศมาเลเซีย และบุคคลทั้งสองมีบุตรด้วยกัน ๑ คน ก็คือ เด็กชายแดนนี่ จิว ซึ่งเกิดในประเทศมาเลเซียเมื่อวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๙ และมีการแจ้งการเกิดของเด็กชายแดนนี่ในทะเบียนราษฎรของรัฐสิงคโปร์ในสถานะคนสัญชาติสิงคโปร์

----------

คำถาม

----------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ถามว่า จะต้องใช้กฎหมายของประเทศใดในการพิจารณาปัญหาการอาศัยอยู่ในประเทศไทยของเด็กชายแดนนี่ จิว ? เพราะเหตุใด ? โดยผลของกฎหมายดังกล่าว เด็กชายแดนนี่ จิว มีสิทธิอาศัยถาวรในประเทศไทยหรือไม่ ? อย่างใด ?[1]

--------------

แนวคำตอบ

--------------

คำถามที่จะต้องตอบมีอยู่ ๒ ประเด็น ก็คือ

(๑) จะต้องใช้กฎหมายของประเทศใดในการพิจารณาปัญหาการอาศัยอยู่ในประเทศไทยของเด็กชายแดนนี่ ? เพราะเหตุใด ?

เนื่องปัญหาการอาศัยอยู่เป็นกรณีระหว่างรัฐเจ้าของดินแดนและบุคคลธรรมดาที่ต้องการจะเข้ามาอาศัยอยู่ในดินแดน เป็นกรณีตามกฎหมายมหาชน ดังนั้น โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล กฎหมายที่มีผลกำหนดปัญหาดังกล่าวย่อมได้แก่ กฎหมายมหาชนภายในของรัฐคู่กรณี อันได้แก่ กฎหมายว่าด้วยการเข้าเมืองไทยและการอาศัยอยู่ในประเทศไทยที่มีผลในขณะที่เด็กชายแดนนี่ต้องการจะกล่าวอ้างสิทธินั้นๆ ซึ่งในปัจจุบัน ก็คือ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒[2] ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.คนเข้าเมือง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๒๓[3] และ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๔๒[4] ตลอดจนประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ ๘๗/๒๕๕๗ เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมผู้รักษาการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจ ลงวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๗[5]

(๒) โดยผลของกฎหมายดังกล่าว เด็กชายแดนนี่ จิว มีสิทธิอาศัยถาวรในประเทศไทยหรือไม่ ? อย่างใด ?

เบื้องต้น เราพบความเป็นไปได้ที่คนต่างด้าวจะร้องขอสิทธิอาศัยถาวรในประเทศไทยเป็นไปตามหมวด ๕ การเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ ซึ่งมีความเป็นไปได้ทางกฎหมายที่จะรับรองสิทธิอาศัยถาวรให้แก่คนต่างด้าวใน ๗ สถานการณ์ กล่าวคือ

สถานการณ์แรก เป็นสถานการณ์เพื่อรับรองสิทธิอาศัยถาวรในประเทศไทยให้แก่กรณีคนต่างด้าวทั่วไปตามมาตรา ๔๑ และ ๔๐

สถานการณ์ที่สอง เป็นสถานการณ์เพื่อรับรองสิทธิอาศัยถาวรในประเทศไทยให้แก่กรณีคนต่างด้าวที่เคยมีใบถิ่นที่อยู่แสดงสิทธิอาศัยถาวรแล้วตามมาตรา ๔๒ (๑) ประกอบกับมาตรา ๕๑

สถานการณ์ที่สาม เป็นสถานการณ์เพื่อรับรองสิทธิอาศัยถาวรในประเทศไทยให้แก่กรณีหญิงต่างด้าวที่ตกเป็นคนต่างด้าวเพราะสละสัญชาติตามคู่สมรสต่างด้าวตามมาตรา ๔๒ (๒)

สถานการณ์ที่สี่ เป็นสถานการณ์เพื่อรับรองสิทธิอาศัยถาวรในประเทศไทยให้แก่กรณีบุตรต่างด้าวผู้เยาว์ของหญิงสัญชาติไทย ไม่ว่าหญิงนั้นจะสละสัญชาติไทยหรือไม่ ตามมาตรา ๔๒ (๓)

สถานการณ์ที่ห้า เป็นสถานการณ์เพื่อรับรองสิทธิอาศัยถาวรในประเทศไทยให้แก่กรณีบุตรที่เกิดในต่างประเทศจากบุพการีซึ่งเป็นคนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยถาวรในประเทศไทย และกลับเข้ามาในประเทศไทยก่อนมีอายุครบ ๑ ปีบริบูรณ์ตามมาตรา ๔๒ (๕)

สถานการณ์ที่หก เป็นสถานการณ์เพื่อรับรองสิทธิอาศัยถาวรในประเทศไทยให้แก่กรณีนักลงทุนต่างด้าวที่นำเงินตราต่างประเทศมาลงทุนในประเทศไทยไม่น้อยกว่า ๑๐ ล้านบาทตามมาตรา ๔๓

สถานการณ์ที่เจ็ดและเป็นประการสุดท้าย เป็นสถานการณ์เพื่อรับรองสิทธิอาศัยถาวรในประเทศไทยให้แก่กรณีคนต่างด้าวในสถานการณ์พิเศษเฉพาะราย ตามมาตรา ๑๗ ซึ่งทางปฏิบัติของรัฐไทยได้ใช้ความเป็นไปได้ทางกฎหมายนี้ในการรับรองสิทธิอาศัยถาวรให้แก่กลุ่มคนหนีภัยความตาย/ผู้ลี้ภัยที่เข้ามาในประเทศไทยโดยไม่ได้รับการอนุญาตตามกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมือง ซึ่งต่อมา มีความกลมกลืนกับสังคมไทยเรียบร้อยแล้ว

ในประการต่อมา เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงของเด็กชายแดนนี่ เราสังเกตพบต่อไปว่า เด็กชายผู้นี้ก็อาจจะเป็นผู้ทรงสิทธิตามมาตรา ๔๒ (๓) แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ ซึ่งบัญญัติว่า “บุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะของหญิงซึ่งมีสัญชาติไทยโดยการเกิดไม่ว่าหญิงนั้นจะสละสัญชาติไทยในกรณีที่ได้สมรสกับคนต่างด้าวหรือไม่ก็ตาม” และถ้าเขามีข้อเท็จจริงตามนี้ มาตรา ๔๒ ก็รับรองว่า “บุคคลในสถานการณ์นี้บุคคลดังต่อไปนี้ไม่อยู่ภายใต้บังคับของประกาศกำหนดจำนวนคนต่างด้าว ซึ่งรัฐมนตรีประกาศตามมาตรา ๔๐” แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒[6]

ดังนั้น จึงต้องมาพิจารณาในรายละเอียดต่อไปว่า เด็กชายแดนนี่มีข้อเท็จจริงครบองค์ประกอบที่จะเป็นผู้ทรงสิทธิตามบทบัญญัติมาตรา ๔๒ (๓) นี้หรือไม่ ?

จะเห็นว่า องค์ประกอบแห่งข้อเท็จจริงที่ทำให้บุคคลธรรมดาทรงสิทธิอาศัยถาวรในประเทศไทยตามมาตรานี้ ก็คือ (๑) เป็นบุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ (๒) มารดาเป็นหญิงซึ่งมีสัญชาติไทยโดยการเกิดไม่ว่าหญิงนั้นจะสละสัญชาติไทยในกรณีที่ได้สมรสกับคนต่างด้าวหรือไม่ก็ตาม

ในประการแรก จะเห็นว่า เด็กชายแดนนี่ จิว ซึ่งเกิดในประเทศมาเลเซียเมื่อวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๙ เขาจึงมีอายุเพียง ๔ เดือน จึงยังมีสถานะบุคคลตามกฎหมายเอกชนเป็นผู้เยาว์

ในประการที่สอง จะเห็นว่า นางสาวสุดา สมิท ซึ่งเป็นมารดาของเด็กชายแดนนี่มีบิดาเป็นคนสัญชาติไทย และได้รับการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรในสถานะคนสัญชาติไทยแล้ว เธอจึงมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาโดยผลอัตโนมัติของมาตรา ๗ (๑) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติม โดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ แม้จะยังไม่ได้รับการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรในสถานะคนสัญชาติไทยก็ตาม แต่เราก็จะปฏิเสธไม่ได้ว่า เธอมีสถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติเป็นคนที่มีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาโดยผลอัตโนมัติของกฎหมาย

จะเห็นว่า เด็กชายแดนนี่จึงมีข้อเท็จจริงทั้ง ๒ ประการที่เป็นองค์ประกอบแห่งข้อเท็จจริงที่ก่อตั้งสิทธิอาศัยถาวรในประเทศไทยตามมาตรา ๔๒ (๓) โดยไม่ต้องรอโควตาตามมาตรา ๔๐ แต่ประการใด

อนึ่ง เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า เด็กชายแดนนี่ก็ย่อมมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดาโดยผลอัตโนมัติของกฎหมาย กล่าวคือ มาตรา ๗ (๒) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติม โดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ เพราะนางสาวสุดามีสิทธิในสัญชาติโดยการเกิดโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดาโดยผลอัตโนมัติของกฎหมาย เช่นกัน

แต่อย่างไรก็ตาม เราก็จะต้องเข้าใจให้ได้ว่า ก็เป็นสิทธิที่บุคคลทั้งสองจะใช้เสรีภาพในการเลือกใช้สิทธิในสัญชาติทั้งสองที่มีอยู่ มีความเป็นไปได้ที่บุคคลทั้งสองจะเลือกถืออีกสัญชาติหนึ่งซึ่งเป็นสัญชาติของรัฐต่างประเทศ โดยยังไม่ยอมถือสิทธิในสัญชาติของรัฐไทย

จึงสรุปในที่สุดได้ว่า รัฐไทยก็เปิดโอกาสให้เด็กชายแดนนี่เข้าใช้สิทธิอาศัยถาวรในประเทศไทยในสถานะคนต่างด้าว ซึ่งเมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งทำหน้าที่รักษาการตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ ที่จะต้องรับรองสิทธิให้แก่เขา และเมื่อมีคำสั่งรับรองสิทธิในสถานะคนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยถาวรดังกล่าวแล้ว แดนนี่ก็จะมีสิทธิร้องขอการบันทึกรายการสถานะบุคคลในทะเบียนบ้านประเภทคนอยู่ถาวร (ท.ร.๑๔) ตาม พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ในสถานะคนต่างด้าวสัญชาติสิงคโปร์ และถือเลขประจำตัวประชาชนไทย ๑๓ หลักขึ้นต้นด้วยเลข ๘

เมื่อเด็กชายแดนนี่ได้รับการรับรองสิทธิตามมาตรา ๔๒ (๓) แล้ว เขาจะมีเอกสารแสดงตนที่ออกโดยรัฐไทย ๓ ลักษณะ กล่าวคือ

(๑) “บัตรประจำตัวคนไม่มีสัญชาติไทย” แสดงความเป็นราษฎรไทยประเภทคนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยถาวรให้แก่เขา ซึ่งเป็นเอกสารตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎร

(๒) ใบถิ่นที่อยู่ เพื่อแสดงความเป็นคนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยถาวรในประเทศไทย ซึ่งเป็นเอกสารตามกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมือง และ

(๓) ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว เพื่อแสดงความเป็นคนต่างด้าวของประเทศไทย ซึ่งเป็นเอกสารตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนคนต่างด้าว

โดยสรุป เด็กชายแดนนี่จึงเป็นตัวอย่างของคนต่างด้าวเทียมที่มีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักสืบสายโลหิตโดยผลอัตโนมัติของกฎหมาย หรือเป็นคนสัญชาติไทยรุ่นที่ ๓ ในรัฐต่างประเทศ หรือเป็นคนไทยโพ้นทะเล (Thai Oversea People) ซึ่งการดูแลเอาใจใส่โดยกฎหมายไทยในยุคปัจจุบันยังมีอยู่น้อยมาก

-------------------------------------

[1] ข้อสอบในวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ปีการศึกษา ๒๕๕๘ ภาคที่ ๒

[2] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๖ ตอนที่ ๒๘ ฉบับพิเศษ หน้า ๔๕ ลงวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๒๒

[3] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๗ ตอนที่ ๑๓๑ ฉบับพิเศษ หน้า ๑ ลงวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๒๓

[4] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๖ ตอนที่ ๑๐๘ ก หน้า ๑ ลงวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๒

[5] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๑ ตอนพิเศษ ๑๓๔ ง หน้า ๑๘ ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๗

[6] ซึ่งบัญญัติว่า “ภายใต้บังคับมาตรา ๔๒ มาตรา ๔๓ และมาตรา ๕๑ ให้รัฐมนตรีโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดจำนวนคนต่างด้าว ซึ่งจะมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรเป็นรายปี แต่มิให้เกินประเทศละหนึ่งร้อยคนต่อปี และสำหรับคนไร้สัญชาติมิให้เกินห้าสิบคนต่อปี เพื่อประโยชน์แห่งการกำหนดจำนวนคนต่างด้าว บรรดาอาณานิคมของประเทศหนึ่งรวมกันหรือแต่ละอาณาจักรซึ่งมีการปกครองของตนเองให้ถือเป็นประเทศหนึ่ง”

หมายเลขบันทึก: 607065เขียนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2016 23:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤษภาคม 2016 23:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท