ความซื่อสัตย์สุจริต กับการศึกษา


..................................การสร้างพลเมืองที่มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความซับซ้อนกว่าที่เราคิด และผมคิดว่า ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นพฤติกรรม ไม่ใช่แค่ความเชื่อ และเชื่อมโยงไปสู่สิ่งที่ฝรั่งเรียกว่า integrity ซึ่งผมเรียกว่าความอดทนต่อความเย้ายวน


ผมเกิดความคิดขึ้นว่า การสร้างพลเมืองที่มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความซับซ้อนกว่าที่เราคิด และผมคิดว่า ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นพฤติกรรม ไม่ใช่แค่ความเชื่อ และเชื่อมโยงไปสู่สิ่งที่ฝรั่งเรียกว่า integrity ซึ่งผมเรียกว่าความอดทนต่อความเย้ายวน

ความอดทนต่อความเย้ายวน ยอมอดเปรี้ยวไว้กินหวาน ฝรั่งเรียกว่า deferred gratification มีการทดลองทางจิตวิทยาที่ถือว่าเป็นผลงานคลาสสิค ชื่อว่า The Marshmallow Study ทำเมื่อ ๕๐ ปีมาแล้ว ในเด็กเล็กอายุ ๓ ปีครึ่ง ถึง ๕ ปี ให้ไปนั่งในห้องคนเดียว มีขนมหวาน marshmallow วางตรงหน้า มีกล้องวีดิทัศน์แอบถ่ายพฤติกรรมของเด็กขณะนั่งในห้องคนเดียว เริ่มจากผู้ใหญ่เอาขนมมาวางตรงหน้าเด็ก และบอกว่าผู้ใหญ่จะออกไปธุระ ๑๕ นาที ขนมนั้นเด็กกินได้ แต่ถ้ารอจนผู้ใหญ่กลับมา จะได้กินขนม ๒ ชิ้น

ผลการทดลองได้เด็ก ๒ กลุ่ม คือกลุ่มกินขนม กับกลุ่มยังไม่กิน รอให้ได้สิทธิ์สองชิ้นก่อน คณะนักวิจัยติดตามเด็ก ๒ กลุ่มนี้ระยะยาว ดูผลการเรียน ชีวิตการงาน ครอบครัว การหย่าร้าง การติดยาเสพติด พบว่ากลุ่มรอได้มีชีวิตที่ดีกว่าอย่างชัดเจน

ต่อมามีการวิจัยพบว่า คุณสมบัติทนความเย้ายวนเฉพาะหน้าได้ เพื่อผลระยะยาว (deferred gratification) เป็นสิ่งที่ฝึกได้ ไม่ใช่คุณสมบัติติดตัวและตายตัวมาแต่กำเนิด และต่อมามีการค้นพบว่า คุณสมบัตินี้เป็น ส่วนหนึ่งของ Executive Function (EF) ของสมอง และเป็นเรื่องสำคัญในหนังสือ เลี้ยงให้รุ่ง

เรามักคิดว่า ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นคุณสมบัติภายในของคน ซึ่งคงจะมีส่วนถูกอยู่ด้วย แต่ผมคิดว่า ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับคนอื่น และกับสังคมแวดล้อม ผ่านการหล่อหลอมในชีวิตจริงการปฏิบัติจริง

หนังสือ Influencer : The New Science of Leading Change บอกว่า การเปลี่ยนกระบวนทัศน์คน ทำไม่ได้โดยการบอก หรือสั่งสอน แต่ทำได้โดยการช่วยเหลือให้ได้ทำพฤติกรรมที่เหมาะสม นั่นคือต้องเรียน ผ่านการปฏิบัติของตนเองแล้วใคร่ครวญไตร่ตรองสะท้อนคิดอย่างจริงจัง โดยมี “ตัวช่วย” คือ influencer หรือ facilitator ที่ช่วยสร้างสภาพแวดล้อมให้สะท้อนคุณค่าของกระบวนทัศน์ด้านบวก ซึ่งในที่นี้คือความซื่อสัตย์ สุจริต

การศึกษาแบบถ่ายทอดความรู้สำเร็จรูป สอนศีลธรรมคุณธรรมความดีสำเร็จรูป จะไม่มีวันสร้าง พลเมืองที่ซื่อสัตย์สุจริตได้ เพราะจะสู้กระแสลบที่ส่งเสริมความเห็นแก่ตัวเห็นแก่ได้แบบด่วนได้ ไม่ไหว คือแพ้กระแสทุนนิยมบริโภคนิยมวัตถุนิยมในสื่อมวลชน จะมีพลเมืองที่ซื่อสัตย์สุจริต ต้องให้เขาได้ฝึกต้านกระแสด้านลบในสังคมในสถาพจริง ตั้งแต่เล็ก และฝึกต่อเนื่องตลอดชีวิต

ผมก็กำลังฝึกอยู่


วิจารณ์ พานิช

๒ เม.ย. ๕๙


หมายเลขบันทึก: 606138เขียนเมื่อ 9 พฤษภาคม 2016 17:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤษภาคม 2016 17:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

อ่านแล้วเห็นความสำคัญของการฝึกต่อเนื่อง..เช่นกัน

เห็นด้วยอย่างยิ่งผู้ใหญ่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีด้านความซื่อสัตย์ โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยโรงเรียนถ้าอธิการบดี/คณบดี/ครูใหญ๋เป็นแบบอย่างที่ดีทีมงาน/ลูกน้อง/ลูกศิษย์ย่อมปฏิบัติตาม ในทางกลับกันถ้าผู้ใหญ๋มักมาก โลภทีมงาน/ลูกน้อง/ลูกศิษย์ย่อมปฏิบัติตามเช่นนั้น ชัดๆดูจากคนที่ขึ้นเป็นคณบดี ต้องสังเกตในดีว่าในอดีตเขาเคยเรียนรู้อยู่กับหัวหน้า/ทีมงานแบบใด เขามักจะแสดงออกในทำนองเดียวกัน ต้องร่วมกันสร้างวัฒนธรรมซื่อสัตย์ในองค์กรทางการศึกษาค่ะ

อธิบายได้เห็นภาพชัดเจนมากครับ จะขออนุญาติไปเผยแพร่ในกลุ่มเพื่อนๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท