มหาวิทยาลัยมหิดลกับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียว UI Green Metric Ranking


หลายท่านที่อยู่ในแวดวงสถาบันระดับอุดมศึกษาคงคุ้นชินกับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกที่มุ่งเน้นความเป็นเลิศในด้านการศึกษา และงานวิจัย อาทิเช่น QS World University Ranking หรือ The Times Higher Education World University Rankings แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงประกอบกับสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกที่รุกเร้าให้ทุกภาคส่วนภายในสังคมโลกให้ความสำคัญต่อการดำเนินไปของการพัฒนาด้านเศรษฐกิจที่ต้องคำนึงถึงบริบทของทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด รวมถึงการลดภาระของการปล่อยของเสียและมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม กิจกรรมการกระตุ้นภาคสถาบันอุดมศึกษาให้เริ่มตระหนักถึงสถานการณ์ดังกล่าวจึงเริ่มถือกำเนิดขึ้น ด้วยเพราะภาคสถาบันอุดมศึกษาเป็นภาคส่วนที่สำคัญในการสร้างและถ่ายทอดองค์ความรู้ รวมถึงการสร้างกำลังคนที่สำคัญของภาคสังคม

การจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวถือกำเนิดขึ้นจากแนวคิดของการต้องการประเมินผลการดำเนินงานของภาคสถาบันอุดมศึกษาในมิติของการพัฒนาอย่างยั่งยืนของพยายามสร้างให้เกิดดุลยภาพในมิติของเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม ที่ผ่านมามีหลายสถาบัน และองค์กรพยายามสร้างและนำตัวชี้วัดของการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาประยุกต์ใช้เพื่อการประเมินการดำเนินงานดังกล่าวของภาคสถาบันการศึกษา อาทิเช่น Green Report Card, Green League, Environmental and Social Responsibility Index และอื่นๆ แต่ที่ดูจะได้รับความนิยมสำหรับภาคสถาบันการศึกษาภายในประเทศไทยมากที่สุดเห็นจะได้แก่ การจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวของ UI Green Metric Ranking

UI Green Metric Ranking เป็นการพยายามที่จะประเมินและจัดอันดับสถาบันการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยทั่วโลกในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน โดยเน้นหนักไปที่ตัวชี้วัดในมิติด้านสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ เริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 2010 หรือ ปี พ.ศ. 2553 คำว่า UI ย่อมาจาก University of Indonesia ซึ่งเป็นองค์กรหลักที่เป็นเจ้าภาพในการจัดการประเมินดังกล่าว ในปีแรกของการจัดอันดับมีมหาวิทยาลัยไทยเข้าร่วมอยู่ไม่มากประมาณ 2-3 มหาวิทยาลัย แต่ได้รับความสนใจและขยับตัวสูงขึ้นมาเรื่อยๆในปีต่อๆมา (ไม่สามารถหาข้อมูลจำนวนที่ถูกต้องได้เนื่องจากไม่มีการแสดงข้อมูลย้อนหลังในเวปไซด์หลักขององค์กรที่ทำการประเมิน ข้อมูลที่แสดงอ้างอิงมาจากบทความที่ตีพิมพ์ในวารสาร Suwartha, N. and Sari, R.F., 2013)

มหาวิทยาลัยมหิดลเริ่มส่งข้อมูลเพื่อเข้าร่วมการจัดอันดับเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 2012 หรือ 2 ปีหลังจากที่เริ่มมีการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวดังกล่าว สถิติอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวในเวที UI Green Metric Ranking ดูจะสดใสในระยะ 2 ปีเริ่มต้นของการเข้าร่วมจัดอันดับ ซึ่งในปี ค.ศ.2012 และ 2013 มหาวิทยาลัยมหิดลสามารถครองตำแหน่งมหาวิทยาลัยสีเขียวอันดับ 1 ของประเทศไทยได้ 2 ปีซ้อน ในขณะที่ ค.ศ. 2014 อยู่ในอันดับที่ 2 และปี ค.ศ.2015 ล่าสุดมหวิทยาลัยมหิดลตกลงมาอยู่อันดับที่ 5 ของประเทศไทย คำถาม??? เกิดอะไรขึ้นกับการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของมหาวิทยาลัยมหิดลเ

หากทำการวิเคราะห์อย่างตั้งใจเป็นกลาง โดยอาศัยข้อมูลการใช้ทรัพยากร และการขยายตัวในการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยมหิดล รวมถึงตัวชี้วัดที่ใช้ในการประเมินการจัดอันดับดังกล่าว สามารถหาคำตอบซึ่งแยกเป็น 2 ประเด็นใหญ่ได้ดังนี้

ประเด็นคำตอบของการเลื่อนอันดับลงของมหาวิทยาลัยมหิดลในเวทีการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียว UI Green Metric Ranking คงต้องแสดงให้เห็นด้วยข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของการบริโภคทรัพยากร และการขยายตัวในกิจการการดำเนินงานในภาพรวมของมหาวิทยาลัย ต้องทำความเข้าใจก่อนว่ามหาวิทยาลัยมหิดลเป็นมหาวิทยาลัยที่มีบริบทแตกต่างไปจากมหาวิทยาลัยอื่นๆภายในประเทศไทย ด้วยเพราะมีจำนวนวิทยาเขตที่มากถึง 6 วิทยาเขต และในแต่ละวิทยาเขตก็มีบริบทของที่ตั้งที่มีความแตกต่างกันมาก ทั้งในลักษณะที่ตั้งในเขตชุมชนเมือง ปริมณฑล ไปจนถึงเขตชนบท ประกอบกับคุณลักษณะเด่นของมหาวิทยาลัยที่มีความเชี่ยวชาญ แข็งแกร่งในด้านสุขภาพ มหาวิทยาลัยมหิดลจึงมีโรงพยาบาลขนาดใหญ่อยู่ภายในโครงสร้างองค์กรที่มากถึงกว่า 5 โรงพยาบาลที่ไม่ได้ทำภาระกิจแค่เพียงการเรียนการสอนและการวิจัยเพียงอย่างเดียว แต่ต้องทำภาระกิจบริการวิชาการที่ถือเป็นภาระกิจสำคัญของประเทศชาติควบคู่กันไปด้วย จากการขยายตัวในด้านการศึกษาและวิจัย รวมถึงบริการวิชาการดังล่าว ส่งผลโดยตรงต่อปริมาณการบริโภคทรัพยากรที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากพิจารณาถึงข้อมูลการประเมินที่ผ่านมาในเวที UI Green Metric Ranking จะเห็นได้อย่างชัดเจนของการเปลี่ยนแปลงลดลงของคะแนนในแต่ละหมวดดังนี้

  • Setting and Infrastructure หมวดนี้มุ่งเน้นจำนวนพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนนักศึกษาและบุคลากร รวมถึงงบประมาณด้านสิ่งแวดล้อม จากการเปรียบเทียบคะแนนในหมวดนี้มหาวิทยาลัยมหิดลมีแนวโน้มของคะแนนที่ลดลง ทั้งนี้จากข้อมูลดิบพบว่ามหาวิทยาลัยมหิดลมีสัดส่วนของจำนวนนักศึกษาและบุคลากรต่อพื้นที่ที่เพิ่มสูงขึ้น กรณีของงบประมาณด้านสิ่งแวดล้อมมีสัดส่วนต่องบประมาณทั้งหมดคงที่ ทั้งนี้งบประมาณด้านวิจัยและการศึกษามีสัดส่วนเพิ่มขึ้นแต่ไม่นำมาพิจารณาในการประเมินผล
  • Energy and Climate Change หมวดนี้มุ่งเน้นปริมาณการใช้พลังงานขององค์กรเป็นหลัก คะแนนของมหาวิทยาลัยมหิดลในหมวดนี้มีแนวโน้มลดลงอย่างชัดเจนจากปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นตามการขยายตัวด้านการศึกษาและวิจัยของมหาวิทยาลัย
  • Water หมวดนี้มุ่งเน้นปริมาณการใช้ทรัพยากรน้ำ และการนำทรัพยากรน้ำกลับมาใช้ใหม่ คะแนนในหมวดนี้มีแนวโน้มลดลงเช่นเดียวกับหมวดพลังงาน แต่สามารถเพิ่มจำนวนคะแนนขึ้นได้จากการรณรงค์นโยบายการนำทรัพยากรน้ำกลับมาใช้ใหม่ให้มากยิ่งขึ้น
  • Transportation หมวดนี้มุ่งเน้นเรื่องของการใช้ระบบรถร่วมสาธารณะ และการจราจรจากรถที่ใช้พลังงานฟอสซิสภายในมหาวิทยาลัยเป็นหลัก หมวดนี้ถือเป็นปัญหาสำคัญของมหาวิทยาลัยมหิดลในหลายวิทยาเขตเนื่องด้วยส่วนงานหลายส่วนงานภายในเขตกรุงเทพมหานครเป็นส่วนงานที่มีภาคบริการด้านสุขภาพเป็นหลักสำคัญ จำนวนปริมาณรถที่ผ่านเข้าออกภายในวิทยาเขตจึงเป็นข้อจำกัดที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงไม่ให้เข้าออกได้ ประกอบกับในปริมาณการใช้รถยนต์ที่เพิ่มสูงขึ้นภายในวิทยาเขตศาลายา และนโยบายการเปิดกว้างให้รถยนต์ภายนอกผ่านเข้าอออกวิทยาเขตศาลายาได้เพื่อใช้อำนวยความสะดวกและบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดคับคั่งของชั่วโมงเร่งด่วนของถนนภายนอกชุมชนบริเวณวิทยาเขตศาลายา ส่งผลให้ปริมาณรถยนต์ และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากรถยนต์เพิ่มขึ้น กระทบต่อคะแนนการประเมินที่ปรับตัวลดลง


สำหรับคะแนนในหมวดของการจัดการขยะ และการศึกษา พบว่ามหาวิทยาลัยมหิดลมีคะแนนเพิ่มขึ้นในหมวดของการจัดการขยะจากกระบวนการคัดแยกขยะ และกิจกรรมธนาคารขยะรีไซเคิลที่ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมหิดลโดยกองกายภาพและสิ่งแวดล้อมได้เริ่มขยายผลการดำเนินงานสู่โรงเรียนชุมชนใกล้เคียง รวมถึงคะแนนที่เพิ่มขึ่นในหมวดของการศึกษาสืบเนื่องจากการขยายเพิ่มของหลักสูตร (ข้อมูลยืนยันชัดเจนถึงการขยายตัวในด้านการศึกษาของมหาวิทยาลัย) ซึ่งได้มีการนำนโยบายเรื่องของการพัฒนาอย่างยั่งยืนไปเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาวิชาที่หลักสูตรได้พัฒนาขึ้นมาใหม่

ประเด็นที่สองที่สำคัญมากคือ การจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียว UI Green Metric Ranking มีความถูกต้อง แม่นยำ และน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน??? ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่น่าสนใจนำมาวิเคราะห์เป็นอย่างยิ่ง เนื่องด้วยการจัดอันดับดังกล่าวอาศัยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับด้านกายภาพ และสิ่งแวดล้อม เป็นหลัก ซึ่งมีความแตกต่างจากข้อมูลด้านการศึกษา และงานวิจัย ที่สามารถตรวจสอบ และทวนสอบโดยองค์กรอิสระอื่นที่น่าเชื่อถือได้อย่างเป็นรูปธรรม ต้องยอมรับว่ากระบวนการประเมินเพื่อการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวของเจ้าภาพ ยังมองเห็นได้ถึงจุดอ่อน (Weak points) อยู่หลายประการนำมาซึ่งความไม่แน่นอน และน่าเชื่อถือในผลของการจัดอันดับ ซึ่งอาจยกเป็นตัวอย่างรายประเด็นเพื่อการตั้งเป็นข้อสังเกตได้ เช่น

  • บริบทที่แตกต่างของมหาวิทยาลัย ต้องยอมรับว่ามหาวิทยาลัยแต่ละแห่งมีบริบทที่แตกต่างกัน รวมถึงจำนวนวิทยาเขต และความแตกต่างในบริบทของวิทยาเขต สำหรับมหาวิทยาลัยมหิดลมีวิทยาเขตรวมถึง 6 วิทยาเขต บริบทที่ตั้งมีความแตกต่างตั้งแต่ในชุมชนเมืองถึงระดับชนบท การเลือกคำตอบเพื่อการจัดอันดับโดยใช้บริบทของวิทยาเขตหลักศาลายาซึ่งเป็นกึ่งชุมชนเมืองในการประเมินจึงเป็นข้อหนึ่งที่ควรพิจารณา
  • บริบทของการดำเนินกิจกรรมของมหาวิทยาลัยที่แตกต่าง มหาวิทยาลัยมหิดลมีโรงพยาบาลซึ่งเป็นที่พึ่งทางสุขภาพของประเทศไทยอยู่มากถึงกว่า 5 โรงพยาบาล โดยทำภาระกิจในด้านการบริการประชาชน ที่ผ่านมามีการขยายตัวเพื่อรองรับการบริการด้านสุขภาพและสาธารณสุขที่เพิ่มขึ้นตามลำดับ นำมาซึ่งปริมาณการใช้ทรัพยากรด้านพลังงาน น้ำ และการขนส่งที่เพิ่มปริมาณสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นการเปรียบเทียบเพื่อการจัดอันดับโดยไม่พิจารณาถึงบริบทที่แตกต่างของมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมจึงเป็นข้อสังเกตที่ควรพิจารณา
  • การดำเนินงานที่ไปได้ดีในภาระกิจหลักของมหาวิทยาลัยมหิดล จากการขยายตัวด้านการศึกษา และวิจัยของมหาวิทยาลัย เพื่อรองรับต่อนโยบายของภาครัฐในการขับเคลื่อนประเทศด้วยการศึกษาและวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดลในฐานะมหาวิทยาลัยวิจัยของประเทศจำเป็นต้องเพิ่มจำนวนหลักสูตร เพิ่มจำนวนนักศึกษาเพื่อผลิตบัณฑิตในสาขาขาดแคลนโดยเฉพาะสาขาที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ เพิ่มจำนวนงานวิจัยที่ตอบสนองต่อความต้องการของประเทศ เหล่านี้เชื่อมโยงถึงการเพิ่มขึ้นของจำนวนบุคลากร และอาคารสถานที่เพื่อรองรับต่อการขยายตัวดังกล่าว นำมาซึ่งการเพิ่มขึ้นของการบริโภคทรัพยากรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในขณะที่จำนวนพื้นที่ของมหาวิทยาลัยที่ใช้ประกอบการประเมินมีจำนวนจำกัดไม่ได้มีการเพิ่มขยายตัวตามปริมาณการขยายตัวดังกล่าว รวมถึงพื้นที่สีเขียวบางส่วนที่มีการเปลี่ยนแปลงไปใช้ประโยชน์ใช้สอยในลักษณะของอาคาร ส่งผลให้อัตรา (Rate) ปริมาณการบริโภคทรัพยากรต่อพื้นที่มีค่าสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้น อัตราจำนวนบุคลากรต่อพื้นที่สีเขียวที่เหลืออยู่มีสัดส่วนลดลง ซึ่งหากพิจารณาข้อมูลการบริโภคทรัพยากรเปรียบเทียบกับข้อมูลทางกายภาพเพียงอย่างเดียวอาจไม่นำมาซึ่งคำตอบของการดำเนินงานที่สามารถตอบคำถามของการดำเนินงานอย่างยั่งยืนที่มุ่งเน้นการสร้างดุลยภาพระหว่างมิติของการเติบโตทางเศรษฐกิจกับสิ่งแวดล้อม (ขยายความก็คือเราสามารถบริโภคทรัพยากรได้แต่ควรบริโภคให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อการเจริญก้าวหน้าขององค์กรและประเทศ) การนำผลลัพธ์ของการดำเนินงานในมิติเชิงเศรษฐกิจมาพิจารณาควบคู่กับมิติสิ่งแวดล้อมในคำตอบเชิงประสิทธิภาพ (Efficiency) จึงเป็นประเด็นที่น่าสังเกตและพิจารณา
  • ข้อมูลทางด้านสิ่งแวดล้อมที่ข้อมูลส่วนใหญ่เป็นข้อมูลของการบริโภคทรัพยากร หากจะนำมาใช้เพื่อการประเมินในการจัดอันดับควรมีความน่าเชื่อถือ กล่าวคือกระบวนการทวนสอบควรมีหลักการของความโปร่งใสและถูกต้อง อันจะนำมาซึ่งความน่าเชื่อถือของตัวเลขการจัดอันดับ ที่ผ่านมากระบวนการทวนสอบข้อมูลของการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียว UI Green Metric Ranking ยังมีข้อสังเกตถึงจุดอ่อน ด้วยเพราะกระบวนการทวนสอบอาศัยหลักการเพียงแค่การสุ่มตัวอย่างโดยการตรวจสอบเชิงเทคนิคของพื้นที่จาก Google map และการสุ่มเยี่ยมชมจากการเชิญของมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมการจัดอันดับ (อ้างอิงจากบทความ Suwartha, N. and Sari, R.F., 2013 ที่ว่า “We used two verification methods; first is by using technology approach, and the second is by direct observation”) ซึ่งไม่ปรากฎให้เห็นถึงกระบวนการทวนสอบในข้อมูลเพื่อยืนยันถึงปริมาณการใช้ทรัพยากรอย่างถูกต้อง แม่นยำ และโปร่งใส (ในทางปฏิบัติของระบบการทวนสอบข้อมูลตามมาตรฐานจะมีการทวนสอบข้อมูลเชิงปริมาณของการใช้พลังงาน น้ำ และอื่นๆ จากการวัดด้วยเครื่องมือที่เชื่อถือได้ หรือตรวจสอบเทียบกับใบเสร็จหรือระบบการเก็บข้อมูลอื่นที่ผ่านการรับรองโดยหน่วยงานที่อื่นที่น่าเชื่อถือและไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับมหาวิทยาลัย) นำมาซึ่งข้อสังเกตในผลการประเมินที่สามารถยอมรับได้หรือไม่ในเชิงวิชาการอย่างแท้จริง
  • การเปิดเผยข้อมูลการใช้ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อมสู่สาธารณะ เพื่อความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ทั้งนี้มหาวิทยาลัยโดยส่วนใหญ่ภายในประเทศไทยที่เข้าร่วมไม่มีการเปิดเผยข้อมูลดิบของการใช้ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อมที่นำส่งไปรับการประเมินสู่สาธารณะ มีแต่เพียงการนำเอาผลการจัดอันดับมาเผยแพร่ ซึ่งไม่นำสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อการพัฒนาร่วมกันในอนาคต และส่งผลต่อความไม่เชื่อใจในข้อมูลที่นำไปใช้ในการประเมินของแต่ละองค์กร ด้วยเพราะกระบวนการทวนสอบของเจ้าภาพในการจัดอันดับยังมีจุดอ่อน

ข้อสังเกตดังกล่าวข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการตั้งข้อสังเกตต่อเวทีการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียว UI Green Metric Ranking ทั้งนี้ด้วยนโยบายของท่านอธิการบดี ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อุดม คชินทร มหาวิทยาลัยมหิดลของเรายังคงยืนยันที่จะอยู่บนเวทีของการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียว UI Green Metric Ranking ต่อไป ด้วยเพราะมหาวิทยาลัยมหิดลของเราเป็นมหาวิทยาลัยที่ให้ความสำคัญยิ่งต่อการเป็นผู้นำในการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งในภาคสถาบันอุดมศึกษา และภาคประชาสังคม ในฐานะที่ผมได้รับความไว้วางใจจากท่านอธิการบดีให้กำกับดูแลงานด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของมหาวิทยาลัยมหิดล เราจะตรวจสอบข้อมูลของเราที่ส่งไปร่วมการประเมินให้มีความถูกต้องแม่นยำ และโปร่งใสเหมือนที่เราได้ปฏิบัติมาแล้วในปีที่ผ่านมา ผมเชื่อว่าประชาคมชาวมหิดลจะไม่ตระหนกต่อสถานการณ์การลดลงของอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียว แต่เราจะยอมรับต่อผลการบริโภคทรัพยากรที่เพิ่มมากขึ้นจริง และจะนำเอาข้อมูลจริงที่เกิดขึ้นและผลการประเมินที่ได้จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียว UI Green Metric Ranking มาใช้ในการพัฒนาปรับปรุงพฤติกรรมของนักศึกษา และบุคลากรภายในมหาวิทยาลัยมหิดลให้ตระหนัก และรู้จักบริโภคทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดนี้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงที่สุด และเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับสังคม และประเทศไทยต่อไป

เอกสารอ้างอิง

UI Green Metric World University Ranking 2016. Available online: http://greenmetric.ui.ac.id/

Suwartha, N., Sari, R.F. 2013. Evaluating UI Green Metric as a tool to support green universities development; assessment of the year 2011 ranking. Journal of Cleaner Production 61, 46-53.

รศ.ดร.กิติกร จามรดุสิต

รองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน

มหาวิทยาลัยมหิดล

หมายเลขบันทึก: 605334เขียนเมื่อ 24 เมษายน 2016 11:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 เมษายน 2016 11:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอแสดงความยินดีดวยนะครับ

มาเขียนบ่อยๆนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท