ก้าวใหม่ของการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เดินสู่เส้นทางของการสร้างสมรรถนะทางด้านภาษา (๒)


นักเรียนชั้น ๖ เป็นนักเรียนอีกกลุ่มหนึ่งที่ผลการสอบ SAT (Scholastic Aptitude Test) ด้านภาษามีค่าคะแนนสูงที่สุดในรอบ ๙ ปีที่ผ่านมา ซึ่งความถนัดหรือสมรรถนะที่ฝังลึกในด้านภาษานั้น มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับความสามารถในการอ่าน และทำความเข้าใจความหมายของถ้อยคำ เรื่องราว ตลอดจนทักษะการการตีความและการจับใจความได้ สมรรถนะทางภาษาสามารถสร้างให้เกิดขึ้นได้ในหลายลักษณะ ไม่ว่าจะเป็นการรู้คำตรงข้ามกัน รู้คำที่มีความหมายใกล้เคียงกัน เข้าใจนัยของคำ รู้ศัพท์สัมพันธ์ การวิเคราะห์คำได้ว่าเกี่ยวข้องกับอะไรมากที่สุด การแปลความหมายของคำเมื่ออยู่ในบริบทต่างๆ รวมไปถึงการเข้าใจภาพและสื่อความหมายของภาพได้ เป็นต้น

เมื่อตอนที่นักเรียนกลุ่มนี้เรียนอยู่ชั้น ๕ พวกเขามีโอกาสได้เรียนหน่วยวิชาภูมิปัญญาภาษาไทยกับคุณครูเจน – ญาณิสา และ คุณครูเกมส์ – สาธิตา ในหลักสูตรใหม่ที่ค่อยๆ ปรับมาเน้นแนวคิดเรื่องของการพัฒนาสมรรถนะทางภาษาให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้นมาแล้ว (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในบันทึกนี้https://www.gotoknow.org/posts/604670)

ในปีการศึกษา ๒๕๕๘ ครูผู้สอนในระดับชั้น ๖ คือ คุณครูนัท – นันทกานต์ อัศวตั้งตระกูลดี และ คุณครูบิ๊ก – พิษณุ กมลเนตร์ ซึ่งสอนหน่วยวิชาภูมิปัญญาภาษาไทยในหลักสูตรใหม่ที่ค่อยๆ ปรับมาเน้นแนวคิดเรื่องของการพัฒนาสมรรถนะทางภาษาเป็นปีที่ ๒ ได้นำกระบวนการมาร้อยเรียงและปรับเพิ่มสมรรถนะบางอย่างเพื่อให้เหมาะสมกับนักเรียนรุ่นนี้มากขึ้น โดยพิจารณาจากสมรรถนะเดิมของนักเรียนเป็นหลัก

จุดเน้นที่หลักสูตรของนักเรียนรุ่นนี้มีการเพิ่มเติมให้เข้มข้นขึ้นไปกว่าปีการศึกษาที่ผ่านมาคือ

ภาคฉันทะ มีการเพิ่มประสบการณ์การเรียนรู้ในเรื่องที่จะช่วยเพิ่มพูนสมรรถนะทางภาษาในด้านต่างๆ ดังนี้

  • การเรียนรู้สำนวน สุภาษิต คำพังเพย ในข้อนี้ครูนำคำที่เกี่ยวข้องและสามารถแปลความหมายได้หลากหลายมาให้นักเรียนได้เรียนรู้มากยิ่งขึ้น
  • การเรียนรู้เรื่องของการพูดอภิปราย ในข้อนี้ครูได้เพิ่มเติมกติกาในการพูดให้มีความชัดเจนขึ้น คือ การพูดอภิปรายจะต้องมีประโยคหลัก ประโยคสนับสนุน และยกตัวอย่างประกอบ ซึ่งทำให้ผู้เรียนได้จัดระบบความคิดก่อนที่จะพูด และเริ่มต้นขยายความจากความคิดหลัก พร้อมให้เหตุผลและตัวอย่างสนับสนุนให้ ชัดเจนขึ้น เมื่อผู้เรียนมีเกณฑ์ที่ชัดเจนจึงทำให้ผู้เรียนสามารถแสดงความคิดได้ชัดเจนเช่นกัน และมีการนำทักษะนี้ไปใช้ในกิจกรรมอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้เรียนได้ฝึกการคิดอย่างเป็นระบบอย่างสม่ำเสมอจนกระทั่งเกิดเป็นสมรรถนะที่แท้จริง
  • เพิ่มเติมงานสืบค้นต่างๆ โดยอาศัยกิจกรรมในวันสำคัญที่นักเรียนได้หยุดเรียน เช่น วันพืชมงคล ครูให้นักเรียนชมรายการถ่ายทอดสดพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ แล้วให้นักเรียนบันทึกความรู้ที่ได้จากการชมนี้ ซึ่งเป็นการช่วยฝึกทักษะการจับประเด็น และเชื่อมโยงการเรียนรู้ภาษากับสถานการณ์ปัจจุบัน การทำสิ่งนี้เป็นเสมือนการทดลองนำทักษะทางภาษาในห้องเรียนไปใช้จริงในชีวิต และครูก็นำวิธีการนี้มาใช้อีกครั้งหนึ่งในวันหยุดสำคัญต่างๆ เช่น วันวิสาขบูชา เป็นต้น ซึ่งทำให้นักเรียนได้พัฒนาทักษะทางภาษามากยิ่งขึ้น

ภาควิริยะ ครูเอื้อโอกาสให้นักเรียนได้นำเอาเครื่องมือหรือทักษะที่นักเรียนมีอยู่แล้วมาใช้อย่างต่อเนื่อง เช่น นำทักษะการพูดอภิปรายมาใช้ในการอธิบายแยกแยะลักษณะของฉันทลักษณ์ “โคลง” และ “กลอน” ให้ชัดเจนแล้วเปิดประเด็นให้พูดคุยเกี่ยวกับเรื่องฉันทลักษณ์ทั้งสองประเภทอย่างกว้างขวาง

นอกจากนี้ยังได้เพิ่มกระบวนเรียนรู้ที่จะช่วยนำพาให้นักเรียนได้รู้จักกับการประมวลความคิดและการสืบค้นในรูปแบบต่าง ๆ ดังนี้

  • ปรับรูปแบบการประมวลสรุปให้มีลักษณะเป็นการสะท้อนคิดที่มีพลังและนำไปสู่การสืบค้น เช่น ฉันไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า .... ทำให้ฉันอยากรู้ต่อไปว่า ...”เป็นต้น
  • ฝึกทักษะการคัดเลือกข้อมูลที่น่าเชื่อถือจากแหล่งข้อมูลต่างๆ จากเกณฑ์การพิจารณาความน่าเชื่อถือของข้อมูล และนำเกณฑ์นั้นไปใช้ในการคัดเลือกข้อมูลด้วยตนเอง เพื่อสร้างงานเขียนเชิงวิชาการ ซึ่งการทำเช่นนี้จะช่วยให้นักเรียนได้ไตร่ตรองและมีวิจารณญาณในการเลือกสรรข้อมูลที่จะนำมาใช้อ้างอิงมากยิ่งขึ้น
  • ครูเพิ่มเติมการทดสอบการอ่านจับใจความสำคัญของนักเรียน โดยให้นักเรียนอ่านเรื่องรามเกียรติ์ คนละ ๑ ตอน แล้วจับใจความสำคัญของเรื่อง เขียนลำดับเหตุการณ์สำคัญ และบอกข้อคิดที่ได้จากโครงเรื่องหลัก ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนได้รู้จักการคัดเลือกเฉพาะใจความที่สำคัญและข้อคิดจากประเด็นหลักของเรื่องมากขึ้น นักเรียนจึงรู้และพิจารณาถึงใจความสำคัญที่แท้จริงได้

ภาคจิตตะ ครูปรับกระบวนการเรียนรู้ให้มีความร้อยเรียงและเชื่อมโยงอย่างลื่นไหลมากขึ้น ดังนี้

  • มีการสรุปแนวคิดการเรียนรู้ในแต่ละคาบเรียนให้ชัดเจนขึ้นและนำแนวคิดเหล่านั้นมาต่อยอดการเรียนรู้ในคาบเรียนต่อไป โดยทุกครั้งที่เรียนรู้ครูจะนำงานเขียนของนักเรียนมาให้นักเรียนได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน แล้วชวนกันคิด ทบทวน สรุปการเรียนรู้ เช่น การเชื่อมโยงกันระหว่างความกลมกล่อมของอาหารกับความกลมกล่อมทางภาษา เป็นต้น
  • เพิ่มพูนประสบการณ์ในการอ่านมากขึ้น เช่น การคัดเลือกบทร้อยกรองที่มีความงามทางภาษามาให้นักเรียนได้อ่าน ตีความ และทำความเข้าใจ เนื่องจากบทร้อยกรองจะใช้ถ้อยคำที่ต้องตีความเป็นส่วนใหญ่ ครูจึงนำทรัพยากรทางภาษาเหล่านี้มาให้นักเรียนได้เรียนรู้ผ่านการอ่านสม่ำเสมอ จากนั้นจึงนำคลังคำไปสู่การเรียนรู้ในครั้งนั้นๆ รวมไปถึงการพาให้นักเรียนได้รู้เรื่องราวในวรรณคดีไทยที่นักเรียนจะได้เรียนรู้ต่อไปอีกด้วย
  • เพิ่มเติมกระบวนการการเรียนรู้ที่ครูสังเกตเห็นว่าเป้าหมายนั้นยังไม่เกิดขึ้นในตัวนักเรียน อย่างชัดเจน เช่น เป้าหมายในการเข้าถึงความงามทางภาษานั้น ครูพาให้นักเรียนเรียนรู้ว่า “จินตนาการสร้างขึ้นจากภาษา” ด้วยการชมภาพช้างเอราวัณและฟังบทชมช้างเอราวัณในวรรณคดี จากนั้นจึงให้นักเรียนได้บรรยายความมหัศจรรย์ของช้างเอราวัณให้เห็นภาพชัดเจน เมื่อครูสังเกตเห็นว่าการเขียนถึงช้างเอราวัณของนักเรียนมีเพียงแต่ข้อมูล และยังไม่ปรากฏความงามทางภาษานั้นจึงต้องเพิ่มเติมการเรียนรู้ให้นักเรียนเข้าถึงความงดงามทางภาษามากขึ้น ด้วยการคัดเลือกบทชมต่างๆ ในวรรณคดีมาให้นักเรียนได้เรียนรู้ เช่น บทชมเมือง บทชมบุษบกแก้ว บทชมโฉม เป็นต้น แล้วจึงนำบทชมช้างเอราวัณในบทที่ต่างไปจากเดิมมาให้นักเรียนได้อ่าน แล้วเขียนชมช้างเอราวัณอีกครั้ง ซึ่งการเพิ่มเติมกระบวนการเรียนรู้นี้ช่วยให้นักเรียนได้ซึมซับถ้อยคำ และเกิดความเข้าใจในความงามทางภาษามากขึ้น

ในภาคเรียนนี้นักเรียนสามารถแปลความหมายของคำจากความเข้าใจในความหมายของคำแต่ละคำที่มาประสมกันโดยไม่ต้องเปิดพจนานุกรม ไม่รู้สึกกลัว หรือเบื่อเมื่ออ่านบทร้อยกรอง หรือบทความต่างๆ ที่ครูเลือกสรรมาให้เรียนรู้ และยังมีความชื่นชมและมีความสุขอย่างชัดเจนเมื่อถึงช่วงเวลาของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากงานงานเขียนของเพื่อน ซึ่งอาจสะท้อนได้ว่าการเรียนรู้ในหน่วยภูมิปัญญาภาษาของระดับชั้น ๖ ได้พัฒนามาถึงจุดที่การเรียนในหน่วยภูมิปัญญาภาษาไทยสามารถสร้างความสุข ความรู้ ความเข้าใจ และสมรรถนะทางภาษาให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนได้อย่างน่าพอใจ

ภาควิมังสาครูเปลี่ยนโจทย์การบ้านโครงงานใหม่ เพื่อให้นักเรียนมีโอกาสได้แสดงออกทางภาษาอย่างเต็มที่ ด้วยการให้นักเรียนจัดรายการวิทยุ

ปัจจัยความสำเร็จ

๑. ครูผู้สอนมีความชัดเจนในเป้าหมายของการจัดกระบวนการเรียนรู้มากขึ้น

ครูผู้สอนได้มีส่วนร่วมในการคิดแผนการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางที่ คุณครูใหม่ - วิมลศรี ศุษิลวรณ์ ได้ร่วมคิดและร่วมสอนในลักษณะของ Lesson Study มาตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๕๗

ต่อมาในปีการศึกษา ๒๕๕๘ ได้มีการนำเอาแผนการเรียนรู้เดิมมาพัฒนาให้กระบวนการเรียนรู้ให้มีความร้อยเรียงและเพิ่มเติมเรื่องของการพัฒนาสมรรถนะทางภาษาให้ชัดเจน

การที่ครูผู้สอนได้สอนแผนการเรียนรู้เดิมซ้ำอีกครั้งหนึ่งในปีการศึกษาถัดมากับคู่วิชาคนเดิมนั้น ช่วยทำให้ครูได้มองเห็นจุดเน้นและวิธีคิดของแผนแต่ละครั้งได้ชัดเจนขึ้นกว่าเดิม และแม่นยำในวิธีการที่จะนำผู้เรียนไปสู่แนวคิดหลักของแผนได้มากยิ่งขึ้น

อีกปัจจัยหนึ่งคือการพัฒนาครูไปบนกระบวนการ Lesson Study ที่ประกอบไปด้วยการคิดแผนการเรียนรู้ การสังเกตการณ์สอน และ การสะท้อนหลังสอนกับคู่วิชา ประกอบกับการกลับไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคุณครูใหม่ในทุกสัปดาห์พร้อมกับการวิเคราะห์ชิ้นงานที่เกิดขึ้นในแต่ละคาบเรียนนั้นได้ช่วยให้ครูเกิดการเรียนรู้จากการการตีความความรู้ร่วมกัน และเกิดการค้นพบความรู้ปฏิบัติจากผลของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในแต่ละครั้งมากขึ้นไปอีก

๒. การสร้างบันไดการเรียนรู้ที่มีความต่อเนื่อง

ในปีการศึกษา ๒๕๕๘ มีการออกแบบกระบวนการให้ร้อยเรียง สอดคล้อง และต่อเนื่องกันมากขึ้น ซึ่งก่อนการออกแบบการเรียนรู้ในแต่ละครั้ง คุณครูใหม่จะถามถึงความต้องการของครูผู้สอนและทบทวนเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ในแผนการเรียนรู้ของแต่ละภาคเรียนเสมอว่า ครูต้องการจะให้นักเรียนได้ทักษะหรือความรู้เรื่องใด จากนั้นจึงทำการประเมินร่วมกันว่าความต้องการของครูนั้นมีมากไปหรือน้อยไปหรือไม่อย่างไร และทักษะที่ผู้เรียนมีอยู่ในขณะนี้เพียงพอที่จะสร้างบันไดให้ผู้เรียนค่อยๆ ก้าวต่อไปจากความรู้ที่มีอยู่เดิมเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ไหม หากไม่พอทักษะที่ยังขาดอยู่คืออะไร และจะสร้างให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนได้อย่างไร ซึ่งนั่นหมายความว่าครูต้องคิดกิจกรรมการเรียนรู้เพิ่มเติมเพื่อให้ผู้เรียนเดินทางไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ด้วยตัวเขาเองให้ได้

การออกแบบการเรียนรู้จึงมีลักษณะเป็นขั้นบันไดที่ต่อยอดการเรียนรู้เดิมออกไปเรื่อยๆ เช่น ในคาบเรียนแรกที่พบกันครูทราบอยู่แล้วว่าเมื่อครั้งที่เรียนอยู่ชั้น ๕ นักเรียนเคยเรียนเรื่องวรรณรูปมาแล้ว ครูจึงเริ่มต้นการเรียนรู้ด้วยการให้นักเรียนสร้างวรรณรูปเพื่อสะท้อนความหมายของคำว่า “คนดี” ที่อยู่ในใจของนักเรียนแต่ละออกมา ผลที่เกิดขึ้นก็คือกิจกรรมการทำวรรณรูปนี้ได้ช่วยให้ครูสามารถทำความรู้จักกับผู้เรียน และหยั่งเข้าไปถึงพื้นความรู้ความสามารถของผู้เรียนเป็นรายบุคคล นอกจากนี้ยังทำให้บรรยากาศการเรียนรู้ในวันนั้นผ่อนคลาย เพราะผู้เรียนเกิดความมั่นใจที่ได้เริ่มต้นเรียนรู้เรื่องใหม่จากพื้นความรู้เดิมที่ไปช่วยเติมความรู้ใหม่อย่างเป็นลำดับอีกด้วย

๓. การเรียนรู้งานเขียนของกันและกัน ด้วยการ “อ่านภาษา...อ่านความคิด”

ก่อนเริ่มต้นเข้าสู่เนื้อหาที่เรียน ครูจะสร้างสมาธิและภาวะพร้อมเรียนด้วยการอ่านงานเขียนของนักเรียนที่มีความน่าสนใจให้ทุกคนในห้องได้ฟัง แล้วให้ลองทายดูว่าเพื่อนกำลังคิดหรือต้องการบอกอะไรผ่านงานเขียนนั้น ซึ่งคำตอบของนักเรียนบางคนก็เป็นประโยชน์ที่นำมาต่อยอดหรือเชื่อมโยงเข้าสู่เนื้อหาที่เรียนในวันนั้นด้วย ทำให้การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นเริ่มต้นจากผลงานของนักเรียน ดำเนินต่อไปโดยความคิดเห็นที่เกิดขึ้นในชั้นเรียน และเป็นความรู้ที่นักเรียนสร้างขึ้นมาเองอย่างแท้จริง

๔. การเพิ่มเติมทรัพยากรทางภาษาในขั้นนำเข้าทรัพยากรทางภาษาและการคลี่คลาย

การเรียนรู้ด้วยกระบวนการ Open Approach ๗ ขั้นตอนในหน่วยวิชาภูมิปัญญาภาษาไทย เป็นกระบวนที่ช่วยให้ผู้เรียนได้ซึมซับและทำความเข้าใจกับภาษา ที่เชื่อมโยงไปสู่โจทย์สถานการณ์ปลายเปิดมากขึ้น

ในปีการศึกษา ๒๕๕๘ ครูได้เพิ่มเติมคลังทางภาษาให้มากขึ้นกว่าปีการศึกษาที่ผ่านมาเพื่อนักเรียนมีประสบการณ์ในการทำความเข้าใจถ้อยคำที่มีความหมายหลายนัยมากขึ้น เช่น การนำเอาคำว่า “หาบ-หาม” มาสร้างเป็นกิจกรรมการเรียนรู้ที่มีความเชื่อมโยงกันในหลายบริบท โดยอาศัยการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับสถานการณ์จริงเข้ามาเป็นตัวเดินเรื่อง ด้วยการนำเหตุการณ์ในวันพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนางคัลแรกนาขวัญที่จัดขึ้นในช่วงเวลานั้น เข้ามาเป็นโจทย์ให้นักเรียนต้องไปบันทึกความรู้แล้วนำเข้ามาอภิปรายกันในชั้นเรียน

นอกจากนี้ครูยังนำเอาเทพีหาบเงินหาบทองมาเป็นจุดเริ่มต้นในการเรียนรู้แล้วเชื่อมโยงต่อไปที่คำเรียก “ลูกหาบ” จากนั้นเชื่อมโยงไปสู่การรู้จักสำนวน “รักดีหามจั่วรักชั่วหามเสา” และสำนวนที่เกี่ยวกับคำว่าหาบ และหามอื่นๆ ต่อไป

ครูพบว่าการเรียนรู้ในลักษณะนี้ช่วยให้นักเรียนเกิดการพินิจพิเคราะห์ คิดใคร่ครวญ และเกิดความสนุกที่ได้ทำความเข้าใจความหมายของคำในบริบทต่างๆ ได้มากขึ้น เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนอย่างเป็นธรรมชาติมากขึ้น เกิดการเรียนรู้จากการตีความทางภาษาได้ลึกซึ้งขึ้นกว่าที่เคยเป็น

๕. สร้างความสนใจในเนื้อหาที่ต้องอ่านด้วยการสร้างแรงบันดาลใจ

ก่อนเริ่มต้นการอ่านทุกครั้ง ครูจะมีคำถามหรือถ้อยคำที่กระตุ้นความอยากรู้และอยากอ่านให้กับนักเรียน เช่น การอ่านเรื่อง “คุณพระเศวตฯ กับนางเบี้ยว” ที่เป็นประพันธ์โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็มีการตั้งคำถามชวนคิดให้กับนักเรียนก่อนเริ่มต้นอ่าน และฝึกให้นักเรียนอ่านอย่างมีเป้าหมายทุกครั้ง รวมทั้งเรื่องที่นำมาให้อ่านก็ยังมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับเรื่องราวที่นักเรียนจะได้เรียนรู้ต่อไปในครั้งนั้นๆ ด้วย

๖. ผู้เรียนได้ฝึกฝนทักษะการอ่านไปพร้อมกับการคิดอย่างสม่ำเสมอ

ในปีการศึกษา ๒๕๕๗ ครูได้เริ่มปรับรูปแบบคำถามใหม่เพื่อให้นักเรียนได้คิดอย่างหลากหลายมากขึ้น ตัวอย่างของคำถามเช่น “เมื่อได้อ่านเรื่องนี้จบแล้ว นักเรียนเกิดความคิดอะไรขึ้นมาบ้าง” “ความรู้ใหม่ที่นักเรียนได้เรียนรู้คืออะไร” เป็นต้น เปลี่ยนจากเดิมที่ครูมีเพียงชุดคำถามปลายปิดที่เป็นคำถามเกี่ยวกับตัวเรื่อง ความรู้ ความจำ และความเข้าใจที่เกิดขึ้นเท่านั้น

๗. นักเรียนได้ฝึกการอ่านอย่างหลากหลาย

นอกจากการอ่านตัวเนื้อหาที่ปรากฏอยู่ในเล่มที่มีลักษณะเป็นคำประพันธ์ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองแล้ว ในปีการศึกษา ๒๕๕๗ ครูได้เพิ่มการรับรู้ทางภาษาเข้าไปอย่างหลากหลาย ทั้งการฟัง และการดู เช่น การใช้สื่อวีดิทัศน์ในการเรียนรู้เรื่องรามายณะนานาชาติ เพื่อให้นักเรียนเริ่มต้นรู้จักประวัติและความเป็นมาของเรื่องรามเกียรติ์ หรือการใช้ภาพจิตรกรรมฝาผนังในการอ่านเรื่องราวและคาดเดาเหตุการณ์ในภาพ เป็นต้น นอกจากนี้ยังให้นักเรียนได้มีประสบการณ์ในการอ่านหนังสือที่เป็นงานเขียนเชิงวิชาการในหัวเรื่องที่แต่ละคนมีความสนใจอยากศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมต่อเนื่องจากเรื่องที่ได้เรียนรู้มาในชั้นเรียน เพื่อพัฒนาทักษะการอ่านให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

๘. ฝึกการอ่านร้อยกรองที่ต้องตีความและทำความเข้าใจความหมายมากขึ้น

การอ่านร้อยกรอง ช่วยให้นักเรียนฝึกการทำความเข้าใจความหมายจากบริบท และการตีความบทประพันธ์ที่ใช้คำน้อยแต่กินความมาก เช่น การอ่านสุภาษิตสอนหญิง หรือการอ่านโคลงโลกนิติ ซึ่งผู้เรียนจะเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ก็ต่อเมื่อทำการตีความคำสอนในบทประพันธ์ให้ถ่องแท้เสียก่อน

๙. ย้อนทวนการเรียนรู้ที่ได้จากคาบเรียนที่ผ่านมา และตั้งเป้าหมาย ก่อนเริ่มเรียนรู้เรื่องใหม่เสมอ

ครูจัดให้มีช่วงเวลาของการทบทวนงานเขียนและเปิดโอกาสให้นักเรียนเรียนรู้งานเขียนของกันและกันผ่านการอ่านงานเขียน อ่านความคิด อ่านคำตอบของนักเรียนกันเอง เพื่อย้อนทวนการเรียนรู้ รวมทั้งพานักเรียนสรุปการเรียนรู้ในคาบเรียนที่ผ่านมาแล้วจึงเชื่อมต่อไปสู่ประเด็นการเรียนรู้ใหม่ โดยนักเรียนจะนำทักษะและความรู้เดิมมาใช้ซ้ำแต่ต่อยอดการเรียนรู้มากขึ้น เช่น การตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนางานเขียนของตนให้มีเสน่ห์ตามประเด็นที่แต่ละคนเลือกเองนั้นเป็นวิธีการที่เริ่มทำขึ้นในปีการศึกษา๒๕๕๗ และยังคงทำอย่างต่อเนื่องต่อไป

๑๐. ใช้คำถามก่อการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

ครูใช้คำถามกระตุ้นให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ เช่น เมื่อนักเรียนอ่าน ดู ฟัง แล้วรู้สึกอย่างไร คิดว่าทำไมครูจึงอยากให้นักเรียนได้อ่านเรื่องนี้ เรื่องที่อ่านนี้เชื่อมโยงกับสิ่งที่เรียนรู้ก่อนหน้านี้อย่างไร เป็นต้น และในช่วงท้ายคาบเรียนก็จะมีช่วงเวลาของการ AAR และการสะท้อนคิดร่วมกันว่าในวันนี้ใครได้เรียนรู้อะไร

หากเป็นช่วงสัปดาห์ของการทำโครงงานครูก็จะมีแบบ AAR มาให้นักเรียนประเมินตนเองและตั้งเป้าหมายในการทำงานในคาบต่อไปทุกครั้งเพื่อให้นักเรียนจัดการกับงาน และมีทักษะในการบริหารจัดการ ทั้งการจัดการเนื้องาน จัดการกับเวลา จัดการกับความสัมพันธ์ ตลอดจนจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น ด้วยการระบุถึงเหตุของปัญหา พร้อมทั้งแนวทางและวิธีการแก้ไข ที่เมื่อไม่สำเร็จก็จะต้องเปลี่ยนวิธีการใหม่ หรือตั้งเป้าหมายใหม่ให้เหมาะสมกับเงื่อนไขและข้อจำกัด เพื่อให้คำถามทำหน้าที่ช่วยสร้างการเรียนรู้และนำพาสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ในที่สุด

หมายเลขบันทึก: 604872เขียนเมื่อ 11 เมษายน 2016 16:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 เมษายน 2016 17:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท