สิ่งที่ทำให้ธนาคารกลางไม่สามารถช่วยเหลือภาคธุรกิจให้แข็งแกร่งในช่วงวิกฤติ


สิ่งที่ทำให้ธนาคารกลางไม่สามารถช่วยเหลือภาคธุรกิจให้แข็งแกร่งในระยะยาวอย่างที่คาดหวัง รวมถึงไปกระทบต่อกลไกการดำเนินการของสถาบันการเงินและนโยบายการเงินของธนาคารกลาง ดังนี้

1. มีการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่ทั่วถึง

การที่ธนาคารพาณิชย์เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนมาตรการนี้และเมื่อไม่มีอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมมาช่วยคัดกรองการอนุมัติสินเชื่อแล้วธนาคารพาณิชย์ต้องอาศัยหลักเกณฑ์อื่นที่ไม่ใช่กลไกตลาดมาคัดกรองผู้ประกอบการที่ควรได้รับความช่วยเหลือ ทำให้ลูกค้าชั้นดีที่มีความเสี่ยงต่ำได้รับประโยชน์ขณะที่ธุรกิจที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริงมักเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงกลับไม่ได้รับผลประโยชน์นี้ดังนั้น มาตรการนี้จึงไม่สามารถกระจายความช่วยเหลือได้อย่างทั่วถึง และหากพิจารณาให้ลึกขึ้น จะพบว่า ถ้าในธุรกิจที่เผชิญปัญหาเดียวกันมีผู้ประกอบการบางรายเท่านั้นที่ได้รับความช่วยเหลือ จะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการแข่งขันเพราะมีต้นทุนการเงินที่ไม่เท่าเทียมกัน

2. สามารถเกิดการแย่งชิงทรัพยากรได้

เนื่องจากความเสียหายครั้งนี้ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อผู้ประกอบการทุกขนาด การให้ดอกเบี้ยต่ำกว่าอัตราตลาดอาจเป็นสิ่งจูงใจให้ผู้ประกอบการที่สามารถระดมทุนจากแหล่งเงินทุนอื่น อาทิออกตราสารหนี้ตลาดทุน หรือกู้จากต่างประเทศ ถือโอกาสมาใช้สินเชื่อช่องทางนี้ซึ่งจะยิ่งริดรอนโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของธุรกิจหรือผู้ประกอบการที่อ่อนแอกว่า

3. ลดความสามารถการแข่งขันของภาคธุรกิจ

อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ภาคธุรกิจได้รับจากธนาคารพาณิชย์เป็นตัวแปรที่สะท้อนถึงความเสี่ยงของธุรกิจ มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำอาจจะทำให้ภาคธุรกิจประเมินความเสี่ยงน้อยกว่าที่เกิดขึ้นจริงซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจในการดำเนินการและการลงทุน เพราะเปรียบเสมือนการคุ้มครอง ทำให้ภาคธุรกิจนั้นไม่มีศักยภาพในการแข่งขันในระยะยาว (Enfant Business) นอกจากนี้จากประสบการณ์การให้ความช่วยเหลือดังกล่าวมักถูกขยายขอบเขตทั้งในเรื่องของประเภทธุรกิจ และระยะเวลา จึงยิ่งทำให้ภาคธุรกิจแข็งแกร่งอย่างแท้จริงได้ยาก

4. สร้างการบิดเบือนในการลงทุน

เงินที่นำมาใช้ในการผลักดันนโยบายนี้มีต้นทุนค่าเสียโอกาส จึงควรพิจารณานำไปลงทุนอย่างอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าในเชิงนโยบายอย่างแท้จริง

5. มีผลต่อสภาพคล่องในระบบซึ่งกระทบต่อการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลาง

ธนาคารกลางทุกแห่งมีหน้าที่ดำเนินนโยบายการเงินเพื่อดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพภายในประเทศ ผ่านการรักษาปริมาณเงินในระบบให้เหมาะสมไม่ว่าจะกำหนดเป้าหมายนโยบายการเงินอย่างไร เช่น การดูแลเสถียรภาพด้านราคาปริมาณเงิน อัตราดอกเบี้ย หรืออัตราแลกเปลี่ยนอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง เป็นต้น แต่การให้ความช่วยเหลือทางการเงินในลักษณะนี้เป็นการอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ ซึ่งในที่สุดอาจทำให้การดำเนินนโยบายการเงินไม่อยู่ในเป้าหมาย เช่น หากธนาคารต้องการดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดเพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคา แต่อีกช่องทางหนึ่งกลับมีการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น และเมื่อสภาพคล่องในระบบสูงขึ้นและอาจทำให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นได้ เป็นต้น


ที่มา https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/ArticleAndResearch/FAQ/FAQ_59.pdf

หมายเลขบันทึก: 602077เขียนเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2016 14:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2016 14:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท